คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 119 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3246/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าไม่คล้ายกัน แม้มีรูปช้างเป็นส่วนประกอบ และสินค้าต่างประเภท ศาลยืนคำพิพากษายกฟ้อง
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้ารูปช้างอยู่ภายในวงกลมประดิษฐ์เป็นรูปเพชร และคำว่าตราช้างเพชร ของจำเลยที่ 1 กับเครื่องหมายการค้ารูปช้างในวงกลมซ้อนกันสองชั้น มีคำในวงกลมรอบนอกว่า บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด และ THE SIAM CEMENT CO., LTD. กับคำอื่น ๆ ที่เป็นส่วนประกอบปลีกย่อยเครื่องหมายการค้ารูปช้างในวงกลม และรูปช้างในกรอบหกเหลี่ยมมีเส้นไขว้ มีคำว่า เครือซีเมนต์ไทย และเครื่องหมายการค้ารูปช้างในกรอบหกเหลี่ยมมีเส้นไขว้ของโจทก์ซึ่งจดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว จะเห็นได้ชัดว่ามีรูปลักษณะและคำไม่เหมือนกันโดยเฉพาะเครื่องหมายการค้ารูปช้างในกรอบหกเหลี่ยมมีเส้นไขว้ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้ารูปช้างในวงกลมของโจทก์ ซึ่งเป็นวงกลมซ้อนกันสองชั้น มีคำในระหว่างวงกลมรอบนอกและรอบใน แต่เครื่องหมายการค้ารูปช้างของจำเลยที่ 1 อยู่ในวงกลมชั้นเดียว ไม่มีคำในวงกลม และมีรูปประดิษฐ์เพชรในวงกลม ซึ่งแตกต่างกัน และเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้ารูปช้างในวงกลมของโจทก์ แม้จะมีรูปช้างเป็นส่วนประกอบสาระสำคัญหรือจุดเด่นเช่นเดียวกัน แต่ช้างเป็นสัตว์ตามธรรมชาติ หากอยู่ในท่ายืน แล้วมองอย่างผิวเผินย่อมคล้ายกัน อย่างไรก็ตาม ก็ต้องพิจารณาส่วนประกอบที่เป็นสาระสำคัญหรือจุดเด่นอื่นของเครื่องหมายการค้าที่มีอยู่ด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มีรูปประดิษฐ์รูปเพชรแปดเหลี่ยมในวงกลม แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มี ส่วนเครื่องหมายการค้ารูปช้างในกรอบหกเหลี่ยมมีเส้นไขว้ของโจทก์ แม้มีรูปเหลี่ยมเช่นกัน แต่ก็มีหกเหลี่ยมและไม่อยู่ในวงกลมเช่นของจำเลยที่ 1 แม้โดยผิวเผินจะคล้ายในส่วนที่ว่าเป็นเครื่องหมายรูปช้างในกรอบเหลี่ยม แต่ก็แตกต่างกันในส่วนสาระสำคัญอื่นดังกล่าวข้างต้น สำหรับเสียงเรียกขาน แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะเรียกว่า ตราช้าง และสินค้าของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าเหล่านั้นจะเรียกว่า สินค้าตราช้าง แต่ช้างเป็นสัตว์ประจำชาติของไทย โอกาสที่สินค้าของผู้อื่นที่เรียกว่าสินค้าตราช้างก็อาจมีได้เพื่อให้เรียกชื่อกะทัดรัด และละข้อความต่อไปไว้ในฐานเป็นที่เข้าใจ โจทก์จะกล่าวอ้างว่าเสียงเรียกขานเหมือนกัน แล้วหวงกันผู้อื่นที่ใช้รูปช้างประกอบเป็นส่วนสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าไม่ให้ใช้หาได้ไม่ ในเมื่อส่วนประกอบสาระสำคัญอื่นของเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ยังอาจทำให้เรียกขานว่าเป็นตราช้างเพชร ตามคำที่ใช้และขอจดทะเบียนได้ นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาที่ตัวสินค้า แม้โจทก์จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปช้างในกรอบหกเหลี่ยมมีเส้นไขว้ในจำพวก 50 (เก่า) ใช้กับสินค้าทั้งจำพวก (ยกเว้นกระดุม ไม้จิ้มฟัน ดินน้ำมัน ชอล์กขีดผ้า ชอล์กฝนหัวคิวบิลเลียด) ส่วนจำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับสินค้าพื้นรองเท้า หูรองเท้า ถุง กล้อง กระเป๋า และสินค้าทั้งมวลที่อยู่ในจำพวกนี้ ซึ่งเป็นสินค้าต่างชนิดกัน ทั้งได้ความว่า โจทก์ผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง มิได้ผลิตสินค้าประเภทรองเท้าออกจำหน่าย กลุ่มลูกค้าของโจทก์เป็นประชาชนที่ต้องการซื้อวัสดุก่อสร้างซึ่งเป็นคนละกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าของจำเลยที่ 1 ฉะนั้น สาธารณชนผู้ใช้สินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจหลงผิดว่าเป็นสินค้าของโจทก์ แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะใช้แพร่หลาย จึงเห็นว่าเครื่องหมายการ่คารูปช้างอยู่ในวงกลมประดิษฐ์เป็นรูปเพชร และคำว่า ตราช้างเพชร ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ยื่นขอจดทะเบียนไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้ารูปช้างในวงกลม และรูปช้างในกรอบหกเหลี่ยมของโจทก์ที่จดทะเบียนแล้วจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนตามตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3)ฯ มาตรา 4 ประกอบ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 119 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5422/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าเดิม และการกระทำโดยไม่สุจริต
จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตรามงกุฎบินเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2534 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาเครื่องหมายการค้าของจำเลยแล้วเห็นควรรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว จึงมีคำสั่งให้โฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย และโจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านลงวันที่ 4 ตุลาคม 2534 ถือได้ว่านายทะเบียนได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยก่อนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มีผลใช้บังคับกรณีจึงต้องด้วยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534มาตรา 119(2) ซึ่งบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุด โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของซึ่งมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตรามงกุฎ จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตรามงกุฎ เป็นการแอบอ้างเครื่องหมายการค้าของโจทก์และลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยไม่สุจริต เมื่อโจทก์ยื่นคำคัดค้าน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ยกคำคัดค้านของโจทก์ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลย โจทก์ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ตามมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 โจทก์มีอำนาจฟ้อง เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปมงกุฎในลักษณะประดิษฐ์ห้ายอด มีปีกประกอบทั้งด้านซ้ายและขวา และมีอักษรไทยประดิษฐ์คำว่า "ตรามงกุฎบิน" อยู่ข้างล่าง ทั้งหมดอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมจตุรัสสองชั้นทึบยื่นขอจดทะเบียนใช้กับสินค้าจำพวก 1 รายการสินค้าน้ำยาเคมีผสมปูนซีเมนต์ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปมงกุฎในลักษณะประดิษฐ์ห้ายอดอยู่ในกรอบวงกลมสองชั้นโดยมีอักษรไทยคำว่าSIAMCITYCEMENTCO.,LTD. วางอยู่ระหว่างวงกลมชั้นนอกและชั้นในยื่นขอจดทะเบียนใช้กับสินค้าจำพวก 17 ชนิดสินค้าปูนซีเมนต์ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยและของโจทก์มีสาระสำคัญอยู่ที่มงกุฎห้ายอด ประชาชนผู้ซื้อสินค้าอาจเรียกขานว่าตรามงกุฎแม้จะมีข้อแตกต่างอยู่บ้างตรงที่รูปเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีรูปปีกอยู่ข้างมงกุฎทั้งสองด้าน ก็เป็นเพียงส่วนประกอบที่ไม่สำคัญมากนัก ส่วนอักษรไทยคำว่า ตรามงกุฎบินก็มีขนาดเล็ก ไม่ใช่ลักษณะเด่นไม่เป็นสาระสำคัญแก่การสังเกตประกอบกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่ปรากฏข้อความหรือเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นเด่นชัดว่าสินค้าน้ำยาเคมีใช้ผสมปูนซีเมนต์นั้นเป็นของจำเลย แม้จำเลยจะใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าน้ำยาเคมีผสมปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นสินค้าในจำพวก 1 ต่างกับสินค้าปูนซีเมนต์ของโจทก์ซึ่งเป็นสินค้าในจำพวก 17 แต่ก็เป็นวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างและเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าปูนซีเมนต์ของโจทก์นอกจากนี้โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตรามงกุฎมานานจำเลยเพิ่งยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหลังจากที่โจทก์ได้จดทะเบียนมาแล้ว 20 ปี จำเลยเคยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีเช่นเดียวกับรูปนกอินทรีตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนให้และจำเลยเคยใช้เครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีเช่นเดียวกับรูปนกอินทรีของโจทก์กับสินค้าของจำเลยจนถูกฟ้องในข้อหาเลียนเครื่องหมายการค้าและถูกศาลลงโทษไปแล้ว เมื่อได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในรูปนกอินทรี รูปเพชร และรูปสิงโตใช้กับสินค้าปูนซีเมนต์ก็ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในรูปนกอินทรีเพชรมีปีก และสิงโตคู่เหยียบลูกโลกใช้กับสินค้าน้ำยาเคมีผสมปูนซีเมนต์ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยทำให้เครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายกับของโจทก์เป็นคู่ ๆ โดยมุ่งหมายที่จะอาศัยแอบอ้างชื่อเสียงจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนกับสับสนหลงผิดว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจำเลยจึงไม่มีสิทธิขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2158/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปฏิเสธจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและขอบเขตการอุทธรณ์ตามกฎหมาย
ขณะที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทและจำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์เป็นระยะเวลาก่อนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 อันเป็นวันที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มีผลใช้บังคับ ดังนั้น การดำเนินการเกี่ยวกับคำขอของโจทก์ตลอดจนการอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของจำเลยจึงอยู่ในบังคับของบทบัญญัติ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุดตามมาตรา 119 (2) และมาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าพ.ศ.2534 เมื่อคดีฟังได้ว่า ภายหลังจากที่จำเลยมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทแล้ว โจทก์ได้ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำ-วินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้ารายพิพาทของโจทก์มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมาย-การค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งปฏิเสธของจำเลย และให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ตามมาตรา 19 ตรี (1)แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ดังนั้น คำวินิจฉัยและคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในประเด็นที่ว่าเครื่องหมายการค้าอักษรไทยคำว่า "กรีนนัท" อักษรโรมันคำว่า "Greennut" ของโจทก์ตามคำขอเลขที่223913 เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 19 เบญจ วรรคท้ายแห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อกฎหมายได้กำหนดวิธีการอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับกรณีนี้ไว้แล้ว โจทก์จะดำเนินการคัดค้านว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วโดยวิธีอื่น เช่น ฟ้องคดีต่อศาลอีกหาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้