คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 55

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6,044 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10669/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำนอง vs. ครอบครองปรปักษ์: ผู้รับจำนองมีสิทธิเหนือที่ดิน แม้ผู้ครอบครองอ้างสิทธิ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ป. ที่จดทะเบียนจำนองไว้ต่อผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง ผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้านหรือผู้คัดค้านซื้อมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล คำร้องขอครอบครองปรปักษ์ของผู้ร้องจึงเป็นคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องนั้น มิได้ทำให้สิทธิจำนองของผู้คัดค้านในฐานะผู้รับจำนองเสื่อมเสียหรือระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้จากการขายทอดตลาดในการบังคับคดีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 ผู้คัดค้านจึงมิได้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลง การที่ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้ศาลรับรองว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยการครอบครองปรปักษ์จึงมิได้เป็นการโต้แย้งสิทธิจำนองของผู้คัดค้านที่จะเข้ามาในคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10004/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของหน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลต่อละเมิดของเจ้าหน้าที่ และขอบเขตการฟ้องร้องนอกคำฟ้อง
แม้จำเลยที่ 3 ไม่อาจถูกฟ้องให้รับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่เพราะจำเลยที่ 3 มิใช่ "หน่วยงานของรัฐ" ตามความหมายในมาตรา 4 ประกอบมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยประมาท เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ใช่ "เจ้าหน้าที่" ตามความหมายมาตรา 4 ของกฎหมายดังกล่าวซึ่งไม่อาจถูกฟ้องได้ แต่จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลและฟังได้ว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้
สำหรับจำเลยที่ 5 ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 12 กำหนดว่า กระทรวงศึกษาธิการมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ โดยจำเลยที่ 4 เป็นส่วนราชการหนึ่งของจำเลยที่ 5 มีเลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชา รับผิดชอบในการปฏิบัติงานของส่วนราชการและข้าราชการในสำนักงานโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการครูของโรงเรียนจำเลยที่ 3 ซึ่งสังกัดและอยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 4 โดยข้าราชการครูรับเงินเดือนจากจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 2 ก็รับเงินเดือนจากจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าหน้าที่ (ข้าราชการ) ของจำเลยที่ 4 และเป็นเจ้าหน้าที่ (ข้าราชการ) ของจำเลยที่ 5 ด้วย เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 2 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ นอกจากจำเลยที่ 4 แล้ว จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็น "หน่วยงานของรัฐ" เช่นเดียวกับจำเลยที่ 4 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 กระทำด้วย ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้ด้วย
แต่ในส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยนั้น ตามสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของคำฟ้องโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำต่อโจทก์ มิใช่บรรยายฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 5 รับผิดในฐานะเป็นผู้ทำละเมิดเอง จึงเป็นฎีกานอกคำฟ้องนอกประเด็นแห่งคดี และศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นพิพาทสำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ตามที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9797/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน: เขตปฏิรูปที่ดินไม่ตัดสิทธิผู้มีกรรมสิทธิ์เดิม
การประกาศเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 แม้ทำให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมได้ แต่ไม่เป็นการถอนสภาพที่ดินที่มีผู้ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ใช้บังคับ ดังนั้น แม้จะมีการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมบริเวณที่ดินพิพาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1 อ้างว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ที่โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 คือ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงผู้ได้รับอนุญาตให้ครอบครองทำประโยชน์ จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ของจำเลยที่ 1 และเมื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงฟังไม่ได้ว่ามีการละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9489/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการทำละเมิดต่อรถเช่าซื้อ แม้จะขายซากรถแล้ว ก็ยังฟ้องได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยประมาทเลินเล่อขับรถบรรทุกชนท้ายรถโดยสาร ทำให้รถโดยสารที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น และเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง ข้อ ก. เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ต้องนำรถโดยสารไปซ่อมเป็นจำนวนเงินตามบัญชีใบประเมินราคาการซ่อม ค่าเสียหายส่วนที่โจทก์ฟ้องมาตามฟ้องข้อ ก. โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดเป็นค่าซ่อมรถโดยตรง เพียงแต่โจทก์เรียกค่าเสียหายส่วนนี้โดยอิงกับใบประเมินราคา ซึ่งหากมีการซ่อมรถก็มีรายการและราคาตามใบประเมินราคานี้ ดังนั้น แม้รถโดยสารจะถูกผู้ให้เช่าซื้อขายไปในลักษณะขายซากรถโดยไม่ได้รับการซ่อมหรือไม่ หรือโจทก์ทราบข้อเท็จจริงว่า ผู้ให้เช่าซื้อขายซากรถไปโดยที่ยังไม่ได้รับการซ่อมหรือไม่ ก็ไม่สำคัญ เพราะโจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าซ่อมรถโดยตรง แต่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยกระทำละเมิดทำให้รถโดยสารที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่ได้รับความเสียหาย โจทก์ผู้เช่าซื้อย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายตามฟ้องข้อ ก. ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9483/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนหุ้นโดยชอบตามกฎหมาย การปฏิเสธจดทะเบียนถือเป็นการโต้แย้งสิทธิ และอำนาจฟ้องของโจทก์
การโอนหุ้นระหว่าง ภ. กับโจทก์มีการทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้โอนกับผู้รับโอนโดยมีพยาน 2 คน ลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วย จึงถือว่าการโอนหุ้นดังกล่าวได้กระทำตามแบบที่กำหนดไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง และตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยมิได้กำหนดว่าการโอนหุ้นต้องได้รับความยินยอมของบริษัท ดังนั้น การโอนหุ้นระหว่าง ภ. กับโจทก์จึงไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากบริษัทจำเลยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1129 วรรคหนึ่ง และไม่ว่าหุ้นตามฟ้องจะเป็นสินสมรสระหว่าง ภ. กับโจทก์ ซึ่งถือเป็นการแบ่งสินสมรส หรือเป็นสินส่วนตัวของ ภ. ก็ตาม ภ. ก็มีสิทธิโอนหุ้นดังกล่าวให้โจทก์ได้ ไม่ได้มีผลกระทบต่อบริษัทจำเลยและไม่ได้ทำให้การโอนหุ้นดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อการโอนหุ้นระหว่าง ภ. กับโจทก์เป็นการโอนที่ชอบ และโจทก์ในฐานะผู้รับโอนได้แจ้งให้จำเลยจดทะเบียนแก้ไขการโอนหุ้นลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมดำเนินการ การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9483/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนหุ้นโดยชอบตามกฎหมาย และสิทธิของผู้รับโอนในการขอจดทะเบียนแก้ไขสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น
การโอนหุ้นระหว่าง ภ. กับโจทก์มีการทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้โอนกับผู้รับโอนโดยมีพยาน 2 คน ลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วย จึงถือว่าการโอนหุ้นดังกล่าวได้กระทำตามแบบที่กำหนดไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง และตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยมิได้กำหนดว่าการโอนหุ้นต้องได้รับความยินยอมของบริษัท ดังนั้น การโอนหุ้นระหว่าง ภ. กับโจทก์จึงไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากบริษัทจำเลยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1129 วรรคหนึ่ง
หนังสือที่ทนายโจทก์แจ้งไปยังกรรมการของบริษัทจำเลยมีข้อความสรุปได้ว่า โจทก์ในฐานะผู้รับโอนขอบอกกล่าวให้บริษัทจำเลยดำเนินการใส่ชื่อโจทก์ลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลย หรือหากไม่ดำเนินการ โจทก์ก็มีความประสงค์ที่จะขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งที่มีความประสงค์จะซื้อ ตามหนังสือดังกล่าวเห็นได้ว่า ความประสงค์ของโจทก์ก็คือต้องการจะได้หุ้นที่ ภ. โอนให้ โดยให้จำเลยใส่ชื่อโจทก์ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเป็นลำดับแรก ถือว่าโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยจดทะเบียนแก้ไขการโอนหุ้นนั้นลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว
เมื่อการโอนหุ้นระหว่าง ภ. กับโจทก์เป็นการโอนที่ชอบ และจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนแก้ไขการโอนหุ้นนั้นลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นตามที่ทนายโจทก์มีหนังสือแจ้งตามการกระทำของจำเลยถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8795/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษี, การยกเว้นภาษีทรัพย์สินของรัฐ, การตีความสัญญาเช่า, และการห้ามอุทธรณ์ประเด็นใหม่
โจทก์บรรยายฟ้องในตอนต้นว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการยกเว้นจากการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร และได้รับยกเว้นจากการเสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ ตามกฎหมายอื่นบรรดาที่เรียกเก็บสำหรับอาคารและที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย นอกจากอาคารและที่ดินที่ให้เช่า ตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ซึ่งมาตรา 31 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ระบุว่า เฉพาะกรณีที่ผู้รับประเมินเป็นรัฐวิสาหกิจไม่พอใจคำชี้ขาดเนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้มีจำนวนสูงเกินสมควรเท่านั้น จึงให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและคณะรัฐมนตรีมีอำนาจลดหย่อนค่ารายปีให้แก่รัฐวิสาหกิจนั้นได้ แต่กรณีนี้การท่าเรือแห่งประเทศไทยไม่พอใจคำชี้ขาดเนื่องจากเห็นว่าไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน จึงไม่ใช่กรณีที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามมาตรา 31 วรรคท้าย การท่าเรือแห่งประเทศไทยและโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะเป็นผู้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนการท่าเรือแห่งประเทศไทยย่อมมีอำนาจฟ้องในประเด็นนี้ได้
สัญญาเช่าสำหรับการบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือตู้สินค้าท่าเทียบเรือบี 2 นอกจากมีข้อสัญญาอนุญาตให้โจทก์เข้าบริหารประกอบการท่าเทียบเรือดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อสัญญาเกี่ยวกับการให้สิทธิโจทก์ใช้ทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งข้อความตามสัญญาและภาคผนวกล้วนแสดงให้เห็นว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยยอมให้โจทก์ใช้ทรัพย์สินและโจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษากับเอาประกันภัยทรัพย์สินนั้นไว้เพื่อประโยชน์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวมทั้งการจดทะเบียนการเช่าอสังหาริมทรัพย์และยังมีการกำหนดค่าตอบแทนที่โจทก์ต้องชำระแก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยตามรายละเอียดในภาคผนวก บี ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการเช่าคงที่ตามที่ระบุไว้เป็นตัวเลขค่าธรรมเนียมแน่นอนสำหรับปีที่ 1 ถึงปีที่ 12 ของการเช่า ค่าธรรมเนียมผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมคิดตามปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าต่ำสุดตามอัตราที่กำหนดไว้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องรับกันกับข้อสัญญาการชำระค่าเช่าตามข้อ 3.2 อันแสดงถึงสิทธิและหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยและโจทก์เป็นเช่นเดียวกับสิทธิและหน้าที่ของผู้ให้เช่าและผู้เช่าตามสัญญาเช่าทรัพย์ และแม้การชำระเงินเป็นค่าตอบแทนในการที่โจทก์ได้รับสิทธิตามสัญญานี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ค่าธรรมเนียมการเช่าคงที่และค่าธรรมเนียมผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมที่คิดตามปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าต่ำสุดตามอัตราที่กำหนดไว้ในภาคผนวก บี ซึ่งอาจมีบางส่วนที่คิดเป็นค่าตอบแทนในการให้สิทธิโจทก์ได้เข้าดำเนินการท่าเรือเพื่อแสวงหากำไรเป็นของโจทก์ได้ก็ตาม แต่ก็มีค่าธรรมเนียมการเช่าคงที่ซึ่งอย่างน้อยย่อมคิดในลักษณะเป็นค่าเช่าเป็นผลตอบแทนจากที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยให้เช่าท่าเทียบเรือบี 2 ด้วย ย่อมแสดงว่าสัญญาระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทยกับโจทก์แม้จะมีข้อสัญญาที่มีวัตถุประสงค์หลายอย่าง แต่ก็มีวัตถุประสงค์ในการให้สิทธิโจทก์ใช้ทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยคิดผลตอบแทนที่ถือเป็นค่าเช่าด้วยย่อมถือได้ว่าทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยดังกล่าวนี้เป็นอาคารและที่ดินที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยให้เช่าตาม พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 17 ตอนท้าย ซึ่งเป็นบทยกเว้นความตอนต้นของมาตรานี้ จึงมีผลให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยไม่ได้รับยกเว้นจากการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ท่าเทียบเรือบี 2 เป็นทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของสาธารณะโดยตรง ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามมาตรา 9 (2) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 นั้น โจทก์มิได้ฟ้องประเด็นนี้ต่อศาลภาษีอากรกลาง เป็นอุทธรณ์ที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ภาษีที่จำเลยที่ 1 ประเมินมานั้นสูงเกินส่วนเนื่องจากสูตรในการคำนวณไม่สอดคล้องกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน เนื่องจากมิได้คำนึงถึงมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินประเภทโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างในสัดส่วนที่ใช้ประโยชน์จริง ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินไว้ และจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดนั้นมีจำนวนที่สูงเกินสมควร ดังนั้น การท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงต้องนำเรื่องที่จำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาด เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 30 และในการนี้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจลดหย่อนค่ารายปีได้ตามมาตรา 31 วรรคท้าย เมื่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้นำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่คณะรัฐมนตรียังไม่มีมติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว การท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง และโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองในประเด็นข้อนี้เช่นเดียวกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7366/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีประกันสังคมและการพิจารณาความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้างตามกฎหมาย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์จึงเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ จำเลยมิได้เป็นผู้มีคำวินิจฉัยจึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ อันเป็นประเด็นแห่งคดีซึ่งศาลแรงงานกลางจะต้องมีคำวินิจฉัย แต่ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ลักษณะ 2 หมวด 1 บัญญัติให้เรื่องการเป็นผู้ประกันตนอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของสำนักงานประกันสังคมจำเลย และยังให้สิทธิว่าหากไม่พอใจคำสั่งของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมหรือของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมที่สั่งการตามกฎหมายฉบับนี้ ให้มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งตามมาตรา 85 คณะกรรมการอุทธรณ์ที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 86 ก็เป็นคณะกรรมการของจำเลยโดยผู้แทนสำนักงานประกันสังคมเป็นกรรมการและเลขานุการเพื่อต้องการให้คณะกรรมการอุทธรณ์ได้ตรวจสอบคำสั่งของเลขาธิการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้นคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์จึงเป็นคำสั่งในหน่วยงานของจำเลย นอกจากนี้มาตรา 87 วรรคท้าย ยังได้บัญญัติรับรองสิทธิไว้อีกว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์นั้น ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่พอใจให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย ดังนี้ เมื่อจำเลยแจ้งยกเลิกการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ และคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยมีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
การที่จะพิจารณาความสัมพันธ์ของบุคคลว่าเป็นนายจ้างและลูกจ้างกันหรือไม่ นอกจากจะพิจารณาว่าบุคคลทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 แล้ว ยังต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าบุคคลที่เป็นลูกจ้างอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาโดยต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบุคคลที่เป็นนายจ้าง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ตามความเป็นจริงของความเป็นนายจ้างและลูกจ้างดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 583 ด้วย เมื่อโจทก์มีอิสระในการทำงาน ไม่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา และไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับในการทำงานของบริษัท ต. ไม่ต้องลงเวลาทำงาน สามารถตัดสินใจในกิจการของบริษัทได้โดยลำพังไม่ต้องปรึกษาผู้ใด โดยโจทก์มีหน้าที่ขายสินค้าให้แก่ลูกค้าของบริษัท และงบดุลของบริษัท ไม่ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวมีรายได้จากการขายสินค้าแต่อย่างใด แสดงว่าลักษณะการทำงานของโจทก์นั้น โจทก์จะทำงานอย่างไรก็ได้ ไม่ว่าจะมีผลงานหรือไม่มีผลงาน ก็ไม่มีการให้คุณให้โทษแก่โจทก์ อันแสดงให้เห็นว่าการทำงานของโจทก์มิได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของบริษัท ต. ดังนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบริษัท ต. จึงมิได้อยู่ในฐานะเป็นนายจ้างและลูกจ้างกัน อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเข้าเป็นผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 33 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6662/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีขายทอดตลาด: สิทธิของลูกหนี้ในการได้รับเงินส่วนเกิน & ความรับผิดของผู้สู้ราคาสูงสุด
ป.วิ.พ. มาตรา 322 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าเงินรายได้จำนวนสุทธิที่จำหน่ายทรัพย์สินได้มานั้น ไม่ต้องการใช้สำหรับการบังคับคดีต่อไปก็ดี หรือมีเงินเหลืออยู่ภายหลังที่ได้หักค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ทุกคนเป็นที่พอใจแล้วก็ดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินรายได้จำนวนสุทธิหรือส่วนที่เหลือนั้นให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา..." ดังนั้น หากในการขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษามีเงินรายได้จำนวนมากเกินภาระหนี้และค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี ลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิได้รับเงินส่วนที่เหลือคืน และเงินที่ผู้สู้ราคาสูงสุดคนเดิมต้องรับผิดชดใช้ส่วนที่ขาดเมื่อมีการขายทอดตลาดใหม่ได้ไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 นั้น เป็นรายได้ส่วนหนึ่งของการขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิม การที่จำเลยคดีนี้ซึ่งมีหน้าที่ต้องชำระเงินดังกล่าวไม่ยอมชำระ ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับความเสียหาย จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
แม้ในหนังสือสัญญาซื้อขายที่จำเลยทำกับเจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีข้อความระบุว่า หากจำเลยไม่ชำระค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือตามกำหนด ยอมให้เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินมัดจำ และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดต่อไปได้เงินสุทธิต่ำกว่าครั้งก่อนเท่าใด จำเลยยอมรับผิดชดใช้ให้เต็มจำนวนที่จำเลยประมูลไว้ในครั้งก่อน ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงการนำเงื่อนไขตามหลักกฎหมายข้างต้นมาระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น มิได้มีลักษณะเป็นการตกลงกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด ราคาส่วนที่ขาดที่จำเลยต้องรับผิดชำระจึงไม่เป็นเบี้ยปรับที่ศาลจะลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6662/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้สู้ราคาที่ไม่ชำระเงินตามสัญญาซื้อขาย และสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา นั้น แม้จำเลยจะเข้าทำสัญญาซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดกับเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ตาม แต่การทำสัญญาดังกล่าวเป็นการดำเนินการบังคับคดีตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ และปลดเปลื้องภาระหนี้ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนมากหรือน้อยย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของเจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสิ้น นอกจากนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 322 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าเงินรายได้จำนวนสุทธิที่จำหน่ายทรัพย์สินได้มานั้นไม่ต้องการใช้สำหรับการบังคับคดีต่อไปก็ดี หรือมีเงินเหลืออยู่ภายหลังที่ได้หักค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ทุกคนเป็นที่พอใจแล้วก็ดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินรายได้จำนวนสุทธิหรือส่วนที่เหลือนั้นให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา..." ดังนั้น หากในการขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษามีเงินรายได้จำนวนมากเกินภาระหนี้และค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี ลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิได้รับเงินส่วนที่เหลือคืน และเงินที่ผู้สู้ราคาสูงสุดคนเดิมต้องรับผิดชดใช้ส่วนที่ขาดเมื่อมีการขายทอดตลาดใหม่ได้ไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 นั้น เป็นรายได้ส่วนหนึ่งของการขายทอดตลาดทรัพย์ของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิม การที่จำเลยซึ่งมีหน้าที่ต้องชำระเงินดังกล่าวไม่ยอมชำระ ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับความเสียหาย จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิ ของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะไม่ฟ้องจำเลย โจทก์ซึ่งได้รับความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาขายทอดตลาด ก็มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระราคาส่วนที่ขาดพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดชำระได้
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 บัญญัติว่า "ถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาไซร้ ท่านให้ผู้ทอดตลาดเอาทรัพย์สินนั้นออกขายอีกซ้ำหนึ่ง ถ้าและได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ผู้สู้ราคาเดิมคนนั้นต้องรับผิดในส่วนที่ขาด" การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้สู้ราคาคนเดิมต้องรับผิดชำระราคาส่วนที่ขาดจึงเป็นความรับผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ซึ่งกำหนดจำนวนไว้แน่นอนแล้วว่าเป็นส่วนต่างระหว่างราคาที่ผู้สู้ราคาคนเดิมเสนอกับราคาที่ขายได้ในครั้งหลัง แม้ในหนังสือสัญญาซื้อขายที่จำเลยทำกับเจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีข้อความระบุว่า หากจำเลยไม่ชำระค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือตามกำหนด ยอมให้เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินมัดจำ และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดต่อไปได้เงินสุทธิต่ำกว่าครั้งก่อนเท่าใด จำเลยยอมรับผิดชดใช้ให้เต็มจำนวนที่จำเลยประมูลไว้ในครั้งก่อน ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงการนำเงื่อนไขตามหลักกฎหมายข้างต้นมาระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น มิได้มีลักษณะเป็นการตกลงกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด ราคาส่วนที่ขาดที่จำเลยต้องรับผิดชำระจึงไม่เป็นเบี้ยปรับที่ศาลจะลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 278 บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้มีอำนาจในฐานเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะรับชำระหนี้ กับมีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้และนำออกขายทอดตลาดได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นผู้มีอำนาจรับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้ก่อนที่จะนำมาจัดสรรชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้อื่นของโจทก์กรณีมีการขอใช้สิทธิรับชำระหนี้จากการบังคับคดีนี้ และค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีต่อไป ซึ่งเงินค่าส่วนขาดราคาที่จำเลยต้องรับผิดชำระนี้ เป็นเงินได้ส่วนหนึ่งที่เกิดจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นผู้มีอำนาจรับชำระไว้ก่อน หากมีเงินเหลือจากการจัดสรรชำระหนี้ตามคำพิพากษาและค่าใช้จ่ายแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจึงจะมีสิทธิรับไป
เงินมัดจำ 50,000 บาท ที่จำเลยวางไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นเงินของจำเลยคดีนี้ที่จะต้องถูกริบเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าขาดราคาที่จำเลยต้องรับผิดชำระ ซึ่งต้องนำไปหักออกจากจำนวนที่โจทก์เรียกมาตามฟ้อง 450,000 บาท คงเหลือเงินที่จำเลยต้องรับผิดจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้เป็นต้นไป
of 605