คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 21

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 114 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: สิทธิการได้รับค่าทดแทนขึ้นอยู่กับฐานะผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้มีการจ่ายค่าตอบแทน
ที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ ส. มีวัตถุประสงค์จะตั้งสาขาในการขายประกันและให้บริการแก่ลูกค้าของโจทก์ในบริเวณท้องที่ที่ที่ดินนั้นถูกเวนคืน ส. จึงให้สิทธิแก่โจทก์ใช้ประโยชน์จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว แต่โจทก์ต้องรับภาระจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ ส. เป็นรายเดือนในรูปของเงินเดือนและเป็นรายปีในรูปของเงินปันผล นิติสัมพันธ์ระหว่าง ส. กับโจทก์ดังกล่าวจึงเข้าเกณฑ์การเช่าทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 ฉะนั้น การที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ถูกเวนคืนจึงเป็นการครอบครองในฐานะผู้เช่า ซึ่งเป็นการครอบครองแทน ส. ผู้ให้เช่า ถือไม่ได้ว่าโจทก์ยึดถือที่ดินที่ถูกเวนคืนโดยเจตนายึดถือเพื่อตน โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ส่งผลให้โจทก์ไม่มีฐานะเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายในที่ดินที่ถูกเวนคืนอันจะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 18 (1) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1383/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าทดแทนการใช้ที่ดินตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฯ การพิจารณาค่าเสื่อมราคา และดอกเบี้ยกรณีศาลเพิ่มค่าทดแทน
พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 บัญญัติว่าให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมไม่ได้บัญญัติถึงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่จะนำมาใช้คำนึงในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมไว้เหมือนดังเช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ว่าให้กำหนดโดยคำนึงถึงกรณีตาม (1) ถึง (5) ดังนั้น ในการที่จะกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนความเป็นธรรมตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศฯ มาตรา 30 ได้นั้น จึงควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ในทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) เพื่อใช้เป็นฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินโดยวันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าคือ วันที่ประกาศกำหนดเขตสำรวจทั่วไปเพื่อเลือกแนวหรือที่ตั้งระบบไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 28 (2) (ข) แห่ง พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ
แม้ พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 มิได้กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่อยู่นอกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าไว้เลยก็ตาม แต่ในการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์นั้น ศาลก็จำต้องคำนึงถึงค่าแห่งความเจริญหรือความเสื่อมของที่ดินที่อยู่นอกแนวเขตสายส่งไฟฟ้าซึ่งไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณนั้นได้เช่นเดิมด้วยในทำนองเดียวกันกับการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคสามและวรรคสี่
พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 ทวิ วรรคสาม บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่าย วางหรือฝากเงินค่าทดแทนนั้น" ได้ความว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะทำการจ่ายเงินค่าทดแทนทรัพย์สินให้แก่โจทก์ในวันที่ 10 มกราคม 2539 เมื่อศาลได้เพิ่มเงินค่าทดแทนทรัพย์สินให้แก่โจทก์อีก ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2539 อันเป็นวันที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 524/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณค่าทดแทนการใช้ที่ดิน กรณีแนวสายไฟฟ้าสูง: ศาลฎีกาปรับอัตราค่าทดแทนตามสภาพที่ดินจริง
พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 บัญญัติไว้เพียงว่าให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สิน มิได้บัญญัติรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่จะให้นำมาใช้คำนึงในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมเช่นที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) แต่เนื่องจาก พ.ร.บ. ทั้งสองนี้มีเจตนารมณ์ที่จะจ่ายเงินค่าทดแทนที่เป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินและทรัพย์สินอื่น ดังนั้น การที่จะพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตามความเป็นธรรมตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 ก็ควรคำนึงถึงหลักเกณฑ์ทำนองเดียวกับที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) กรณีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์วันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (4) คือ วันใช้บังคับ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน อันเป็นวันเริ่มต้นของการกำหนดแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนมีผลใช้บังคับ ซึ่งวันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าคือวันที่ประกาศกำหนดเขตสำรวจทั่วไปเพื่อเลือกแนวหรือที่ตั้งระบบไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 28 (2) (ข) แห่ง พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ
เมื่อกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ใช้ปลูกบ้านซึ่งมีการถมดินไว้แล้วจึงไม่ต้องกำหนดเงินค่าถมดินอีก
การเวนคืนเพื่อใช้เดินสายส่งไฟฟ้า กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังคงเป็นของเจ้าของที่ดิน เจ้าของที่ดินจึงมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนในการใช้ที่ดินที่เดินสายส่งไฟฟ้าเท่านั้น ดังนั้น การกำหนดเงินค่าทดแทนในส่วนที่ใช้ตั้งเสาไฟฟ้าให้ร้อยละ 100 ที่บ้านจ่ายให้ร้อยละ 90 ที่สวนจ่ายให้ร้อยละ 70 และที่นาจ่ายให้ร้อยละ 50 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5793/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: การคำนวณค่าทดแทนที่เหมาะสม โดยอ้างอิงราคาซื้อขายจริงและประโยชน์ที่ได้รับจากที่ดินที่เหลือ
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 22 บัญญัติว่าในกรณีที่เจ้าของได้ที่ดินใดมาโดยมิได้ใช้อยู่อาศัยหรือใช้ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพหรือทำประโยชน์ในที่ดินอย่างแท้จริงถ้าหากมีการเวนคืนที่ดินนั้นภายในห้าปีนับแต่วันที่เจ้าของได้ที่ดินนั้นมาจะกำหนดเงินค่าทดแทนให้ต่ำกว่าเงินค่าทดแทนที่กำหนดตามมาตรา 21 ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าราคาที่ดินในขณะที่เจ้าของได้ที่ดินนั้นมา มาตรา 22 นี้ มีความหมายว่า หากเงินค่าทดแทนที่ดินที่จะกำหนดให้ตามมาตรา 21 เป็นจำนวนสูงกว่าราคาที่ดินที่ผู้ถูกเวนคืนซื้อมาภายในห้าปีก่อนการเวนคืนที่ดินนั้น จะกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ต่ำกว่าเงินค่าทดแทนที่ดินที่กำหนดตามมาตรา 21 ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าราคาที่ดินที่ผู้ถูกเวนคืนซื้อมา หากราคาที่ดินที่ผู้ถูกเวนคืนซื้อมาสูงกว่าเงินค่าทดแทนที่ดินที่กำหนดตามมาตรา 21 แล้วก็ต้องกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ตามมาตรา 21 จะกำหนดให้เท่ากับราคาที่ดินที่ถูกผู้เวนคืนซื้อมาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4999/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าทดแทนการเวนคืนที่ดิน-ค่าเสื่อมราคา-ดอกเบี้ย-ความรับผิดร่วมของผู้แทน
พ.ร.บ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 30 บัญญัติไว้อย่างกว้างมุ่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมมีเจตนารมณ์เช่นเดียวกับ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 จึงต้องนำวิธีการกำหนดเงินค่าทดแทนความเสียหายตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินค่าทดแทนสำหรับอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากถูกแนวเขตสายส่งไฟฟ้าอันมีราคาลดลงได้
พ.ร.บ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 30 ทวิ วรรคสาม กำหนดให้คิดดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้น นับแต่วันที่ต้องมีการจ่าย วางหรือฝากเงินค่าทดแทนนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์ให้มารับเงินในวันที่ 2 พฤษภาคม 2538 เวลา 10 นาฬิกา แต่โจทก์ไม่ไปรับเงินค่าทดแทนภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องวางหรือฝากเงินค่าทดแทนโดยพลันในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 3 พฤษภาคม 2538 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2538
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 และการจ่ายเงินค่าทดแทนเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างระบบไฟฟ้าสายส่งของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย แต่หาต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3526/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: การกำหนดค่าทดแทนที่ถูกต้องและสิทธิในการอุทธรณ์เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติม
คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้พิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนอันเนื่องจากที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนในครั้งนี้โดยกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เฉพาะในส่วนของที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตารางวาละ 40,000 บาท อันเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 วรรคสอง วรรคสามและวรรคสี่ มาตรา 18 มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24 หากโจทก์เห็นว่า ที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เฉพาะเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเท่านั้นยังไม่ชอบเพราะการเวนคืนทำให้ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลงด้วย ซึ่งมีผลเท่ากับการกำหนดเงินค่าทดแทนไม่ถูกต้องครบถ้วนตามสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามมาตรา 21 วรรคสาม กรณีนี้มิใช่กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่เป็นกรณีที่ไม่กำหนดเงินค่าทดแทนให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายอันทำให้โจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดซึ่งโจทก์สามารถที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เพื่อขอให้รัฐมนตรีวินิจฉัยกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนได้ แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีขอให้เพิ่มเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงตามขั้นตอนที่มาตรา 25 วรรคหนึ่งบัญญัติไว้ก่อนใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3190/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แก้ไขคำพิพากษาข้อผิดพลาดเนื้อที่ดิน: ศาลอุทธรณ์มีอำนาจแก้ไขได้แม้คดีถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143
ฟ้องโจทก์ระบุเนื้อที่ดินแต่ละแปลงของที่ดินทั้งสิบแปลงของโจทก์ที่ถูกเวนคืนไว้ด้วย รวมแล้วมีเนื้อที่ทั้งหมด 8 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา แต่โจทก์ระบุว่ารวมแล้วเป็นเนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มโดยคิดจากจำนวนเนื้อที่ที่โจทก์รวมผิดพลาดดังกล่าวในฟ้อง ต่อมาในชั้นบังคับคดีทั้งโจทก์และจำเลยแถลงข้อเท็จจริงตรงกันว่า ที่ดินของโจทก์มีจำนวนเนื้อที่ที่แท้จริงเพียง 8 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นโดยคิดจากจำนวนเนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา อันเกิดจากการรวมเนื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนผิดพลาดไปนั้น จึงเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อยซึ่งไม่ใช่ข้อผิดพลาดในสาระสำคัญ แม้คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองดังกล่าวจะถึงที่สุดไปแล้ว ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง เพราะการเพิ่มเติมแก้ไขคำพิพากษาในส่วนที่เป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อยตามบทกฎหมายดังกล่าวจะกระทำเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2950/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนเวนคืน: การอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี, การครอบครอง, และขอบเขตค่าเสียหาย
การพิจารณาว่าที่ดินที่ถูกเวนคืนแปลงใดมีที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนหรือไม่เพียงใด ต้องพิจารณาในวันที่กฎหมายกำหนดแนวเขตที่จะเวนคืนมีผลใช้บังคับในกรณีนี้คือวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ คือวันที่ 1 มกราคม 2535 ในวันดังกล่าวที่ดินของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนเป็นที่ดินแปลงเดียวมีที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่ 113 ตารางวา และไม่มีด้านหนึ่งด้านใดน้อยกว่า 5 วา ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะขอให้ฝ่ายจำเลยเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินแปลงนี้ออกเป็นแปลงย่อยอีก 7 แปลง ภายหลังวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นผลให้ที่ดินที่แบ่งแยกดังกล่าวแต่ละแปลงมีเนื้อที่น้อยกว่า 25 ตารางวา และมีด้านหนึ่งด้านใดน้อยกว่า 5 วานั้น เกิดจากการกระทำของโจทก์เองมิใช่เกิดจากการเวนคืนโดยตรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้ฝ่ายจำเลยเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินที่เหลืออยู่นั้นได้
อุทธรณ์ของโจทก์ไม่ได้ขอให้รัฐมนตรีฯ วินิจฉัยกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงให้แก่โจทก์ ส่วนที่มีหนังสือถึงเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ขอให้เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือว่า หากเจ้าหน้าที่ไม่ยอมเวนคืนหรือจัดซื้อก็ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลืออยู่อันราคาลดลงร้อยละ 60 เป็นการขอให้เจ้าหน้าที่ที่เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินตามมาตรา 20 มิใช่เป็นการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงซึ่งเป็นเงินค่าทดแทนตามมาตรา 21 วรรคสามนี้ ก่อนที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 จะมีสิทธินำคดีมาฟ้องคดีต่อศาลขอเงินค่าทดแทนส่วนนี้ได้ ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจะต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีก่อนตามขั้นตอนในมาตรา 25 วรรคหนึ่งและมาตรา 26 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้รัฐมนตรีฯ กำหนดเงินค่าทดแทนส่วนนี้ก่อน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนส่วนนี้จากจำเลย ปัญหานี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และข้อเท็จจริงอันนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวปรากฏจาก พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำเข้าสู่การพิจารณาของศาลโดยชอบแล้ว แม้จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้และไม่ได้ ยกเหตุนี้ขึ้นฎีกาก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
ผู้จะมีสิทธิได้เงินค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนตาม มาตรา 21 วรรคท้าย ต้องเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขาย หรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้วในวันที่อสังหาริมทรัพย์นั้นถูกกำหนดให้เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน ในกรณีนี้คือวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ คือวันที่ 1 มกราคม 2535 แต่โจทก์ซื้อที่ดินที่ต้องเวนคืน มาภายหลังวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ แล้ว ทั้งการสร้างอาคารพาณิชย์แบ่งขายให้แก่บุคคลอื่นก็ไม่ใช่การอยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกเงินค่าทดแทนความเสียหายส่วนนี้
โจทก์ผู้ถูกเวนคืนจะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์เพียงใดนั้น ต้องเป็นไปตามที่ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 บัญญัติไว้ แต่ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้หาได้มีบทบัญญัติให้จ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายที่โจทก์ถูกผู้ซื้อที่ดิน (ที่ถูกเวนคืน) และอาคารพาณิชย์จากโจทก์ฟ้องให้โจทก์รับผิดไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3197/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดราคาเวนคืนที่ดิน: ความล่าช้าของจำเลยทำให้ต้องใช้ราคาในปัจจุบันเพื่อความเป็นธรรม
จำเลยเพิ่งมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาตามฟ้องออกมาแล้วกว่า 16 ปี นับว่าล่าช้าเกินสมควรไปมากจนผิดปกติ ต้องถือว่าเป็นกรณีที่ฝ่ายจำเลยไม่เร่งดำเนินการเวนคืนให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันควร ไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนวันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดราคาที่ดินของโจทก์ จากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาตามฟ้องในปี 2517 มาเป็นปี 2531 ก่อนวันที่จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 23 สิงหาคม 2533 แจ้งให้โจทก์ไปรับค่าทดแทนที่ดินประมาณ 2 ปี จึงชอบตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและความมุ่งหมายของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ที่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2447/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: การประเมินค่าทดแทนที่ดินโดยพิจารณาจากราคาที่ซื้อขายจริงและสภาพการใช้ประโยชน์
โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาก่อนการเวนคืนภายในระยะเวลา 5 ปี ในราคาเฉลี่ยตารางวาละ 2,383.50 บาท โดยโจทก์มิได้ใช้ที่ดินพิพาทอยู่อาศัยหรือใช้ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพหรือทำประโยชน์ที่ดินพิพาทอย่างแท้จริง เข้ากรณีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 22 ที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ต่ำกว่าเงินค่าทดแทนที่ดินที่กำหนดตามมาตรา 21 ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าราคาที่ดินพิพาทในขณะที่โจทก์ได้ที่ดินพิพาทมา ทั้งที่ดินพิพาทอยู่ในทำเลที่ห่างไกล แม้จะอยู่ติดถนนสาธารณะและถมดินไว้แล้ว แต่จากสภาพความเจริญของท้องถิ่นในระยะเวลาที่ผ่านไป 5 ปี ไม่น่าจะทำให้ที่ดินพิพาทมีราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวได้ ที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 6,000 บาท เป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนแล้ว
of 12