คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 90/39

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6901/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ไม่มีผลให้ทนายความสิ้นสุดอำนาจยื่นฎีกาแทนลูกหนี้ได้
คำสั่งศาลล้มละลายกลางที่ให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่มีผลทำให้อำนาจหน้าที่โจทก์ที่มีอยู่ในกิจการและทรัพย์สินของโจทก์สิ้นสุดลงเช่นอย่างคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย เพียงแต่มีผลให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของผู้บริหารของโจทก์สิ้นสุดลงตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/20 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ทนายความที่โจทก์แต่งตั้งไว้แล้วโดยชอบก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์ ย่อมมีสิทธิยื่นฎีกาแทนโจทก์ ฎีกาที่ยื่นจึงมิใช่ฎีกาที่ไม่ชอบอันจะมีผลให้คำพิพากษาศาลฎีกาไม่ผูกพันจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10970/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องหลังฟื้นฟูกิจการ: สิทธิเรียกร้องก่อนฟื้นฟูกิจการต้องแจ้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
โจทก์อ้างตามคำฟ้องว่าโจทก์ส่งมอบงานที่จำเลยว่าจ้างให้จำเลยตั้งแต่ประมาณเดือนมกราคม 2542 เท่ากับโจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยชำระสินจ้างได้ตั้งแต่วันส่งมอบงานที่ทำตาม ป.พ.พ. มาตรา 602 ถือว่าสิทธิเรียกร้องสินจ้างของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์ และจำเลยไม่ได้รับว่าเป็นหนี้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนของโจทก์ที่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นโดยวิธีทวงหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 โจทก์โดยผู้บริหารแผนจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
โจทก์อุทธรณ์และฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้อง หากศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเห็นว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นไม่ถูกต้อง ก็ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1371/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูกิจการต้องแสดงมูลค่าสินทรัพย์ที่แท้จริง การปรับลดมูลค่าโดยไม่สมเหตุผลทำให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์
การพิจารณาปัญหาว่าเมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58 (3) หรือไม่นั้น ศาลจะต้องพิจารณาประกอบข้อมูลจากแผนฟื้นฟูกิจการในส่วนรายการรายละเอียดแห่งสินทรัพย์ หนี้สินและภาระผูกพันต่าง ๆ ที่แท้จริงของลูกหนี้ในขณะที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/42 (2) เมื่อมีข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ในชั้นพิจารณาแผนว่าการลงรายการในแผนฟื้นฟูกิจการในส่วนสินทรัพย์ของลูกหนี้ไม่ถูกต้อง ผู้ทำแผนจึงมีหน้าที่นำสืบว่าแผนนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้วและศาลควรมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานใดแน่ชัดตามแผนฟื้นฟูกิจการและคำชี้แจงของผู้ทำแผนว่าสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ของลูกหนี้ที่มีต่อบริษัทย่อยของลูกหนี้และบริษัทที่เกี่ยวข้องในทางบัญชีถือได้ว่าเป็นหนี้สูญที่ลูกหนี้ติดตามทวงถามจนถึงที่สุดแล้วยังมิได้รับชำระ หรือเป็นหนี้สงสัยจะสูญที่ปรากฏพฤติการณ์ใด ๆ ที่ลูกหนี้คาดได้ว่ามิอาจเรียกเก็บได้แล้ว การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดมูลค่าสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ดังกล่าวจำนวน 607,652,315 บาท ให้เป็นศูนย์ทั้งหมด ทั้งที่สิทธิเรียกร้องดังกล่าวยังคงเป็นสินทรัพย์ที่แม้ลูกหนี้ล้มละลายหรือเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ยังอาจดำเนินการทวงหนี้และขอต่อศาลให้บังคับคดีบริษัทดังกล่าวชำระหนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 และมาตรา 119 จึงเป็นการปกปิดมูลค่าที่แท้จริงของกิจการลูกหนี้โดยการปรับลดสินทรัพย์ทางบัญชีซึ่งเมื่อรวมกับสินทรัพย์รายการอื่นที่ถูกกำหนดจำนวนเป็นศูนย์เช่นเดียวกันตามตารางผลตอบแทนในกรณีศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายในแผนฟื้นฟูกิจการส่วนที่ 13 รายการสินทรัพย์ของลูกหนี้ที่กำหนดจำนวนเป็นศูนย์ในแผนทั้งหมดจึงมียอดเงินเป็นจำนวนมากรวม 662,201,701 บาท ทั้งผู้ทำแผนปรับลดสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นศูนย์แล้วมิได้กำหนดให้นำสินทรัพย์ดังกล่าวมาจัดสรรชำระหนี้ในแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ย่อมเป็นผลทำให้เจ้าหนี้ทุกกลุ่มได้รับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการในอัตราส่วนที่น้อยกว่าปกติ และไม่อาจนำสินทรัพย์ที่มีการปรับลดโดยไม่ปรากฏเหตุผลอันสมควรดังกล่าวมาประมาณการเปรียบเทียบให้ถูกต้องได้ว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้เป็นจำนวนใดกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือเมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จแล้ว พยานหลักฐานของผู้ทำแผนจึงไม่มีน้ำหนักนำมารับฟังได้ว่าเมื่อดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3138/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของลูกหนี้ที่ฟื้นฟูกิจการ: การทวงหนี้ก่อนศาลสั่งฟื้นฟูต้องแจ้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
การที่ลูกหนี้ที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจะบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้บุคคลภายนอกชำระหนี้หรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ตนเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องนั้นเกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และบุคคลภายนอกนั้นไม่ได้รับว่าเป็นหนี้ลูกหนี้หรือมีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนที่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้น ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 แต่หากสิทธิเรียกร้องนั้นเกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำของผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนแล้วแต่กรณี ก็เป็นเรื่องที่ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนจะต้องไปใช้วิธีการฟ้องร้องต่อศาลเป็นคดีแพ่งต่างหาก ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9), 90/25 และ 90/59 คดีนี้สิทธิเรียกร้องที่มีต่อบุคคลภายนอกของโจทก์ ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์ ผู้ทำแผนจึงต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการทวงหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 ดังกล่าว โจทก์โดยผู้ทำแผนไม่มีอำนาจฟ้องคดีเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3138/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีของลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ: สิทธิเรียกร้องก่อนฟื้นฟูกิจการต้องแจ้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
โจทก์เป็นลูกหนี้ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ การที่โจทก์จะบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้บุคคลภายนอกชำระหนี้แก่ตนเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของโจทก์นั้น ถ้าสิทธิเรียกร้องนั้นเกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จะต้องใช้วิธีการทวงหนี้ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/39 กล่าวคือผู้ทำแผนต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการทวงหนี้ โจทก์โดยผู้ทำแผนจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีเอง แต่หากสิทธิเรียกร้องนั้นเกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำของผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนแล้วแต่กรณี ก็เป็นเรื่องที่ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนจะต้องไปใช้วิธีการฟ้องร้องต่อศาลเป็นคดีแพ่งต่างหากตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/12 (9), 90/25 และ 90/59