คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ม. 24

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1406-1407/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุญาโตตุลาการ: คำชี้ขาดชอบด้วยกฎหมายเมื่อพิพาทอยู่ในขอบเขตสัญญาและไม่เกินข้อตกลงเสนอข้อพิพาท
การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า พฤติการณ์เป็นการถูกกลฉ้อฉลถึงขนาดจึงเป็นโมฆียะเป็นเหตุให้ผู้ร้องมีสิทธิบอกล้างบันทึกข้อตกลงได้ เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีและระบุเหตุผลแห่งการวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.อนุโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 37 วรรคสอง การอุทธรณ์ทำนองว่า การทำบันทึกข้อตกลงเป็นไปด้วยความสมัครใจ จึงมีผลสมบูรณ์ใช้ได้ตามกฎหมายและมิได้ตกเป็นโมฆียะ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและเนื้อหาในประเด็นที่คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัย โดยไม่ปรากฏว่าคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยขัดต่อวิธีพิจารณาหรือฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่เข้าเหตุที่จะอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สัญญาพิพาทที่ระบุให้ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญานี้ คู่สัญญาตกลงระงับข้อพิพาทด้วยการอนุญาโตตุลาการ ณ สถาบันอนุญาโตตุลาการ (กรุงเทพมหานคร) จึงเป็นการกำหนดขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการไว้อย่างกว้าง เมื่อผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทให้ผู้คัดค้านชำระเงินประกันผลงานและเงินค่างานงวดสุดท้ายอันเนื่องมาจากการว่าจ้างก่อสร้างตามสัญญาดังกล่าว ซึ่งผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่าไม่ต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่ผู้ร้อง ถือเป็นกรณีมีข้อพิพาทเกิดขึ้นตามสัญญาพิพาทดังกล่าว จึงอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการที่คณะอนุญาโตตุลาการจะวินิจฉัยได้และไม่ใช่คำชี้ขาดที่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ส่วนประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงว่ามีผลใช้บังคับตามกฎหมายหรือไม่นั้น เมื่อบันทึกข้อตกลงทำขึ้นเนื่องจากผู้ร้องเรียกร้องเงินประกันผลงานและเงินค่างานงวดสุดท้าย ย่อมถือเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องและเกิดขึ้นจากสัญญาจ้างก่อสร้างซึ่งต้องวินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างก่อสร้างเช่นเดียวกัน ผู้ร้องย่อมมีสิทธิเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการและคณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดในส่วนบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วย ซึ่งเป็นอำนาจในการวินิจฉัยขอบเขตอำนาจของตนรวมถึงความมีอยู่และความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 24

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3425-3426/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการ: ผู้ร้องไม่ใช่คู่สัญญา จึงไม่อาจเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการได้ ศาลเพิกถอนคำชี้ขาด
คำให้การของผู้คัดค้านในคดีแพ่งที่ผู้ร้องยื่นฟ้องก่อนเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการที่ว่าต้องนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการเป็นเพียงการอ้างว่าสัญญาต่าง ๆ ที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในคำฟ้องล้วนมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการเท่านั้น โดยไม่มีข้อความแสดงถึงการยอมรับว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านผูกพันกันในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องแต่อย่างใด คำให้การดังกล่าวจึงไม่ใช่สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านยอมรับว่าข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องต้องระงับโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ ยังไม่ถือว่ามีสัญญาอนุญาโตตุลาการระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 11 วรรคสอง
แม้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 24 คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยขอบเขตอำนาจของตนรวมถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการได้ก็ตาม แต่ในเรื่องขอบเขตอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการ ความมีอยู่ ความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ รวมไปถึงปัญหาว่าสัญญาดังกล่าวผูกพันผู้ร้องหรือไม่นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดได้ถ้าการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 44
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอก บุคคลภายนอกก็มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้ แต่เมื่อพิจารณาสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้องแล้ว คู่สัญญาไม่ได้ตกลงว่าจะชำระหนี้ใดแก่ผู้ร้อง ข้อสัญญาที่ผู้ร้องอ้างถึง มีลักษณะเป็นการประมาณรายรับจากการลงทุนที่ตกลงกันระหว่างคู่สัญญาหรือผู้ถือหุ้นทั้งสองฝ่ายของผู้ร้อง ทั้งยังไม่อาจถือเป็นหนี้ที่แน่นอน โดยผู้ร้องมีลักษณะเป็นเพียงตัวแทนของคู่สัญญาในการดำเนินการต่าง ๆ แทนคู่สัญญา ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก และผู้ร้องก็ไม่มีฐานะเป็นคู่สัญญาหรือบุคคลอันจะมีสิทธิตามสัญญาดังกล่าว เมื่อผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการด้วยข้อกำหนดสัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของผู้ร้อง แต่ผู้ร้องมิใช่คู่สัญญาดังกล่าว ผู้ร้องย่อมไม่อาจอาศัยข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาดังกล่าวเพื่อเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้ ดังนั้นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้จึงเป็นคำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดในคดีนี้ย่อมจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2912/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาซื้อขายที่มีข้อตกลงอนุญาโตตุลาการ ศาลมีอำนาจคุ้มครองประโยชน์ก่อนอนุญาโตตุลาการ
เหตุบกพร่องของสัญญาไม่ว่าจะเป็นการแสดงเจตนาลวงหรือกลฉ้อฉลของผู้คัดค้านอันนำไปสู่ข้ออ้างของผู้ร้องว่าเป็นการกระทำละเมิดของผู้คัดค้าน เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเนื้อหาและความสมบูรณ์ของสัญญาซื้อขาย จึงเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญาโดยตรง อีกทั้งการยกเหตุดังกล่าวถือเป็นการโต้เถียงในเรื่องความมีอยู่ของสัญญา และการมีผลใช้บังคับของสัญญา ซึ่งอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 24 การยื่นคำร้องคดีนี้จึงเป็นเรื่องสัญญา หาใช่มูลละเมิด และตามคำร้องดังกล่าวเป็นการตั้งสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับข้อโต้แย้งตามสัญญาซื้อขาย ซึ่งจะต้องดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการตามข้อตกลงในสัญญา ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 16 ทั้งผู้ร้องกล่าวอ้างมาในคำร้องดังกล่าวแล้วว่า ผู้คัดค้านมีพฤติการณ์ตั้งใจจะยักย้ายทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของตนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไปให้พ้นจากอำนาจศาล หรือจะโอนขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อประวิงหรือขัดขวางต่อการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่ผู้คัดค้านหรือเพื่อจะทำให้ผู้ร้องเสียเปรียบ หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ย่อมมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองตามที่ขอนั้นมาใช้ได้ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 255 (1) (ก) การที่ศาลชั้นต้นด่วนยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ไต่สวนให้ได้ความจริงว่าเป็นเช่นไรก่อน จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6177/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการในคดีสัญญาจ้างเหมา: การไม่ละเลยประเด็นผิดสัญญาแม้ไม่ใช่ Turn-Key
คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าสัญญาจ้างเหมาคดีนี้ไม่ใช่แบบ Turn - Key แต่เป็นสัญญา Design Built จึงจำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่า แม้ไม่ใช่สัญญาจ้างเหมาแบบ Turn - Key ผู้ร้องกระทำผิดสัญญาหรือไม่ เพราะข้ออ้างหลักของคำเสนอข้อพิพาท คือ ผู้ร้องกระทำผิดสัญญา มิใช่ว่าเมื่อสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างไม่ใช่สัญญาแบบ Turn - Key เสียแล้วจะต้องตัดประเด็นอื่น ๆ ไปเสียทั้งหมดซึ่งจะทำให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่ตนก่อ อันจะเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น และการที่คำเสนอข้อพิพาทอ้างว่าผู้ร้องทำงานล่าช้า ตอกเสาเข็มไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานวิชาช่าง แล้วขนย้ายคนงานและวัสดุออกไปจากสถานที่ก่อสร้าง อันเป็นการผิดสัญญา ก็หมายความว่าผู้ร้องละทิ้งงานนั่นเอง ดังนั้น ที่คณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากวินิจฉัยว่าผู้ร้องผิดสัญญาเพราะละทิ้งงาน จึงอยู่ในประเด็นที่คณะอนุญาโตตุลาการกำหนดไว้ ไม่เป็นการวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาท
ข้อพิพาทในคดีนี้เป็นเรื่องสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างเอกชนกับเอกชนสมัครใจตกลงกัน ข้อสัญญาไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเมื่อฟังได้ว่าคณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากไม่ได้วินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ การยอมรับและการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวจึงไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12705/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งจำหน่ายคดีเพื่ออนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์อ้างสัญญาเป็นโมฆะ คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยความสมบูรณ์ของสัญญา
การที่จำเลยขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้น ศาลต้องไต่สวนก่อนมีคำสั่งจำหน่ายคดีตามพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 14 ซึ่งในวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความเกี่ยวกับคำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ คู่ความแถลงรับว่าได้มีการทำสัญญาพิพาท และโจทก์รับด้วยว่าฝ่ายจำเลยได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแล้ว และศาลชั้นต้นบันทึกข้อเท็จจริงดังกล่าวในรายงานกระบวนพิจารณา อันถือได้ว่าเป็นการไต่สวนแล้ว ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีได้
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 24 บัญญัติว่า คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และเพื่อวัตถุประสงค์นี้ให้ถือว่าข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหลักเป็นข้อสัญญาแยกต่างหากจากสัญญาหลัก ดังนั้น เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าสัญญาพิพาทตกเป็นโมฆะ และส่งผลต่อความเป็นโมฆะถึงข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการที่ใช้ในการระงับข้อพิพาทซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการจึงอยู่ในอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการที่จะทำการวินิจฉัย การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้จำหน่ายคดีตามพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 14 เพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว