คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 157

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 617 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4209/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยไม่มีเจตนาพิเศษทำให้โจทก์เสียหาย การกระทำไม่เข้าข่ายความผิด ม.157 แม้มีมติไม่ให้เลื่อนตำแหน่ง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 248 วรรคสาม บัญญัติว่า การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นขององค์กรอัยการให้มีความเป็นอิสระ โดยให้มีระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นการเฉพาะตามความเหมาะสมและการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับพนักงานอัยการต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการอัยการ และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 38 บัญญัติหลักเกณฑ์ที่จะนำมาพิจารณาแต่งตั้งพนักงานอัยการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ได้แก่ ความรู้ความสามารถ ความรับผิดชอบ ประวัติการปฏิบัติราชการ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลเทียบกับงานในตำแหน่งข้าราชการอัยการที่จะได้รับแต่งตั้ง โดยมี พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 9 กำหนดตำแหน่งพนักงานอัยการ และข้อกำหนดคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจัดลำดับอาวุโสของข้าราชการอัยการ พ.ศ. 2554 ข้อ 3 และข้อ 4 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 30 (5) มีเจตนารมณ์ให้คณะกรรมการอัยการพิจารณาในการเลื่อนตำแหน่ง การแต่งตั้งและการโยกย้ายว่า ข้าราชการอัยการลำดับอาวุโสใด ควรไปดำรงตำแหน่ง ณ สำนักงานแห่งใดเป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างยิ่งประกอบด้วย ซึ่งคณะกรรมการอัยการเคยให้ความเห็นชอบในหลักเกณฑ์ซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติในการแต่งตั้งข้าราชการอัยการ รองอธิบดีอัยการ อัยการพิเศษฝ่ายและอัยการจังหวัดว่า หากข้าราชการอัยการคนใดเคยสละสิทธิในการเลื่อนการดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นในวาระการโยกย้ายที่ตนมีสิทธิแล้ว ข้าราชการอัยการคนนั้นจะไม่ได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งนั้นอีกต่อไป และมีการใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวมาพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการอัยการตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2564 ข้าราชการอัยการคนที่สละสิทธิดำรงตำแหน่งอธิบดีอัยการ รองอธิบดีอัยการ หรืออัยการพิเศษฝ่ายจะไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในวาระโยกย้ายในปีที่ขอสละสิทธิและในปีต่อมาทุกราย เหตุที่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์เช่นนี้ เนื่องเพราะหากยินยอมให้ข้าราชการอัยการที่สละสิทธิไม่ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นในวาระแรกที่ตนมีสิทธิโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่ง สามารถแสดงความจำนงโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่งในวาระถัดไป ก็จะมีคนลำดับอาวุโสท้ายที่ได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นในวาระแรก ซึ่งตามปกติต้องไปดำรงตำแหน่งในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สละสิทธิในวาระที่ตนมีสิทธิเพื่อจะได้เป็นคนมีอาวุโสลำดับต้นในวาระโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่งคราวถัดไป ก่อให้เกิดการลักลั่น เลือกปฏิบัติและขัดข้องในการบริหารงานบุคคลขององค์กรอัยการ กับเปิดช่องให้มีคนใช้วิธีการดังกล่าวหลีกเลี่ยงไม่ไปดำรงตำแหน่งในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวาระแรก เพื่อที่จะได้ไปปฏิบัติงานที่สถานที่ที่ตนเองต้องการในวาระถัดไป ส่วนคนอื่นจะถูกส่งไปรับตำแหน่งในสถานที่ห่างไกลหรือลำบากกันดาร หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แทน ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างข้าราชการอัยการด้วยกัน อันจะส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจข้าราชการอัยการและการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนทั่วไป กรณีอาการป่วยด้วยโรคไตวายเฉียบพลันอย่างรุนแรงของโจทก์เป็นเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ ทำให้ไม่สามารถไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นเรื่องน่าเห็นใจ ซึ่งคณะกรรมการอัยการคราวประชุมครั้งที่ 9/2560 มีมติให้โจทก์ดำรงตำแหน่งและรับราชการในสำนักงานเดิม เท่ากับโจทก์ได้สิทธิในการรักษาพยาบาลและได้รับเงินเดือนเต็มเวลา ทั้งไม่ต้องไปรับราชการในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะที่ข้าราชการอัยการคนอื่นต้องเสียสละไปรับราชการในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แทนโจทก์เป็นการเสียเปรียบในวาระนี้ เมื่อโจทก์หายป่วยในการโยกย้ายเลื่อนตำแหน่งคราวถัดไปครั้งที่ 10/2561 โจทก์ขอใช้สิทธิในการดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นขณะที่อาวุโสอยู่ในลำดับต้น ดังเช่นที่โจทก์เรียกร้องและฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกขอให้จัดอันดับอาวุโสของโจทก์เข้าสู่ลำดับอาวุโสเดิม ยิ่งทำให้ข้าราชการอัยการคนอื่นที่เสียสละไปรับราชการในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แทนโจทก์ เสียเปรียบโจทก์ในการเลื่อนตำแหน่งวาระก่อนต้องเสียเปรียบในการเลื่อนตำแหน่งวาระถัดไปซ้ำอีก ข้อนี้วิญญูชนคนธรรมดาทั่วไปพึงเข้าใจได้ว่าเป็นการเอาเปรียบประชาชนคนจ่ายเงินเดือนแก่โจทก์ด้วย ข้าราชการอัยการทั้งองค์กรย่อมตระหนักรู้ได้ว่าไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมดุจกัน นอกจากนี้กรณี ช. และ ป. ซึ่งเคยสละสิทธิในปี 2554 และ 2547 ได้รับการพิจารณาให้เลื่อนตำแหน่งในปี 2556 และ 2548 ตามลำดับดังที่โจทก์ฎีกานั้น เป็นมติของคณะกรรมการอัยการชุดก่อนมิใช่การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบสอง แต่ถือเป็นกรณีศึกษาสำหรับองค์กรอัยการว่า การยอมให้ข้าราชการอัยการอ้างเหตุผลส่วนตัวต่าง ๆนา ๆ เป็นข้อยกเว้นลำดับอาวุโสตามข้อกำหนดคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจัดลำดับอาวุโสของข้าราชการอัยการ พ.ศ. 2554 ข้อ 4 เพื่อประโยชน์ส่วนตน จะส่งผลกระทบต่อการบริหารองค์กรอัยการและการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอันเป็นประโยชน์ส่วนรวมมากเพียงใด เป็นสิ่งซึ่งจำเลยทั้งยี่สิบสองในฐานะคณะกรรมการอัยการคณะต่อมาต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักระหว่างการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของข้าราชการอัยการ กับภาระหน้าที่ขององค์กรอัยการ ที่ต้องอาศัยบุคลากรผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตและเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน แล้วเลือกสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย เหมาะสมกับสถานการณ์ บริบทแวดล้อม และบริหารจัดการความสมดุลระหว่างสิทธิส่วนบุคคลของข้าราชการอัยการ กับสิทธิส่วนรวมของข้าราชการอัยการทุกคนหรือองค์กรอัยการในขณะตัดสินใจลงมติเลือกหลักเกณฑ์การพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่ง ยิ่งกว่านั้นหลักเกณฑ์ที่ว่าข้าราชการอัยการผู้ใดเคยสละสิทธิในการเลื่อนการดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นในวาระการโยกย้ายที่ตนมีสิทธิแล้ว ข้าราชการอัยการผู้นั้นจะไม่ได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งนั้นอีกต่อไปใช้บังคับมาตลอด 8 ปี ไม่มีข้าราชการอัยการคนใดโต้แย้งคัดค้านหรือฟ้องร้องเป็นคดี อาจเป็นเหตุให้จำเลยทั้งยี่สิบสองเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นแบบธรรมเนียมปฏิบัติหรือวัฒนธรรมขององค์กรอัยการในช่วงเวลานั้น เยี่ยงนี้ แม้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 จะไม่ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการสละสิทธิของข้าราชการอัยการในการดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นว่าจะไม่ได้รับการดำรงตำแหน่งดังกล่าวในการเลื่อนตำแหน่งในวาระโยกย้ายครั้งต่อไป และโจทก์มิได้มีเจตนาสละสิทธิตลอดไปตามที่โจทก์ฎีกา แต่เมื่อหลักเกณฑ์นี้ใช้พิจารณาในการโยกย้ายเลื่อนตำแหน่ง ตั้งแต่ก่อนวาระการโยกย้ายเลื่อนตำแหน่งของโจทก์และแก่ข้าราชการอัยการทั้งองค์กรเป็นการทั่วไป มิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจง แสดงว่าจำเลยทั้งยี่สิบสองต่างลงมติไปโดยสุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มิได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจจึงสมเหตุสมผล จักเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ก็หามิได้ และแม้ต่อมาคณะกรรมการอัยการจะมีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ให้โจทก์ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่าย (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 4) สำนักงานคดีปกครองตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ตามคำพิพากษาของศาลปกครองพิษณุโลก ก็เป็นการใช้ดุลพินิจอิสระของคณะกรรมการอัยการคณะต่อมาในการบริหารงานบุคคลบนหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย สถานการณ์และบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจอนุมานว่าจำเลยทั้งยี่สิบสองมีมติไม่ให้โจทก์เลื่อนไปดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายในการประชุมคณะกรรมการอัยการครั้งที่ 10/2561 และครั้งที่ 11/2562 โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นการเฉพาะ การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบสองจึงขาดองค์ประกอบและไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตาม ป.อ. มาตรา 157 ตามฟ้องดังที่โจทก์ฎีกา ถึงกระนั้นก็ตามหากมีกรณีที่จำเลยคนหนึ่งคนใดหรือจำเลยทั้งยี่สิบสองร่วมกันกระทำการใดอันเป็นการทุจริต ผิดกฎหมายหรือระเบียบใดทำให้โจทก์หรือองค์กรอัยการเสียหายนอกจากคำฟ้อง ก็มิได้ตัดสิทธิโจทก์ที่จะว่ากล่าวเอาความแก่จำเลยทั้งยี่สิบสองต่างหากจากคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2324/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฐานะเจ้าพนักงาน vs. ยักยอกทรัพย์ - จำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ข้าราชการ จึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าพนักงาน แต่ความผิดฐานยักยอกยังคงมี
จําเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ม. ผู้เสียหาย ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยดังกล่าวคือ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดคํานิยามของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาว่า หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งความหมายของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายฉบับนี้แตกต่างจากความหมายของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายฉบับเดียวกัน กล่าวคือข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหมายถึงบุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา หากเปรียบเทียบข้อแตกต่างสำคัญแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเป็นบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษาจึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นบุคคลที่ได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้เป็นพนักงานจึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้าราชการ อีกทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาก็มิใช่เงินเดือนอันมีที่มาจากเงินงบประมาณประเภทเงินดือนในสถาบันอุดมศึกษา แม้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะระบุว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความหมายของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย ม. พ.ศ. 2537 และข้อบังคับมหาวิทยาลัย ม. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2552 ที่ใช้บังคับขณะจําเลยกระทำผิดแล้ว ล้วนได้ความตรงกันว่าพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสองประเภทได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปหรือเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เมื่อจําเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและไม่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบกับไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดกําหนดให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเจ้าพนักงาน จําเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และศาลไม่อาจลงโทษจําเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 และ 157 ตามฟ้องของโจทก์ได้ แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จําเลยเบียดบังทรัพย์ของผู้เสียหายไปในฐานะบุคคลธรรมดาซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องกล่าวถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 ไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจําเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4639/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าพนักงาน – ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันทำเอกสารเท็จ
จำเลยที่ 1 แม้ไม่มีฐานะหรือคุณสมบัติเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรงในการดูแลและประสานโครงการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟบ้านบ่อน้ำใส ประจำปีงบประมาณ 2557 อันจะร่วมกระทำความผิดเป็นตัวการหรือเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลตรึม และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตได้ แต่การที่จำเลยที่ 1 ให้ ว. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทำบันทึกตกลงซื้อบั้งไฟและบันทึกตกลงจ้างเหมาวงดนตรีกลองยาวนำขบวนแห่เสนอให้ ร. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตรึมลงนามในเอกสารดังกล่าว และให้ ว. ทำสัญญายืมเงินอันเป็นเท็จแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินงบประมาณดังกล่าวไปจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นจากเงินงบประมาณ และจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บังคับบัญชามีอำนาจเหนือสามารถให้คุณให้โทษแก่จำเลยที่ 2 ว. และ ป. ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ได้พูดจาว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบด้วยตนเองเพื่อเร่งรัดให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุและมีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในใบตรวจรับพัสดุ ได้จัดทำใบตรวจรับพัสดุว่าผู้ขายส่งมอบบั้งไฟตามบันทึกตกลงซื้อคุณภาพถูกต้องครบถ้วน และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้รับบั้งไฟซึ่งตรวจรับถูกต้องสมควรจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างอันเป็นเท็จ และทำใบตรวจรับพัสดุว่าผู้รับจ้างส่งมอบงานจ้างเหมาวงดนตรีกลองยาวนำขบวนแห่งวดสุดท้ายถูกต้องและครบถ้วน จึงสมควรจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างอันเป็นเท็จนั้น เป็นการกระตุ้นส่งเสริมเร่งเร้าหรือโน้มน้าวชักจูงใจจำเลยที่ 2 ว. และ ป. มุ่งกระทำให้หนักแน่นยิ่งขึ้น จนจำเลยที่ 2 ว. และ ป. ยินยอมลงชื่อในใบตรวจรับพัสดุดังกล่าวทั้งสองฉบับ เพื่อรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าจำเลยที่ 2 ว. และ ป. อันเป็นเท็จและรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการสนับสนุนให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. กระทำความผิดดังกล่าวก่อนหรือขณะกระทำความผิดซึ่งครบองค์ประกอบความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลตรึม และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากเงินงบประมาณในการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3620/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับ การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ข้อ 10 (1) สโมสรรัฐสภาไม่ได้เป็นนิติบุคคลที่อยู่ในหน้าที่ควบคุมดูแลของโจทก์และมิได้เป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามประกาศรัฐสภา โดยผู้จัดการสโมสรรัฐสภาและคณะกรรมการสโมสรรัฐสภามีอำนาจดูแลและจัดการบริหารทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา อนุมัติการจ่ายเงินของสโมสรรัฐสภา และจัดการซึ่งกิจการโดยทั่วไปของสโมสรรัฐสภา โจทก์มิได้เป็นคณะกรรมการสโมสรรัฐสภาหรือผู้จัดการสโมสรรัฐสภา จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานหรือจัดการทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา คำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยเป็นประธานกรรมการสโมสรรัฐสภา และผู้จัดการสโมสรจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มิได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะมีอำนาจเข้าบริหารกิจการและทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา โจทก์ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินหรือเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา การเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาหรือไม่ ต้องปรากฏข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิด ทั้งการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอันเป็นผลเสียหายแก่รัฐ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ การกระทำความผิดของจําเลยที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการกระทำต่อรัฐซึ่งเป็นอำนาจของหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะฟ้องขอให้ลงโทษผู้กระทำความผิดดังกล่าวตาม ป วิ อ. มาตรา 28 (1) โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147, 151, 157, 334 และ 335

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2934/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเจ้าหน้าที่รัฐอนุมัติจ้างเหมาเอื้อประโยชน์พวกพ้องละเลยการแข่งขันราคา
จำเลยที่ 1 ตำแหน่งนายกเทศมนตรี มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย กับมีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อและสั่งจ้างในฐานะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 จำเลยที่ 1 ลงนามอนุมัติสั่งซื้อและสั่งจ้างโดยทราบข้อเท็จจริงเป็นอย่างดีแล้วว่าการดำเนินการจ้างเหมาประกอบอาหารขัดต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 1 จะอ้างเหตุไม่รู้ระเบียบมาเป็นข้อแก้ตัวเพื่อให้พ้นความรับผิดหาได้ไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะปลัดเทศบาล มีหน้าที่ควบคุมดูแลราชการประจำของเทศบาลให้เป็นไปตามนโยบาย แม้จะไม่มีหน้าที่ในการตรวจสอบระเบียบการดำเนินการจ้างโดยตรง และไม่มีอำนาจอนุมัติการจ้าง รวมทั้งไม่มีหน้าที่ในการตรวจรับการจ้างก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบรายงานที่ต้องเสนอจำเลยที่ 1 พิจารณาอนุมัติตามลำดับชั้น จำเลยที่ 2 ลงนามในบันทึกขออนุมัติตกลงจ้างโดยวิธีตกลงราคาทั้งที่รู้ว่าเป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่ผิดระเบียบ เสนอให้จำเลยที่ 1 ลงนาม โดยมีการดำเนินการในลักษณะเร่งรีบและรวบรัดเพื่อจะกำหนดตัวผู้รับจ้างได้เอง อันเป็นพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำไปเพื่อช่วยเหลือให้ ก. และ ส. เป็นผู้รับจ้างทำสัญญากับเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นเหตุให้เทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อมได้รับความเสียหาย ไม่อาจพิจารณาคัดเลือกหาผู้รับจ้างที่เสนอราคาต่ำที่สุดจากการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีสอบราคาได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาเงินค่าอาหาร หรือทรัพย์ใด ๆ ของเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม ในโครงการส่งเสริมสนับสนุนงานสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151
สำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองคลัง ย่อมมีอำนาจหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบกำกับดูแลภายในกองคลัง ทั้งยังมีฐานะเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และมีหน้าที่ตรวจสอบรับรองความถูกต้องเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงิน การรับรองสิทธิการเบิกเงินงบประมาณ การควบคุมการปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงิน และเป็นฝ่ายตรวจอนุมัติฎีกาและควบคุมงบประมาณ มีหน้าที่ตรวจสอบรับรองความถูกต้อง การปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย ข้อบังคับ และมติรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตามคำสั่งเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม การดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัสดุของเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อมย่อมอยู่ในอำนาจหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ 3 ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ของเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม แต่จำเลยที่ 3 กลับปล่อยให้มีการอนุมัติจัดจ้างด้วยวิธีการที่ขัดต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 โดยไม่ทักท้วง และเสนอความเห็นทำนองรับรองความถูกต้องในการปฏิบัติตามระเบียบ เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม) ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษจำเลยที่ 3 ตามมาตรา 157 (เดิม) ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และจำเลยที่ 3 ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ในการอนุมัติและเห็นชอบให้มีดำเนินการจ้างเหมาประกอบโดยวิธีตกลงราคาทั้งที่ตามระเบียบจะต้องดำเนินการจ้างโดยวิธีสอบราคา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำไปโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และเป็นไปในทางเอื้ออำนวยให้ ก. และ ส. เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญาจ้างกับเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม โดยจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลหนองไผ่ล้อมจึงเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4789/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจับกุมโดยมิชอบและการเรียกรับเงินจากผู้ถูกจับกุม ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 และ 157
การที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 จะต้องได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ส. โดยชอบ กล่าวคือ จับกุมขณะ ส. กำลังเล่นการพนัน แล้วหลังจากนั้นจึงเรียกรับเงินจาก ส. เพื่อที่จะไม่ดำเนินคดี เมื่อจำเลยกับพวกไม่พบการเล่นการพนันไฮโลในที่เกิดเหตุ การจับกุม ส. จึงเป็นการจับกุมโดยมิชอบ แม้จะมีการเรียกรับเงินจาก ส. การกระทำของจำเลยกับพวกก็ไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 ได้ คงเป็นความผิดตามมาตรา 148 แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องขอลงโทษในความผิดฐานดังกล่าว จึงไม่อาจลงโทษจำเลยได้เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง คงลงโทษได้ตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบทความผิดทั่วไปเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4167/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหน้าที่พัสดุ, การซื้อโดยทุจริต, ความผิด มาตรา 151, การลดโทษ, รอการลงโทษ
แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ทำหรือจัดการทรัพย์ของโครงการติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้าน แต่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 ข้อ 5 ให้คำนิยาม เจ้าหน้าที่พัสดุ หมายความว่า พนักงานส่วนตำบลหรือข้าราชการอื่นที่ปฏิบัติงานในองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ประธานกรรมการบริหารแต่งตั้งหรือมอบหมายให้มีหน้าที่หรือปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพัสดุตามระเบียบนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ทำหรือจัดการเงินที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมออนุมัติแล้วการที่จำเลยที่ 1 เสนอรายงานขอจ้างเหมาติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้านตามโครงการดังกล่าวโดยวิธีตกลงราคาพร้อมรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างต่อจำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำและจัดการทรัพย์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานทำหรือจัดการทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม) และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม) อันเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 157 (เดิม) ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ส่วนจำเลยที่ 2 คงได้ความแต่ว่า จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติ ระเบียบและข้อบังคับของทางราชการ มีอำนาจสั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการขององค์การบริหารส่วนตำบล ตลอดจนเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบล กับมีอำนาจในการอนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 ซึ่งจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเป็นผู้อนุมัติเห็นชอบตามที่จำเลยที่ 1 เสนอมาเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อทรัพย์ใด ๆ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3299/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินที่ได้จากโครงการที่เกิดจากการกระทำความผิดมูลฐาน แม้ผู้กระทำผิดถูกฟ้องในความผิดอื่น ก็สามารถบังคับตามกฎหมายป้องกันฟอกเงินได้
ข้อเท็จจริงตามทางวินิจฉัยของศาลแขวงดุสิตปรากฏชัดแจ้งว่า กลุ่มจำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 เป็นเอกชน ได้ร่วมกับเจ้าพนักงานรัฐกระทำการอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 และมาตรา 157 แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 มิได้เป็นเจ้าพนักงาน จึงมีความผิดได้เพียงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดของเจ้าพนักงาน เพียงแต่กรมควบคุมมลพิษโจทก์ในคดีดังกล่าวเลือกแยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 เป็นคดีฉ้อโกงที่มีโทษต่ำกว่า ทั้งยังเป็นคดียอมความได้ เช่นนี้เมื่อการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 19 เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานในการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (5) แม้โจทก์จะเลือกแยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 19 ที่เป็นเอกชนในฐานฉ้อโกง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความผิดมูลฐานที่มีการกระทำเกิดขึ้น ก็หาเป็นเหตุเปลี่ยนแปลงการกระทำความผิดมูลฐานให้แปรเปลี่ยนไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 198/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานตรวจรับงานที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์โดยเจตนาทุจริต มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162(4)
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างถนน คสล. สายบวงสรวง - น้ำร้อน ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการตรวจการจ้าง จัดทำเอกสารและลงลายมือชื่อทำการตรวจรับงานก่อสร้างโครงการดังกล่าว งวดที่ 10 และ 11 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2551 อันเป็นการรับรองเป็นหลักฐาน ซึ่งข้อเท็จจริงอันเป็นเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จเป็นความผิดตามป.อ. มาตรา 157, 162 (4) ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท การนับอายุความจึงต้องเริ่มนับพร้อมกัน โดยถือเอาคำฟ้องโจทก์ที่กล่าวหาจำเลยที่ 3 ในฐานะกรรมการตรวจการจ้างลงลายมือชื่อในเอกสารตรวจรับงานโครงการก่อสร้างถนน คสล. สายบวงสรวง - น้ำร้อน เป็นการกระทำความผิด และความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จและจะเป็นความผิดต่อเมื่อเจ้าพนักงานผู้นั้นลงลายมือชื่อรับรองในเอกสารดังกล่าว ตราบใดที่เจ้าพนักงานผู้นั้นยังไม่ได้ลงลายมือรับรองเอกสารแล้วความผิดยังไม่เกิดขึ้น สัญญาโครงการก่อสร้างถนน คสล. สายบวงสรวง - น้ำร้อน กำหนดอายุโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จวันที่ 8 มิถุนายน 2551 จึงไม่ใช่วันกระทำความผิด เพราะจำเลยที่ 3 ไม่ได้ลงลายมือชื่อรับรองเอกสารตรวจรับงาน ส่วนจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ได้ทำหนังสือขอส่งมอบงานงวดที่ 10 และ 11 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2551 หลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาตามสัญญาแล้วก็ไม่มีผลทำให้เกิดการกระทำความผิดในวันที่ 8 มิถุนายน 2551 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 จำเลยที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อรับรองในใบตรวจรับงานจ้างเหมาว่า จำเลยที่ 6 ทำงานงวดที่ 10 และ 11 ถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามแบบรูปรายละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาจ้างแล้วเสร็จ และได้ส่งมอบงานถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2551 ตามใบตรวจรับงานจ้างเหมา จึงถือว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2551 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 จึงอยู่ภายในอายุความสิบปี ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
หนังสือส่งงานก่อสร้างว่า จำเลยที่ 6 ได้ทำงานงวดที่ 10 งวดที่ 11 และงวดสุดท้ายเสร็จสิ้นวันที่ 13 มิถุนายน 2551 เป็นความเท็จ ซึ่งความจริงงานงวดที่ 10 งวดที่ 11 และงวดสุดท้ายยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่างานงวดที่ 10 งวดที่ 11 และงวดสุดท้ายที่จำเลยที่ 6 ทำหนังสือส่งงานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะคณะกรรมการตรวจการจ้างต้องไม่รับตรวจงานจ้างดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กลับทำใบรับงานจ้างเหมาว่าผู้รับจ้างทำงานงวดที่ 10 และ 11 ถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามแบบรูปรายละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาจ้างแล้วเสร็จและได้ส่งมอบงานถูกต้องเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2551 จึงเห็นสมควรจ่ายเงินให้ผู้รับจ้างตามสัญญา ตามใบตรวจรับงานจ้างเหมา จึงเป็นการทำเอกสารในฐานะคณะกรรมการตรวจการจ้างรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าพนักงาน จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (4) (เดิม) และมาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานจึงมีความผิดฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการกระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 162 (4) (เดิม) และมาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 86

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3327-3328/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การต่อสัญญาจ้างพนักงาน การประเมินผลการปฏิบัติงาน และความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 2 ข้อ 4.1 และ 4.2 ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 โจทก์ที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามฟ้องข้อ 4.1 และ 4.2 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ฎีกาของโจทก์ที่ 2 ในส่วนนี้เป็นฎีกาที่ต้องห้าม ศาลฎีกาไม่รับไว้พิจารณา
การพิจารณาต่อสัญญาจ้างพนักงานตามภารกิจเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกเทศมนตรี โดยจะต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อต่อสัญญาจ้างด้วย โจทก์ที่ 2 เป็นพนักงานจ้างตามภารกิจตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 สิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2551 การที่ในเดือนกันยายน 2551 ส. ปลัดเทศบาลปฏิบัติหน้าที่แทนนายกเทศมนตรีทำสัญญาจ้างโจทก์ที่ 2 เป็นพนักงานจ้างตามภารกิจมีกำหนดระยะเวลา 4 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2555 นั้น เป็นกรณีพิจารณาต่อสัญญาจ้างโจทก์ที่ 2 เป็นพนักงานจ้างตามภารกิจต่อไป จึงต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ที่ 2 ตามประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดหนองบัวลำภู ข้อ 34 และข้อ 44 เมื่อก่อนที่ ส. ต่อสัญญาจ้างโจทก์ที่ 2 ไม่ได้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ที่ 2 และไม่มีผลการปฏิบัติงานเฉลี่ยย้อนหลัง 2 ปี ไม่ต่ำกว่าระดับดี การที่ ส. ต่อสัญญาจ้างโจทก์ที่ 2 มีกำหนด 4 ปี จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลผูกพันเทศบาลตำบลสุวรรณคูหา จำเลยที่ 1 ในฐานะนายกเทศมนตรีจึงมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับงบประมาณได้ สำหรับสัญญาจ้างพนักงานจ้างไม่ลงวันที่มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 สิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2556 โจทก์ที่ 2 และพนักงานจ้างอีก 14 คน เขียนกรอกข้อความในแบบพิมพ์สัญญาจ้างตามคำบอกของจำเลยที่ 2 เมื่อเดือนกันยายน 2552 โดยไม่ปรากฏว่ามีการประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ที่ 2 และพนักงานจ้างอีก 14 คน เพื่อใช้ประกอบการต่อสัญญาจ้างแล้วหรือไม่ จึงอยู่ในขั้นเตรียมการที่จะเสนอให้จำเลยที่ 1 เพื่อพิจารณาต่อสัญญาจ้างหรือไม่เท่านั้น ยังไม่มีผลผูกพันเทศบาลตำบลสุวรรณคูหา เพราะจะต้องเสนอให้จำเลยที่ 1 พิจารณาเสียก่อนว่าเห็นชอบและอนุมัติตามระยะเวลาการจ้างดังกล่าวหรือไม่ การที่ ย. แก้ไขกำหนดระยะเวลาการจ้างและปีสิ้นสุดสัญญาและจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไขนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตามประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดหนองบัวลำภู การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ และการที่จำเลยที่ 1 ใช้สัญญาจ้างพนักงานแสดงต่อคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดหนองบัวลำภูก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม และไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและผู้ประเมินชั้นต้น ประเมินการปฏิบัติงานของโจทก์ที่ 2 ว่าควรปรับปรุง คณะกรรมการกลั่นกรองการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานจ้าง ประกอบด้วยจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และ ส. เห็นด้วยกับการประเมินข้างต้นว่าไม่ผ่านการประเมิน อันเป็นดุลพินิจของผู้ประเมินและคณะกรรมการกลั่นกรองการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานจ้าง แบบประเมินผลการปฏิบัติงานพนักงานจ้างจึงมิใช่เอกสารปลอมหรือเอกสารเท็จ และฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
of 62