พบผลลัพธ์ทั้งหมด 108 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5412/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
องค์คณะผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีอาญา: การสอบจำเลย การสืบพยาน และการอ่านคำพิพากษา
การสอบจำเลยเรื่องทนายความก่อนเริ่มพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง เป็นการที่ศาลออกนั่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดีจึงเป็นการนั่งพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (9) ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งจะต้องอยู่ในบังคับของพระธรรมนูญศาลยุติธรรมว่าด้วยองค์คณะผู้พิพากษา แต่เมื่อการดำเนินการดังกล่าวมิใช่การชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี จึงเป็นอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนเดียวตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนเดียวได้สอบจำเลยเรื่องทนายความและลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาจึงชอบแล้ว ส่วนการสืบพยานประเด็นโจทก์ที่ศาลอาญามีผู้พิพากษาสองคนนั่งพิจารณาครบองค์คณะแล้ว แม้มีผู้พิพากษาอีกคนมาร่วมลงลายมือชื่อโดยที่ไม่ได้นั่งพิจารณาก็เป็นเพียงการดำเนินกระบวนพิจารณาเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น หามีผลให้การนั่งพิจารณาที่ถูกต้องกลับกลายเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ส่วนการสืบพยานในศาลชั้นต้นทุกครั้งก็ปรากฏตามบันทึกคำเบิกความและรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่าในแต่ละครั้งมีลายมือชื่อผู้พิพากษาสองคนลงลายมือชื่อไว้จึงต้องฟังตามรายงานกระบวนพิจารณาว่าในวันเวลาดังกล่าวมีผู้พิพากษาสองคนของศาลชั้นต้นนั่งพิจารณาคดีอันเป็นการนั่งพิจารณาครบองค์คณะตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 หาได้เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 236 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น ส่วนการอ่านคำพิพากษาเป็นการดำเนินการหลังคดีเสร็จการพิจารณา ทั้งผู้พิพากษาได้ลงชื่อในคำพิพากษาครบองค์คณะตามกฎหมายแล้ว การอ่านคำพิพากษาย่อมกระทำได้โดยผู้พิพากษาคนเดียว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5282/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผลผูกพันคำพิพากษาคดีอาญาต่อคดีแพ่งเรื่องการครอบครองที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ในคดีก่อนโจทก์ถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาว่า โจทก์บุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เมื่อศาลในคดีก่อนวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ให้โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและคดีถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงที่ว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 55.41 ไร่ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ย่อมมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว เพราะโจทก์เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาคดีนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ว่า กระทำละเมิดบุกรุกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ให้ชดใช้ค่าเสียหาย จึงต้องฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ส่วนที่ดินที่โจทก์ครอบครองเพิ่มเติมอีกด้านละ 12 ไร่ และ 14 ไร่ รวมเป็น 26 ไร่นั้น ก็ปรากฏว่าเป็นการครอบครองภายในอาณาเขตที่ดินที่ศาลในคดีก่อนได้วินิจฉัยว่า เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเช่นเดียวกัน โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิให้เห็นเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อการเข้าไปรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ของจำเลยทั้งสองซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีก่อน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4912/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาเช่าซื้อโดยผู้ให้เช่าซื้อไม่ใช่เจ้าของทรัพย์: ความยินยอมของเจ้าของทรัพย์ทำให้สัญญามีผลผูกพัน
การที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันโดยมิได้ฝ่าฝืนอำนาจของเจ้าของทรัพย์ที่เช่าซื้อ แม้โจทก์ที่เป็นฝ่ายผู้ให้เช่าซื้อจะไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่เช่าซื้ออันเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติ มาตรา 572 ของป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 5 เช่าซื้อ ที่กำหนดให้เจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นจึงจะเป็นผู้ให้เช่าซื้อได้ แต่กรณีนี้มีลักษณะพิเศษโดยเจ้าของทรัพย์สินให้ความยินยอมทำให้ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและมาตรา 572 ก็มิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้สัญญาเช่าซื้อจะแตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมาย มาตรา 572 แต่ก็เป็นสัญญาเช่าซื้อที่ผู้ให้เช่าซื้อที่มิใช่เจ้าของทรัพย์สินได้รับความยินยอมของเจ้าของทรัพย์สินให้นำทรัพย์สินออกให้เช่าซื้อได้จึงไม่เป็นโมฆะมีผลผูกพันคู่กรณี กรณีนี้เป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้น เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาไปก็ได้ ตามป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ มาตรา 246 มาตรา 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4632/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การซื้อขายที่ดินโดยไม่สุจริตของผู้รับโอน & การหักกลบลบหนี้ระหว่างผู้ซื้อกับผู้รับเหมา
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินและบ้านพิพาท แต่รับโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทมาจากจำเลยร่วมโดยไม่สุจริต เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านพิพาทกับจำเลยร่วมอยู่ในฐานะจดทะเบียนโอนได้ก่อน การทำนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมเป็นการฉ้อฉลทำให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบเสียหาย ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเป็นการต่อสู้ว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิในที่ดินและบ้านพิพาทดีกว่าโจทก์ จึงเป็นฟ้องแย้งที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองที่ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและให้จำเลยร่วมโอนที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองนั้น จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) โดยอ้างว่าได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทกับจำเลยร่วมอยู่ก่อน แต่โจทก์กับจำเลยร่วมร่วมกันฉ้อฉลทำให้จำเลยทั้งสองเสียหาย จึงมีเหตุสมควรที่จะเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) และถือว่าจำเลยร่วมเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 58 วรรคแรก บัญญัติให้ผู้ร้องสอดที่เข้ามาตามมาตราดังกล่าวมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ จำเลยร่วมจึงเป็นคู่ความในคดีที่จำเลยทั้งสองสามารถฟ้องแย้งและถูกบังคับคดีได้ หาใช่จำเลยร่วมเป็นคู่ความฝ่ายเดียวกับจำเลยทั้งสองและไม่อาจถูกฟ้องแย้งไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3328/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโอนสิทธิเรียกร้องและการให้สัตยาบัน หากเจ้าหนี้รับชำระหนี้จากบุคคลอื่นโดยไม่คัดค้าน หนี้ระงับสิ้น
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับค่าจ้างจากจำเลยที่ 3 ให้แก่โจทก์และบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยที่ 3 แล้วแต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไปรับเงินค่าจ้างงวดแรกจากจำเลยที่ 3 แล้วนำไปชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ได้รับชำระหนี้ไว้และไม่ดำเนินการใด ๆ เช่น แจ้งให้จำเลยที่ 3 ระงับการจ่ายเงินสำหรับงวดต่อ ๆ ไป ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 เข้าใจว่าสามารถจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ได้โดยตรง การกระทำของโจทก์นับว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่การชำระหนี้งวดแรก ทั้งยังเป็นการยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนโจทก์ในการขอรับชำระหนี้ในงวดต่อ ๆ ไปด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 ชำระหนี้ตามสัญญาจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ไปจนครบถ้วนแล้ว หนี้ของจำเลยที่ 3 จึงระงับสิ้นไป โจทก์ไม่อาจเรียกให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้อีกได้ เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 1 เอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3287/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจ้าหน้าที่ทุจริตสอบราคา – สนับสนุนความผิด – สมคบกันกีดกันผู้เสนอราคา
จำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งใหญ่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งใหญ่ จำเลยที่ 4 เป็นปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งใหญ่และเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ โดยจำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุมีหน้าที่ในการปิดประกาศเผยแพร่การสอบราคาโครงการรับเหมาก่อสร้างไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลและที่ว่าการอำเภอและขายเอกสารสอบราคาให้แก่ผู้ที่สนใจซื้อ แต่จำเลยที่ 4 มิได้ติดประกาศสอบราคาโครงการดังกล่าวและไม่มีการขายเอกสารสอบราคาให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการเปิดซองและพิจารณาซองสอบราคา ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติการจ้าง ซึ่งต่างปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งใหญ่ด้วยกัน จึงย่อมรู้เห็นการกระทำของจำเลยที่ 4 แต่กลับมีการเปิดซองสอบราคาและตกลงจ้างเหมาดังกล่าวอันมีลักษณะเป็นการสมคบกันปกปิดการสอบราคากีดกันไม่ให้โจทก์เข้าสอบราคา อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบเพื่อให้โจทก์และราชการเสียหาย เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในการปิดประกาศสอบราคาและขายเอกสารสอบราคาโดยตรง แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ร่วมกระทำกับจำเลยที่ 4 ด้วย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86
แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานเป็นตัวการ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำความผิดในฐานเป็นผู้สนับสนุน ศาลฎีกาก็ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนได้
แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานเป็นตัวการ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำความผิดในฐานเป็นผู้สนับสนุน ศาลฎีกาก็ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2956/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาต้องห้ามในข้อเท็จจริง คดีทุนทรัพย์น้อยกว่า 200,000 บาท ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงโดยนำคำเบิกความของโจทก์ในชั้นพิจารณาและคำเบิกความของ ด. กับ ว. ซึ่งเป็นพยานโจทก์มาเป็นข้อวินิจฉัย ก็โดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 104 เป็นการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบแล้วฟังข้อเท็จจริงไปตามนั้น มิใช่เป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยขัดแย้งกับพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายแต่อย่างใด จำเลยฎีกาให้รับฟังคำเบิกความของโจทก์ในชั้นไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา เพื่อให้เห็นว่าพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมีน้ำหนักในการรับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ เป็นการโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามในคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2955/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การทิ้งฟ้องฎีกาเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการส่งสำเนาฎีกา
ทนายผู้ร้องทำใบมอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นฎีกา นำหมายและรับทราบคำสั่ง ปรากฏว่า เสมียนทนายผู้ร้องได้นำฎีกาของผู้ร้องมายื่นต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 13 มิถุนายน 2551 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาฎีกาให้ผู้คัดค้านภายใน 15 วัน มิฉะนั้นจะถือว่าทิ้งฎีกา และในฎีกาดังกล่าวมีข้อความประทับไว้ว่า "ข้าพเจ้าจะมาฟังคำสั่งภายใน 7 วัน นับแต่วันนี้ หากไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว" เมื่อเสมียนทนายผู้ร้องลงลายมือชื่อไว้ใต้ข้อความดังกล่าว จึงต้องถือว่าทนายผู้ร้องได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งในฎีกาของผู้ร้องแล้วตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2551 และถือว่าผู้ร้องได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นด้วย เมื่อผู้ร้องเพิกเฉยไม่นำส่งสำเนาฎีกาภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ จึงเป็นการทิ้งฟ้องฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2803/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การล่อซื้อยาเสพติดโดยสายลับและการอำนาจสอบสวนของตำรวจปราบปรามยาเสพติดชอบด้วยกฎหมาย
การใช้สายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนเป็นเพียงการกระทำเท่าที่จำเป็นและสมควรในการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามตามอำนาจใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (10) ชอบที่เจ้าพนักงานตำรวจจะกระทำได้เพื่อให้ได้โอกาสจับกุมจำเลยทั้งสามพร้อมด้วยพยานหลักฐาน อันเป็นเพียงวิธีการพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสาม ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ที่เกิดจากการใช้สายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีน
ป.วิ.อ. มาตรา 16 กำหนดให้อำนาจเจ้าพนักงานตำรวจในการที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไว้ว่าต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับทั้งหลายอันว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจนั้นๆ พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2548 มาตรา 4 กำหนดให้มีกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดเป็นส่วนราชการหนึ่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมาตรา 5 กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายอื่นอันเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญาทั่วราชอาณาจักร กับมีการออกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2548 ข้อ 1 กำหนดให้มีกองบังคับการสอบสวนเป็นส่วนราชการหนึ่งในกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และข้อ 2 กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญาทั่วราชอาณาจักร แสดงว่ากองบังคับการสอบสวน กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด มีอำนาจสอบสวนความผิดข้างต้นทั่วราชอาณาจักร ดังนั้น พนักงานสอบสวน กองบังคับการสอบสวน กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด จึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้โดยชอบ ไม่ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 18 การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ป.วิ.อ. มาตรา 16 กำหนดให้อำนาจเจ้าพนักงานตำรวจในการที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไว้ว่าต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับทั้งหลายอันว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจนั้นๆ พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2548 มาตรา 4 กำหนดให้มีกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดเป็นส่วนราชการหนึ่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมาตรา 5 กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายอื่นอันเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญาทั่วราชอาณาจักร กับมีการออกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2548 ข้อ 1 กำหนดให้มีกองบังคับการสอบสวนเป็นส่วนราชการหนึ่งในกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และข้อ 2 กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญาทั่วราชอาณาจักร แสดงว่ากองบังคับการสอบสวน กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด มีอำนาจสอบสวนความผิดข้างต้นทั่วราชอาณาจักร ดังนั้น พนักงานสอบสวน กองบังคับการสอบสวน กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด จึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้โดยชอบ ไม่ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 18 การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2508/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดีและการออกหมายจับ จำเลยต้องมีคำขอให้จับกุมและกักขัง จึงจะออกหมายจับได้
คำร้องของโจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาเท่านั้น มิได้ขอให้มีคำสั่งจับกุมและกักขังจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 298 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด จึงไม่ต้องด้วยกรณีที่ศาลจะออกหมายจับ หรือสั่งกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ตามความในวรรคสอง