คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 117

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4561/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเครื่องหมายการค้า: การพิสูจน์เจตนาและความยากในการแยกแยะสินค้าเลียนแบบ
แผ่นดิสก์ที่มีเครื่องหมายการค้า "SONY" อันแท้จริงของผู้เสียหายมีลักษณะเฉพาะซึ่งเป็นความลับ 4 จุด ไม่สามารถเปิดเผย มีเฉพาะผู้รู้จุดสังเกตนี้เท่านั้นจึงจะสามารถสังเกตได้ เป็นการยากที่ประชาชนหรือผู้ขายทั่วไปจะรู้ได้ว่าสินค้าแผ่นดิสก์ของกลางที่นำมาจำหน่ายเป็นสินค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายหรือมีผู้ทำเลียนแบบขึ้น เมื่อไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์เลยว่าสินค้าแผ่นดิสก์ของแท้ของผู้เสียหายจำหน่ายในราคาเท่าใดและสินค้าแผ่นดิสก์วัตถุพยานที่จำเลยจำหน่ายนี้จำหน่ายในราคาเท่าไร พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่สืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยจะรู้หรือไม่ว่าสินค้าแผ่นดิสก์ที่จำหน่ายเป็นสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 227 ให้พิพากษายกฟ้องโจทก์ แต่เมื่อฟังได้ว่าแผ่นดิสก์ของกลางจำนวน 360 แผ่น มีเครื่องหมายที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย อันเป็นสินค้าที่ต้องริบ จึงให้ริบเสีย แม้ว่าจะไม่มีผู้ถูกลงโทษในคดีนี้ก็ตาม ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 310/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนเครื่องหมายการค้าเนื่องจากใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และความคล้ายคลึงทำให้สาธารณชนสับสน
เครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 และมีการต่ออายุตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 จึงอาจมีการเพิกถอนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ได้
จำเลยร่วมรับโอนเครื่องหมายการค้าพิพาททางมรดกจากบิดาจำเลยร่วม ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ากรณีมีเหตุทำให้เชื่อได้ว่าความคล้ายของเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมกับของโจทก์เกิดจากการที่บิดาจำเลยร่วมทราบถึงเครื่องหมายการค้าของโจทก์เนื่องจากเคยทำงานกับโจทก์ และนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปดัดแปลงและจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของตนจึงถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เมื่อโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสีย โจทก์จึงมีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 61 (2) ประกอบ มาตรา 8 แม้สินค้าบานเกล็ดจะไม่ใช่เป็นสินค้าที่ระบุไว้ในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อโจทก์มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอน แต่คณะกรรมการฯมีคำสั่งไม่ให้เพิกถอน คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้าและการสับสนในแหล่งกำเนิดสินค้า แม้มีอักษรที่แตกต่างกันเล็กน้อย
การที่เครื่องหมายการค้าตามคำร้องขอจดทะเบียนของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านต่างใช้ตัวอักษร 2 ตัวแรก จากตัวอักษรทั้งหมด 3 ตัว เป็นตัวอักษรเดียวกัน ทำให้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยดูคล้ายคลึงกัน นอกจากนี้คำเรียกขานเครื่องหมายการค้าตามคำร้องขอจดทะเบียนของโจทก์ซึ่งออกเสียงว่า "เอสเคพี" ก็ใกล้เคียงกับคำเรียกขานเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านที่ออกเสียงว่า "เอสเคเอฟ" จนอาจทำให้เกิดความสับสนในการเรียกขานสินค้าตามเครื่องหมายการค้าทั้งสอง แม้การออกเสียงเรียกขานตัวอักษรตัวสุดท้ายจะแตกต่างกันไปบ้าง ก็ไม่ใช่ส่วนสำคัญที่ทำให้คำเรียกขานของเครื่องหมายการค้าทั้งสองแตกต่างกันชัดเจน และเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อที่ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านซึ่งได้จดทะเบียนไว้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 สำหรับสินค้าในจำพวกที่ 13 ทั้งจำพวก และได้มีการต่ออายุเรื่อยมาจนกระทั่งถึงวันที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงยังคงถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 117 เมื่อโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันกับของผู้คัดค้าน จึงถือได้ว่า เครื่องหมายการค้าตามคำร้องขอจดทะเบียนของโจทก์มีลักษณะคล้ายกันกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้