คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 287

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 397 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5752/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้มีประกันในการรับชำระหนี้จากทรัพย์หลักประกันที่ถือกรรมสิทธิ์รวมกัน แม้ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมไม่ได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์
ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้รายที่ 5 ซึ่งยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยจำนวน 1,087,902.64 บาท โดยให้ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 128812 และ 137866 ตำบลสำโรงใต้ (สำโรง) อำเภอพระประแดง (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ เฉพาะส่วนของจำเลยก่อน ส่วนที่ยังขาดอยู่ให้ได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้สามัญ หลังจากนั้นผู้ร้องได้นำผู้คัดค้านยึดที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์หลักประกันของจำเลยซึ่งถือกรรมสิทธิ์รวมกับ ว. และผู้คัดค้านนำออกขายทอดตลาดได้ในราคา 940,000 บาท ซึ่งผู้คัดค้านได้ทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเงิน แล้วจ่ายเงินสุทธิในส่วนของจำเลยเป็นเงิน 438,291 บาท ให้แก่ผู้ร้อง และได้กันเงินในส่วนของ ว. ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมไว้จำนวน 467,650 บาท เมื่อพิจารณาตามคำร้องของผู้ร้องที่ยื่นต่อผู้คัดค้านขอให้จ่ายเงินที่กันไว้ดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยและ ว. ได้นำทรัพย์หลักประกันที่ยึดมาจดทะเบียนจำนองเพื่อประกันหนี้เงินกู้ และหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยและ ว. เป็นหนี้ร่วมกันต่อผู้ร้องโดย ว. เป็นหนี้ผู้ร้องคิดถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2545 เป็นเงิน 935,291.23 บาท เมื่อทรัพย์หลักประกันเป็นของจำเลยและ ว. ที่ถือกรรมสิทธิ์รวมกันและผู้คัดค้านใช้อำนาจยึดออกขายทอดตลาดรวมกันโดยแบ่งแยกกันมิได้ ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองของผู้คัดค้านย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านขอรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์ดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 แม้ ว. จะไม่ได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดด้วยก็ตามแต่ก็ไม่เป็นเหตุขัดข้องที่ผู้ร้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองซึ่งมีบุริมสิทธิที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์หลักประกันดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติกฎหมายข้างต้นเพื่อรับชำระหนี้จำนองในกึ่งหนึ่งของทรัพย์หลักประกันที่ผู้คัดค้านยึดไว้ไปเสียทีเดียว โดยไม่จำต้องยื่นฟ้องหรือคำร้องต่อศาลก่อน ซึ่งผู้คัดค้านสามารถส่งสำเนาคำร้องของผู้ร้องให้ ว. ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมมีโอกาสคัดค้านแล้วสอบสวนพิจารณามีคำสั่งต่อไปได้ การที่ผู้คัดค้านและศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งให้ผู้ร้องไปยื่นคำร้องต่อศาลที่มีอำนาจเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 378/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบุริมสิทธิจำนองกับการบังคับคดี: การกันเงินจากการขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้จำนอง แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนด
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 บัญญัติให้มาตราดังกล่าวอยู่ภายใต้แห่งบทบัญญัติมาตรา 288 และ 289 มีความหมายว่า หากบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ นั้น เป็นสิทธิประเภทที่อาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ตามมาตรา 288 หรือบังคับให้ชำระหนี้ตามมาตรา 289 ผู้ร้องก็มีสิทธิที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ แต่แม้มิได้ใช้สิทธิหรือบังคับตามสิทธิของตนตามบทบัญญัติดังกล่าว การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ก็ย่อมไม่ถูกกระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ดังกล่าวอยู่นั่นเอง ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ตามคำร้องของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องอ้างมาในคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทที่โจทก์นำยึด หนี้ตามสัญญาจำนองยังไม่ถึงกำหนดชำระ ผู้ร้องจึงไม่อาจใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์จำนองได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้กันเงินจากการขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองไว้ให้แก่ผู้ร้องด้วย จะเห็นได้ว่าเนื้อหาตามคำร้องขอดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 หาใช่เป็นการร้องขอรับชำระหนี้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ไม่ แม้ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้อง หนี้จำนองที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระแก่ผู้ร้องยังไม่ถึงกำหนดชำระอันจะขอรับชำระหนี้จำนองตามมาตรา 289 วรรคหนึ่ง ไม่ได้ก็ตาม แต่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิอื่น ๆ ของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 เมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทที่โจทก์นำยึดได้ใช้สิทธิตามมาตรา 287 และขอให้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอกันเงินจากการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ได้
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ตาม ป.วิ.พ. ข้อ (2) (ก)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14884/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาแบ่งทรัพย์สินจากการหย่าโดยความยินยอมมีผลสมบูรณ์ แม้ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีกระทบสิทธิไม่ได้
ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 หย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ก) บัญญัติให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า ข้อตกลงตามสำเนาบันทึกด้านหลังทะเบียนการหย่าระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32498 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 6/82 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทมาตราดังกล่าว มิใช่สัญญาให้ทรัพย์สินอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้ว ถือว่าทั้งสองฝ่ายได้จัดการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนของตนให้แก่ผู้ร้อง มีผลเพียงทำให้การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องยังไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่สิทธิของผู้ร้องตามสัญญาแบ่งทรัพย์สินที่นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้วและผู้ร้องได้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวตลอดมา ทั้งเป็นผู้ชำระหนี้จำนองและไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ผู้ร้องไม่ใช่ผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์เท่านั้น โจทก์มิใช่ผู้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนของจำเลยที่ 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14411/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนอง แม้เคยยื่นคำร้องไปแล้ว ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่เป็นการร้องซ้ำ
ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของจำเลยทั้งสองในคดีหมายเลขแดงที่ 10058/2548 ของศาลชั้นต้น และเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองของจำเลยที่ 2 ในทรัพย์จำนองที่ถูกยึดและขายทอดตลาดในคดีนี้ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จึงเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล ผู้ร้องได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำมาตรา 144 (5) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และ 247 และกรณีไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือร้องซ้ำ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะเคยยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองมาก่อนและศาลชั้นต้นยกคำร้องไปแล้วก็ตาม ผู้ร้องก็ยังมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองอีก และเมื่อปรากฏว่าในการบังคับคดีนี้ยังมีเงินเหลืออยู่อีก ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวในฐานะผู้รับจำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14411/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองหลังการขายทอดตลาด แม้เคยถูกยกคำร้องก่อนหน้า
ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของจำเลยทั้งสองในคดีแพ่งอีกสำนวนของศาลชั้นต้น และเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองของจำเลยที่ 2 ในทรัพย์จำนองที่ถูกยึดและขายทอดตลาดในคดีนี้ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จึงเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล ผู้ร้องได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา 144 (5) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และ 247 และกรณีไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือร้องซ้ำ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะเคยยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองมาก่อนและศาลชั้นต้นยกคำร้องไปแล้วก็ตาม ผู้ร้องก็ยังมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองอีก และเมื่อปรากฏว่าในการบังคับคดีนี้ยังมีเงินเหลืออยู่ ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวในฐานะผู้รับจำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7198/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้ร้องผู้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินและสร้างบ้าน ย่อมมีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินจากการบังคับคดีได้
ผู้ร้องประกอบธุรกิจขายอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ปี 2546 เมื่อผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 แล้วได้สร้างบ้านในที่ดินดังกล่าวซึ่งมีรูปแบบเดียวกันกับบ้านหลังอื่นที่อยู่ในโครงการหมู่บ้านจัดสรรของผู้ร้อง และประกาศขายแก่บุคคลทั่วไป หากผู้ร้องไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทก็คงไม่สร้างบ้านในที่ดินดังกล่าวเพราะต้องใช้เงินลงทุนมาก และที่ผู้ร้องอ้างเหตุที่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นของตนเนื่องจากต้องการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นชื่อผู้ซื้อเพื่อประหยัดค่าธรรมเนียมในการโอนนั้น ก็เป็นเหตุผลทางด้านการประกอบธุรกิจที่รับฟังได้ไม่ถึงกับเป็นข้อพิรุธแต่อย่างใด
ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 2 และชำระราคาครบถ้วนแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นของตน ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และโดยเหตุที่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินที่ยึดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อบังคับคดีอันเป็นการกระทบกระทั่งถึงสิทธิผู้ร้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ยึดไม่ใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 แต่เป็นทรัพย์สินของผู้ร้อง ขอให้ถอนการยึดจึงเป็นคำร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 เป็นคดีมีทุนทรัพย์เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์แพ้คดี ศาลชั้นต้นชอบที่จะกำหนดให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องได้ ส่วนค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดนั้น ก็เป็นจำนวนที่อยู่ระหว่างอัตราขั้นสูงและขั้นต่ำตามที่ระบุไว้ในตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อคำนึงถึงเหตุสมควรและการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวงแล้ว ค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดมาเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
ผู้ร้องเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยที่ดินพิพาทคืนแก่จำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6653-6654/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกันส่วนในที่ดินพิพาทกรณีแบ่งมรดก: ไม่ใช่การบังคับชำระหนี้
การร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ต้องเป็นกรณีที่มีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่คดีนี้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. และ ต. ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ เนื่องจาก ป. ต. ส. และจำเลยที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์รวมกันในที่ดินพิพาทโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นทายาทของ ส. การที่ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามแบ่งทรัพย์มรดกของ ป. และ ต. ให้โจทก์ทั้งสองตามส่วน โดยคู่ความตกลงกันให้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้แบ่งกันตามส่วน จึงเป็นเรื่องบังคับให้จำเลยทั้งสามแบ่งที่ดินพิพาทในระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมด้วยกัน แล้วจัดการแบ่งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองเท่านั้น หาได้มีการบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามไม่ ผู้ร้องทั้งสี่จึงไม่อาจขอกันส่วนโดยอ้างว่าผู้ร้องทั้งสี่เป็นทายาทของ ส. ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม และมีสิทธิรับมรดกในส่วนของ ส. ร่วมกับจำเลยทั้งสาม เป็นเรื่องที่ผู้ร้องทั้งสี่จะต้องไปดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4985/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการกันส่วนทรัพย์สินจากการบังคับคดี: สัญญาจะซื้อจะขายยังไม่สมบูรณ์เพราะยังไม่ได้จดทะเบียน
ป.วิ.พ. มาตรา 287 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 288 และ 289 บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย" มีความหมายถึงการที่เจ้าหนี้สามัญจะบังคับคดีให้กระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้นไม่ได้เท่านั้น โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำนองซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีหลักประกันพิเศษ และตามมาตรา 287 ดังกล่าว บุริมสิทธิที่จะใช้ได้ก่อนสิทธิจำนองจะต้องเป็นบุริมสิทธิที่ได้จดทะเบียนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 285 มาตรา 286 และมาตรา 287 เท่านั้น การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 อ. และ น. คู่สัญญามีความประสงค์ที่จะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 ดังนั้น ตราบใดที่ยังมิได้มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เสร็จเรียบร้อย การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่บริบูรณ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง นิติกรรมระหว่างผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ดังกล่าวคงมีฐานะเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและฐานะผู้รับมอบอำนาจจะมอบที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องครอบครอง ก็ถือว่าเป็นการครอบครองแทนจำเลยที่ 2 สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทยังคงเป็นของจำเลยที่ 2 อ. และ น. อยู่ ทั้งกรณีเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 เพราะยังชำระราคากันไม่ครบ ผู้ร้องจึงไม่ได้รับความคุ้มครอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธินำยึดที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงขายทอดตลาดชำระหนี้ได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอกันส่วนของตนในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงก่อนขายทอดตลาดได้
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่า พิเคราะห์ตามคำร้องของผู้ร้องกันส่วนประกอบพยานหลักฐานเอกสารท้ายคำร้อง เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องไต่สวน ให้งดการไต่สวนนั้น ย่อมมีผลเป็นการไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีอยู่แล้ว โดยไม่จำต้องพิจารณาสั่งคำร้องขอเลื่อนคดีดังกล่าว คำสั่งของศาลชั้นต้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4963/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ร่วมสินสมรส: การจำนองและขายที่ดินหลังหย่า ทำให้ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอกันส่วน
จำเลยที่ 3 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 16985 ไปจำนองเป็นประกันหนี้แก่ธนาคาร ท. โดยผู้ร้องลงชื่อเป็นพยานในการทำนิติกรรม แสดงให้เห็นถึงผู้ร้องได้ทราบดีแล้วว่าจำเลยที่ 3 จะนำสินสมรสไปจำนองเป็นประกันหนี้ การทำนิติกรรมของจำเลยที่ 3 จึงเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส หนี้ที่เกิดขึ้นจึงเป็นหนี้ร่วมที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นระหว่างสมรสเนื่องจากเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 ส่วนการที่จำเลยที่ 3 ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 16985 ให้จำเลยที่ 1 ก็เป็นการขายให้แก่นิติบุคคลซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการ และการที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินไปจำนองโจทก์ จำเลยที่ 3 ก็ยังคงเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 อยู่ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 ทำนิติกรรมทั้งหลายเกี่ยวข้องกับที่ดินโฉนดเลขที่ 16985 จึงเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส ถือได้ว่าเป็นลูกหนี้ร่วมกันระหว่างจำเลยที่ 3 กับผู้ร้องตามมาตรา 1490 เช่นกัน นอกจากนี้ หลังจากที่ผู้ร้องหย่ากับจำเลยที่ 3 แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องติดใจในสินสมรส คือโฉนดที่ดินเลขที่ 16985 แต่ประการใด โดยปล่อยให้เวลาล่วงเลยเป็นเวลา 11 ปีเศษ ผู้ร้องเพิ่งมายื่นขอกันส่วน ดังนั้น เมื่อหนี้ระหว่างจำเลยที่ 3 กับผู้ร้องเป็นหนี้ร่วมแล้วผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2118/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหนี้ถอนบังคับคดีจำนองก่อน เจ้าหนี้รายอื่นไม่อาจขอให้บังคับคดีต่อได้
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคแปด บัญญัติว่า "ในกรณีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ยึดสละสิทธิในการบังคับคดีหรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ผู้ขอเฉลี่ยหรือผู้ยื่นคำร้องตามมาตรา 287 หรือตามมาตรา 289 มีสิทธิขอให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไป" บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์มิให้เกิดปัญหาในการที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาคนเดียวกันในคดีที่มีการบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา รวมตลอดทั้งบุคคลภายนอกผู้ทรงสิทธิตามที่มาตรา 287 และมาตรา 289 บัญญัติไว้ จะได้รับการชำระหนี้หรือการคุ้มครองสิทธิของตนล่าช้า จึงกำหนดให้มีสิทธิขอให้ดำเนินการบังคับคดีในคดีที่ได้มีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ก่อนแล้วต่อไปได้ แต่สำหรับคดีนี้ การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นผู้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 128135 เพื่อนำออกขายทอดตลาด ได้แถลงขอถอนการบังคับคดีโดยเหตุผลว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว ทั้งนี้เพราะหมดสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 128135 ของจำเลยที่ 1 ซึ่งตนนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องถอนการยึดและรายงานต่อศาล จึงมิใช่เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ยึดสละสิทธิหรือเพิกเฉยในการบังคับคดี อันจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องซึ่งใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จำนองก่อนตามมาตรา 289 จะขอให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 290 วรรคแปด และชอบที่ผู้ร้องจะต้องดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ตามสิทธิของตนเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก
of 40