พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 197-199/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ขอบเขตความรับผิดของนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 5(3) กรณีเหมาค่าแรง ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ตามสัญญาจ้างเดิม
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5 (3) กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการที่ได้ว่าจ้างด้วยวิธีเหมาค่าแรง โดยมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดรับช่วงไปควบคุมดูแลการทำงานและรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างอีกทอดหนึ่งก็ดี หรือมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาลูกจ้างมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของลูกจ้างดังกล่าวด้วย หมายความว่า เมื่อนายจ้างผู้รับเหมาค่าแรงไปจ้างลูกจ้างให้มาทำงานให้แก่ผู้ประกอบกิจการ โดยงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการก็ถือว่าผู้ประกอบกิจการนั้นเป็นนายจ้างด้วย ซึ่งมีผลว่า หากผู้รับเหมาค่าแรงมีนิติสัมพันธ์ต่อลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานเท่าใด ผู้ประกอบกิจการก็ต้องรับผิดต่อลูกจ้างนั้นตามสัญญาที่นายจ้างผู้รับเหมาค่าแรงทำไว้กับลูกจ้างเท่านั้น เนื่องด้วยกฎหมายมุ่งคุ้มครองลูกจ้างให้ได้รับสิทธิพึงมีพึงได้ตามสัญญาจ้างแรงงานที่ผู้รับเหมาค่าแรงมีต่อลูกจ้าง แต่จะขอให้บังคับให้ผู้ประกอบกิจการรับผิดและให้ผูกพันดังเช่นลูกจ้างของผู้ประกอบกิจการที่ได้จ้างลูกจ้างนั้นโดยตรงหาได้ไม่ เพราะลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรงไม่ใช่ลูกจ้างของผู้ประกอบกิจการนั้นโดยตรงตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่มาตรา 5 (3) ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการนั้นเป็นนายจ้างของลูกจ้างนั้นด้วยเท่านั้น ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามเกินกว่าที่นายจ้างของโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้รับเหมาค่าแรงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม และเมื่อโจทก์ทั้งสามได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละ 6 วันทำงาน ตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้างผู้รับเหมาค่าแรงแล้ว จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับให้จำเลยจัดให้โจทก์ทั้งสามได้หยุดพักผ่อนประจำปีหรือได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้มากกว่านี้อีก