คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1304 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 156 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2911/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินสาธารณประโยชน์: สิทธิครอบครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผลกระทบต่อการฟ้องร้อง
แม้ ผ. จะมีชื่อเป็นผู้รับโอนสิทธิครอบครองที่พิพาทร่วมกับ ม. ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 613/2531 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2531 แต่ต้องถือว่าเป็นการครอบครองทำประโยชน์ในฐานะเจ้าของรวม และ ผ. ใช้สิทธิแห่งการเป็นเจ้าของรวมในที่พิพาทเป็นโจทก์ที่ 3 ฟ้องจังหวัดสงขลาเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น และต่อสู้คดีจนถึงศาลฎีกา จึงเป็นกรณีเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิจัดการทรัพย์สินอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อรักษาทรัพย์สินโดยเข้าต่อสู้กับบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 และมาตรา 1359 อันเป็นการฟ้องคดีแทน ม. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอีกคนหนึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าว จังหวัดสงขลาให้การและนำสืบต่อสู้ว่า ข. นายอำเภอเมืองสงขลาในขณะนั้นได้ประกาศให้ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้เลี้ยงสัตว์เมื่อปี 2476 ต่อมาเมื่อปี 2518 มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพกลับกลายเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอยู่ในความครอบครองดูแลของอธิบดีกรมที่ดิน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลามีอำนาจควบคุมดูแล และที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 3512-3518/2536 วินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2476 ผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาย่อมต้องผูกพัน ม. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมดุจกัน โจทก์ทั้งสิบเจ็ดเป็นผู้รับโอนสิทธิครอบครองที่ดินอันเป็นส่วนหนึ่งของที่พิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 26 ในคดีดังกล่าวจาก ม. จึงต้องถูกผูกพันตามข้อเท็จจริงที่ได้ความเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง กรณีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2476 ให้เป็นที่หวงห้ามสำหรับประชาชนใช้เลี้ยงสัตว์ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ต่อมาแม้มีพระราชกฤษฎีกาเมื่อปี 2518 ให้เพิกถอนสภาพแต่ที่พิพาทก็ยังคงเป็นของรัฐอยู่โดยอธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันได้ตามควรแก่กรณีตาม ป.ที่ดิน มาตรา 8 การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 26 ของที่พิพาทแก่ ม. จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องเพราะเป็นที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน โจทก์ทั้งสิบเจ็ดผู้รับโอนสิทธิจาก ม. จึงไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ทั้งสิบเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสิบ และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยถึงจำเลยที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 ที่มิได้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ มาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3384/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทิศที่ดินเป็นทางสาธารณะ ผลต่อกำแพงกั้นที่ดินและสิทธิของเจ้าของ
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการจัดสรรที่ดินเพื่อจำหน่าย มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เมื่อปี 2517 จำเลยที่ 1 จัดสรรที่ดินโดยสร้างถนนบนที่ดินพิพาทให้ผู้ซื้อบ้านและที่ดินในโครงการจัดสรรใช้ประโยชน์ร่วมกัน และสร้างกำแพงคอนกรีตบนที่ดินพิพาทเป็นแนวเขตถนนกับที่ดินของโจทก์ วันที่ 30 สิงหาคม 2550 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือยินยอมให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างถนนพร้อมท่อระบายน้ำและสาธารณูปโภคในที่ดินเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยจำเลยที่ 1 ไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือผลประโยชน์ตอบแทน และมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และสงวนกรรมสิทธิ์ต่อไป แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้กรุงเทพมหานครและประชาชนทั่วไปใช้สอยทรัพย์สินหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และเมื่อคำนึงถึงความประสงค์ของกรุงเทพมหานครที่ประสงค์จะก่อสร้างถนนพร้อมท่อระบายน้ำและสิ่งสาธารณูปโภคอย่างอื่นบนที่ดินพิพาทเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามหนังสือสัญญายินยอมให้ใช้สอยทรัพย์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 อุทิศที่ดินพิพาทให้กรุงเทพมหานคร เพื่อให้กรุงเทพมหานครใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเข้าไปพัฒนาถนนเดิมให้กลายเป็นถนนคอนกรีตพร้อมวางระบบระบายน้ำและสาธารณูปโภคที่จำเป็น เพื่อเป็นทางสาธารณประโยชน์โดยมุ่งหมายให้ตนพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณประโยชน์ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 แล้ว ดังนั้น ถนนและที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะอันเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ทันที แม้ไม่ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่กรุงเทพมหานครก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย กรุงเทพมหานครจึงเป็นผู้ดูแลและมีหน้าที่บำรุงถนนและที่ดินพิพาทตามกฎหมาย
แต่สำหรับกำแพงคอนกรีตนั้นมิได้เป็นประโยชน์แก่โจทก์และประชาชนอื่นที่อยู่นอกที่ดินที่จัดสรรหรือนอกโครงการของจำเลยที่ 1 อีกทั้งกรุงเทพมหานครมีความประสงค์เพียงเฉพาะแต่จะทำการก่อสร้างถนนพร้อมท่อระบายน้ำและสิ่งสาธารณูปโภคอื่นบนที่ดินพิพาทเพื่อให้ประชาชนทั่วไปใช้เป็นทางสัญจรร่วมกันเท่านั้น แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 ได้ว่า มิได้มีเจตนาอุทิศหรือโอนกำแพงคอนกรีตให้แก่กรุงเทพมหานครด้วย กำแพงคอนกรีตยังคงเป็นสาธารณูปโภคสำหรับที่ดินที่จัดสรรในโครงการของจำเลยที่ 1 และเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องบำรุงรักษากำแพงคอนกรีตให้คงสภาพเช่นที่ได้จัดทำขึ้นต่อไป และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับกำแพงคอนกรีตโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องรื้อกำแพงคอนกรีตและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1534/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ การโต้แย้งสิทธิใช้ทางของเจ้าของที่ดินติดกัน ถือเป็นการละเมิด
เจ้าของเดิมแบ่งแยกที่ดินมีโฉนด 1 แปลง ออกเป็น 8 แปลง แล้ว ทำให้ที่ดินแปลงย่อยบางแปลงไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ต้องใช้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นแปลงที่เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ ภายหลังแบ่งแยกที่ดินเจ้าของเดิมขายที่ดินที่แบ่งแยกไปจนหมด คงเหลือแต่ที่ดินพิพาทที่ไม่ได้จำหน่ายจ่ายโอน โดยไม่ปรากฏว่าเจ้าของเดิมหรือทายาทอื่นได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ถือได้ว่าเจ้าของเดิมไม่มีเจตนากันที่ดินพิพาทไว้ใช้ทำนาหรือทำประโยชน์ใด ๆ แต่มีเจตนาจะให้ที่ดินพิพาทเป็นทางเชื่อมต่อระหว่างที่ดินที่ถูกแบ่งแยกกับทางสาธารณประโยชน์ทั้งสามด้าน เพื่อให้ขายได้ง่ายและในราคาสูง การที่เจ้าของเดิมยินยอมให้ขุดคลองเชื่อมต่อจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินแปลงที่มายังที่ดินแปลงอื่น และมีการทำถนนกับปรับปรุงถนนที่มีลักษณะมั่นคงเป็นถนนคอนกรีต กับการดูแลรักษาคลองโดยใช้งบประมาณของหน่วยงานราชการเรื่อยมา โดยประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์จากคลองและถนนในที่ดินพิพาทเป็นเวลากว่า 30 ปี อีกทั้งมีการปักเสาไฟฟ้าและวางท่อประปาในที่ดินพิพาท โดยไม่มีพฤติการณ์โต้แย้งหวงกันจากเจ้าของเดิมและจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้าของเดิม ถือได้ว่าเจ้าของเดิมอุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว แม้ไม่ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนของราชการก็ตาม ที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2)
ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 122 และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. 2553 กำหนดให้อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ ก็เป็นกฎหมายที่กำหนดหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในการดูแลสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนรวม แต่มิได้ตัดสิทธิเอกชนใดที่จะใช้สิทธิของตนในสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินที่อยู่ติดกับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โจทก์จึงชอบที่จะใช้สอยที่ดินพิพาทได้ การที่จำเลยที่ 1 เข้ายึดถือครอบครองโดยนำท่อคอนกรีตวางขวางทางเข้าออกที่ดินของโจทก์ในเส้นทางดังกล่าว ทั้งดำเนินคดีโจทก์ทางอาญาในข้อหาบุกรุกและทางแพ่งฐานละเมิดต่อศาลชั้นต้น แม้ภายหลังต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำท่อคอนกรีตที่ขวางทางโจทก์ออกไปแล้ว ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในการใช้ทางสาธารณประโยชน์เยี่ยงประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แล้ว อันถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 และ 1337 โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์จะได้รับประโยชน์จากการจัดสรรที่ดินของโจทก์หรือต้องรับผิดต่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรรของโจทก์หากไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตามที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินแก่โจทก์หรือไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 และเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1434/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินมีเงื่อนไข เมื่อผู้รับบริจาคไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้
หนังสือแสดงความประสงค์เรื่อง การอุทิศที่ดินให้กับทางราชการหรือยินยอมให้ทางราชการเข้าไปดำเนินการเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทำขึ้นระหว่างโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้บริจาคกับจำเลยในฐานะผู้รับบริจาค แม้จะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ย่อมมีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองและจำเลยในฐานะเป็นบุคคลสิทธิ จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ระบุไว้ในหนังสือแสดงความประสงค์ดังกล่าว เมื่อการยกให้ แก่จำเลยเป็นการยกให้โดยมีเงื่อนไข ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจะตกเป็นของทางราชการและตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ต่อเมื่อจำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแล้ว จำเลยไม่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ภายในระยะเวลาตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหนังสือแสดงความประสงค์ ก็ต้องถือว่าที่ดินพิพาทยังไม่ตกเป็นของทางราชการและไม่ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5776/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทางสาธารณะ ทางภาระจำยอม การรื้อถอนสิ่งกีดขวางทาง และการชดใช้ค่าเสียหาย
เมื่อทางพิพาทส่วนแรกเป็นทางสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตั้งแต่ก่อนจำเลยทั้งสองรับโอนที่ดินมาจากเจ้าของเดิม ย่อมต้องยังคงสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตลอดไปจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 และ ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) บุคคลใดย่อมไม่อาจอ้างกรรมสิทธิ์ในทางดังกล่าวได้ ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะทำหนังสืออุทิศทางพิพาทส่วนที่ 2 โดยมีเจตนาให้ใช้แทนทางพิพาทส่วนแรกตามคำแนะนำขององค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนกอง ตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจมีผลให้ทางพิพาทส่วนแรกที่ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้นกลับเป็นของจำเลยทั้งสองได้ เมื่อพิจารณาหนังสือแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองดังกล่าว ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยินยอมให้ทางราชการเข้าไปดำเนินการเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชน โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่คัดค้านการใด ๆ ข้อความดังกล่าวมีความหมายโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยทั้งสองยอมอุทิศทางพิพาทส่วนที่ 2 ให้เป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น ทางพิพาทส่วนที่ 2 จึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ทันทีที่จำเลยทั้งสองทำหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าว แม้จะเป็นการกระทำหลังวันฟ้องคดีนี้ และคดีที่จำเลยทั้งสองฟ้องต่อศาลปกครองขอเพิกถอนเกี่ยวกับหนังสือแสดงเจตนาเฉพาะทางพิพาทส่วนที่ 2 อยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม แต่ทางพิพาทส่วนที่ 2 ก็ยังไม่ได้ถูกถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 และ ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) ทางพิพาทส่วนที่ 2 จึงยังคงเป็นทางสาธารณะ ซึ่งเกิดจากการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งของจำเลยทั้งสอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่าทางพิพาทส่วนที่ 2 เป็นทางสาธารณะ จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนตามทางนำสืบของคู่ความ มิได้เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือพิพากษาเกินคำขอในส่วนทางพิพาทส่วนที่ 2 นี้เช่นกัน การที่จำเลยทั้งสองสร้างกำแพงปิดทางพิพาทบางส่วนย่อมเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ในการใช้ทาง จำเลยทั้งสองย่อมต้องรื้อถอนออกไปและรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1986/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินสาธารณะเป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิเรียกเงินคืนได้ตามกฎหมาย แม้เวลาผ่านไป
โจทก์ตกลงซื้อที่ดินมือเปล่าที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายจำนวนเนื้อที่ 25 ไร่ ราคา 10,000,000 บาท โจทก์ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยครบถ้วน และจำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินให้โจทก์แล้ว ต่อมาโจทก์ได้ยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจึงทราบว่าที่ดินที่จำเลยขายแก่โจทก์ตั้งอยู่ในเขตที่สวนเลี้ยงสัตว์บ้านท่าแดงซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นการที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ซึ่งจะโอนแก่กันมิได้ตามมาตรา 1305 ซึ่งเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นโมฆะตามมาตรา 150 ทั้งเป็นกรณีที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินที่นำมาขายแก่โจทก์เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่อาจซื้อขายได้ แต่จำเลยจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งความจริงดังกล่าวแก่โจทก์ ซึ่งหากโจทก์รู้ความจริงสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทคงจะไม่เกิดขึ้น กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยได้รับเงินค่าที่ดินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวเท่ากับราคาที่ดินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไปนั้น จึงมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ที่ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกำหนดอายุความ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินราคาที่ดินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13566/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะที่ดินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่ตรงกัน ศาลฎีกาพิพากษายกกลับคำวินิจฉัยเดิม
จำเลยที่ 1 เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือเป็นบุคคลคนเดียวกับคริสตจักรในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทซึ่งเป็นโบสถ์และที่ดินที่ตั้งโบสถ์ของคริสตจักรใจสมาน เมื่อจำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาอุทิศที่ดินและอาคารให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่จะเอาไปจำหน่ายจ่ายโอนไม่ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายให้อำนาจหรือมีพระราชกฤษฎีกา ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 เอาไปขายให้โจทก์ จึงเป็นโมฆะ แม้โจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทโดยผลของคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วก็ไม่มีผล โจทก์จึงไม่ใช่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาท ดังนั้น โจทก์จะเอาคำพิพากษาศาลฎีกามาบังคับขับไล่ผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองให้ออกไปจากที่ดินและอาคารพิพาทโดยถือว่าเป็นบริวารของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ เนื่องจากที่ดินและอาคารพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองครอบครองใช้ประโยชน์อยู่โดยมีสิทธิ ผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองจึงสามารถแสดงอำนาจพิเศษให้เห็นได้ว่า ผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองไม่ใช่บริวารของจำเลยที่ 1 คำพิพากษาศาลฎีกาจึงไม่มีผลผูกพันผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9214/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินงอกริมตลิ่งสาธารณประโยชน์: สิทธิในที่ดินงอกเป็นของที่ดินสาธารณประโยชน์เดิม
ในขณะที่ ข. นำรังวัดที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เพื่อออกโฉนดที่ดินเลขที่ 1837 เมื่อปี 2508 นั้น ข. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในขณะนั้นได้ตกลงยินยอมให้นายอำเภอบางละมุงกันที่ดินส่วนสุดเขตทางด้านทิศตะวันตกที่ระบุว่าจดทะเลไปจนถึงทะเลในระยะ 15 เมตร ไว้เป็นที่ชายทะเลสาธารณประโยชน์ ซึ่งถือได้ว่า ข. ได้ยกหรืออุทิศที่ดินส่วนนั้นให้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว แม้จะมิได้มีการทำหลักฐานกันไว้เป็นหนังสือหรือจดทะเบียนโอนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว เมื่อที่ดินที่กันไว้เป็นที่สาธารณประโยชน์เกิดที่งอกริมตลิ่งขึ้น ที่ดินที่งอกขึ้นนั้นย่อมเป็นทรัพย์สินของที่สาธารณประโยชน์แปลงนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1308 หาใช่เป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ของโจทก์ไม่
จำเลยให้การตั้งประเด็นต่อสู้คำฟ้องโจทก์ว่า ตามหลักฐานที่ปรากฏในรูปแผนที่โฉนดที่ดินเลขที่ 1837 ระบุว่า ด้านทิศตะวันตกของที่ดินจดชายทะเล ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า "ที่ชายทะเล" หมายถึง "เขตระหว่างแนวน้ำทะเลต่ำสุดกับแนวน้ำทะเลขึ้นสูงสุด" ซึ่งแสดงว่า แต่เดิมที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกที่เกิดที่งอกนั้นติดชายทะเลที่น้ำท่วมถึง ที่ดินที่น้ำขึ้นลงดังกล่าว (ชายหาด) ย่อมเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทประชาชนใช้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวมิได้อยู่ติดกับทะเล แต่มีชายทะเล (ชายหาด) กั้นอยู่ระหว่างที่ดินของโจทก์กับพื้นน้ำทะเล ที่ดินที่งอกขึ้นจากชายทะเลดังกล่าว จึงเป็นที่ดินที่งอกขึ้นจากที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่งอกดังกล่าวจึงยังคงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามพื้นที่ที่ดินที่งอกขึ้นมา ตามคำให้การของจำเลยเช่นว่านี้ ถือได้ว่าจำเลยได้ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ โดยชัดแจ้งแล้วว่าที่งอกริมตลิ่งที่ดินพิพาท มิใช่ที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ของโจทก์ โดยอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าที่งอกริมตลิ่งพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ชายทะเล ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หาใช่เป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1837 ของโจทก์ไม่ ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าที่ชายหาดเป็นที่สาธารณประโยชน์ เนื่องจาก ข. เจ้าของที่ดินเดิมตกลงอุทิศให้แก่อำเภอบางละมุงนั้น เป็นเพียงรายละเอียดที่จำเลยสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาเพื่อสนับสนุนข้อเถียงตามคำให้การจำเลยในประเด็นที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่งอกริมตลิ่งพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่สาธารณประโยชน์นั่นเอง จึงหาใช่เป็นการนำสืบและพิพากษาคดีนอกฟ้องนอกประเด็นอันจักต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6120/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวน การครอบครองต้องแสดงเจตนาหวงแหน มิใช่อาศัยเอกสาร
แม้โจทก์จะซื้อที่ดินซึ่งรวมที่ดินพิพาทด้วยจาก ฉ. และโจทก์เข้าทำประโยชน์ด้วยการปลูกต้นยูคาลิปตัสและต้นไผ่ในที่ดินที่ซื้อมา แต่เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าช่องเม็ก การเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ จึงเป็นการครอบครองที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ซึ่งหากโจทก์จะมีสิทธิดีกว่าผู้อื่นก็ต้องอาศัยพฤติการณ์แห่งการครอบครอง มิใช่อาศัยสิทธิตามเอกสารแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) หรือใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 11) เพราะโจทก์จะมีสิทธิดีกว่าผู้อื่นตลอดเวลาที่ครอบครองอยู่เท่านั้น ถ้าการครอบครองสิ้นไปไม่ว่าด้วยเหตุใด สิทธิดีกว่าผู้อื่นก็ยุติไปด้วย เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าหลังจากโจทก์เข้าทำประโยชน์ด้วยการปลูกต้นยูคาลิปตัสและต้นไผ่ในที่ดินแล้ว โจทก์ได้ดูแลหวงกันหรือแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์อย่างไร ทั้งได้ความด้วยว่า ที่ดินพิพาทอยู่หลังสถานีตำรวจภูธรช่องเม็ก ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้เข้าใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนได้ หากโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ย่อมหวงกันมิให้ผู้อื่นเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ได้โดยง่าย การที่จำเลยนำสืบว่า เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยการปลูกต้นยูคาลิปตัสและทำแปลงผักสวนครัวโดยมีหลักฐานตามภาพถ่ายเป็นพยาน แสดงว่า จำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจริง ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4219/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ (โคกสูง) ที่ราษฎรใช้ร่วมกัน แม้มีการออก นส.3ก. ก็ไม่อ้างสิทธิได้
ที่ดินที่โจทก์มีหลักฐานเป็นใบ ภ.บ.ท. 5 เป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ แต่โจทก์อาจมีสิทธิครอบครองได้ โดยการครอบครองมาก่อนหรือรับโอนการครอบครองจากผู้ที่ครอบครองมาก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ราษฎรที่โจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวมา ได้ครอบครองที่ดินตามหลักฐานใบ ภ.บ.ท. 5 มาก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 4 ป.ที่ดิน ต้องถือว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของรัฐ การเข้ายึดถือครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แม้จะเสียภาษีบำรุงท้องที่ก็ตาม เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 9 แห่ง ป.ที่ดิน โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิอ้างการครอบครองที่ผิดกฎหมายยันรัฐได้
ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ซึ่งโจทก์ถือครอง เป็นส่วนหนึ่งของที่ทำเลเลี้ยงสัตว์โคกสูงที่ราษฎรนำสัตว์มาเลี้ยงร่วมกันตั้งแต่ปี 2473 ก่อนประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติในปี 2511 จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) โดยสภาพ แม้นายอำเภอปักธงชัยจะเพิ่งออกประกาศว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในปี 2524 ภายหลังเวลาที่มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้แก่ราษฎรผู้มีชื่อในปี 2518 ก็ไม่มีผลทำให้ที่ดินดังกล่าวไม่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอย่างใดเพราะการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้น แม้ทางราชการไม่ได้ทำหลักฐานขึ้นทะเบียนไว้ ก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมาย
of 16