คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 91/1

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 14 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1687/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อร่วมลงทุนแล้วยกเลิก ถือเป็นการขายตามกฎหมายภาษีอากร
บทบัญญัติ ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 และมาตรา 91/2 หมายความว่า การประกอบกิจการการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรในราชอาณาจักรไทยต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 244 โดยคำว่า ขาย ในภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นมีความหมายกว้างกว่าคำว่า ซื้อขาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 453 ซึ่งหมายถึงผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อโดยมีค่าตอบแทน แต่คำว่า ขาย ในภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นนอกจากหมายถึงการซื้อขายตามมาตรา 453 แห่ง ป.พ.พ.แล้วยังหมายความรวมถึงการจำหน่าย จ่าย หรือโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามนิติกรรมสัญญาประเภทต่างๆ ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ด้วย
โจทก์กับ พ. ได้ทำสัญญาต่างตอบแทนเพื่อลงทุนก่อสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินของ พ. โดยก่อนทำการก่อสร้าง พ. ได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์จำนวน 38 ส่วนใน 75 ส่วน ต่อมาโจทก์กับ พ. ตกลงยกเลิกสัญญาการร่วมลงทุนก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าว โจทก์จึงโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวน 38 ส่วนใน 75 ส่วนคืนให้แก่ พ. การที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่ พ. โดยไม่มีค่าตอบแทนก็ถือเป็นการขายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4) แล้ว และที่ดินที่โจทก์ขายให้แก่ พ. นั้นเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์มีไว้โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะประกอบกิจการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ ซึ่งถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (6) ประกอบพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 244 มาตรา 3 (5) โจทก์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10889/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ: การขายอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปี หากเป็นการโอนให้บุตรโดยเสน่หา ไม่ต้องเสียภาษี
บทบัญญัติของพระราชกฤษฎีกาไม่ใช่บทบัญญัติของกฎหมายในความหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 และ 264 วรรคหนึ่ง ศาลภาษีอากรจึงไม่ต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกฤษฎีกาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
มาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติว่าการขายอสังหาริมทรัพย์กรณีใดเป็นการขายที่เข้าลักษณะเป็นทางค้าหรือหากำไร แต่ได้บัญญัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาซึ่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ให้ถือว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ลักษณะใดบ้างที่ถือเป็นการขายในทางค้าหรือหากำไรตามที่มาตรา 91/2(6) ให้อำนาจไว้ พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจึงมิได้ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 91/2(6) ทั้งมิได้ขัดต่อมาตรา 91/1(1) กับ มาตรา 91/5(6) เพราะมาตรา 91/1(1) เป็นบทบัญญัติกำหนดความหมายของคำว่า "รายรับ" ส่วนมาตรา 91/5(6) ก็เป็นบทบัญญัติกำหนดฐานภาษีเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ
การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มา มิใช่ว่าจะเป็นการขายเป็นทางค้าหรือหากำไรเสมอไปพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 จึงได้กำหนดข้อยกเว้นไว้บางกรณี การที่โจทก์ได้ที่ดินมาแล้วจดทะเบียนให้ที่ดินนั้นแก่ จ. บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ไปในวันเดียวกัน แม้จะถือว่าเป็นการขายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1(4) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น แต่เมื่อผู้ที่โจทก์โอนที่ดินให้โดยเสน่หาเป็นบุตรโจทก์ การโอนที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่กรณีที่ทำเป็นทางการค้าหรือหากำไร โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการและชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้ง ๆ ที่ตนไม่มีหน้าที่ต้องชำระ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้นแต่ไม่เกินกว่าจำนวนเงินค่าภาษีอากรที่ได้รับคืนตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากรตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรดังกล่าวจนถึงวันที่อธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมายมีหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงินตามกฎกระทรวงฉบับที่ 161(พ.ศ. 2526) ข้อ 1(2) และข้อ 1 วรรคท้าย เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินค่าภาษีอากรดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานของจำเลยเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2543 และฟ้องขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจากเงินภาษีที่ต้องคืนดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิรับดอกเบี้ยจากเงินค่าภาษีอากรที่ได้รับคืนในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544เป็นต้นไปจนถึงวันที่อธิบดีกรมสรรพากรมีหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงินดังกล่าว แต่ไม่เกินจำนวนเงินค่าภาษีที่ได้รับคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 883/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายอสังหาริมทรัพย์ทางค้าหรือหากำไรจากสัญญาเช่าและการโอนกรรมสิทธิ์อาคารเข้าข่ายต้องเสียภาษี
โจทก์เช่าที่ดินจาก ร.โดยร. ตกลงให้โจทก์สร้างอาคารบนที่ดินที่เช่าและให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ร. ทันทีที่ลงมือปลูกสร้างแล้วโจทก์มีสิทธินำอาคารดังกล่าวไปให้เช่าจนกว่าจะครบอายุสัญญาเช่า23 ปี การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิตามสัญญาเช่าปลูกสร้างอาคารไว้ในที่ดินที่เช่า บรรดาอาคารสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆจึงมิได้ตกเป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 146 ร. ย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์ในบรรดาอาคารสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามมาตรา 144 วรรคสอง แต่ ร. ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นเนื่องจากสัญญาเช่าที่ตกลงกันไว้ซึ่งหากโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์มาก่อนโจทก์ย่อมไม่อาจจะตกลงให้ทรัพย์นั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ ร.ทันทีได้ จึงถือได้ว่าโจทก์จำหน่ายจ่ายโอนอาคาร สิ่งปลูกสร้างรวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้แก่ ร. อันเข้าบทนิยาม คำว่า "ขาย" ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1(4)
โจทก์สร้างอาคารลงบนที่ดินที่เช่าจาก ร. โดยตกลงให้บรรดาอาคารสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ ร.ทันทีที่ลงมือปลูกสร้างแล้ว โจทก์มีสิทธินำอาคารดังกล่าวไปให้เช่าหาประโยชน์ได้จนกว่าจะครบอายุสัญญาเช่า 23 ปี เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการให้ ร. อันเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามประมวลรัษฎากรมาตรา 91/2(6) ประกอบด้วยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 มาตรา 3(5) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โจทก์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
of 2