คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 223 ทวิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 130 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4745/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขออนุญาตอุทธรณ์ฎีกาโดยตรงในคดีงดการบังคับคดี ต้องเป็นกรณีที่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ตามปกติ
ข้อกฎหมายที่จะขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ ได้นั้น จะต้องเป็นข้อกฎหมายที่สามารถอุทธรณ์และฎีกาไปยังศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้งดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 293 กฎหมายบัญญัติให้คำสั่งเป็นที่สุดไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงตามวรรคสามของบทบัญญัติมาตราดังกล่าว จำเลยทั้งสองจะขออนุญาตอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10334/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขออนุญาตอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายต่อศาลฎีกาต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด หากจำเลยคัดค้าน ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตได้
ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ บัญญัติหลักเกณฑ์ในการขออนุญาตอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาว่า ผู้อุทธรณ์จะต้องทำเป็นคำร้องมาพร้อมกับคำร้องอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และสำเนาคำร้องแก่จำเลยแล้ว หากไม่มีคู่ความอื่นยื่นอุทธรณ์ตามมาตรา 223 และจำเลยอุทธรณ์มิได้คัดค้านคำร้องดังกล่าวต่อศาลภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ ก็ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำร้องนั้นว่าจะอนุญาตหรือไม่ คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุด เมื่อคดีได้ความว่า จำเลยคัดค้านคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ ที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ การที่ศาลชั้นต้นส่งอุทธรณ์ของโจทก์มายังศาลฎีกา จึงขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6227/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาต้องปฏิบัติตามขั้นตอน ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ การไม่ส่งสำเนาคำร้องให้คู่ความคัดค้านทำให้การอุทธรณ์ไม่ชอบ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายพร้อมคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และมีคำสั่งให้ส่งสำเนาอุทธรณ์และส่งสำเนาคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาแก่โจทก์แต่เจ้าหน้าที่ศาลได้จ่ายหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์เพื่อส่งให้แก่โจทก์ทางไปรษณีย์โดยไม่ปรากฏว่าได้มีการส่งสำเนาคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาแก่โจทก์ เชื่อว่าโจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา การที่ศาลชั้นต้นให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกา ถือว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาโดยที่ยังไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาแก่โจทก์เพื่อให้โจทก์มีโอกาสคัดค้านคำร้องก่อน ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ ไม่มีผลทำให้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวโดยชอบได้ และถือได้ว่าเป็นกรณีไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4570/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องและการมอบอำนาจ: ศาลชั้นต้นอนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาโดยมิชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้กรรมการผู้มีอำนาจสองคนมีอำนาจมอบอำนาจให้นาย ก เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และมีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ และโจทก์มอบอำนาจให้นางสาว ธ สามารถทำสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ได้ สัญญาเช่าซื้อจึงชอบด้วยกฎหมาย ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ว่า ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 และ 5 ในช่องเจ้าของไม่ใช่ลายมือชื่อกรรมการของโจทก์ ผู้ลงลายมือชื่อไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนและไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์กับไม่มีตราประทับของโจทก์ ทั้งการที่โจทก์มอบอำนาจให้นางสาว ธ เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน แต่นาย ฉ ผู้มอบอำนาจไม่ใช่กรรมการของโจทก์ จึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนโจทก์นั้น เป็นการอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง จึงเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายและอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ ศาลชั้นต้นชอบที่จะดำเนินการส่งอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพื่อพิจารณาต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1831/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้วินิจฉัยว่าการอนุญาตให้ฎีกาโดยตรงต่อศาลฎีกาในคดีผู้บริโภคขัดกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค
แม้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 จะบัญญัติให้นำบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมก็ตาม แต่การอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ นั้น ขัดกับหลักการและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 52 ในเรื่องการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ฎีกาในคดีที่จะขึ้นมาสู่ศาลฎีกา โดยให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาเท่านั้น คดีจึงจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาได้ จึงไม่นำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. ดังกล่าวมาปรับใช้ในคดีผู้บริโภค การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1830/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอนุญาตอุทธรณ์ข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาในคดีผู้บริโภค: ศาลฎีกาต้องเป็นผู้พิจารณา
แม้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 จะบัญญัติให้นำบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมก็ตาม แต่การอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ นั้น ขัดกับหลักการและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 52 ในเรื่องการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ฎีกาในคดีที่จะขึ้นมาสู่ศาลฎีกา โดยให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาเท่านั้น คดีจึงจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาได้ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. ดังกล่าวมาปรับใช้ในคดีผู้บริโภค ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. ดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1299/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ในคดีผู้บริโภคต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 การอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย
การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีผู้บริโภคต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ซึ่งบัญญัติเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นไว้เป็นพิเศษแล้ว บทบัญญัติในเรื่องการอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ จึงไม่สามารถนำมาปรับใช้ในคดีผู้บริโภคได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1216/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายต้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายล้วน หากมีข้อเท็จจริงปะปน ศาลฎีกาไม่รับ
อุทธรณ์ที่มีทั้งปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริง มิใช่อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่อาจขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 408/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค: การอุทธรณ์ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ผู้บริโภค ไม่สามารถใช้วิธีอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ
คดีผู้บริโภคจะขึ้นมาสู่ศาลฎีกาได้เฉพาะแต่กรณีที่คู่ความยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภค พร้อมคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลชั้นต้นเพื่อส่งให้ศาลฎีกาพิจารณา และศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาแล้วเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 46, 49, 51, 52 และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ข้อ 40 ดังนั้นจึงไม่อาจอาศัยบทบัญญัติในมาตรา 7 นำบทบัญญัติในเรื่องการอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ มาอนุโลมใช้บังคับแก่คดีผู้บริโภคได้ เพราะขัดเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 105/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับจากสัญญาเงินกู้สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดได้ และการพิพากษาเกินคำขอเป็นปัญหาความสงบเรียบร้อย
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายพร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาต แต่การที่จำเลยทั้งสามได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
สัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ระบุว่า จำเลยที่ 1 ตกลงชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 8 ต่อปี และเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้โดยไม่ต้องแจ้งจำเลยที่ 1 ทราบแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิเรียกได้ตามกฎหมายก็ตาม แต่สัญญากู้ยืมเงินระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ไม่ว่างวดใดงวดหนึ่ง ให้โจทก์มีสิทธิเรียกคืนเงินกู้ทั้งหมดพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราเท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ครบถ้วน ข้อเท็จจริงได้ความว่า นับแต่วันทำสัญญากู้ยืมเงินมีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง โจทก์คงคิดดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 9 ต่อปี เท่านั้น การที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกร้องจากจำเลยที่ 1 เป็นอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ภายหลังที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามสัญญา ซึ่งเป็นการกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าในกรณีจำเลยที่ 1 ผิดนัด ดอกเบี้ยที่โจทก์ปรับเพิ่มขึ้นจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 7,084,795.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ปรากฏตามคำฟ้องว่าหนี้กู้ยืมและค้ำประกันในส่วนที่เป็นต้นเงินโจทก์ขอมาเพียง 7,000,000 บาท ส่วนดอกเบี้ย 62,136.99 บาท โจทก์มิได้ขอมาด้วย นอกจากนี้เงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยทรัพย์จำนอง 22,658.32 บาท ศาลชั้นต้นก็พิพากษาให้จำเลยทั้งสามรับผิดเป็นอีกส่วนหนึ่งแยกต่างหากจากเงินที่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมและค้ำประกันไว้แล้ว การที่ศาลชั้นต้นนำดอกเบี้ย 62,136.99 บาท กับเงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย 22,658.32 บาท มารวมกับต้นเงิน 7,000,000 บาท จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ และมีผลให้จำเลยทั้งสามต้องชำระเงินค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยซ้ำซ้อน ปัญหานี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
of 13