คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธนฤกษ์ นิติเศรณี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 108 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2476/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตยื่นคำให้การ และผลกระทบต่อการวางเงินค่าธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229
หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยฉบับลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2551 ต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม 2551 ซึ่งยังอยู่ในกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยาย จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ฉบับใหม่เข้ามา โดยนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฉบับนี้เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ มิใช่อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 236 จำเลยจึงไม่ต้องนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยมาจึงไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 242 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2016/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความตั๋วสัญญาใช้เงิน: ฟ้องขาดอายุความเมื่อฟ้องหลัง 3 ปีนับจากวันครบกำหนด 30 วันหลังทวงถาม
โจทก์บรรยายฟ้องให้เห็นว่า จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัท อ. จากมูลหนี้สัญญากู้เงินระยะสั้น หาใช่ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเงินกู้แต่อย่างใดไม่โดยโจทก์มีเพียงภาพถ่ายตั๋วสัญญาใช้เงินแนบมาท้ายฟ้องเท่านั้น ไม่มีสัญญากู้เงินมาแนบด้วย และไม่อาจถือได้ว่าตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นหลักฐานการกู้เงิน เนื่องจากตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นตั๋วเงิน เป็นเอกสารคนละประเภทกับสัญญากู้เงิน ทั้งเมื่อโจทก์นำสืบก็ไม่มีสัญญากู้เงินระยะสั้นมาอ้างเป็นพยานด้วย มีเพียงตั๋วสัญญาใช้เงินมาอ้างเป็นพยานเท่านั้น กรณีไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินแต่ถือว่าโจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จึงต้องนำอายุความตั๋วสัญญาใช้เงินมาบังคับใช้ ไม่ใช่อายุความตามสัญญากู้เงิน
ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดใช้เงินเมื่อทวงถาม อายุความจึงเริ่มนับเมื่อทวงถามปรากฏตามหนังสือบอกกล่าวทวงถามว่า บริษัท อ. ผู้รับเงินแจ้งให้จำเลยชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหรือถือว่าได้รับหนังสือฉบับนี้ จึงต้องเริ่มนับอายุความเมื่อครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือแล้ว แต่โจทก์และจำเลยต่างไม่นำสืบว่าจำเลยได้รับหนังสือเมื่อไร เมื่อหนังสือทวงถามดังกล่าวลงวันที่ 24 เมษายน 2540 จึงพออนุมานได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 25 เมษายน 2540 เริ่มนับ 30 วันตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2540 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง ครบกำหนด 30 วันในวันที่ 25 พฤษภาคม 2540 อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2540 ไปเป็นเวลา 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1001 ครบกำหนด 3 ปีในวันที่ 26 พฤษภาคม 2543 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2543 เกินกว่า 3 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัท อ. ณ สำนักงานตั้งอยู่ถนนสาธรใต้แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาธร กรุงเทพมหานคร ถือว่ามูลคดีเกิดขึ้น ณ สถานที่ที่จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัท อ. ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิทำให้เกิดอำนาจฟ้อง ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากบริษัท อ. จึงมีสิทธิฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1491-1492/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย พยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอ
ห้องนอนที่พบเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นห้องนอนเล็กๆ มีที่นอนและตู้เสื้อผ้าสำหรับคนเพียงคนเดียว ซึ่งในบันทึการตรวจค้นจับกุมก็ระบุว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ที่ซับในหมวกนิรภัยซึ่งวางอยู่พื้นห้องนอนของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเจ้าพนักงานตรวจค้น ทั้งกระสุนปืนขนาดต่างๆ ที่พบในห้องนอนดังกล่าวก็เป็นของจำเลยที่ 1 ประกอบกับบ้านเกิดเหตุมี 2 ห้องนอน จึงเชื่อว่าห้องนอนที่พบเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นห้องนอนของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ห้องนอนของจำเลยที่ 2 เมื่อเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่ในซับในของหมวกนิรภัย บุคคลอื่นจึงไม่อาจมองเห็นได้จากภายนอก ดังนั้น จำเลยที่ 2 ย่อมไม่รู้ว่ามีเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนในหมวกนิรภัย เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมอ้างว่า จำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์ในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดๆ หรือรูปถ่ายที่แสดงให้เห็นว่ามีการติดตามความเคลื่อนไหวหรือพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน โจทก์มีเพียงพยานเบิกความกล่าวอ้างลอยๆ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานโจทก์อีกสองปากต่างก็เบิกความยืนยันว่า เคยซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 เท่านั้น ไม่เคยซื้อจากจำเลยที่ 2 แม้ ร.ต.อ. ธ.พนักงานสอบสวนจะเบิกความประกอบคำให้การในชั้นสอบสวนของ ส. ว่า ได้สอบปากคำ ส. เพื่อร่วมงานของจำเลยทั้งสามและ ส. ให้การว่าเคยซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยทั้งสาม แต่โจทก์ก็ไม่นำ ส. มาเบิกความเพื่อให้ทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านเพื่อพิสูจน์ พยานคำให้การดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน้อย นอกจากนี้แล้วโจทก์ไม่มีพยานอื่นใดมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์หรือร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 ในการมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เช่นนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะอยู่กับจำเลยที่ 1 ขณะเจ้าพนักงานจับกุมก็ไม่อาจสันนิษฐานเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลำพังคำรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อย ทั้งจำเลยที่ 2 ก็นำสืบปฏิเสธว่าไม่ได้ให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความเป็นพยายจำเลยที่ 2 ยืนยันว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมาจึงไม่มีน้ำหนักพอให้ฟังว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
บัญชีของกลาง 2 แผ่น มิใช่เครื่องมือเครื่องใช้หรือวัสดุอื่นซึ่งใช้ในการกระทำความผิดตามมาตรา 102 แห่ง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฯ และไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) จึงไม่อาจริบได้ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1239/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้มีส่วนได้เสียในการจัดการมรดก ไม่จำกัดเฉพาะทายาท ศาลใช้ดุลพินิจประโยชน์ทายาทและกองมรดก
ผู้มีส่วนได้เสียตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1713 นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะทายาทโดยธรรมหรือในทางพินัยกรรมของผู้ตายโดยตรง แม้ผู้คัดค้านเป็นสามีไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แต่ได้อยู่กินร่วมกันมานานสิบกว่าปีจนผู้ตายถึงแก่ความตาย โดยมีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คัดค้านกับผู้ตายมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินมีโฉนดรวม 3 แปลง ซึ่งผู้ร้องทั้งสองเบิกความรับว่า ผู้คัดค้านกับผู้ตายประกอบกิจการอู่ซ่อมรถยนต์ร่วมกัน โดยให้ผู้ร้องทั้งน้อง ๆ และหลานทำงานในอู่และรับเงินเดือนเป็นค่าจ้างผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ในการตั้งผู้จัดการมรดกนั้นศาลย่อมใช้ดุลพินิจคำนึงถึงความเหมาะสมประกอบกับพฤติการณ์ที่จะให้ประโยชน์แก่ทายาทและกองมรดก เมื่อเห็นว่าการให้ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านจัดการมรดกร่วมกันน่าจะเป็นประโยชน์แก่ทายาทและกองมรดกมากกว่าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจัดการมรดกฝ่ายเดียว ศาลย่อมตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินประกันชีวิตเมื่อผู้รับผลประโยชน์ถึงแก่กรรมก่อน: เงินตกแก่ทายาทผู้ตาย
ผู้ตายทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับบริษัทประกันชีวิต โดยระบุภริยาเป็นผู้รับประโยชน์ ปรากฎว่าภริยาผู้ตายถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย บริษัทประกันชีวิตสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินระบุชื่อภริยาผู้ตายเป็นผู้รับเงิน ดังนี้ เงินตามสัญญาประกันชีวิตมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายจึงไม่ใช่มรดกของผู้ตาย ส่วนภริยาผู้ตายซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยก็ถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิต สิทธิของภริยาผู้ตายที่จะได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยยังไม่เกิดขึ้น เงินตามตั๋วแลกเงินจึงไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของภริยาผู้ตาย
แม้เงินตามตั๋วแลกเงินจะมิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตายแต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดกเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับแก่เงินตามสัญญาประกันชีวิต เงินตามตั๋วแลกเงินจึงควรตกแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาคดีชนท้าย: พยานหลักฐานไม่สอดคล้อง ศาลยกฟ้องข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
การที่ศาลจะรับฟังคำให้การในชั้นสอบสวนของ ส. ยิ่งกว่าคำเบิกความต่อศาลนั้น จะต้องมีพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่า ส. เบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยให้พ้นผิดแต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ส. ไม่ได้เป็นญาติของจำเลย และไม่เคยรู้จักกันมาก่อนทั้งยังมีภูมิลำเนาอยู่คนละอำเภอ เห็นเหตุการณ์เพราะมีบ้านอยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุเท่านั้น ไม่มีผลประโยชน์ได้เสียกับฝ่ายใด โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองก็ไม่ได้ถามค้านหรือนำสืบให้เห็นถึงความไม่น่าเชื่อถือในคำเบิกความของ ส. นอกจากนี้ก่อนเบิกความ ส. ได้สาบานตนแล้วเบิกความต่อหน้าศาลและคู่ความทุกฝ่าย เปิดโอกาสให้มีการถามค้านได้แต่การให้การต่อพนักงานสอบสวนนั้นเป็นการให้การสองต่อสอง อาจถูกพนักงานสอบสวนชี้นำให้ให้การตามแนวทางการสอบสวนของตนเองก็ได้ เชื่อว่า ส. เป็นพยานคนกลางเบิกความไปตามความจริงที่ได้รู้เห็นมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 246/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ: การใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้เมื่อถูกกลุ่มผู้เสียหายที่มีอาวุธไล่ทำร้าย
พวกผู้เสียหายทั้งสองขับรถจักรยานยนต์ติดตามจำเลยกับพวกไปโดยมีไม้ปลายแหลมและสนับมือติดตัวไปด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าพวกของผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์เพื่อติดตามจำเลยกับพวกไปเพราะประสงค์จะไปหาเรื่องกับจำเลยเมื่อผู้เสียหายทั้งสองกับพวกติดตามจำเลยกับพวกจนทันแล้ว ผู้เสียหายทั้งสองกับพวกจะเข้ามาทำร้ายจำเลย พวกผู้เสียหายมีอาวุธติดตัวและมีจำนวนคนมากกว่าจำเลยกับพวกย่อมกลัวพวกผู้เสียหายทั้งสองจะใช้อาวุธดังกล่าวทำอันตราย จึงเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตรายอันใกล้จะถึง แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงออกไปถึง 6 นัดนับว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนเกินสมควรแก่เหตุ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 213/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การข่มขู่เพื่อเอาทรัพย์สินชั่วคราว ไม่เข้าข่ายชิงทรัพย์ แต่เป็นข่มขืนใจ
จำเลยรู้จักกับบุตรชายผู้เสียหายที่ 1 เจ้าของรถจักรยานยนต์ และผู้เสียหายที่ 2 มาก่อน ทั้งเคยประสบอุบัติเหตุได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง หากมีใครขัดใจจะแสดงอาการโวยวายคล้ายคนอารมณ์เสีย ก่อนนำรถจักรยานยนต์ไป จำเลยพูดขอยืมรถจักรยานยนต์จากผู้เสียหายที่ 2 ครั้นเมื่อผู้เสียหายที่ 2 ไม่ให้ จำเลยพูดขู่บังคับเอารถจักรยานยนต์โดยขู่ว่าจะตบ ผู้เสียหายที่ 2 เกิดความกลัวจึงให้รถจักรยานยนต์แก่จำเลยไป ดังนั้น การข่มขู่ว่าจะทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 เป็นเพียงการแสดงลักษณะนิสัยจำเลยเท่านั้น มิใช่เป็นการมุ่งหมายเพื่อจะเอารถจักรยานยนต์นั้นไปเป็นของจำเลย
แม้จะได้ความว่าต่อมาจำเลยนำรถจักรยานยนต์ดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นยึดไว้เป็นประกันค่าอาหาร แต่ราคาอาหารไม่มากนัก เชื่อว่าจำเลยตั้งใจไถ่คืน จึงเป็นการบังคับเอาทรัพย์ผู้อื่นไปใช้ชั่วคราว ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ คงเป็นความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 27-28/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องริบทรัพย์สินยาเสพติด: ความแตกต่างระหว่าง พ.ร.บ.มาตรการยาเสพติด กับ พ.ร.บ.ฟอกเงิน
ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มีเงื่อนไขสำคัญคือ หากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องในคดีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและคดีถึงที่สุดเสียแล้ว พนักงานอัยการก็ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเช่นว่าตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ส่วนอำนาจของพนักงานอัยการในการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือความผิดมูลฐานอื่นตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 นั้น เมื่อศาลทำการไต่สวนคำร้องของพนักงานอัยการแล้ว หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือความผิดมูลฐานอื่น ศาลก็มีอำนาจสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และมาตรา 51 วรรคหนึ่ง โดยมิพักต้องพิจารณาว่าบุคคลผู้เป็นเจ้าของหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินดังกล่าวต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือความผิดมูลฐานอื่นหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 23/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าทดแทนการใช้ที่ดินสายส่งไฟฟ้า: มติคณะกรรมการไม่ใช่คำสั่งทางปกครองผูกพัน กฟผ. มีอำนาจพิจารณาตามความเหมาะสม
พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิต พ.ศ.2511 มาตรา 30 บัญญัติให้จำเลยเท่านั้นเป็นผู้จ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตามความเป็นธรรมให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่นในที่ดินที่ถูกสายส่งไฟฟ้าพาดผ่าน การที่จำเลยมีหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย ขอให้มีคำสั่งไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อตั้งคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินฯ ให้แก่ราษฎรเจ้าของที่ดินที่ถูกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าของจำเลยพาดผ่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ออกคำสั่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ 1476/2536 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินฯ ได้มีมติในการประชุมกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และราษฎรที่ถูกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านเรื่อยมานั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงการขอความร่วมมือจากส่วนราชการในพื้นที่ที่จำเลยประกาศกำหนดแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านที่ดินของราษฎร เพื่อขอให้ช่วยพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้เป็นธรรมเท่านั้น มติของที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สิน ฯ จึงมิใช่คำสั่งทางปกครองอันจะมีผลผูกพันจำเลยให้ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ตามมติดังกล่าวแต่อย่างใด เป็นเพียงความเห็นที่เสนอเพื่อให้จำเลยใช้พิจารณาประกอบดุลพินิจในการจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่นในที่ดินที่ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าของจำเลยพาดผ่านให้เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 เท่านั้น หากจำเลยเห็นว่ามติของคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินฯ ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมย่อมมีอำนาจไม่เห็นชอบกับมติที่ประชุมดังกล่าวได้
of 11