คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 225

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,286 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1062/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องอาญาทางเช็ค: การยกข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นอุทธรณ์ และการแก้ไขโทษที่ศาลชั้นต้น
ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้มิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยได้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ในทำนองว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง เท่ากับว่าจำเลยยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย เป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์มาชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษมาด้วย แม้เป็นฎีกาซึ่งไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกา และไม่อาจรับรองให้ฎีกาได้ แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกา และศาลฎีกาเห็นว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยหนักเกินไปก็ย่อมมีอำนาจแก้ไขให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 824/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานฉ้อโกงกับแจ้งความเท็จ: กรรมเดียวหรือหลายกรรม, การคืนเงินค่าเสียหาย
แม้โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิฎีกาขอให้กำหนดโทษจําเลยในข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ เนื่องจากศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาฉ้อโกง แต่ปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ร่วมเกี่ยวพันกับความผิดข้อหาฉ้อโกงที่โจทก์ร่วมมีสิทธิฎีกา ทั้งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หากศาลอุทธรณ์ภาค 9 และศาลฎีกาเห็นสมควรก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คําฟ้องของโจทก์แยกเป็นข้อ ก. และข้อ ข. แต่ใช้วันเวลากระทำผิดเดียวกัน ข้อ ก. ระบุว่า จําเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมว่า จําเลยประสงค์ขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ผู้เสียหายที่ 1 หลงเชื่อจึงทำสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลย และมอบเงินให้จําเลย ข้อ ข. ระบุว่า จําเลยแจ้งให้ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจดข้อความอันเป็นเท็จลงในสัญญาขายฝากที่ดินอันเป็นเอกสารราชการว่าที่ดินมีสิ่งปลูกสร้างอันเป็นความเท็จ ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 หลงเชื่อและจดข้อความดังกล่าวลงในหนังสือสัญญาขายฝากที่ดิน เห็นได้ว่าการที่จําเลยแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการตามข้อ ข. เป็นการกระทำส่วนหนึ่งของการฉ้อโกงตามข้อ ก. อันเป็นการกระทำต่อเนื่องด้วยเจตนาอย่างเดียวกันคือเพื่อหลอกลวงเงินจากโจทก์ร่วม จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
จําเลยขายฝากที่ดินให้โจทก์ร่วมโดยหลอกลวงว่าที่ดินมีสิ่งปลูกสร้าง ความจริงที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้าง โจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานฉ้อโกง และมีคําขอให้จําเลยคืนเงินแก่โจทก์ร่วม เมื่อจําเลยให้การรับสารภาพและศาลพิพากษาลงโทษจําเลยตามฟ้อง จําเลยจึงต้องคืนเงินเต็มจำนวนแก่โจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ส่วนที่ดินที่จําเลยจดทะเบียนขายฝากให้แก่โจทก์ร่วม จําเลยต้องดำเนินการตามสิทธิของตนเองต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 783/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีอาญาและแพ่งควบคู่กัน การรับฟังพยานหลักฐาน และการวินิจฉัยของผู้เสียหาย
เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจึงสามารถพิพากษาคดีไปได้โดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังยุติว่า จำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัส การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกพยานหลักฐานที่โจทก์ร่วมและจำเลยนำสืบกันในคดีส่วนแพ่งขึ้นมาวินิจฉัยว่า เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทของโจทก์ร่วมและจำเลยไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน โจทก์ร่วมจึงไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และพิพากษายกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบ เพราะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้ศาลสามารถนำพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบกันในคดีส่วนแพ่งมาวินิจฉัยในคดีส่วนอาญาได้ ทั้งปัญหาดังกล่าวมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในสถานหนักและไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย และเพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีส่วนอาญาใหม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่โจทก์ร่วมเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา เมื่อคดีอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งจึงไม่ต้องห้ามฎีกา โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องขออนุญาตฎีกาคดีส่วนแพ่ง
ในคดีส่วนอาญาจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง การพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 แม้คู่ความจะนำสืบกันในคดีส่วนแพ่ง การรับฟังพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบกันในคดีส่วนแพ่งเพื่อกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 และมาตรา 223 นั้น หากข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งฟังได้ว่าโจทก์ร่วมมีส่วนประมาทด้วย ศาลก็เพียงแต่นำมาฟังประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนว่าโจทก์ร่วมควรจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเพียงใดเท่านั้น แต่ไม่อาจด่วนพิพากษาให้ความรับผิดค่าสินไหมทดแทนระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเป็นพับและยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้ เพราะต้องถือว่าข้อเท็จจริงในคดีอาญายุติตามคำรับสารภาพของจำเลยแล้วว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ซึ่งพฤติการณ์การกระทำผิดตามฟ้องก็บ่งชี้อยู่ว่าจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยคดีส่วนแพ่ง โดยมิได้วินิจฉัยเนื้อหาอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมและจำเลยตามพยานหลักฐานที่โจทก์ร่วมและจำเลยนำสืบกันในคดีส่วนแพ่ง จึงเป็นการไม่ชอบ จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 747/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกงประชาชนออนไลน์-เฟซบุ๊ก-การแสดงข้อความเท็จ-การโอนเงิน-ความผิดทางอาญา-การยกคำขอค่าเสียหาย
การที่โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ย่อมเป็นผลให้คำขอในส่วนแพ่งในความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ที่โจทก์ได้ขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่โจทก์ร่วม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ตกไปด้วย จึงต้องยกคำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญา กรณีกลุ่มออมทรัพย์และการมอบอำนาจ
กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตฯ จัดตั้งขึ้นตามแนวทางที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด โดยมีคณะกรรมการที่ได้รับคัดเลือกโดยมติที่ประชุมสมาชิก เงินฝากที่สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฝากมาเพื่อให้สมาชิกกู้ยืมถือเป็นกิจการของกลุ่มออมทรัพย์ และคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในเงินส่วนนี้ การที่คณะกรรมการเลือกให้จำเลยทั้งสามเป็นตัวแทนดูแลเงินฝากของสมาชิก ก็มีวัตถุประสงค์ให้จำเลยทั้งสามเป็นตัวแทนของคณะกรรมการในการเก็บรักษาเงิน เมื่อเงินที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสามหายไป คณะกรรมการย่อมเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทุจริตเงินดังกล่าว และมีอำนาจทำหนังสือมอบอำนาจแต่งตั้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นตัวแทนร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้ ธ. ผู้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการจึงมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม เมื่อ ธ. เป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ที่นำฝากเงินกับกลุ่มออมทรัพย์ดังกล่าวด้วยคนหนึ่ง เมื่อมีผู้ยักยอกเงินที่นำฝากไป ธ. ย่อมได้รับความเสียหาย ธ. จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากสมาชิกอื่นหรือจากคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ การที่คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์มอบอำนาจให้ ธ. ไปร้องทุกข์ถือได้ว่า ธ. ร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหายด้วย การแจ้งความร้องทุกข์ของ ธ. จึงเป็นไปโดยชอบ และไม่จำต้องให้สมาชิกทุกคนร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 609/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาลคดีฉ้อโกง: การพิจารณาจากสถานที่รับเงินและความต่อเนื่องของการกระทำผิด
ปัญหาว่าความผิดเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้และยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองก็มีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อนี้ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 ไม่มีบทบัญญัติเรื่องอำนาจศาล จึงต้องนำ ป.วิ.อ. มาตรา 22 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 โดย ป.วิ.อ. มาตรา 22 บัญญัติว่า "เมื่อความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้น..." และ ป.อ. มาตรา 341 บัญญัติว่า "ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม...ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง..." แสดงว่า การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงจะสำเร็จลงเมื่อผู้กระทำความผิดได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ดังนั้น ท้องที่ที่มีการมอบเงินให้แก่ผู้กระทำความผิดย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิด และถือว่าผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงลงในท้องที่ดังกล่าวต่อเนื่องกับการกระทำความผิดในท้องที่ที่มีการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง การที่ น. ภริยา พ. โอนเงิน 11,475,520 บาท ที่ธนาคาร ก. เชียงของ จังหวัดเชียงราย เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคาร ส. สวนหลวง จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแล้วออกใบเสร็จรับเงินที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินมอบให้แก่โจทก์ ถือได้ว่า สถานที่ น. ภริยา พ. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์โอนเงินที่ธนาคาร ก. เชียงของ ที่ทำให้จำเลยที่ 1 ได้ทรัพย์เป็นเงินจากโจทก์ เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดต่อเนื่องกับการหลอกลวงโจทก์ด้วย ดังนั้น ศาลชั้นต้นซึ่งมีเขตอำนาจครอบคลุมอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 22

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 431/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การล่าสัตว์ในเขตป่าสงวนและอุทยานฯ ศาลฎีกาแก้ไขบทลงโทษให้ถูกต้องตามกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยล่าสัตว์ป่าไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์ป่าสงวนหรือมิใช่ ด้วยการใช้นกกางเขนดงอันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกนกใส่กรงแขวนไว้บนต้นไม้เพื่อล่อดักจับสัตว์ป่าในเขตป่ากรุงชิงซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติ และเป็นการเก็บหาของป่าหรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ กับมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 4, 19, 43, 45 เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง และฐานกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติด้วยประการใด ๆ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 19 (3), 43 แต่ศาลล่างทั้งสองมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 19 (3), 43 มาด้วย เป็นการไม่ชอบ และความผิดฐานกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ฐานกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติด้วยประการใด ๆ ฐานนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรืออาวุธใด ๆ เข้าไปภายในเขตอุทยานแห่งชาติ และฐานล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดฐานนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรืออาวุธใด ๆ เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติต่างกรรมกับความผิดฐานอื่นมานั้น เป็นการไม่ถูกต้องเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โดยไม่เพิ่มโทษจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 428/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานล่าสัตว์ในเขตป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ การกระทำความผิดกรรมเดียวแต่หลายบท และการแก้ไขปรับบทโทษ
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย บัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังคำรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นพยานหลักฐานในการลงโทษจำเลย แต่เป็นการห้ามมิให้รับฟังเฉพาะคำรับสารภาพของจำเลยเป็นพยานหลักฐานเพื่อลงโทษจำเลยนั้นเอง มิได้ห้ามรับฟังถ้อยคำในชั้นจับกุมของจำเลยอื่นด้วยแต่อย่างใด ดังนั้น ศาลย่อมนำถ้อยคำในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกที่พาดพิงว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกระทำความผิดด้วย มารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ และคำให้การในชั้นสอบสวนถือเป็นพยานบอกเล่าและพยานซัดทอด แต่กฎหมายมิได้ห้ามรับฟังเสียทีเดียว หากมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานประกอบอื่นมาสนับสนุน ก็สามารถรับฟังลงโทษจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) ประกอบมาตรา 227/1
ป่าที่เกิดเหตุเป็นเขตอุทยานแห่งชาติและเป็นป่าสงวนแห่งชาติ การล่าสัตว์ป่าคุ้มครองจึงเป็นความผิดฐานกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่งด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้ลงโทษจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ในความผิดฐานนี้เป็นการไม่ชอบ และความผิดฐานร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติกับความผิดฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ฐานร่วมกันกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ฐานร่วมกันกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ภายในเขตอุทยานแห่งชาติด้วยประการใด ๆ และฐานร่วมกันยิงปืนในเขตอุทยานแห่งชาติ ถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ในความผิดฐานร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติต่างกรรมกับความผิดฐานอื่นจึงไม่ถูกต้องเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 404/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ผิดกฎหมาย: สมาชิกไม่ใช่ผู้เสียหาย, ไม่มีอำนาจฟ้องฐานยักยอก
กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. มีวัตถุประสงค์ให้สมาชิกออมเงินแล้วนำเงินฝากของสมาชิกไปให้สมาชิกกู้ยืม โดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 บาท ต่อเดือน แล้วนำดอกเบี้ยมาจ่ายเป็นสวัสดิการให้แก่สมาชิก ดอกเบี้ยดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 24 บาท ต่อปี เกินกว่าร้อยละ 15 บาท ต่อปี ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ในขณะนั้น และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ที่ใช้บังคับภายหลัง ดังนี้ วัตถุประสงค์ในการดำเนินการกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. จึงต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 สมาชิกทุกรายที่เข้าร่วมฝากเงินและกู้ยืมรวมทั้งชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว หรือเมื่อผิดนัด ยินยอมให้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยการนำต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระที่ฝ่าฝืนกฎหมายรวมเข้ากันแล้วคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ต่อไปซึ่งเกินกว่าระเบียบข้อบังคับกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. (ฉบับปรับปรุง 2549) ข้อ 23 รวมถึงการส่งมอบเงินฝาก รับเงินกู้ยืม เงินกำไรหรือปันผล ดอกเบี้ยของสมาชิกในทุกขั้นตอนตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว เป็นการร่วมกันกระทำการอันต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ทั้งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนซ้ำซ้อน โจทก์ร่วมและผู้เสียหายซึ่งเป็นสมาชิกจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวอันยอมความกันได้ตาม ป.อ. มาตรา 356 พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง และพนักงานอัยการโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 283/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรม: อั้งยี่, สมคบฯ, ฟอกเงิน, ฉ้อโกง, และนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
ความผิดฐานร่วมกันกระทำการเป็นอั้งยี่เป็นความผิดทันทีเมื่อผู้นั้นได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย และความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรก็เป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งตามองค์ประกอบของความผิดสองฐานนี้ จึงอาจเป็นความผิดต่างกรรมกันได้ แต่เมื่อการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 5 (1) และ (2) มีองค์ประกอบของความผิดในลักษณะเดียวกันกับความผิดฐานร่วมกันกระทำการเป็นอั้งยี่และความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร ความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน เมื่อปรากฏว่าการเข้าเป็นสมาชิกหรือการสมคบกันนั้นก็เพื่อจะกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นและด้วยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จ ความผิดฐานร่วมกันกระทำการเป็นอั้งยี่ ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร และฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันและโดยมีเจตนามุ่งหมายอันเดียวกันกับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นและฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จ ความผิดฐานต่าง ๆ ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน แต่ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินนั้น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีเจตนารมณ์ในการปราบปรามผู้กระทำความผิดมูลฐานที่ได้นำเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมากระทำการในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นการฟอกเงิน เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปได้อีก ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินจึงเป็นการกระทำความผิดที่เกิดภายหลังเมื่อมีการกระทำความผิดฐานอื่น ๆ ดังกล่าวสำเร็จแล้ว และเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งซึ่งสามารถแยกเจตนาและการกระทำต่างจากการกระทำความผิดฐานอื่นนั้นได้ จึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งต่างกรรมกัน ซึ่งปัญหาว่าการกระทำความผิดเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 229