คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ม. 73 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3656/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิรับเงินประกันสังคมกรณีเสียชีวิต: ทายาทตามกฎหมายพิเศษ vs. ทายาทโดยธรรม
เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนที่ถึงแก่ความตายนั้น พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้บัญญัติให้จ่ายแก่บุคคลตามมาตรา 73 (2) และทายาทผู้มีสิทธิตามมาตรา 77 จัตวา ตามลำดับ เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว อีกทั้งประโยชน์ทดแทนในกรณีดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ประกันตนที่ถึงแก่ความตายได้มาเนื่องจากความตายหรือได้มาภายหลังที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายและเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ประกันตนโดยแท้ ไม่เป็นทรัพย์มรดก
โจทก์เป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ประกันตน ไม่ใช่บุคคลและทายาทผู้มีสิทธิตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2), 77 จัตวา จึงไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3035/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิรับเงินสงเคราะห์และบำเหน็จชราภาพจากประกันสังคมสำหรับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้หลังผู้ประกันตนเสียชีวิต
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 เป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างซึ่งเป็นผู้มีฐานะด้อยในสังคม เพื่อให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างและครอบครัว ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนส่วนใหญ่จะอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมดังกล่าว คำว่า "บุตร" จึงต้องหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและรวมถึงบุตรอันแท้จริงของผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตายด้วย เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรอันแท้จริงของ ป. โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ในกรณีที่ ป. ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2)
ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ประสงค์จะให้ผู้ประกันตนหรือทายาทของผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุน เพื่อเป็นการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนหรือทายาทของผู้ประกันตน ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) ก็มิได้กำหนดให้บุตรชอบด้วยกฎหมายนั้นต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายขณะที่ผู้ประกันตนยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น เมื่อขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ป. ตามคำสั่งศาลแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพของ ป. ผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4047/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิรับเงินสงเคราะห์ประกันสังคม: 'บุตร' ตาม พ.ร.บ. ไม่จำกัดเฉพาะบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
พ.ร.บ. ประกันสังคมฯ ไม่ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "บุตร" ว่ามีความหมายอย่างไร แต่มีการบัญญัติถึงบุตรไว้สองแบบ กล่าวคือ ตามมาตรา 73 (2) เกี่ยวกับเงินสงเคราะห์ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ใช้คำว่า "บุตร" ส่วนมาตรา 75 ตรี และมาตรา 77 จัตวา (1) ใช้คำว่า "บุตรชอบด้วยกฎหมาย" เมื่อใช้คำต่างกันในกฎหมายเดียวกันเช่นนี้ แสดงว่าประสงค์จะให้ความหมายของคำว่า "บุตร" แตกต่างไปจากคำว่า "บุตรชอบด้วยกฎหมาย" เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้างและบุคคลอื่นที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตายอันเนื่องมาจากการทำงาน ทั้งนี้ โดยมุ่งหมายให้เป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้างและครอบครัว ซึ่งลูกจ้างผู้ประกันตนส่วนใหญ่มักอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส และเมื่อพิจารณาถึงเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายตามมาตรา 73 (2) (ก) และ (ข) ก็คือเงินสมทบส่วนหนึ่งที่ผู้ประกันตนได้ส่งไว้แล้ว กฎหมายจึงบัญญัติให้เฉลี่ยจ่ายแก่สามีภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน จึงเห็นได้ว่าตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ คำว่า "บุตร" ตามมาตรา 73 (2) จึงมิได้หมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. เท่านั้น แต่รวมถึงบุตรอันแท้จริงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนด้วย เมื่อโจทก์ทั้งสิบสามเป็นบุตรอันแท้จริงของผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสิบสามจึงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 73 (2)