คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วีระศักดิ์ รุ่งรัตน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 483 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1998/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำพิพากษาคดีแพ่งไม่ผูกพันคดีอาญา พยานหลักฐานต้องหนักแน่นพิสูจน์ความเท็จ
ประเด็นข้อพิพาทในคดีแพ่งที่ว่าจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์หรือไม่เป็นประเด็นอันเป็นข้อสำคัญแห่งคดี แต่คำพิพากษาในคดีดังกล่าวมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีแพ่งเท่านั้น ไม่อาจนำผลของคำวินิจฉัยในคดีแพ่งมาผูกพันคำวินิจฉัยในคดีอาญาได้ คงเป็นพยานหลักฐานส่วนหนึ่งที่ศาลในคดีอาญาจะต้องนำมาชั่งน้ำหนักประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ว่ามีน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดฐานเบิกความเท็จจริงหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 277/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยต้องลงมือก่อสร้างบ้านตามสัญญา แม้บริษัทเงินทุนฯ จะมีปัญหา หญิงชราฟ้องได้
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่าง ด. ผู้บริโภคกับจำเลย เป็นปัญหาพิพาทเกี่ยวกับโครงการบ้านจัดสรรของจำเลยซึ่งคณะกรรมการคุ้มครองบริโภคโจทก์เคยประชุมและมีมติไว้แล้วว่า การกระทำของจำเลยที่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้บริโภคจำนวน 9 รายในโครงการดังกล่าวของจำเลย เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคเหล่านั้น เมื่อ ด. ยื่นเรื่องราวต่อโจทก์อันเป็นปัญหาพิพาทในโครงการเดียวกันของจำเลย เป็นเรื่องในลักษณะเดียวกับที่โจทก์เคยมีมติไว้แล้ว โจทก์จึงไม่จำต้องนำเรื่องราวของ ด. เข้าประชุมอีก เนื่องจากโจทก์ได้มีมติไว้แล้วว่าในการดำเนินคดีแก่จำเลยนั้นให้รวมถึงผู้บริโภครายอื่นที่จะมาร้องเรียนเพิ่มเติมในลักษณะเดียวกันในภายหลังด้วย การฟ้องร้องของโจทก์ในคดีนี้จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 10 (1) (7) และมาตรา 39
สัญญาจะซื้อจะขายมิได้กำหนดเวลาการเริ่มลงมือก่อสร้างและกำหนดเวลาการก่อสร้างแล้วเสร็จไว้ แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยต้องรีบลงมือก่อสร้างและก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันสมควรอันเป็นไปตามหลักสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 มิใช่ขึ้นอยู่กับความพอใจจำเลยว่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อใดก็ได้ แต่จำเลยมีหน้าที่ต้องรีบลงมือก่อสร้างโดยพลันตามมาตรา 203 เมื่อ ด. ผู้บริโภคได้ชำระเงินแก่จำเลยเป็นจำนวนถึง 130,000 บาท แต่จำเลยยังมิได้เริ่มลงมือก่อสร้างบ้าน ด. จึงมีสิทธิที่จะไม่ชำระเงินค่างวดแก่จำเลยได้เนื่องจากเป็นสัญญาต่างตอบแทนตามมาตรา 369 ดังนั้น การที่ ด. ไม่ชำระเงินค่างวดแก่จำเลยตั้งแต่งวดที่ 6 เป็นต้นไป ด. จึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา
การดำเนินคดีในศาลของเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2422 มาตรา 39 วรรคสอง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นค่าส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้อง และค่าส่งคำบังคับ ซึ่งเป็นค่าฤชาธรรมเนียมที่ชำระมาให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9091/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้บริโภค: การดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการและการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียม
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 บัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรเข้าดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค หรือเมื่อได้รับคำร้องขอจากผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการ หรือข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางนิติศาสตร์เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล... ในการดำเนินคดีในศาลให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคที่ร้องขอได้ด้วย และในการนี้ให้ได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง เมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนคดีนี้ปรากฏว่าพนักงานอัยการทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคดำเนินคดีแทนโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคทั้ง 4 ราย ในการดำเนินคดีนี้ย่อมได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7022/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาซื้อขายห้องชุดเนื่องจากจำเลยมิได้แจ้งเปลี่ยนแปลงที่อยู่ และการพิพากษาให้ชำระเงินตามสัญญา
โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเลขที่ 905 บี กับจำเลยที่ 1 โดยให้ถือเอาเงินจองที่โจทก์ได้ชำระแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของราคาห้องชุด และได้ชำระเงินในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายบางส่วนกับตกลงชำระส่วนที่เหลือเป็นงวดรายเดือน รวม 30 งวด เริ่มตั้งแต่งวดเดือนพฤศจิกายน 2537 เป็นต้นไป ส่วนราคาห้องชุดส่วนที่เหลือ โจทก์ตกลงชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด ข้อเท็จจริงคดีนี้ จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์ให้ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดและบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดแก่โจทก์โดยมิชอบ กรณีจึงไม่มีผลตามกฎหมายและไม่อาจถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 ขายห้องชุดพิพาทให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3886/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายต่างตอบแทน ผู้ขายผิดนัดก่อสร้างบ้าน ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินคืน
เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างจำเลยกับ บ. เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่จำเลยและ บ. จะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่กันและกัน โดย บ. ผ่อนชำระให้จำเลยแล้วบางส่วน อันเป็นการปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่จำเลยไปแล้ว จำเลยก็ต้องทำการชำระหนี้ตอบแทนตามที่จะพึงต้องทำภายในเวลาอันสมควร อันได้แก่การต้องลงมือก่อสร้างบ้านตามที่ตกลงไว้ในสัญญา เมื่อจำเลยยังไม่ได้ลงมือก่อนสร้างบ้าน ถือว่า จำเลยไม่ปฏิบัติการชำระหนี้เป็นการตอบแทน จำเลยย่อมตกเป็นผู้ผิดสัญญาตั้งแต่นั้นมา จึงไม่ต้องคำนึงว่าระยะเวลา 15 วัน ที่โจทก์กำหนดไว้ในหนังสือให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาเป็นเวลาพอสมควรหรือไม่ แม้หนังสือบอกเลิกสัญญาไม่ระบุข้อความว่า บ. พร้อมที่จะชำระเงินดาวน์ส่วนที่เหลือ ก็ไม่ทำให้หนังสือบอกเลิกสัญญามาชอบแต่อย่างใด เพราะข้อความดังกล่าวไม่ใช่สาระสำคัญของการบอกเลิกสัญญาหนังสือบอกเลิกสัญญาชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 779/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของผู้บริโภคในการบอกเลิกสัญญาซื้อขายที่ดิน/บ้านที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา และสิทธิในการได้รับเงินคืน
สัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดิน และสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านและรั้วเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่กันและกันนั้นคือ ผู้บริโภคทั้งสี่รายต้องชำระเงินค่างวดให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดจนชำระเงินงวดสุดท้ายในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือเมื่อจำเลยที่ 2 ก่อสร้างบ้านและรั้วเสร็จสิ้น ขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องพัฒนาที่ดินและก่อสร้างบ้านพร้อมรั้วไปด้วย แม้ตามสัญญาดังกล่าวมิได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของการพัฒนาที่ดินหรือสิ้นสุดของการก่อสร้างบ้านและรั้วของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะพึงต้องชำระหนี้ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสี่ราย แต่ก็ย่อมอนุมานได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร การที่ข้อเท็จจริงได้ความว่านับแต่ทำสัญญาในปี 2538 จนถึงปี 2547 ที่โจทก์ฟ้องเป็นเวลาถึง 9 ปี ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พัฒนาที่ดินและก่อสร้างบ้านพร้อมรั้วจนแล้วเสร็จให้อยู่ในสภาพพร้อมโอนให้ผู้บริโภคทั้งสี่รายได้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ซึ่งในเวลาเดียวกันผู้บริโภคทั้งสี่รายกลับผ่อนชำระให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงินพอสมควรดังกล่าวข้างต้น อันถือได้ว่าผู้บริโภคทั้งสี่รายได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ไปบ้างแล้ว ขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หาได้ปฏิบัติการชำระหนี้เป็นการตอบแทนแต่อย่างใดไม่ เช่นนี้ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญา เป็นเหตุให้โจทก์ในฐานะผู้มีอำนาจดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งสี่รายซึ่งเป็นเสมือนเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ การที่โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามหนังสือและใบตอบรับก็เพื่อบอกเลิกสัญญา หาใช่หนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาไม่ ดังนั้นจึงไม่ต้องคำนึงถึงระยะเวลา 15 วันว่าเป็นเวลาพอสมควรหรือไม่ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องชดใช้เงินคืนแก่ผู้บริโภคทั้งสี่รายตามฟ้อง
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 บัญญัติว่า การดำเนินคดีในศาลแทนผู้บริโภคของเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคนั้นให้ได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล และได้แจ้งคำสั่งไปยังกระทรวงยุติธรรมแล้ว จึงมีผลให้พนักงานอัยการมีอำนาจดำเนินคดีได้เองโดยตรงในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค หาใช่เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะเป็นทนายแผ่นดินไม่ ดังจะเห็นได้ว่าไม่มีการแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความเช่นคดีอื่นๆ เมื่อพนักงานอัยการมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความ จึงไม่ชอบที่ศาลจะสั่งให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีชดใช้ค่าทนายความแก่ฝ่ายที่ชนะคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9230/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้บริโภค, สัญญาซื้อขาย, การผิดสัญญา, อายุความ, การบอกเลิกสัญญา, หน้าที่ของผู้ขาย
จำเลยเป็นผู้เสนอขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ ส. ป. และ ฉ. บุคคลทั้งสามจึงเป็นผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 ซึ่งมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 4 (4) เมื่อผู้บริโภคทั้งสามได้รับความเสียหายจากการประพฤติผิดสัญญาจะซื้อจะขายของจำเลยซึ่งเป็นผู้ขายและได้ยื่นคำร้องขอต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม โจทก์ย่อมมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการ เพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่จำเลยในศาลและมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคทั้งสามที่ร้องขอได้ด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ขณะโจทก์นำเอกสารมาสืบ จำเลยไม่ได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ จึงถือได้ว่าจำเลยได้ยอมรับถึงการมีอยู่และความแท้จริงของต้นฉบับเอกสารนั้น รวมทั้งยอมรับว่าสำเนานั้นถูกต้องกับต้นฉบับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 ศาลย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานแห่งเอกสารนั้นได้ตามมาตรา 93 (4) ((93 (1)) (เดิม))
โจทก์ระบุในคำฟ้องว่า เป็นเรื่องละเมิดสิทธิผู้บริโภค แต่ตามคำบรรยายฟ้องเป็นกรณีที่โจทก์ในฐานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคใช้สิทธิของผู้บริโภคทั้งสามที่ถูกจำเลยละเมิดสิทธิโดยไม่ดำเนินการก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จตามกำหนดและส่งมอบจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสามตามสัญญา เป็นการใช้สิทธิดำเนินคดีแทนผู้บริโภคทั้งสามในการบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย จึงต้องถืออายุความตามสัญญาจะซื้อจะขายไม่ใช่อายุความละเมิดตามที่จำเลยอ้างต่อสู้ เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างผู้บริโภคทั้งสามกับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อจำเลยไม่พร้อมที่จะชำระหนี้แก่ผู้บริโภคทั้งสาม ผู้บริโภคทั้งสามจึงยังไม่ต้องชำระหนี้ที่เหลือแก่จำเลย เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้แก่ผู้บริโภคทั้งสามภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากจำเลยไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดให้ถือว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญา เมื่อจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว แต่เพิกเฉย จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาจึงเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่รับไว้ตามมาตรา 391

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1413/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งและผู้รับประกันภัยทางทะเล กรณีสินค้าเสียหายจากการขนส่ง โดยพิจารณาจากเงื่อนไขการส่งมอบและสาเหตุความเสียหาย
แม้ตามใบกำกับสินค้าจะมีข้อความระบุราคาเป็นราคา FOB ก็ตาม แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคู่สัญญาว่า ผู้ซื้อไม่ได้มีหน้าที่ว่าจ้างผู้ขนส่งให้นำเรือไปรับสินค้าจากผู้ขายหรือให้ผู้ขายช่วยว่าจ้างผู้ขนส่งแทน โดยผู้ซื้อออกค่าขนส่งเองตามเงื่อนไขของการซื้อขายแบบ FOB ดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อผู้ซื้อพบว่าสินค้าเสียหายและส่งสินค้าคืนแก่บริษัท บ. ตามที่ผู้ขายจะปฏิเสธไม่รับสินค้าตามสิทธิที่กระทำได้หากเป็นการซื้อขายภายใต้เงื่อนไข FOB ดังกล่าว ซึ่งความเสี่ยงภัยในการสูญหายหรือเสียหายของสินค้าได้ตกอยู่แก่ผู้ซื้อแล้ว เนื่องจากมีการขนสินค้าข้ามพ้นกราบเรือ ณ ท่าเรือต้นทางแล้ว แต่ผู้ขายก็ยอมรับสินค้าคืน ซึ่งส่อแสดงว่าคู่สัญญาดังกล่าวมิได้ถือปฏิบัติตามเงื่อนไข FOB เป็นเหตุให้เชื่อได้ว่าคู่สัญญาซื้อขายรายนี้ระบุข้อความคำว่า "FOB" เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับราคาสินค้าเพียงเพื่อใช้แสดงราคาเท่านั้น มิใช่มีข้อตกลงให้นำเรื่องหน้าที่และการโอนความเสี่ยงภัยตามเงื่อนไข FOB ของ INCOTERM มาใช้ด้วย ดังนั้น เมื่อสินค้าเสียหายผู้ขายจึงยังต้องรับผิด
เหตุแห่งความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดขึ้นจากการที่น้ำทะเลท่วมเข้าไปถูกตู้สินค้าซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 4 จึงเป็นกรณีจำเลยร่วมที่ 4 ผู้ขนส่งอื่นต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 39 วรรคหนึ่ง และแม้ความเสียหายของสินค้าจะเกิดขึ้นในระหว่างสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยร่วมที่ 4 ผู้ขนส่งอื่น จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขนส่งก็ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้านั้นด้วย ตามมาตรา 43 และจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยที่มีต่อบุคคลอื่นในการขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดของจำเลยที่ 1 ด้วย สำหรับจำเลยร่วมที่ 3 ผู้ขนส่งอื่นได้รับการมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้า เมื่อเหตุแห่งความเสียหายเกิดขึ้นในช่วงการขนส่งที่จำเลยร่วมที่ 3 ได้รับมอบหมายจำเลยร่วมที่สามจึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้านี้เช่นกัน
ค่าสำรวจความเสียหายถือได้ว่าเป็นผลจากความเสียหายของสินค้าที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 700/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน: การซื้อขาย, การครอบครองโดยใช้สิทธิ, พยานรู้เห็นสัญญา, การอ้างสิทธิซื้อขายซ้ำซ้อน
โจทก์รู้เห็นและลงชื่อเป็นพยานในสัญญาซื้อขายพิพาทระหว่างจำเลยกับ ร. และยอมรับว่า บ. เป็นคนเฝ้าดูแลที่ดินให้จำเลย ดังนั้น โจทก์ย่อมทราบดีว่า ที่ดินพิพาทมีจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยการซื้อมาอย่างถูกต้อง การที่จำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาแล้วให้ บ. ครอบครองแทน ถือได้ว่าจำเลยได้ใช้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา จำเลยย่อมมีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ การที่จำเลยเข้าไปปักป้ายแสดงความเป็นเจ้าของและสร้างรั้วในที่ดินพิพาท จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ซึ่งอ้างว่าซื้อที่ดินพิพาทมาจากบุคคลอื่นในภายหลัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7382/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละเจตนาครอบครองปรปักษ์และการเริ่มต้นนับอายุความใหม่เมื่อมีการรังวัดและรับรองแนวเขตที่ดิน
จำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของนานเกินกว่า 10 ปี ต่อมาเมื่อปี 2535 จำเลยขอรังวัดที่ดินของตนซึ่งมีแนวเขตติดต่อกับที่ดินของ ก. จำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนเองโดยการครอบครองปรปักษ์ ทั้งยังยอมรับว่าที่ดินพิพาทไม่ได้อยู่ในเขตที่ดินตามโฉนดของตนเอง แต่อยู่ในเขตโฉนดที่ดินของ ก. จึงถือได้ว่าจำเลยได้สละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว และแม้จำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนเป็นเวลาเกิน 10 ปี ที่จำเลยอาจได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้วก็ตาม ถือได้ว่าจำเลยได้สละกรรมสิทธิ์ที่ได้มาดังกล่าวให้แก่ ก. แล้ว และการครอบครองที่มีมาก่อนดังกล่าวย่อมสิ้นสุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 การครอบครองที่ดินที่จะเป็นเหตุให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ใหม่ได้อีกจึงต้องเริ่มต้นนับใหม่ตั้งแต่วันที่จำเลยได้ครอบครองที่ดินใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหากจะถือว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินใหม่ทันทีหลังจากที่ได้รับรองแนวเขตเป็นต้นไป แต่เมื่อนับถึงวันฟ้องแล้วไม่ครบ 10 ปี จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์อีก
of 49