คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 67 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2082/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้าชุด การใช้เครื่องหมายแต่ละเครื่องหมายเป็นอิสระ การเพิกถอนเครื่องหมายจากการไม่ใช้
การแสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้อักษรโรมัน SM ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17 ย่อมทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้อักษรโรมัน SM แต่อักษรโรมัน SM ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้า VITANA - SM ไวตานา - เอสเอ็ม ตามที่โจทก์จดทะเบียนไว้
การพิจารณาว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้านั้น ๆ หรือไม่ยังต้องพิจารณาทั้งเครื่องหมาย ไม่ใช่เพียงส่วนหนึ่งส่วนใด ดังนั้น แม้โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า VITARAL S.M. ไวตารอล เอส.เอ็ม. ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว หรือ VITANA - EZ ที่อยู่ระหว่างการขอจดทะเบียน แต่เมื่อไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้า VITANA - SM ไวตานา - เอสเอ็ม ก็ถือไม่ได้ว่า การใช้เครื่องหมายการค้า VITARAL S.M. ไวตารอล เอส.เอ็ม. หรือ VITANA - EZ เป็นการใช้เครื่องหมายการค้า VITANA - SM ไวตานา - เอสเอ็ม ไปด้วยเพราะต่างเครื่องหมายกัน การใช้หรือไม่ใช้เครื่องหมายการค้าใดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 63 จึงเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการใช้หรือไม่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนไว้ ไม่อาจอ้างการใช้เครื่องหมายการค้าอื่นกับสินค้าที่จดทะเบียนไว้มาเป็นการใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้
การที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 50 บัญญัติว่า "เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้เป็นเครื่องหมายชุดนั้นจะโอนหรือรับมรดกกันได้ ต่อเมื่อเป็นการโอนหรือรับมรดกกันทั้งชุด" นั้น เป็นเรื่องการโอนหรือสืบสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่โอนหรือตกทอดกันทางมรดกได้ ไม่ได้มีผลทำให้เครื่องหมายการค้าทั้งหมดของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกัน และไม่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่อาจถูกเพิกถอนตามกฎหมายเนื่องจากการไม่ใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ เพราะความมุ่งหมายของกฎหมายนั้นเป็นไปเพื่อให้สิทธิและความคุ้มครองแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนที่มีการใช้เครื่องหมายนั้นกับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและสังคม ไม่ใช่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้เพียงเพื่อกีดกันผู้อื่น การจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดจึงไม่มีผลทำให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่จำต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายสำหรับเครื่องหมายการค้าแต่ละเครื่องหมาย
แม้ตามคำร้องสอดของผู้ร้องสอดจะใช้ข้อความสรุปว่าขอร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามมาตรา 57 (1) เช่นกันก็ตาม แต่ตามเนื้อหาของคำร้องสอดอ้างเหตุผลว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่สั่งให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้า VITANA - SM ไวตานา - เอสเอ็ม ของโจทก์ตามคำร้องขอของผู้ร้องสอดชอบแล้ว อันเป็นกรณีร้องขอเข้ามาในคดีเพราะตนมีส่วนได้เสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) มิใช่กรณีตามมาตรา 57 (1) แต่อย่างใด และเป็นเรื่องต้องถือตามเนื้อหาแห่งคำร้องสอดดังกล่าวมาเป็นสำคัญ ซึ่งย่อมมิใช่กรณีที่ร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5509/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: เจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิมมีสิทธิจากการใช้ก่อน แม้จดทะเบียนทีหลัง
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 26 กำหนดว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. นี้ และข้อกำหนด ฯ ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าวให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งในเรื่องของการรับฟังพยานหลักฐานนี้ ไม่ปรากฏว่ากฎหมายดังกล่าวได้มีข้อห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไว้แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานเข้าสืบในชั้นพิจารณาของศาลภายใต้บทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าวได้ และศาลย่อมจะรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์ได้ และเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนการจะรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวเช่นใดนั้น ย่อมเป็นดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลดังกล่าว
หลักเกณฑ์สำคัญของกฎหมายเครื่องหมายการค้าคือ การให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงซึ่งอาจได้สิทธิจากการใช้มาก่อน ดังจะเห็นได้จาก พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ฯ มาตรา 61 (2) ที่ให้ผู้มีส่วนได้เสียหรือนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพื่อให้สั่งเพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่ขณะจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 ซึ่งรวมถึงเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ก็ตาม หรือมาตรา 67 วรรคหนึ่งที่ให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ หากแสดงได้ว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้น ดังนั้น การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะเพิกถอนเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ นอกจากจะพิจารณาตามถ้อยคำในมาตรา 61 (3) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ฯ ที่ว่า ขณะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 11 ซึ่งจดทะเบียนไว้แล้ว คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าควรพิจารณาด้วยว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า "GOTCHA" ที่แท้จริงซึ่งอาจได้สิทธิจากการใช้มาก่อนหรือไม่ เพราะหากโจทก์เป็นเจ้าของที่แท้จริงซึ่งอาจได้สิทธิจากการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาก่อนแล้ว จำเลยที่ 11 ย่อมไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าโจทก์
อนึ่ง แม้คดีนี้จะล่วงเลยเวลาที่จะให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ฯ มาตรา 27 โดยตรงอีกเนื่องจากเป็นกรณีที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 11 ไปแล้ว แต่ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ฯ ต่อไปนั้น ย่อมมีความมุ่งหมายที่จะให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ฯ มาตรา 61, 64 และ 65 แล้วใช้ดุลพินิจในการพิจารณาว่าสมควรจะเพิกถอนเครื่องหมายการค้า "GOTCHA" ของโจทก์หรือไม่ หากยังมีเหตุอันไม่สมควรที่เพิกถอนแล้ว ก็ให้นำมาตรา 27 วรรคหนึ่งมาพิจารณาแล้วมีคำสั่งต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 242/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า: การจดทะเบียนภายหลัง และการใช้ก่อนย่อมมีสิทธิเหนือกว่า
โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าจำพวกที่ 30 เมื่อปี 2539 ส่วนจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และ สำหรับสินค้าจำพวกที่ 29 เมื่อปี 2542 โจทก์จึงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนในประเทศไทยก่อนจำเลยที่ 1 และเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 กับขอให้แสดงว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าได้ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อปี 2545 จึงเป็นการฟ้องภายในกำหนดเวลา 5 ปี ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง
สาระสำคัญของเครื่องหมายของโจทก์และจำเลยที่ 1 คืออักษร คำว่า Haldiram's ซึ่งออกเสียงเรียกขานได้หลายประการ เช่น ฮาลดิราม ฮาลดิแรม หรือฮาลไดแรม เป็นต้น สาระสำคัญและเสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงมีความใกล้เคียงกันมาก เมื่อพิจารณาบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าของฝ่ายโจทก์และจำเลยเองแล้ว จะเห็นว่าอักษรคำว่า Haldiram's เป็นตัวใหญ่เด่นชัดมากกว่าส่วนประกอบอื่นของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน แม้จะใช้รูปแบบของตัวอักษรต่างกัน แต่หากไม่ได้นำบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นมาวางเปรียบเทียบแล้ว เชื่อได้ว่าประชาชนทั่วไปจะสนใจในคำว่า Haldiram's มากกว่ารายละเอียดส่วนอื่นๆ ของเครื่องหมายการค้าโดยเฉพาะสินค้าตามรายการที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 แม้จะต่างจำพวกกัน แต่ก็มีลักษณะเป็นอาหารอย่างเดียวกัน ดังนั้น เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้า หรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้ครั้งแรกในประเทศสาธารณรัฐอินเดีย เมื่อปี 2484 จากนั้นได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศอื่นในนามของโจทก์ โจทก์ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าพิพาทจนแพร่หลาย คนทั่วไปรู้จักเครื่องหมายการค้าพิพาทดี สำหรับในประเทศไทยมีการจำหน่ายมาก่อนปี 2542 ส่วนจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากเจ้าของแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า "Haldiram Bhujiawala" และ "Haldiram's" ในประเทศไทยโดยกำหนดระยะเวลาแต่งตั้งการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าในครั้งแรกนี้มีกำหนด 5 ปี โดยไม่ปรากฏหลักฐานการอนุญาตให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือ ได้รับมอบอำนาจจากฮาดิราม พูเจียวาลา พีวีที.ลิมิเต็ด เจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งได้มีการใช้มาเป็นเวลานานในประเทศสาธารณรัฐอินเดียก่อนปี 2501 มาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เป็นของจำเลยที่ 1 อันจะมีผลทำให้จำเลยที่ 1 มีส่วนได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาก่อนแล้วโดยสุจริตตั้งแต่เวลาดังกล่าว ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวครั้งแรกในประเทศสาธารณรัฐอินเดียเมื่อปี 2484 จากนั้นได้นำมายื่นคำขดจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยปี 2539 โจทก์จึงมีสิทธิในคำว่า Haldiram's ดีกว่า จำเลยที่ 1 ไม่อาจจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนได้ในภายหลัง และเมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งต่างได้ใช้มาก่อนแล้วโดยสุจริต จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างเหตุความเป็นเจ้าของของเครื่องหมายการค้าเพื่อให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนตามความหมายของมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3344/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกัน การโต้แย้งสิทธิ และการเพิกถอนทะเบียน
การที่จำเลยไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งมีส่วนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้ จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้กระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นตามมาตรา 40 ทั้งนี้ไม่ว่าโจทก์จะได้ยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 35 ไว้หรือไม่ก็ตาม เพราะตามบทบัญญัติ มาตรา 67 วรรคหนึ่ง มิได้มีข้อกำหนดจำกัดสิทธิของโจกท์ว่าจะต้องยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ก่อนฟ้องคดี
เมื่อพฤติการณ์ของจำเลยชี้ให้เห็นว่าจำเลยจงใจลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้ราคาสินค้า จะแตกต่างกันอย่างมาก ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จำเลยจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในกรณีนี้ได้ เพราะผู้ซื้ออาจหลงผิดไปว่าเป็นสินค้า ลดราคาของโจทก์ได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อที่ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกับโจทก์ จึงนับได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือ หลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ จึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่จะพึงรับจดทะเบียนให้ได้ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (33) และ 13 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3824/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความเก่าแก่ การใช้จริง และความคล้ายคลึงจนอาจทำให้สับสน
โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSUBA สำหรับสินค้าจำพวกที่ 9 ในรายการสินค้าที่รวมถึงสวิตช์สัญญาณเตือนภัยด้วย แต่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนเนื่องจากเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSURA ของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 12 รายการสินค้าสัญญาณกันขโมยสำหรับยานพาหนะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 13 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า MITSUBA กับสินค้าของโจทก์มาก่อนที่จำเลยจะใช้เครื่องหมาย การค้าคำว่า MITSURA กับสินค้าของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิดีกว่าจำเลย แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสองคำจะใช้กับสินค้าต่างจำพวกกัน แต่มีลักษณะอย่างเดียวกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MITSURA ของจำเลยได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7683/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า: การเพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสน
นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายังมิได้มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า
มาตรา 29 และ 35 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เป็นบัญญัติสำหรับวิธีดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยได้กำหนดเวลาสำหรับยื่นคำคัดค้านไว้ด้วย แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีการคัดค้าน กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 35 และหาเป็นการตัดสิทธิเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงที่จะดำเนินคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของตนไม่ เมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยแล้ว หากโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง
เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยต่างประกอบด้วยตัวอักษรโรมันเดียวกันคือ "K" และ "L" ซึ่งแม้จะมีการประดิษฐ์ตัวอักษรให้มีลักษณะแตกต่างกัน แต่เครื่องหมายการค้าทั้งสองก็มีสำเนียงเรียกขานว่า "เคแอล" เช่นเดียวกันทั้งสินค้าของโจทก์และของจำเลยเป็นสินค้าจำพวกวงกบประตู หน้าต่าง และมือจับที่ทำด้วยโลหะเช่นเดียวกัน ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชน
สับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าได้
โจทก์จ้างสถาปนิกให้ออกแบบเครื่องหมายการค้า เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกวงกบประตู หน้าต่าง และมือจับซึ่งทำด้วยโลหะของโจทก์ตั้งแต่ปี 2526 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่โจทก์ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล โจทก์ยังได้จัดพิมพ์ใบโฆษณาขึ้นเพื่อเป็นการเผยแพร่สินค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวแก่สาธารณชนมาก่อนจำเลยโดยเฉพาะสินค้าของโจทก์จะมีตัวอักษรโรมันว่า "KL" ติดอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าตัวอักษรโรมันคำว่า "KL" ในสินค้าจำพวกวงกบประตู หน้าต่าง และมือจับที่ทำด้วยโลหะมาก่อนจำเลย โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตัวอักษรโรมันดังกล่าวในสินค้าจำพวกวงกบประตู หน้าต่าง และมือจับที่ทำด้วยโลหะและสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกันดีกว่าจำเลย และมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวได้ด้วย