คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 287

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 397 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18196/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบุริมสิทธิของผู้จัดการมรดกเหนือทรัพย์สินที่ถูกยึดบังคับคดี การใช้สิทธิก่อนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ซึ่งออกเงินค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกันของกองมรดก จึงเป็นผู้มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของกองมรดกที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อขายทอดตลาด การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินดังกล่าวย่อมไม่อาจกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แต่ผู้ร้องจะใช้สิทธิได้ต่อเมื่อมีการบังคับคดีโดยนำทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองก่อน ทั้งบุริมสิทธิของผู้ร้องไม่ปรากฏทางทะเบียน ดังนี้ ผู้ร้องย่อมสามารถร้องขอให้บังคับตามสิทธิของตนได้ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 318 ถึง 321

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14281/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการหักกลบลบหนี้ของสหกรณ์กับเงินค่าหุ้นสมาชิกหลังสมาชิกภาพสิ้นสุดตาม พ.ร.บ.สหกรณ์
แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือขออายัดเงินของจำเลยต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ในขณะจำเลยยังไม่ถึงแก่ความตาย สมาชิกภาพของจำเลยจึงยังไม่สิ้นสุด ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจกระทำได้ก็ตาม แต่ขณะอายัดเงินจำเลยยังไม่มีสิทธิได้รับเงินต่าง ๆ จากสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ จึงไม่ต้องส่งเงินให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ครั้นเมื่อจำเลยถึงแก่ความตายทำให้เกิดสิทธิที่จำเลยจะได้รับเงินต่าง ๆ จากสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ แต่ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42 วรรคสอง บัญญัติให้อำนาจสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ใช้สิทธินำเงินค่าหุ้นของจำเลยที่มีอยู่ต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ มาหักกลบลบหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ได้ เมื่อหักกลบลบหนี้แล้วไม่มีเงินค่าหุ้นของจำเลยเหลืออยู่ สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ จึงไม่ต้องส่งเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่อายัดไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3646/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการรับชำระหนี้จากทรัพย์สินจำนอง: เจ้าหนี้มีสิทธิเพียงในฐานะเจ้าหนี้จำนอง ไม่สามารถเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้สามัญได้
ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองและเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.1148/2552 ของศาลชั้นต้น ผู้ร้องย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิในอันที่จะขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินจำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287, 289 และขอเฉลี่ยทรัพย์ในฐานะเจ้าหนี้สามัญตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 ได้ด้วย ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากเงินขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 73911 ตามคำร้องลงวันที่ 7 มกราคม 2553 แม้ผู้ร้องอ้างถึงมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.1148/2552 ของศาลชั้นต้น แต่ตามคำร้องคงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นโดยอาศัยอำนาจแห่งบุริมสิทธิจำนองเท่านั้น และไม่อาจที่จะให้ถือว่าเป็นการที่ผู้ร้องได้ขอเฉลี่ยทรัพย์ให้แก่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้สามัญอีกฐานะหนึ่งมาพร้อมกันด้วยได้ เพราะการใช้สิทธิในการขอรับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นโดยอาศัยอำนาจแห่งบุริมสิทธิจำนองและการขอเฉลี่ยทรัพย์มีเงื่อนไขและองค์ประกอบตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แตกต่างกัน โดยเฉพาะเงื่อนไขของการขอเฉลี่ยทรัพย์ที่ผู้ยื่นคำขอต้องไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ก็ไม่ปรากฏตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยที่ 4 ยิ่งกว่านั้น คำสั่งศาลชั้นต้นชัดเจนว่าเป็นการอนุญาตให้ผู้ร้องรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นโดยอาศัยอำนาจแห่งบุริมสิทธิจำนอง โดยมิได้มีถ้อยคำใดในอันที่จะให้แปลว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ในฐานะเจ้าหนี้สามัญอีกฐานะหนึ่งด้วยได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิเข้าเฉลี่ยทรัพย์ในฐานะเจ้าหนี้สามัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6244/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบุริมสิทธิจำนอง: เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดก่อนเจ้าหนี้รายอื่น
ผู้ร้องบรรยายในคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 1738 ตำบลแสนพัน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ที่โจทก์นำยึด ซึ่งจำเลยที่ 1 และ ก. เจ้าของรวมได้นำที่ดินดังกล่าวมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินของ น. เมื่อ น. ไม่ชำระหนี้ผู้ร้องจึงบอกกล่าวบังคับจำนองจำเลยที่ 1 และ ป. ทายาทโดยธรรมของ ก. ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้แก่ผู้ร้อง เนื้อหาตามคำร้องจึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดส่วนที่เป็นของ ก. ออกจากเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 เพื่อขอรับชำระหนี้จำนอง ซึ่งสิทธิของผู้ร้องถือว่าเป็นบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์นั้นได้ตามมาตรา 287 ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในบังคับกำหนดเวลาตามมาตรา 289 วรรคสอง ที่ผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องก่อนเอาทรัพย์นั้นออกขายทอดตลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19944/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องของผู้ซื้อที่ดินก่อนการยึดทรัพย์: คุ้มครองตามมาตรา 1300 และ 287 ป.วิ.พ.
ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 2 จำนวน 26 แปลง รวมถึงที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลงด้วย ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2548 และผ่อนชำระที่ดินครบในวันที่ 21 ธันวาคม 2551 ก่อนที่โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลง ในวันที่ 6 มีนาคม 2552 ดังนี้ สิทธิเรียกร้องของผู้ร้องที่จะเรียกให้จำเลยที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่ผู้ร้องเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2551 ก่อนที่โจทก์จะนำยึดที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลง ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ทั้งได้รับการคุ้มครองสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14202/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้รับจำนองในการบังคับคดีและการรับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดี แม้ไม่ยื่นคำร้องตามกำหนด
แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 289 จะบัญญัติว่า "ในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์อันได้ไปจดทะเบียนไว้นั้น ให้ยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด..." ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่ให้อำนาจผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด เพื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ดำเนินการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามเจตนาของผู้รับจำนองและเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้รับจำนองให้ได้รับจัดสรรการชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวโดยจะสะดวกกว่าให้ผู้รับจำนองไปฟ้องบังคับแก่ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดในภายหลังเท่านั้น แต่ถ้าผู้รับจำนองไม่ยื่นคำร้องขอภายในกำหนดดังกล่าวก็หาทำให้ผู้รับจำนองต้องหมดสิทธิไปไม่ โดยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนอง ซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินพิพาทได้ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 287 อีกทั้งสิทธิรับจำนองเป็นทรัพยสิทธิซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกฎหมาย จะระงับสิ้นไปก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายซึ่งได้บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 744 ดังนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองจึงมีบุริมสิทธิที่จะบังคับเหนือทรัพย์พิพาทก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วยและเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเอาทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองตามความประสงค์ของผู้ร้องแล้ว ก็ต้องชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 732 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9761/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาในการยินยอมให้จำนองทรัพย์สินรวม และผลผูกพันตามกฎหมาย
ป.พ.พ. มาตรา 1361 บัญญัติว่า "เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ จะจำหน่ายส่วนของตนหรือจำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้ แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันได้ ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน" แม้ผู้ร้องจะเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง 1 ใน 7 ส่วน แต่จากการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบเอก บ.จดทะเบียนใส่ชื่อของจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพียงคนเดียว และนำที่ดินดังกล่าวไปจำนองเพื่อประกันหนี้ไว้แก่โจทก์ ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและบรรดาทายาทอื่นของจ่าสิบเอก บ.โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด ทั้งผู้ร้องและพี่น้องคนอื่นซึ่งเป็นบุตรของจำเลยยังเคยเจรจากับโจทก์ว่าไม่คิดจะโกงโจทก์ และภายหลังโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แล้ว ผู้ร้องยังมีส่วนเจรจากับโจทก์โดยขอให้โจทก์ยอมลดยอดหนี้ให้แก่จำเลย จนจำเลยและโจทก์ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และเมื่อมีการยึดที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาด ผู้ร้องยังได้ไปดูแลการขายทอดตลาดแทนจำเลยอีกด้วย แสดงว่าตลอดระยะเวลาประมาณ 20 ปี นับแต่จำเลยนำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไปจำนองไว้แก่โจทก์ ผู้ร้องรู้มาโดยตลอด แต่ไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้าน แสดงว่าผู้ร้องมีเจตนาให้จำเลยแสดงตนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียวและยินยอมให้จำเลยจำนองที่ดินพิพาทได้ การจำนองผูกพันผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงออกจากการขายทอดตลาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8707/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจต่อสู้คดีของลูกหนี้ล้มละลายตกเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลต้องส่งสำเนาคำร้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 บัญญัติว่า "เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้...(3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้" การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอกันส่วนจากเงินขายทอดตลาดที่ดิน ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้ล้มละลายมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย ย่อมมีผลเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 อำนาจในการต่อสู้คดีนี้ของจำเลยที่ 1 จึงตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 1 หามีสิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาต่อสู้คดีด้วยตนเองไม่ ที่ศาลชั้นต้นไม่ส่งสำเนาคำร้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพื่อเข้าดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7890/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีกับสินสมรส: เจ้าหนี้มีสิทธิยึดได้ทั้งแปลง ผู้คัดค้านมีสิทธิขอส่วนแบ่งตามสัดส่วน
แม้ทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดและมีการขายทอดตลาดจะเป็นสินสมรส อันเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านกับจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธินำยึดและขายทอดตลาดได้ทั้งแปลง ผู้คัดค้านคงมีสิทธิขอกันส่วนของตนจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด เพราะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหากมิใช่หนี้ร่วม เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับคดีจากสินสมรสได้เพียงในส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้เท่านั้น มิอาจกระทบกระเทือนสินสมรสในส่วนของคู่สมรสของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ ดังนั้น ปัญหาว่าหนี้เงินกู้ที่จำเลยมีต่อโจทก์เป็นหนี้ร่วมโดยผู้คัดค้านได้ให้สัตยาบันหรือมีหนังสือให้ความยินยอมดังที่โจทก์อ้างหรือไม่ จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด หาใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะวินิจฉัยไม่ เมื่อข้อเท็จจริงตามสำนวนไม่ปรากฏในคำฟ้อง คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความตลอดจนคำขอยึดทรัพย์ระบุว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ร่วมระหว่างผู้คัดค้านกับจำเลย กรณีจึงยังไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลว่าเป็นหนี้ร่วมตามที่โจทก์กล่าวอ้างเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดกึ่งหนึ่งจ่ายให้แก่ผู้คัดค้านในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมไปได้ การที่โจทก์เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในภายหลังว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นสินสมรสและหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วม ไม่ทำให้การดำเนินการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่โจทก์กล่าวอ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5088/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการสิ้นสิทธิเรียกร้อง กรณีจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา และโจทก์ละเลยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในกำหนด
ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2538 ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยคดีดังกล่าวโอนที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์คดีดังกล่าวเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมบางส่วน ซึ่งจำเลยที่ 2 จะจัดการโอนให้ภายใน 2 เดือน นับแต่วันที่ทำสัญญา หากไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้น เป็นข้อตกลงที่ให้คู่ความทั้งสองฝ่ายต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนกัน เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ผู้ร้องต้องดำเนินการบังคับคดีภายใน 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 การที่ผู้ร้องไปดำเนินการเพียงขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน แต่ขอให้รอเรื่องไว้ก่อนโดยไม่ยอมชำระเงินค่าธรรมเนียมในการโอนที่ดินตลอดมา จึงยังถือไม่ได้ว่าได้มีการร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาแล้ว เมื่อผู้ร้องไม่ได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้จนเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ผู้ร้องจึงสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ที่ดินพิพาทและไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้อีกต่อไป ผู้ร้องจึงไม่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และไม่ใช่ผู้ที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 287 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อขอกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด
of 40