คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ม. 56

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 15 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5073/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แบบแม่พิมพ์กระเบื้องไม่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ และ พ.ร.บ.สิทธิบัตร
การออกแบบแม่พิมพ์กระเบื้องเพื่อผลิตกระเบื้องให้มีรูปร่าง ขนาด และรูปลักษณะที่แปลกใหม่แตกต่างจากกระเบื้องที่ผลิตออกจำหน่ายในประเทศไทยเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องให้มีรูปร่างของผลิตภัณฑ์อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้ เข้าลักษณะเป็นแบบผลิตภัณฑ์ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ไม่ใช่งานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้ และไม่ใช่งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหรืองานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอกตลอดจนบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหรือการสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอันจะถือได้ว่าเป็นงานศิลปกรรมประเภทประติมากรรมและงานสถาปัตยกรรมที่จะมีลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง การออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมในประเทศไทยตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 59 ประกอบมาตรา 56 และได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องดังกล่าว การออกแบบผลิตภัณฑ์กระเบื้องของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชี้สองสถานโดยกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียงว่า โจทก์ทั้งสองมีลิขสิทธิ์ตามคำฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสี่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ และค่าเสียหายมีเพียงใดเท่านั้น มิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาว่าจ้างผลิตแบบแม่พิมพ์กระเบื้องต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ และจำเลยทั้งสี่ร่วมกันละเมิดความลับทางการค้าสำหรับสูตร วิธีการ และขั้นตอนการผลิตกระเบื้องของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ และโจทก์ทั้งสองก็มิได้โต้แย้งคำสั่งของศาลในการกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้ต้องวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้กำหนดดังกล่าว เมื่อแบบแม่พิมพ์กระเบื้องของโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่งานศิลปกรรมประเภทประติมากรรมและงานสถาปัตยกรรมอันมีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ดังที่โจทก์ที่ 1 อ้างตามคำฟ้อง โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีลิขสิทธิ์ในแบบแม่พิมพ์กระเบื้องดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสี่ย่อมไม่อาจเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในแบบแม่พิมพ์กระเบื้องดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13909/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องใหม่และไม่เคยเปิดเผยมาก่อน หากแบบเดิมเคยเผยแพร่แล้ว แม้มีรายละเอียดต่างกันเล็กน้อย ก็ไม่ถือเป็นสิทธิบัตรที่สมบูรณ์
พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 56 บัญญัติให้การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้ ต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรม โดยมาตรา 57 บัญญัติว่า แบบผลิตภัณฑ์ใหม่นั้น ต้องไม่เป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักร หรือได้มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักร หรือเคยมีประกาศโฆษณามาแล้วก่อนวันขอรับสิทธิบัตร หรือเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกับแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการเปิดเผยมาแล้วดังกล่าว จนเห็นได้ว่าเป็นการเลียนแบบ ซึ่งมีขอบเขตของการพิจารณาแตกต่างจากการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 โดยการประดิษฐ์ขั้นสูงขึ้นไม่ใช่ข้อสาระสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรประเภทนี้ ฉะนั้น การออกสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์จะพิจารณาเฉพาะความใหม่ของรูปทรงหรือลักษณะภายนอกของแบบผลิตภัณฑ์ที่ขอรับสิทธิบัตร เปรียบเทียบกับแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการใช้หรือได้เปิดเผยอยู่แล้วโดยตรงว่ามีความแตกต่างกันชัดเจนที่สามารถดึงดูดความสนใจของประชาชนได้ ที่จำเลยที่ 1 อ้างมานั้นเป็นข้อแตกต่างกันในเรื่องโครงสร้างหรือกลไกวิธีการทำงานที่เป็นการเพิ่มประโยชน์ใช้สอยให้สะดวกมากขึ้น อันอาจเป็นข้อพิจารณาสำหรับการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีอื่น ๆ ได้ แต่ไม่ใช่หลักสำคัญในการพิจารณาความใหม่ของการออกสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์นี้ ทั้งแบบพิมพ์อลูมิเนียมที่ใช้ในการตัดดอกไม้ที่ทำจากดินหรือตัวตัดดินนั้น โจทก์นำรูปแบบมาจากเอกสารทางวิชาการและนิตยสารที่มีการเผยแพร่ทั่วไป แบบพิมพ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ออกสิทธิบัตรให้จึงเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีการเปิดเผยสาระสำคัญของแบบผลิตภัณฑ์ในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ขอรับสิทธิบัตร จึงไม่ใช่การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่และเป็นสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่สมบูรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12602/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์: การพิจารณาความใหม่และลักษณะแตกต่างจากงานที่มีอยู่แล้ว
การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้นั้น ต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรม โดยไม่จำต้องมีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า แบบผลิตภัณฑ์โคมไฟของจำเลยที่ 2 เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีรูปร่างลักษณะแตกต่างไปจากแบบผลิตภัณฑ์โคมไฟที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในประเทศ ไม่มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกประเทศ และไม่เคยมีการโฆษณาประกาศมาแล้วก่อนวันขอรับสิทธิบัตร จึงเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมที่จะขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2906/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องใหม่และไม่เคยมีใช้มาก่อน การเพิกถอนสิทธิบัตรเมื่อแบบไม่ใหม่
เมื่อโจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายช้อนส้อมเช่นเดียวกับที่จำเลยได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์และต้องหยุดดำเนินการไป นับได้ว่าสิทธิของโจทก์ถูกกระทบหรือถูกโต้แย้งสิทธิแต่ผู้เดียวในสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการที่จะกล่าวอ้างว่าสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 64 วรรคสอง ได้ความว่าช้อนส้อมของโจทก์มีการผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยมาก่อนที่จำเลยจะขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ทั้งการตรวจคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไม่ได้พิจารณาถึงแบบผลิตภัณฑ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในประเทศไทยก่อนวันขอรับสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 57 (1) และเมื่อไม่ปรากฏว่าแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยแตกต่างจากช้อนส้อมของโจทก์ เท่ากับว่าแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยมีหรือใช้กันแพร่หลายอยู่แล้วในประเทศไทยก่อนวันขอรับสิทธิบัตรและถือว่าไม่มีความใหม่ ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 57 (1)
การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 56 ต้องประกอบด้วยลักษณะ 2 ประการ คือ เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่และเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรมหรือหัตถกรรม จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้
การที่การออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยไม่มีความใหม่ ย่อมจะไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ สิทธิบัตรของจำเลยจึงได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 56 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ ถือเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์และเพิกถอนได้ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 64

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 974/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตรต้องไม่ซ้ำกับที่มีการเปิดเผยก่อนหน้า การเพิกถอนสิทธิบัตรและการชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยอุทธรณ์อ้างว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่ว่าโจทก์ยังไม่ได้ผลิตรั้วตะแกรงเหล็กสำเร็จรูปตามรูปแบบใหม่ออกจำหน่าย และอีกตอนหนึ่งที่ว่าโจทก์ยังอยู่ขั้นทดลองกระบวนการผลิต โจทก์จึงยังมิได้รับความเสียหายไม่นับเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสิทธิบัตร นั้น เห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องและทางนำสืบที่คู่ความรับกันได้ความว่า จำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นและดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ โดยกล่าวหาว่าโจทก์ผลิตสินค้าเลียนสินค้าของจำเลยที่จดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลย เลขที่ 9914, 9915, 9922 และ 9923 กอปรกับคำบรรยายฟ้องของโจทก์ในอีกตอนหนึ่งและที่โจทก์นำสืบยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับแบบผลิตภัณฑ์ที่จำเลยได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่ามิใช่การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งหากเป็นจริงย่อมนับว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แบบผลิตภัณฑ์รั้วสำเร็จรูปตามสิทธิบัตรที่พิพาททั้ง 4 ฉบับของจำเลยเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมือนหรือคล้ายกับที่มีการตีพิมพ์อันเป็นการเปิดเผยและแพร่หลายอยู่ก่อนวันขอรับสิทธิบัตรของจำเลยตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 57 (2) การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนทั้ง 4 ฉบับ จึงไม่ใช่การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ตามความหมายของ พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 56 สิทธิบัตรทั้ง 4 ฉบับ ของจำเลยย่อมไม่สมบูรณ์ซึ่งโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนได้ตามมาตรา 64 แพ่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องใหม่และไม่คล้ายกับงานที่มีอยู่แล้ว การปรับปรุงประสิทธิภาพไม่ใช่การสร้างสรรค์ใหม่
รูปแบบการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยตามสิทธิบัตรทั้ง 2 คำขอคล้ายกับรูปแบบผลิตภัณฑ์เสาอากาศรับสัญญาณที่มีผู้อื่นเปิดเผยและเผยแพร่มาก่อน แม้รูปแบบปีกของจำเลยทำให้การรับสัญญาณดีขึ้นก็เป็นเรื่องของประสิทธิภาพ มิใช่เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 56 ประกอบมาตรา 57 (1) (2) (3) สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งสองแบบของจำเลยจึงไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 64

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8170/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องใหม่ หากมีลักษณะคล้ายกับที่เปิดเผยก่อนยื่นคำขอ ย่อมถือเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์
แบบผลิตภัณฑ์หลอดดูดของจำเลยตามคำขอรับสิทธิบัตรมีลักษณะที่แท้จริงเป็นหลอดดูดชนิดยืดหดได้ โดยมีส่วนปลายตัดเฉียงเช่นเดียวกับหลอดดูด ซึ่งโจทก์เป็นผู้ผลิต แสดงว่าลักษณะภายนอกของแบบผลิตภัณฑ์หลอดดูดของจำเลยมีความคล้ายกันกับของโจทก์ แม้จำเลยจะอ้างว่าหลอดดูดของจำเลยไม่มีลักษณะเป็นหลอดหลบซ่อนอยู่ข้างในอย่างหลอดดูดของโจทก์ หากมีลักษณะเหมือนพู่กันทาปากซึ่งเวลาใช้งานจะถอดส่วนหัวนำมาเสียบด้านล่างก็ตาม แต่การพิจารณาความใหม่ของแบบผลิตภัณฑ์วัตถุมุ่งเน้นที่รูปทรงหรือแบบที่ปรากฏให้เห็นภายนอก โดยไม่คำนึงถึงวิธีการใช้หรือเทคนิคการใช้งานของวัตถุ ซึ่งแบบผลิตภัณฑ์วัตถุที่จะถือว่ามีความใหม่นั้นต้องมีความแตกต่างชัดเจนมากเพียงพอที่จะดึงดูดความสนใจของประชาชนได้ เมื่อปรากฏว่าหลอดดูดของจำเลยตามภาพที่ 1 ถึงภาพที่ 6 มีรูปทรงภายนอกคล้ายกันกับหลอดดูดของโจทก์ ทั้งยังมีรูปทรงภายนอกคล้ายกับภาพหลอดดูดที่ได้มีการขอจดสิทธิบัตรไว้นอกราชอาณาจักรอีกหลายประเทศ แบบผลิตภัณฑ์หลอดดูดของจำเลยตามคำขอรับสิทธิบัตรจึงมีลักษณะคล้ายกับหลอดดูดที่ได้มีการยื่นขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์แล้ว ข้ออ้างเกี่ยวกับลักษณะหลอดดูดของจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงเทคนิคการใช้งานไม่ใช่ข้อสาระสำคัญของการตรวจสอบความใหม่ในกรณีนี้
การตรวจสอบความใหม่ตามคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ สามารถตรวจสอบได้จากภาพที่ปรากฏอยู่ในคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เพราะตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร ฯ มาตรา 57 (2) บัญญัติไว้เพียงว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องไม่เป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้ว ไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร ดังนั้นหากมีการเปิดเผยภาพในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ใด ๆ ไม่ว่าเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ หรือสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์แล้วย่อมทำให้สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะรับสิทธิบัตรขาดความใหม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า แบบผลิตภัณฑ์หลอดดูดที่มีลักษณะยืดหดได้ซึ่งเป็นสาระสำคัญตามคำขอรับสิทธิบัตรจำเลยได้มีการเปิดเผยในเอกสารประกอบคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์นอกราชอาณาจักรแล้วก่อนวันที่จำเลยยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์หลอดดูดของจำเลยจึงไม่ใช่การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญจนเห็นได้ว่าเป็นการเลียนแบบ จึงเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร ฯ มาตรา 56, 57 (2) (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7769/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์: การออกแบบร่วม การเลียนแบบ และสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร
การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้นั้นนอกจากจะต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่แล้วยังต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรม ตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 56 ด้วย ช. พี่โจทก์เป็นผู้เริ่มคิดออกแบบ ส่วนรูปแบบโครงสร้างรูปแปดเหลี่ยมนั้นโจทก์กับ ช. ช่วยกันกำหนดโครงสร้างภาพจำลองเสาอากาศโจทก์กับ ช. ร่วมกันเขียนขึ้น เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความสวยงามและมีองค์ประกอบอันเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองแบบผลิตภัณฑ์นั้นว่าสามารถใช้รับสัญญาณโทรทัศน์และวิทยุได้หรือไม่และเป็นการยืนยันว่าโจทก์กับ ช. ร่วมกันออกแบบผลิตภัณฑ์ในส่วนดังกล่าว ซึ่งการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นสามารถร่วมกันกระทำในส่วนหนึ่งส่วนใดซึ่งเป็นส่วนอันเป็นสาระสำคัญในการออกแบบนั้นก็ได้ จึงฟังได้ว่า โจทก์กับ ช. ร่วมกันออกแบบผลิตภัณฑ์แผงสายอากาศเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุตามคำขอรับสิทธิบัตร จึงมีสิทธิขอรับสิทธิบัตรร่วมกัน แต่ ช. ไม่ยอมร่วมไปขอรับสิทธิบัตรกับโจทก์ด้วยเพราะไม่ทราบขั้นตอนรายละเอียดในการดำเนินการและติดต่อเจ้าหน้าที่ โจทก์ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมจึงมีสิทธิขอรับสิทธิบัตรสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้ทำร่วมกันนั้นในนามของตนเองได้ตามมาตรา 65 ประกอบด้วยมาตรา 15 วรรคสอง โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรตามคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5939/2538 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์: ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยผิดหมวดกฎหมาย
ตามคำฟ้องโจทก์มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์โครงสำหรับยึดหลอดนีออนที่จำเลยนำไปขอรับสิทธิบัตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ.2522มาตรา 56 หรือไม่ หากฟังได้ว่าไม่ใช่เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ สิทธิบัตรพิพาทที่จำเลยได้รับมาก็ออกโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 56 ศาลย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรพิพาทได้ตามมาตรา 64 แต่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า ผลิตภัณฑ์ที่จำเลยขอรับสิทธิบัตรไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือเป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นประดิษฐ์สูงขึ้นและไม่เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม การได้รับสิทธิบัตรพิพาทของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ.2522โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนได้ตามมาตรา 54 ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ไปวินิจฉัยเรื่องการเพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยโดยอาศัยบทบัญญัติในหมวด 2 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 แต่สิทธิบัตรพิพาทที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนเป็นสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติเรื่องการเพิกถอนสิทธิบัตรที่ออกไปโดยไม่ชอบไว้ในหมวด 3 เป็นบทกฎหมายต่างหมวดกันหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าจะเพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์กับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้หรือไม่ได้ มีข้อบัญญัติแตกต่างกันหลายประการ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ยังคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับประเด็นตามที่โจทก์ฟ้อง ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่าย-ใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นกล่าวได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246และ 247 คดีนี้แม้คู่ความจะสืบพยานมาเสร็จสิ้นแล้ว แต่เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควร ก็ชอบที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ทั้งหมดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5939/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์: ศาลฎีกายกประเด็นข้อกฎหมายความสงบเรียบร้อย ย้อนสำนวนเพื่อพิจารณาใหม่
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเรื่องการเพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์โดยอาศัยบทบัญญัติในหมวด2แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตรพ.ศ.2522แต่สิทธิบัตรพิพาทที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนเป็นสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติเรื่องการเพิกถอนสิทธิบัตรที่ออกไปโดยไม่ชอบไว้ในหมวด3เป็นบทกฎหมายต่างหมวดกันหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าจะเพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์กับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้หรือไม่ได้มีข้อบัญญัติแตกต่างกันหลายประการคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ยังคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับประเด็นตามที่โจทก์ฟ้องปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นกล่าวได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142(5),246และมาตรา247วรรคสอง
of 2