พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1214/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผู้ใช้ให้ซื้อยาเสพติด แม้ไม่ทันมอบยาให้ แต่ยังถือเป็นผู้สนับสนุนความผิดฐานครอบครองเพื่อจำหน่าย
คำให้การชั้นสอบสวนของ จ. และ ก. ที่ว่า จำเลยมอบเงินให้ไปซื้อเมทแอมเฟตามีน 1,000 เม็ด แม้เป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่มิได้เป็นการปัดความรับผิดของผู้ซัดทอดให้เป็นความผิดของจำเลยเพียงผู้เดียว ทั้งศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษ จ. และ ก. แล้ว คำซัดทอดจึงเป็นการแจ้งเรื่องราวที่ตนได้ประสบมาจากการกระทำของตนยิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลย จ. และ ก. รู้จักจำเลยมาก่อน ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน ต่างเบิกความยืนยันการกระทำของจำเลยเช่นเดียวกับที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน โดย จ. เบิกความถึงคำให้การในชั้นสอบสวนของตนว่าไม่ได้ถูกบังคับขู่เข็ญ ส่วน ก. อายุไม่เกิน 18 ปี ให้การต่อหน้าพนักงานอัยการ นักจิตวิทยา และทนายความ ฉะนั้น คำซัดทอดของ จ. และ ก. จึงเป็นพยานที่น่าเชื่อถือในการพิสูจน์ความจริง ประกอบกับจำเลยไปยืมรถจักรยานยนต์จาก ล. มาให้ จ. ขับไปซื้อเมทแอมเฟตามีน จึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้ให้ จ. ไปซื้อเมทแอมเฟตามีน เมื่อ จ. และ ก. ไปซื้อเมทแอมเฟตามีน จำเลยจึงเป็นผู้ก่อให้ จ. และ ก. ครอบครองเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ประกอบ ป.อ. มาตรา 84 แต่ระหว่างทางที่จะนำเมทแอมเฟตามีนมาให้จำเลย จ. และ ก. ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน จำเลยยังมิได้ร่วมกับ จ. และ ก. ครอบครองเมทแอมเฟตามีน จึงมิใช่ตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตาม ป.อ. มาตรา 83 ดังที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นการแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้ จ. และ ก. กระทำความผิดไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. 192 วรรคสอง แต่การกระทำความผิดของจำเลยถือได้ว่าเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2834/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของการสอบสวนคดีอนาจารเด็ก และการชี้ตัวผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ตรี
การที่จำเลยฎีกาว่า การสอบสวนไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 133 ตรี เพราะพนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้เด็กหญิง ณ. ผู้เสียหายชี้ตัวนั้น แม้ปัญหาข้อนี้จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่างอ้างในชั้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงมีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้และเห็นว่า มาตรา 133 ตรี หาใช่บทบัญญัติที่บังคับให้พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีการชี้ตัวทุกคดีไม่ กรณีเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนที่จะจัดให้มีการชี้ตัวหรือไม่ก็ได้ เพียงแต่ว่าหากจัดให้มีการชี้ตัวต้องดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อคดีนี้พนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้มีการชี้ตัวจึงไม่มีกรณีที่จะต้องดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้การสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว