คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ม. 25 วรรคสาม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13924/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแรงงาน การประเมินผลการปฏิบัติงาน และการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
โจทก์ฟ้องอ้างว่าในการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน ผู้จัดการส่วนจะต้องกำหนดเป้าหมายของการทำงาน (KPI) และจะต้องให้พนักงานลงลายมือชื่อรับทราบตลอดจนมีโอกาสโต้แย้งดุลพินิจในการประเมิน อ. ผู้จัดการส่วนซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ไม่ได้กำหนดเป้าหมายการทำงาน ให้พนักงานรับทราบ ไม่ทำการประเมินตามระเบียบหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ใช้อำนาจประเมินตามอำเภอใจ ทำให้โจทก์ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี 2548 ไม่ถึง 1 ขั้น เป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นไปตามความสามารถที่แท้จริง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ ให้จำเลยมีคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนโจทก์ใหม่ และให้จำเลยจ่ายเงินส่วนต่างพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ประจำปี 2548 ไม่ถูกต้องตามระเบียบและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง มิใช่โจทก์เรียกร้องให้มีการกำหนดหรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จะต้องไปดำเนินการให้สหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดกำหนดให้โจทก์ต้องไปดำเนินการอย่างใดก่อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
ประเด็นแห่งคดีมีเพียงว่า จำเลยประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี 2548 ของโจทก์ถูกต้องหรือไม่ และจำเลยต้องประเมินผลการปฏิบัติงานให้แก่โจทก์ใหม่หรือไม่เท่านั้น การที่โจทก์ยกเหตุที่ไม่อยู่ในประเด็นแห่งคดีขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3036-3038/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับปรุงสภาพการจ้างของรัฐวิสาหกิจ: อำนาจคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์และการปฏิบัติตามขั้นตอน
พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 หาได้บัญญัติให้การแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกระทำโดยนายจ้างหรือสหภาพแรงงานต้องยื่นข้อเรียกร้องตามมาตรา 25 วรรคสามแต่เพียงประการเดียวไม่ แต่กฎหมายยังได้บัญญัติถึงกระบวนแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ในมาตรา 23 (5) อีกทางหนึ่งโดยบัญญัติให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์มีอำนาจ ปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาปรับปรุงสภาพการจ้าง ดังนั้น หากคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ปรับปรุงสภาพการจ้างใดโดยกระทำด้วยการปรึกษาหารือกันโดยชอบ คือมีการพิจารณาโดยถูกต้องตามขั้นตอนและมีเหตุผลเพียงพอ อีกทั้งไม่เป็นการกลั่นแกล้งบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว การปรับปรุงสภาพการจ้างตามกระบวนการนี้ย่อมมีผลใช้บังคับแก่ลูกจ้างทุกคนในรัฐวิสาหกิจรวมถึงฝ่ายบริหารด้วย
เมื่อไม่ปรากฏว่าการแก้ไขข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 74 ว่าด้วยเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตร เป็นการปรับปรุงสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินที่อยู่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ตามพ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 13 (2) ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีก่อนตามมาตรา 13 วรรคท้าย ดังนี้การแก้ไขข้อบังคับดังกล่าวเมื่อคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบแล้ว การปรับปรุงสภาพการจ้างดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 74 ที่แก้ไขใหม่นี้ จึงมีผลใช้บังคับแก่พนักงานของจำเลยทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3036-3038/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับปรุงสภาพการจ้างของรัฐวิสาหกิจโดยคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ชอบด้วยกฎหมาย หากดำเนินการตามขั้นตอนและไม่กลั่นแกล้ง
พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ หาได้บัญญัติให้การแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกระทำโดยนายจ้างหรือสหภาพแรงงานต้องยื่นข้อเรียกร้องตามมาตรา 25 วรรคสาม แต่เพียงประการเดียวไม่ แต่กฎหมายดังกล่าวยังได้บัญญัติถึงกระบวนแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ในมาตรา 23 (5) อีกทางหนึ่งด้วย โดยคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์มีอำนาจ "ปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาปรับปรุงสภาพการจ้าง" ดังนั้น หากคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ปรับปรุงสภาพการจ้างใดโดยกระทำด้วยการปรึกษาหารือกันโดยชอบ กล่าวคือ มีการพิจารณาโดยถูกต้องตามขั้นตอนและมีเหตุผลเพียงพออีกทั้งไม่เป็นการกลั่นแกล้งบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว การปรับปรุงสภาพการจ้างตามกระบวนการนี้ย่อมมีผลใช้บังคับแก่ลูกจ้างทุกคนในรัฐวิสาหกิจรวมถึงฝ่ายบริหารด้วย ไม่ว่าการปรับปรุงสภาพการจ้างนั้นจะทำให้สภาพการจ้างต่ำกว่าเดิมหรือลดประโยชน์ของลูกจ้างก็ตาม เมื่อปรากฏว่าการแก้ไขข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 74 ว่าด้วยเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตร แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2546 ได้กระทำโดยมีการเสนอการปรับปรุงเป็นวาระการประชุมต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ของจำเลย และคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ของจำเลยได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบให้แก้ไขข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 74 ว่าด้วยเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตร ลงวันที่ 5 มีนาคม 2540 โดยให้ใช้หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินค่าเล่าเรียนบุตรของผู้ปฏิบัติงานซึ่งหมายถึงพนักงานการเคหะแห่งชาติและลูกจ้างทุกประเภทที่ได้ประจำทำงานในการเคหะแห่งชาติมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ให้มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตรตามที่กระทรวงการคลังกำหนดแทนหลักเกณฑ์เดิมที่มีสิทธิได้รับตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด โดยคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ให้นำเสนอการแก้ไขข้อบังคับดังกล่าวต่อคณะกรรมการเคหะแห่งชาติต่อไป และต่อมาคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติได้ประชุมแล้วให้ความเห็นชอบในการแก้ไขข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 74 ว่าด้วยเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตร แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2546 ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าการปรับปรุงสภาพการจ้างดังกล่าวเป็นการปรับปรุงสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินที่อยู่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 13 (2) ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีก่อนตามมาตรา 13 วรรคท้าย กระบวนการปรับปรุงสภาพการจ้างดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ 74 ที่แก้ไขใหม่นี้จึงมีผลใช้บังคับแก่พนักงานของจำเลยทุกคนรวมทั้งโจทก์ทั้งสามด้วย โจทก์ทั้งสามจึงไม่อาจอ้างสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตรตามฟ้องโดยอาศัยข้อบังคับการเคหะแห่งชาติว่าด้วยเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตร ลงวันที่ 5 มีนาคม 2540 ข้อ 5 อันเป็นข้อบังคับฉบับเดิมที่ถูกยกเลิกไปแล้ว