คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 225

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,286 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2022-2023/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-การพิจารณาใหม่: เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องไม่ซ้ำ จำเลยต้องได้รับการพิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 โดยวินิจฉัยว่าเป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 2728/2559 ของศาลชั้นต้น แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ในส่วนของจำเลยที่ 1 แต่กลับพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นั้นจึงไม่ถูกต้อง เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับชั้นศาลเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ในส่วนของจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1857/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่ไม่ได้สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ได้รับอนุญาต และการรอการลงโทษสำหรับนักกีฬายิงปืน
แม้คำฟ้องของโจทก์จะบรรยายว่า จำเลยมีกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร ) จำนวน 11 นัด และกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร จำนวน 100 นัด ซึ่งเป็นเครื่องกระสุนปืนตามกฎหมายแบบที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และผู้ชำนาญการที่ตรวจพิสูจน์จะมีความเห็นว่า กระสุนปืนทั้งสองขนาดเป็นเครื่องกระสุนปืนแบบที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ก็ตาม แต่กฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 3 กำหนดว่า "เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามมาตรา 7 หรือมาตรา 24 ต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนตามข้อ 2 ที่ได้รับอนุญาต แต่ต้องไม่เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง" ซึ่งหมายความว่า เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ ต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 2 เว้นแต่ เครื่องกระสุนปืนนั้น แม้จะเป็นเครื่องกระสุนปืนขนาดที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ก็ตาม หากเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิงแล้วเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ เมื่อเครื่องกระสุนปืนของกลางมีขนาดเพียง .223 (5.56 มิลลิเมตร) และขนาดเพียง 7.62 มิลลิเมตร ไม่เกินขนาดอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 2 (1) และ ข้อ 2 (2) (ก) กับ (ข) จึงเห็นได้ว่า เครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ เครื่องกระสุนปืนของกลาง จึงเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้เช่นกัน เว้นแต่เครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร) และกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร ของกลาง จะเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง จึงจะเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 3 ตอนท้าย ดังนั้น แม้จะรับฟังว่า เครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร) และกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร ของกลาง เป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับปืนกลซึ่งใช้ในทางการทหารเพื่อใช้ในการสงครามดังเช่นที่โจทก์ฎีกา แต่คำฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า เครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร) จำนวน 11 นัด และกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร จำนวน 100 นัด ของกลาง เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 3 ตอนท้าย ที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ และจำเลยรับข้อเท็จจริงว่าเครื่องกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร) และเครื่องกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร ไม่เป็นกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือกระสุนเพลิง การที่จำเลยมีเครื่องกระสุนปืนของกลางจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
แม้กระสุนปืนเล็กขนาด .223 (5.56 มิลลิเมตร) ของกลาง จะสามารถใช้ยิงได้กับปืนยาวไรเฟิล (REMINGTON) และกระสุนปืนขนาด 7.62 มิลลิเมตร ของกลาง จะสามารถใช้ยิงได้กับปืนยาวไรเฟิล (SAKO) ที่จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้ก็ตาม ก็เป็นเพียงการดัดแปลงเพื่อนำไปใช้เท่านั้น ทั้งจำเลยรับข้อเท็จจริงตามคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้ตรวจพิสูจน์เครื่องกระสุนปืนของกลางว่า หากนำเครื่องกระสุนปืนของกลางไปใช้ ปืนอาจได้รับความเสียหายและคนยิงอาจได้รับอันตราย ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า เครื่องกระสุนปืนของกลางมิใช่เครื่องกระสุนปืนสำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง ย่อมรวมถึงการมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ด้วย ถือได้ว่าความผิดที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง จึงไม่ใช่เป็นกรณีความผิดที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ แม้ พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ จะบัญญัติความผิดทั้งสองฐานไว้คนละมาตราก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า จำเลยมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ ซึ่งมีบทลงโทษเบากว่าได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1465/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เนื่องจากไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ศาลต้องยกฟ้อง
คดีอาญา โจทก์มิได้ลงลายมือชื่อไว้ในฟ้อง จึงเป็นฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) แต่การที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือไม่ประทับฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง นั้น ก็ล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้เพราะศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาจึงต้องยกฟ้องของโจทก์โดยไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1457/2563 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1457/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความน่าเชื่อถือพยานหลักฐานในคดีข่มขืน และการแก้ไขข้อผิดพลาดในการบรรยายฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร โดยไม่ได้บรรยายฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดว่าจำเลยกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย แม้โจทก์มีคำขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 365 ศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 365 (1) ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1377/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากเด็กเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศและค้ามนุษย์ จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นผู้ชักชวนผู้เสียหายที่ 1 ให้ไปมีเพศสัมพันธ์กับ ส. พฤติการณ์ของจำเลยที่ชักชวนผู้เสียหายที่ 1 นับตั้งแต่ครั้งแรกในคืนที่จำเลยพบผู้เสียหายที่ 1 ในร้านอาหาร โดยการตามผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ห้องน้ำเพื่อบอกว่า ส. ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับผู้เสียหายที่ 1 และ ส. จะให้ทุกอย่างตามที่ต้องการ จนกระทั่งวันเกิดเหตุจำเลยไปหาผู้เสียหายที่ 1 ที่บ้านเพื่อนของผู้เสียหายที่ 1 และยังคงพูดจาชักชวนผู้เสียหายที่ 1 ไปมีเพศสัมพันธ์กับ ส. อีก จนผู้เสียหายที่ 1 ยอมตามที่จำเลยชักชวนและหลังจาก ส. พาผู้เสียหายที่ 1 ไปมีเพศสัมพันธ์ แล้วกลับมาที่ร้านอาหารดังกล่าว จำเลยได้รับเงินจากผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 500 บาท นอกจากนี้ ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ปกครองหรือผู้ดูแล การที่จำเลยชักชวนผู้เสียหายที่ 1 ไปพบ ส. ที่ร้านอาหารเพื่อค้าประเวณีย่อมเป็นการล่วงอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 แม้ผู้เสียหายที่ 1 จะสมัครใจยินยอมไปกับจำเลยก็ถือไม่ได้ว่าได้รับความยินยอมเห็นชอบจากผู้เสียหายที่ 2 เช่นนี้แล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อหากำไรและเพื่อการอนาจาร ฐานเป็นธุระจัดหาซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีแม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม และเป็นการกระทำต่อเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี เป็นธุระจัดหาเด็กเพื่อเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ อันเป็นการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา หรือพาไปเพื่ออนาจาร แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม และเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และชักจูงส่งเสริมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร
สำหรับค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายกคำร้อง แม้ผู้ร้องจะไม่ได้ฎีกาแต่คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ศาลฎีกามีอำนาจหยิกยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลของคดีอาญาได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อหากำไรและเพื่อการอนาจาร การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดและจำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1352/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ใช้เอกสารสิทธิปลอมขายหนี้ – หลายกรรมต่างกัน (ม.91) – ศาลฎีกาวินิจฉัยได้เองแม้ไม่ยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์
แม้การทำปลอมสำเนาใบส่งสินค้า/สำเนาใบกำกับภาษีและสำเนาใบวางบิล ผู้กระทำมีเจตนามุ่งให้เกิดผลเป็นหนี้ค่าสินค้าแยกต่างหากจากกันรวม 6 ครั้ง แต่การขายเอกสารปลอมทั้ง 6 ฉบับดังกล่าวโดยการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บริษัท ค. โดยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นลูกหนี้จำเลยที่ 1 กระทำในวันและเวลาเดียวกันเพียงสองวัน เจตนาของการใช้เอกสารสิทธิปลอมในการทำนิติกรรมดังกล่าวจึงแยกออกจากกันได้เป็นสองกรรม หาใช่เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว แต่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตาม ป.อ. มาตรา 91 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ แต่ไม่อาจเรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองได้ทุกกระทงความผิด เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองโดยโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195, 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1350/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฆ่าโดยบันดาลโทสะ: ผู้ตายมีส่วนผิด โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจเรียกร้องค่าเสียหาย
ขณะ จ. อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย จ. คบหาฉันชู้สาวกับผู้ตายจนเป็นสาเหตุให้จำเลยหึงหวงและทะเลาะกัน แล้วแยกกันอยู่กับ จ. ไม่ได้อยู่กินฉันสามีภริยากันอีก วันเกิดเหตุเมื่อผู้ตายเห็นรถจำเลยจอดอยู่ จึงขับรถมาจอดเทียบข้างรถจำเลย แล้วจำเลยพูดกับผู้ตายว่า มึงยังไม่เลิกยุ่งกับเมียกูอีกหรือ ลูกโตกันหมดแล้ว ก็เป็นการพูดในทำนองขอร้องให้ผู้ตายเลิกคบหากับ จ. และให้เห็นแก่บุตรของจำเลยกับ จ. ซึ่งโตแล้ว แต่ผู้ตายกลับพูดด้วยถ้อยคำหยาบคายว่า จะเลิกยุ่งทำไม เมียมึงเย็ดมันดี ซึ่งเป็นการพูดต่อหน้าบุตรชายของจำเลยที่เกิดกับ จ. ด้วย คำพูดของผู้ตายเช่นนั้นเป็นการเย้ยหยันและดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีของจำเลยอย่างรุนแรง จึงเป็นการข่มเหงจิตใจจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และการที่ผู้ตายคบหากับ จ. มาตั้งแต่ขณะ จ. อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย ถือว่าจำเลยถูกกดขี่ข่มเหงต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้จำเลยไม่อาจ อดกลั้นโทสะไว้ได้จึงใช้ปืนยิงผู้ตายไปในทันทีทันใด กรณีย่อมเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72
ผู้ตายมีส่วนก่อให้จำเลยกระทำความผิด ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามฟ้อง โจทก์ร่วมซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30
แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ปัญหาว่าจำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ภริยาของผู้ตายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายโดยมีส่วนก่อให้จำเลยกระทำความผิด ก็เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลยพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้เสียหายที่จะขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1221/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญาฐานใช้เอกสารปลอม ต้องเสียหายโดยตรงจากการกระทำนั้น
ขณะจำเลยใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซื้อขายที่ดิน โจทก์ยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว ความเสียหายโดยตรงที่เกิดขึ้นเมื่อมีการใช้เอกสารปลอมจึงมีเฉพาะเจ้าของที่ดินซึ่งอาจต้องสูญเสียที่ดินไป อ. ผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่อปลอม และ ป. ซึ่งควรได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างถูกต้องเท่านั้น หามีความเสียหายใดเกิดขึ้นแก่โจทก์ในขณะเวลาที่มีการใช้เอกสารปลอมไม่ โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ที่จะฟ้องจำเลยในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมต่อศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (2)
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1209/2563

of 229