คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 989

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 381 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4279/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมคบกันฉ้อฉลในการโอนเช็คต้องเกิดขึ้นขณะโอน หากเกิดหลังฟ้องร้องถือว่าไม่สมคบกันฉ้อฉล
การโอนเช็คด้วยการคบคิดกันฉ้อฉลที่จะเป็นเหตุให้ผู้สั่งจ่ายยกความเกี่ยวพันระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อนขึ้นต่อสู้ผู้ทรงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 นั้น จะต้องเป็นการคบคิดกันฉ้อฉลที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้ทรงรับโอนเช็คเท่านั้น มิใช่เป็นการคบคิดกันฉ้อฉลภายหลังจากที่มีการฟ้องร้องเรียกเงินตามเช็คกันแล้ว ดังนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะให้การต่อสู้คดีแล้วกลับมาสละข้อต่อสู้ภายหลัง หรือเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วโจทก์บังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 เพียงคนเดียวก็จะถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 2สมคบกันฉ้อฉลจำเลยที่ 1 ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2807/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องไล่เบี้ยเช็ค: ผู้รับอาวัลมีสิทธิฟ้องได้ภายใน 10 ปี มิใช่ 6 เดือน
โจทก์บรรยายฟ้องส่วนที่เกี่ยวกับเช็คพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2 ตามสำเนาท้ายฟ้อง(แก่ผู้ถือ) แล้วมอบแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ โจทก์สลักหลังเช็คดังกล่าวชำระหนี้แก่ผู้มีชื่อ ผู้มีชื่อนำเช็คเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ผู้มีชื่อได้ใช้สิทธิไล่เบี้ยให้โจทก์ชำระเงินตามเช็คดังกล่าวในฐานะที่โจทก์สลักหลังเป็นอาวัลผู้สั่งจ่าย โจทก์ชำระเงินตามเช็คแก่ผู้มีชื่อแล้วรับเช็คดังกล่าวคืนมา โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คจนถึงวันฟ้องและต่อไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์เป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็ค เมื่อเช็คดังกล่าวธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง และโจทก์ได้มีคำขอบังคับไว้ในคำฟ้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนถึงวันฟ้องและต่อไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้วจึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายโดยชัดแจ้งว่าถูกใครใช้สิทธิไล่เบี้ยเมื่อใด ก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์กลายเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่สภาพแห่งข้อหาที่กฎหมายบังคับให้ต้องแสดงไว้ในคำฟ้อง การสลักหลังเช็คซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ซึ่งมาตรา 989 วรรคแรกบัญญัติให้นำมาใช้บังคับในเรื่องเช็คด้วยนั้น บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่า เป็นเพียงการประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายหาได้ถือว่าเป็นการสลักหลังโอนหรือสลักหลังลอยไม่ เมื่อโจทก์สลักหลังเช็คพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2 ซึ่งจำเลยสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ โจทก์ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้รับอาวัลจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวจึงต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกับจำเลยซึ่งโจทก์ประกัน เมื่อโจทก์ผู้รับอาวัลได้ใช้เงินไปตามเช็คให้แก่ผู้ทรงเช็คแล้ว ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยซึ่งโจทก์ได้ประกันไว้การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยเกี่ยวกับเช็คพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการใช้สิทธิของผู้รับอาวัลที่ได้ใช้เงินไปตามเช็คแล้วใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สั่งจ่ายซึ่งตนได้ประกันไว้ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 940 วรรคสาม ประกอบมาตรา989 วรรคแรก บัญญัติให้สิทธิไว้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้ต้องบังคับเสียภายในระยะเวลาเท่าใด ฉะนั้นจึงต้องมีกำหนด 10 ปี ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164(เดิม) บัญญัติไว้ คดีตามคำฟ้องโจทก์เกี่ยวกับเช็คพิพาทฉบับที่ 1 และที่ 2 หาใช่กรณีโจทก์ผู้สลักหลังโอนเช็คแก่ผู้ทรง หรือผู้สลักหลังลอยโอนเช็คแก่ผู้ทรงใช้สิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คอันมีอายุความ6 เดือน ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1003บัญญัติไว้ไม่ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2806/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คพิพาท: การลงวันที่เช็คหลังเกิดเหตุ และสิทธิของผู้รับอาวัลในการไล่เบี้ย
การที่ผู้ตายได้ออกเช็คพิพาทโดยเว้นรายการวันที่ออกเช็คไว้ให้ลูกแชร์คือผู้ทรงไป โดยมีข้อตกลงว่าให้ผู้ทรงไปลงวันที่เองตามกำหนดที่เปียแชร์ได้ แต่นายวงแชร์ถึงแก่ความตาย วงแชร์จึงล้มไม่มีการเปีย เวลาพึงชำระหนี้ตามเช็คที่อาศัยการเปียแชร์เป็นวิธีกำหนดจึงตกเป็นการพ้นวิสัย และจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็มิได้เจ้าหนี้คือผู้ทรงเช็คย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน แต่ผู้ตายถูกคนร้ายฆ่าเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2528 สิทธิของผู้ทรงที่จะลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่ต่อผู้สั่งจ่ายจึงเริ่มมีขึ้นและมีอยู่ตลอดไปถึงวันครบกำหนดอายุความที่อาจบังคับใช้สิทธิเรียกร้องตามมูลตั๋วเงินนั้น ซึ่งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันตั๋วเงินถึงกำหนด ตามที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1002 ปรากฏว่าผู้ทรงได้ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2529 ยังอยู่ในกำหนดเวลาที่อาจใช้สิทธิได้ดังกล่าว จึงเป็นการลงวันที่สั่งจ่ายโดยถูกต้องแท้จริงตามสิทธิโดยสุจริตแล้วรายการในเช็คพิพาทจึงสมบูรณ์ครบถ้วน เมื่อการลงวันที่ในเช็คพิพาทมีผลตามกฎหมายวันที่ลงในเช็คพิพาทอันเป็นวันที่เช็คถึงกำหนดใช้เงินที่ปรากฏดังกล่าวคือวันที่ 20 พฤศจิกายน 2529 และธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินในวันนั้น โจทก์ผู้ทรงฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2530 จึงไม่เกินกำหนด 1 ปี ยังไม่ขาดอายุความ โจทก์สลักหลังเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คออกให้แก่ผู้ถือ จึงมีผลเป็นการประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921,989 เมื่อได้ชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่ผู้ทรงตามที่เรียกร้องแล้ว โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้รับอาวัลที่ได้ใช้เงินตามเช็คไปแล้ว ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สั่งจ่ายซึ่งเป็นบุคคลที่ตนได้ประกันไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 940 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2362/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้ยืมสมบูรณ์ แม้ผู้กู้ใช้เงินผิดก.ม.เลือกตั้ง หากผู้ให้กู้ไม่มีส่วนรู้เห็น
โจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำเลยที่ 1ออกเช็คพิพาทชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ในการหาเสียงเลือกตั้งจำเลยที่ 1 จะใช้จ่ายเงินอย่างไรเป็นเรื่องของจำเลยที่ 1โดยเฉพาะไม่เกี่ยวกับโจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะนำเงินไปแจกจ่ายแก่ราษฎรอันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 แต่เมื่อโจทก์ไม่รู้ว่าจำเลยที่ 1กู้เงินไปเพื่อกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว สัญญากู้ย่อมสมบูรณ์เช็คพิพาทจึงมีมูลหนี้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2168/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้สลักหลังเช็คต้องรับผิดในฐานะผู้ประกันอาวัล แม้เช็คไม่สมบูรณ์ และโจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบ
จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คพิพาทแล้วนำมาแลกเงินสดจาก ส.ต่อมาเมื่อ ส.นำเช็คพิพาทมาแลกเงินสดจากโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบ เมื่อโจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยที่ 2ผู้สลักหลังเช็คซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือจึงต้องรับผิดใช้เงินนั้นแก่โจทก์ในฐานะเป็นผู้ประกันอาวัลสำหรับผู้สั่งจ่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคแรก,921,940,967 และมาตรา 989 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คเพราะมิใช่เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นผู้ประกันอาวัลสำหรับผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทซึ่งมีผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายไว้แล้ว จำเลยที่ 2ก็ต้องรับผิดตามเนื้อความที่ระบุไว้ในเช็คพิพาทนั้น หาใช่เช็คพิพาทไม่สมบูรณ์ไม่ จำเลยที่ 2 มิได้ยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นในคำให้การ ศาลชั้นต้นจึงมิได้กำหนดประเด็นพิพาทข้อนี้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้น แม้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2055/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คพิพาท: การจำกัดสิทธิการโอนเช็คโดยผู้สั่งจ่าย และผลต่อการเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ
เช็คพิพาทจำเลยที่ 1 สั่งธนาคารคือจำเลยที่ 4 ให้จ่ายเงินแก่จำเลยที่ 2 หรือผู้ถือ โดยจำเลยที่ 1 ได้ขีดคร่อมและพิมพ์ข้อความว่าA/CPAYEEONLY อันได้ความเป็นทำนองเดียวกับเปลี่ยนมือไม่ได้ลงไว้ที่ด้านหน้าเช็ค แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขีดฆ่าคำว่า หรือผู้ถือ ออกจำเลยที่ 2 ซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับเงินหรือผู้ทรงก็จะต้องผูกพันตามข้อกำหนดของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 917วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 989 จำเลยที่ 2 จะโอนเช็คพิพาทให้โจทก์ด้วยการสลักหลังและส่งมอบในฐานะเป็นผู้รับเงินหรือโอนโดยการส่งมอบในฐานะผู้ถือไม่ได้เพราะมาตรา 917 วรรคสอง บัญญัติให้โอนกันได้แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่างการโอนสามัญเพียงวิธีเดียวเพื่อการโอนไม่สมบูรณ์โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่าย โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3837/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเช็ค: ผู้ทรงเช็ค (จากผู้ประกัน) มีสิทธิฟ้องภายใน 1 ปีนับจากเช็คถึงกำหนด
เช็คพิพาทจำเลยสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 918,989 การที่โจทก์สลักหลังเช็คพิพาทแล้วนำไปขายลดให้แก่ธนาคารย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 921,989 เมื่อเช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่ธนาคารและเข้าถือเอาเช็คนั้นกลับคืนมา โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองผู้สั่งจ่ายภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันเช็คถึงกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1003 ซึ่งมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่ผู้สลักหลังเข้าถือเอาตั๋วเงินและใช้เงิน เพราะโจทก์มิใช่ผู้สลักหลัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3837/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกเงินตามเช็ค: ผู้ทรงเช็ค vs. ผู้สลักหลัง
เช็คพิพาทจำเลยสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กันตาม ป.พ.พ.มาตรา 918, 989 การที่โจทก์สลักหลังเช็คพิพาทแล้วนำไปขายลดให้แก่ธนาคารย่อมเป็นเพียงประกัน(อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 921, 989 เมื่อเช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่ธนาคารและเข้าถือเอาเช็คนั้นกลับคืนมา โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงตาม ป.พ.พ. มาตรา904 จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองผู้สั่งจ่ายภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันเช็คถึงกำหนดตาม ป.พ.พ.มาตรา 1002 กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1003 ซึ่งมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่ผู้สลักหลังเข้าถือเอาตั๋วเงินและใช้เงิน เพราะโจทก์มิใช่ผู้สลักหลัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1407/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คเก่าลงวันที่ไม่สุจริต โจทก์ทนายความรู้เห็นเป็นใจ ฉ้อฉลจำเลย ศาลไม่รับรอง
จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทอันเป็นเช็คผู้ถือมอบให้ ส. ยึดถือไว้เมื่อปี 2516 มีจำเลยที่ 2 สลักหลังโดยไม่ได้ลงวันที่ออกเช็ค ต่อมาปี 2529 ส. จึงนำเช็คพิพาทมาจดวันเดือนปีที่สั่งจ่าย แล้วมอบให้แก่โจทก์หลังจากที่จำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทให้แล้วเป็นเวลานานกว่า 13 ปี ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1ได้ยินยอมให้ ส.ทำเช่นนั้นจะถือว่าส. ได้จดวันเดือนปีที่ออกเช็คพิพาทโดยสุจริตหาได้ไม่ โจทก์เป็นทนายความ โจทก์อ้างว่าได้รับเช็คพิพาทมาจาก ส.เป็นค่าว่าความและทราบว่าเช็คพิพาทสั่งจ่ายตั้งแต่ปี 2516 เมื่อลายมือชื่อและสีของน้ำหมึกที่จดวันเดือนปีที่สั่งจ่ายเช็คพิพาทแตกต่างจากลายมือชื่อและสีของน้ำหมึกของผู้สั่งจ่ายเห็นได้ชัดโจทก์จะต้องทราบข้อกฎหมายว่าผู้ที่จะจดวันเดือนปีที่ออกเช็คพิพาทที่ไม่ได้ลงวันเดือนปีที่สั่งจ่ายได้จะต้องกระทำโดยสุจริต และจดลงตามวันที่ถูกต้องแท้จริง การที่โจทก์ไม่สงสัยว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คที่ใครเป็นผู้สั่งจ่าย และผู้จดวันที่สั่งจ่ายเป็นใครนั้นเป็นการผิดปกติวิสัยของโจทก์ซึ่งมีอาชีพทนายความ โจทก์รับเช็คพิพาทจาก ส. ไว้โดยรู้ว่าเป็นเช็คที่จำเลยออกมานานกว่า 10 ปีแล้วย่อมถือว่าโจทก์ไม่สุจริตคบคิดกับ ส. ฉ้อฉลจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5846/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คพิพาท - ความรับผิดส่วนตัวของผู้สั่งจ่ายที่มิได้ประทับตราบริษัท - ล้มละลาย
แม้มูลหนี้ตามเช็คพิพาทเกิดจากการหักทอนบัญชีหนี้สินระหว่างโจทก์กับบริษัท ป. แต่เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คผู้ถือที่จำเลยออกให้โจทก์โดยมิได้ประทับตราของบริษัท ป. จำเลยต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาทเป็นส่วนตัว การที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้โจทก์เพื่อชำระหนี้แทนบริษัทป. โดยมิได้ประทับตราบริษัท ป. ถือว่าจำเลยจ่ายเช็คพิพาทชำระหนี้โจทก์ในฐานะส่วนตัว มิใช่ในฐานะตัวแทนบริษัท ป. จำเลยต้องรับผิดตามเช็คนั้น เมื่อจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้โจทก์ และ ยังเป็นลูกหนี้เจ้าหนี้อื่นอยู่อีกหลายล้านบาท รวมทั้งจำเลย ได้ บอก กับอ.ว่า ไม่มีเงินชำระ ยอมติดคุก จำเลยจึงเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย.
of 39