พบผลลัพธ์ทั้งหมด 366 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9093/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานฉ้อโกง พนักงานโรงแรมยักยอกเงินค่าอาหารลูกค้า ศาลเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง
จำเลยเป็นพนักงานแผนกห้องอาหารของบริษัท ก. ซึ่งประกอบกิจการโรงแรม มีหน้าที่นำใบเสร็จรับเงินไปเรียกเก็บเงินจากลูกค้าที่สั่งอาหารและเครื่องดื่มแล้วนำเงินค่าอาหารและเครื่องดื่มดังกล่าวส่งให้โรงแรม การที่จำเลยนำใบเสร็จรับเงินที่ใช้เรียกเก็บเงินไปแล้วมาลงวันที่และเขียนรายการใหม่ แล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากลูกค้ารายใหม่ ก็เพื่อไม่ต้องนำเงินจำนวนที่จำเลยเรียกเก็บใหม่ดังกล่าวส่งมอบให้แก่ทางโรงแรมเพราะไม่มีหลักฐานการรับเงินที่แท้จริงและเก็บเงินจำนวนนั้นไว้เพื่อประโยชน์ของตนเอง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของจำเลยคือโรงแรมที่ต้องเสียค่าแรงงานและค่าอาหาร เมื่อลูกค้าไม่ยอมชำระเงินค่าอาหาร บริษัท ก. จึงเป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดฐานพยายามฉ้อโกง
สำหรับคำขอให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6378/2555 ของศาลชั้นต้นนั้น เมื่อคดีนี้ศาลเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ทั้งคดีอาญาของศาลชั้นต้นที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุก จึงนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าวไม่ได้
สำหรับคำขอให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6378/2555 ของศาลชั้นต้นนั้น เมื่อคดีนี้ศาลเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ทั้งคดีอาญาของศาลชั้นต้นที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุก จึงนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าวไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5019/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การยอมความต้องมีเจตนาเพื่อระงับข้อพิพาทโดยสมบูรณ์ ไม่ใช่แค่ข้อตกลงนำไปสู่การระงับข้อพิพาท
การยอมความจะต้องประสงค์จะระงับข้อพิพาท มิใช่เพียงเป็นข้อตกลงโดยมีเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การระงับข้อพิพาท คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ โจทก์ร่วมและจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยตกลงกันว่า สัญญาประนีประนอมยอมความทำขึ้นเพื่อเป็นการระงับข้อพิพาทที่มีอยู่แล้วเวลานี้ทั้งในทางแพ่งและทางอาญา และที่จะมีขึ้นต่อไปในอนาคตของบุคคลผู้ที่เป็นคู่สัญญาซึ่งได้ลงนามไว้ท้ายสัญญานี้ และให้ถือเอาข้อความตามสัญญานี้มีผลเป็นการตกลงและยอมรับกันของคู่สัญญาทุกฝ่ายเกี่ยวกับคดีและได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกซึ่งได้กล่าวถึงคดีนี้ด้วย ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการยอมความระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยและทายาทอื่นเพื่อระงับข้อพิพาท สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 210/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
พรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร แม้ผู้เยาว์ยินยอม ศาลลงโทษฐานพรากผู้เยาว์ได้ตามกฎหมาย
จำเลยมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีไปจาก น. มารดาเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก ซึ่งโจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้อง แต่การพรากผู้เยาว์กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ไม่ว่าผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยหรือไม่ แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 318 แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 319 วรรคแรก ซึ่งมีโทษเบากว่า มิใช่เรื่องเป็นข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษ ศาลฎีกาลงโทษจำเลยในความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีไปจากมารดาเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15953/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อาวุธปืนเถื่อน: การมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตและการริบของกลาง
จำเลยมีอาวุธปืนพก ขนาด .32 (7.65 มม.) มีเครื่องหมายทะเบียน แต่นายทะเบียนมิได้ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ใดไว้ในครอบครอง ซึ่ง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 9 บัญญัติว่า "ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องอาวุธปืนให้ออกให้แก่บุคคลสำหรับใช้ในการป้องกันตัวหรือทรัพย์สินหรือในการกีฬาหรือยิงสัตว์ ใบอนุญาตนั้นให้ออกสำหรับอาวุธปืนแต่ละกระบอก" และมาตรา 10 บัญญัติว่า "อาวุธปืนที่ได้ออกใบอนุญาตให้ตามมาตราก่อน ให้นายทะเบียนทำเครื่องหมายประจำอาวุธปืนนั้นไว้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง" ดังนี้ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าอาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองและพาไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น มิใช่เป็นอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย อาวุธปืนดังกล่าวจึงเป็นอาวุธปืนที่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15549/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่ชอบ: การฎีกาโดยคัดลอกคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่โต้แย้งเหตุผลศาลอุทธรณ์
ฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นฎีกาที่คัดลอกคำพิพากษาศาลชั้นต้นตั้งแต่บรรทัดแรกจนถึงบรรทัดสุดท้ายทุกตัว ต่างแต่ลักษณะตัวอักษรที่ใช้ในการพิมพ์ มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบและมีเหตุผลประกอบข้อโต้แย้งอย่างไร ทั้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมีขึ้นก่อนศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษา จึงไม่อาจโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ล่วงหน้าได้อยู่ในตัว ฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นฎีกาไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15397/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแบ่งยาเสพติดจากจำนวนเดิมเพื่อจำหน่าย ไม่ถือเป็นความผิดต่างกรรม
ยาเสพติดให้โทษที่จำเลยนำมาเพื่อจำหน่าย 20 เม็ด เป็นจำนวนเดียวกันกับที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 141 เม็ด การที่จำเลยแบ่งแยกออกมาจากจำนวนเดียวกันเพื่อนำไปจำหน่ายโดยยังไม่มีการจำหน่ายนั้น เป็นเจตนาเดียวกับที่จำเลยมีอยู่เดิมแล้ว ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยเป็นการครอบครองยาเสพติดให้โทษเพื่อจำหน่ายอีกกรรมหนึ่งต่างหาก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14381/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การผ่อนชำระหนี้ไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ และมีผลสะดุดอายุความ
กรณีที่จะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 850 กล่าวคือ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน แต่ตามบันทึกการเจรจาตกลงชดใช้ชำระหนี้ค่าปรับที่นามีความว่า เมื่อเดือนมกราคม 2541 โจทก์ได้รับจ้างใช้รถแทรกเตอร์ปรับที่นาให้จำเลยในราคา 20,000 บาท จำเลยชำระเงินให้โจทก์บางส่วนแล้ว ในวันทำบันทึกจำเลยชำระเงินให้โจทก์อีก 2,000 บาท ส่วนที่ค้างชำระ 12,000 บาท จำเลยขอผ่อนชำระเป็น 2 งวด งวดที่ 1 ในวันที่ 30 เมษายน 2542 เป็นเงิน 6,000 บาท และงวดที่ 2 ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2542 เป็นเงิน 6,000 บาท ดังนี้จะเห็นได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์เพียงฝ่ายเดียวยอมผ่อนผันให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ซึ่งถึงกำหนดชำระแล้วได้ อันเป็นการที่โจทก์สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาของโจทก์เองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 192 วรรคสอง บันทึกดังกล่าวจึงหาใช่สัญญาประนีประนอมยอมความไม่ หากแต่เป็นเพียงกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 193/14 (1) อันเป็นผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเท่านั้น โจทก์ในฐานะผู้รับจ้างต้องเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับภายในกำหนด 2 ปี ตามมาตรา 193/14 (7) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเกินกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ค่าจ้างค้างชำระแต่ละงวดถึงกำหนด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12174/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาวุธปืน และการคืนของกลางแก่เจ้าของที่ชอบด้วยกฎหมาย
แม้จำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งข้อเท็จจริงต้องรับฟังเป็นยุติตามฟ้องและศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานประกอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 ก็ตาม แต่คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้จากทางนำสืบของโจทก์เองว่าอาวุธปืนของกลางมีรอยขูดลบเครื่องหมายทะเบียนและขูดลบแก้ไขเลขหมายประจำปืน แต่ไม่อาจยืนยันว่าเครื่องหมายทะเบียนและเลขหมายประจำปืนเดิมเป็นเลขหมายใด ศาลอุทธรณ์ย่อมนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมารับฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่าอาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนมีหมายเลขทะเบียนของผู้อื่น และลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคสาม ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 มิใช่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากข้อเท็จจริงในสำนวนดังที่โจทก์ฎีกา และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าอาวุธปืนของกลางไม่ใช่ทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิดหรือเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 32, 33 แม้โจทก์มิได้มีคำขอให้คืนของกลางแก่เจ้าของ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจสั่งคืนของกลางให้แก่เจ้าของได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 49, 195 วรรคสอง, 215 ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8587/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ประเด็นสำคัญอยู่ที่การพิสูจน์ว่าสัญญากู้ยืมเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนอกประเด็น จึงต้องย้อนสำนวน
ตามคำให้การของจำเลยเป็นการต่อสู้ว่า สัญญากู้ยืมปลอมทั้งฉบับ มิใช่ปลอมแค่เพียงบางส่วน ดังนั้น คำให้การที่ว่าจำเลยเคยกู้ยืมเงินโจทก์ 120,000 บาท เป็นเพียงเหตุผลประกอบการปฏิเสธเท่านั้น ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีว่า สัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาปลอมหรือไม่
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าสัญญากู้ไม่ปลอม ให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องจำเลยอุทธรณ์ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นเอกสารปลอม ดังนั้น จึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยนชั้นอุทธรณ์ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ซึ่งถ้าฟังว่าปลอมจำเลยก็ไม่ต้องรับผิด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป 120,000 บาท และชำระให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจกท์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น เป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นเหตุให้โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 นอกประเด็นไปด้วย เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีที่ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าสัญญากู้ไม่ปลอม ให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องจำเลยอุทธรณ์ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นเอกสารปลอม ดังนั้น จึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยนชั้นอุทธรณ์ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ซึ่งถ้าฟังว่าปลอมจำเลยก็ไม่ต้องรับผิด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป 120,000 บาท และชำระให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจกท์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น เป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นเหตุให้โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 นอกประเด็นไปด้วย เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีที่ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเปลี่ยนแปลงฐานความผิดจากวิ่งราวทรัพย์เป็นลักทรัพย์ และการริบของกลางที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 336 จะต้องเป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ผ. ทำทีเป็นพูดโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเอาโทรศัพท์ไปในขณะที่ผู้เสียหายให้บริการลูกค้าคนอื่นอยู่ เป็นการเอาไปในขณะเผลอ มิใช่เป็นการฉกฉวยทรัพย์ไปโดยซึ่งหน้าแต่ประการใด การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อเหตุเกิดในเวลากลางคืนและร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) และ 335 (7) ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 335 วรรคสอง ซึ่งมีโทษหนักกว่าความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามมาตรา 336 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 แต่จะพิพากษาลงโทษจำเลยหนักขึ้นไม่ได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212
อนึ่ง ทรัพย์ที่ศาลจะสั่งริบตาม ป.อ. มาตรา 33 ได้ ต้องปรากฏว่าเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่าจำเลยใช้รถจักรยานยนต์เพื่อความสะดวกในการพาทรัพย์หลบหนี มิได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นเครื่องมือหรือเป็นส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์ จึงเป็นทรัพย์ที่ไม่อาจริบได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225
อนึ่ง ทรัพย์ที่ศาลจะสั่งริบตาม ป.อ. มาตรา 33 ได้ ต้องปรากฏว่าเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่าจำเลยใช้รถจักรยานยนต์เพื่อความสะดวกในการพาทรัพย์หลบหนี มิได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นเครื่องมือหรือเป็นส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์ จึงเป็นทรัพย์ที่ไม่อาจริบได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225