คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 225

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,286 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4399/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยรับค่าว่าความแล้วไม่ฟ้องคดี ไม่ใช่ความผิดยักยอก แต่มีหน้าที่คืนเงินตามกฎหมาย
แม้โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในอายุความ แต่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพมิได้ต่อสู้คดี จึงต้องถือว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์โดยชอบแล้ว
ผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้ว่าความ เงินค่าว่าความจึงเป็นสินจ้างตอบแทนแก่จำเลยที่ตกลงรับจะว่าความให้ การที่จำเลยไม่ยื่นฟ้องคดีให้ผู้เสียหายเป็นกรณีที่จำเลยผิดสัญญาจ้างว่าความซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง จึงไม่เป็นความผิดทางอาญาฐานยักยอกตามฟ้อง
จำเลยได้รับเงินค่าว่าความจากผู้เสียหายแล้วไม่ฟ้องคดีให้แก่ผู้เสียหาย จำเลยจึงต้องคืนเงินแก่ผู้เสียหาย ซึ่งการพิพากษาคดีส่วนแพ่งนี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 แม้โจทก์มิได้ฎีกาในประเด็นดังกล่าว แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4338/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร่วมกันครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย: พฤติการณ์ร่วมเดินทางและรับรู้การกระทำผิด
พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ที่ร่วมเดินทางกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ และพาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปพักค้างคืนอยู่ที่อำเภอฝางและอำเภอเชียงดาวรวมเป็นเวลาถึง 4 วัน และจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ไปรับยาเสพติดของกลางจากผู้ส่งยาเสพติดทางภาคเหนือดังกล่าว แสดงถึงข้อพิรุธที่จำเลยที่ 3 ร่วมเดินทางไปกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดเวลา ทั้งยาเสพติดของกลางที่ตรวจพบในรถตู้ดังกล่าวนั้น มีจำนวนมาก จำเลยที่ 3 ย่อมสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายเมื่อจำเลยที่ 1 ไปรับยาเสพติดของกลางมาจากผู้ส่งยาเสพติด การที่ยาเสพติดดังกล่าวซุกซ่อนอยู่บริเวณหลังเบาะของคนขับซึ่งขณะจับกุมนั้นมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ จึงมีเหตุผลเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ร่วมรู้เห็นและมีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการเดินทางไปรับยาเสพติดของกลางจากอำเภอฝางและอำเภอแม่อาย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีเหตุผลและน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 มียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 แต่เห็นสมควรปรับบทลงโทษจำเลยที่ 3 ให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4057/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานค้ามนุษย์และพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร การปรับบทความผิดตามกฎหมาย
การพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง ต้องเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของตนเองหรือผู้ร่วมกระทำความผิดกับตน เมื่อจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันเป็นธุระจัดหาและพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี อันเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น มิใช่เพื่อสนองความใคร่ของจำเลยทั้งสองกับพวก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 วรรคสาม แต่ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง ส่วนความผิดฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี โดยขู่เข็ญ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการใด ๆ ฐานค้ามนุษย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป และฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น ร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยขู่เข็ญ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการใด ๆ อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยทั้งสองฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น ร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยขู่เข็ญ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการใด ๆ ตาม ป.อ. มาตรา 283 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3918/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นและการลงโทษกรรมเดียวผิดหลายบท
พฤติการณ์ของจำเลยที่ลักสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. สาขาพระราม 3 ของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งมีชื่อผู้เสียหายที่ 1 เป็นเจ้าของบัญชี ไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ในใบคำขอถอนเงินของผู้เสียหายที่ 2 แล้วนำสมุดบัญชีเงินฝากดังกล่าวไปแสดงต่อพนักงานของผู้เสียหายที่ 2 และได้รับเงินไปจำนวน 59,000 บาท เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะให้ได้เงินจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นหลักจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 342 โดยไม่ได้อ้างมาตรา 341 มาด้วย แต่ความผิดฐานดังกล่าวเป็นการกระทำที่เป็นองค์ประกอบมาจากความผิดฐานฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 341 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 342 (1) ได้ กรณีไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2699/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะข้าราชการกับการลงโทษทางอาญา, กรรมเดียว vs. กรรมหลาย และอำนาจศาลฎีกา
พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ให้จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล และราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ประกอบด้วยสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแลการบริหารของนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารราชการ และพนักงานส่วนตำบลเป็นผู้ทำงานประจำ โดยมีปลัดและรองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นหัวหน้างานบริหารราชการประจำ เมื่อพิจารณาว่าราชการส่วนท้องถิ่นเป็นระบบบริหารราชการที่รัฐมอบอำนาจปกครองบางส่วน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจบริหารให้แก่หน่วยงานที่ไม่ใช่ราชการส่วนกลางจัดทำบริการสาธารณะภายในเขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง จึงเห็นได้ว่าองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นหน่วยงานของรัฐ จำเลยเป็นพนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งช้าง ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จำเลยจึงต้องระวางโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100
คำสั่งขององค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งช้างว่า ให้ไล่จำเลยออกจากราชการ แม้ระบุว่าคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นไป ก็เป็นเรื่องการออกคำสั่งให้มีผลย้อนหลัง ไม่ได้หมายความว่า ในวันที่จำเลยกระทำความผิดคือวันที่ 20 สิงหาคม 2556 จำเลยไม่เป็นพนักงานหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด
ในวันเกิดเหตุ ธ. ว. และ ส. อยู่ในห้องพักเกิดเหตุกับจำเลย จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้เสพ ตามบันทึกคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนของบุคคลทั้งสามดังกล่าวและตามฟ้องโจทก์ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลทั้งสามต่างวาระกัน แต่ฟังได้ว่าจำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลทั้งสามเสพในคราวเดียวกัน โดยมีเจตนาเดียว การกระทำในส่วนนี้ของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าเป็นการกระทำหลายกรรมไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง ต้องพิสูจน์การหลอกลวงเป็นเหตุให้ผู้เสียหายมอบทรัพย์สิน
แม้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามฟ้องว่า จำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 แต่เหตุที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 มอบเงินสดให้แก่จำเลย เนื่องจากโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นฝ่ายติดต่อขอให้จำเลยช่วยเหลือ และจำเลยแจ้งว่าในการเสนอโครงการติดตั้งป้ายโฆษณาจะต้องมีค่าใช้จ่าย การที่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จ่ายเงินให้แก่จำเลย จึงมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ด้วยการยืนยันข้อเท็จจริงใดอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยทำงานเป็นคณะกรรมาธิการอยู่ที่อาคารรัฐสภา และสามารถติดต่อช่วยเหลือให้โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ได้รับงานการทำป้ายโฆษณา การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 697/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษฐานชิงทรัพย์ต้องสอดคล้องกับคำฟ้อง หากคำฟ้องบรรยายเฉพาะชิงทรัพย์ด้วยอาวุธ การลงโทษฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายจึงไม่ชอบ
คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกรรม คือ ชิงทรัพย์กรรมหนึ่งแล้วจึงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายอีกกรรมหนึ่ง โจทก์หาได้บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยชิงทรัพย์ผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจไม่ คำฟ้องของโจทก์เพียงแต่บรรยายว่าจำเลยชิงทรัพย์ของผู้เสียหายโดยมีอาวุธ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง เท่านั้น จึงลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสาม ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี และวางโทษตามมาตราดังกล่าว จึงยังไม่ถูกต้อง และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้หยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 289/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-ขาดองค์ประกอบความผิดอาญา: ศาลฎีกายืนยกฟ้องกรณีความผิดฐานบุกรุกทำร้ายร่างกายและพาอาวุธ
โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ตาม ป.อ. มาตรา 83, 295 และข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปทำร้ายร่างกาย ณ. ในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วม ซึ่งวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตลอดจนสาระแห่งการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงเป็นเรื่องการกระทำกรรมเดียวกันแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสองของโจทก์ในคดีนี้ย่อมเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 พาไม้ขนาดเท่าใดไม่ปรากฏชัด เป็นอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ และใช้ไม้เป็นอาวุธตีทำร้าย ณ. แต่โจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดในข้อหาดังกล่าวว่า เป็นการพาอาวุธโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรมาด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่และปัญหาเรื่องฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด ล้วนเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9502/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายก๊าซปิโตรเลียมเหลวโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.น้ำมันเชื้อเพลิง
ตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 บัญญัติให้การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 3 (1) ได้แก่ "การผลิต การจำหน่าย การขนส่ง การมีไว้ในครอบครอง การสำรองและการส่งออกนอกราชอาณาจักรและนำเข้ามาในราชอาณาจักร..." เท่านั้น ดังนั้น คดีนี้ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาว่า "...จำเลยร่วมกันซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลว... จากผู้อื่นซึ่งมิได้เป็นผู้ค้าน้ำมัน โดยที่ก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่บรรจุใส่ถังก๊าซหุงต้ม... ดังกล่าว ไม่มีอุปกรณ์ปิดผนึกลิ้นถังก๊าซหุงต้ม (Valve) และไม่มีเครื่องหมายประจำตัวแสดงไว้ที่อุปกรณ์ปิดผนึกลิ้น ถังก๊าซหุงต้ม (Seal)..." การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมิใช่การกระทำที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด เมื่อ พ.ร.ก.แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 มาตรา 3 (1) มิได้บัญญัติว่าการซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นความผิด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องได้ แม้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพก็ไม่สามารถลงโทษจำเลยทั้งสองได้ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันซื้อก๊าซปิโตรเลียมเหลว (ก๊าซหุงต้ม) จากผู้อื่นที่มิใช่ผู้ค้าที่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเครื่องหมายประจำตัวผู้บรรจุก๊าซแสดงไว้ที่อุปกรณ์ปิดผนึกลิ้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่คู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8845/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยครบถ้วน ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. ศาลฎีกายกคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยส่งให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษาโดยชอบแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย คงวินิจฉัยเฉพาะอุทธรณ์ของโจทก์ ถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 6 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง, 186 (6) (8) เห็นควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ปฏิบัติให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 229