คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 55

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6,044 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2215/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดต่อเนื่อง, อายุความ, อำนาจฟ้อง, ความรับผิดร่วม, ค่าเสียหายจากอาคารและสินค้า
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยยังคงทำละเมิดอย่างต่อเนื่องและโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันฟ้องคดีนี้ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิด ทำให้อาคารตึกแถวที่โจทก์ครอบครองและสินค้าของโจทก์ที่วางขายที่อาคารตึกแถวได้รับความเสียหาย ขอให้ใช้ค่าเสียหาย โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นทั้งทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกและเป็นผู้จัดการมรดก บ. บ. เป็นเจ้าของที่ดินซึ่งปลูกสร้างอาคารตึกแถวดังกล่าวตั้งแต่ขณะ บ. ยังมีชีวิตอยู่ และปรากฏว่าศาลตั้งโจทก์กับ ก. เป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ร่วมกัน พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องให้รับผิดในส่วนที่เกี่ยวกับอาคารตึกแถวได้รับความเสียหายในฐานะที่โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ บ. ด้วย ซึ่งหากโจทก์ได้รับค่าเสียหายเกี่ยวกับอาคารตึกแถวมาก็เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทายาททุกคนของ บ. มิใช่เพื่อโจทก์เพียงผู้เดียว โจทก์ผู้เดียวย่อมมีอำนาจฟ้อง ส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายอื่นที่ไม่เกี่ยวกับอาคารตึกแถว เช่น ค่าสินค้าของโจทก์ที่เสียหาย และค่าขาดประโยชน์ เป็นต้น เป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์ของโจทก์ผู้เดียว โจทก์ผู้เดียวมีอำนาจฟ้องอยู่แล้ว ดังนั้น โจทก์ผู้เดียวย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1912/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนสมาชิกภาพ สิทธิคืนเงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์อื่นที่ได้รับจากการดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา
คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลงนับแต่วันที่มีคำสั่ง ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยออกจากตำแหน่งเพราะได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นแก่โจทก์นับแต่วันดังกล่าว และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันดังกล่าวเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง ทั้งไม่ใช่เป็นกรณีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่าการกระทำไม่เป็นความผิด หรือกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด อันจะต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า กรณีมีเหตุอันสมควรเชื่อว่ามีบุคคลให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่จำเลย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 44 (1) ประกอบมาตรา 90 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ทำให้การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภามิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวถือเป็นที่สุด แม้ในคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าจำเลยเป็นผู้กระทำการดังกล่าวด้วยตนเองก็ตาม แต่การออกจากตำแหน่งเพราะเหตุนี้มีผลทำให้จำเลยต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นแก่โจทก์
เงินค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญ และค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงาน นั้น จำเลยเป็นผู้เลือกผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงาน และเสนอขอให้โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งตามหนังสือยืนยัน โดยผู้เชี่ยวชาญมีหน้าที่ให้คำแนะนำ คำปรึกษาทางวิชาการแก่จำเลย ส่วนผู้ปฏิบัติงานมีหน้าที่รับผิดชอบตามที่จำเลยกำหนด ซึ่งเป็นการแต่งตั้งโดยอาศัยสิทธิที่จำเลยมีอยู่ในระหว่างดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา เงินค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญและค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับไปในระหว่างดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา
จำเลยออกจากตำแหน่งเพราะได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 97 บัญญัติบังคับให้จำเลยคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์ดังกล่าวคืนได้ตลอดเวลาที่จำเลยยังคงยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับกำหนดอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาเช่า การหักชำระหนี้ ค่าเสียหาย และการรับฟังพยานหลักฐาน ศาลแก้ไขคำพิพากษา
พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2522 ที่ใช้บังคับขณะฟ้อง มาตรา 4 และมาตรา 19 แสดงว่าอธิการบดีซึ่งเป็นผู้แทนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโจทก์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลย่อมมีอำนาจดำเนินกิจการทั่วไปแทนโจทก์ การฟ้องคดีเป็นสิทธิของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม และความประสงค์ของนิติบุคคลแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคลนั้น อธิการบดีผู้แทนของโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีในนามโจทก์ได้ โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากสภามหาวิทยาลัย
จำเลยยอมรับว่าได้เช่าอาคารพาณิชย์พิพาทจากโจทก์ จึงไม่มีอำนาจต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจให้เช่าอีก และหากเป็นจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยครบกำหนดเวลาแล้ว โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าต่อไป แต่จำเลยยังคงอยู่ในอาคารพาณิชย์ของโจทก์ ก็ถือได้ว่าจำเลยอยู่โดยไม่มีสิทธิอันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ถือว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายแพ่งตามความใน ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง
จำเลยเคยยื่นฟ้องโจทก์ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีก่อนได้ตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่า กรณียังไม่มีการโต้แย้งสิทธิ จำเลยไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์ พิพากษายกฟ้อง ถือว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่จำเลยยกขึ้นอ้าง อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีและเป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) อันมีผลเป็นการพิพากษาคดีแล้ว มิใช่เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นยังไม่รับคำฟ้อง เมื่อคดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยกลับมาฟ้องแย้งคดีนี้มีรายละเอียดและเหตุผลอย่างเดียวกัน ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นฟ้องซ้อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
ป.พ.พ. มาตรา 538 บังคับให้สัญญาเช่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะฟ้องร้องบังคับกันได้ เมื่อสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยมีกำหนดเวลาการเช่าแน่นอน จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่าเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลา เป็นการนำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)
ร. เป็นนิติกรของโจทก์มีหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุม ดูแลสัญญาเช่าพิพาท ถือเป็นผู้เกี่ยวข้องกับพยานเอกสารในคดีที่ตนได้ตรวจสอบแล้ว สามารถรับรองความถูกต้องแท้จริงได้ คำเบิกความของ ร. จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 95 (2)
จำเลยได้ทราบถึงความมีอยู่ของสำนวนคดีที่ประสงค์อ้างเป็นพยานตั้งแต่ก่อนวันสืบพยาน แต่มาระบุอ้างเพิ่มเติมเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันสืบพยาน จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสอง
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลย เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226
คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า เอกสารที่จำเลยขอให้ศาลเรียกจากบุคคลภายนอกไม่น่าจะเกี่ยวเนื่องกับประเด็นข้อพิพาทในคดี เป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจพิจารณาว่า พยานหลักฐานที่ขอให้เรียกมานั้นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่จำเลยในคดีจะต้องนำสืบหรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1)
เจตนารมณ์ของการส่งสำเนาเอกสาร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 มุ่งประสงค์เพียงให้ฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารมายันได้มีโอกาสตรวจสอบเอกสารก่อนเพื่อจะได้ซักค้านพยานได้ถูกต้องไม่เสียเปรียบแก่กัน เมื่อโจทก์แนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงมาท้ายคำฟ้อง ย่อมนับได้ว่าตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว สำหรับเอกสารอื่นที่มิได้เป็นประเด็นโต้เถียงกันในคดี โจทก์จึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารแก่จำเลย
สัญญาเช่า ข้อ 22 ระบุว่า เมื่อสัญญาเช่าระงับลง ผู้เช่าต้องส่งมอบทรัพย์สินแก่ผู้ให้เช่าโดยพลัน หากไม่ดำเนินการผู้เช่ายินยอมให้ค่าเสียหายแก่ผู้ให้เช่าเป็นเงินวันละ 5,000 บาท ต่อคูหา นับแต่วันที่สัญญาเช่าระงับจนถึงวันที่ผู้เช่าส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าคืนเสร็จเรียบร้อย หรือวันที่ผู้ให้เช่าได้เข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าแล้วแต่กรณี ถือว่าสัญญาเช่าได้กำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้า อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการให้เช่าอาคารพาณิชย์บริเวณพิพาทเป็นคูหาละ 154,200 บาท ต่อเดือน ใกล้เคียงกับเบี้ยปรับตามสัญญา จึงชอบด้วยเหตุผล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1278/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องขับไล่: ผู้เช่ารายใหม่ไม่มีอำนาจฟ้องหากยังมิได้เข้าครอบครอง และจำเลยได้สิทธิจากผู้เช่าเดิม
ส. บิดาโจทก์เช่าที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ และ ส. อนุญาตให้จำเลยอยู่อาศัยในที่พิพาท ต่อมา ส. ถึงแก่ความตาย โจทก์ทำสัญญาเช่าที่พิพาทจากกรมธนารักษ์ต่อจาก ส. โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่อาศัยในที่พิพาทอีกต่อไปจึงฟ้องให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาท แม้โจทก์ในฐานะผู้เช่าจะมีสิทธิเข้าใช้สอยทำประโยชน์ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิแห่งสัญญาเช่าก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เคยเข้าครอบครองที่พิพาทตามสัญญาเช่ามาก่อน และจำเลยอยู่ในที่พิพาทก็โดยอาศัยสิทธิการเช่าของ ส. ผู้เช่าเดิมไม่ได้อาศัยสิทธิโจทก์ การที่จำเลยอยู่ในที่พิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นการละเมิดต่อกรมธนารักษ์เจ้าของที่พิพาท หาใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่ารายใหม่ไม่ โจทก์ก็ไม่ได้ขอให้ศาลเรียกกรมธนารักษ์ผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 ประกอบมาตรา 545 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้โดยลำพัง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยเพิ่งกล่าวอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18464/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในทรัพย์ส่วนกลางอาคารชุด การฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหาย และขอบเขตอำนาจฟ้องของนิติบุคคลอาคารชุด
พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 วรรคสอง และมาตรา 39 บัญญัติให้นิติบุคคลอาคารชุดซึ่งมีหน้าที่จัดการและดูแลทรัพย์ส่วนกลางสามารถใช้สิทธิของเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในการต่อสู้บุคคลภายนอกหรือเรียกร้องเอาทรัพย์สินเฉพาะที่เป็นทรัพย์ส่วนกลางคืนได้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของร่วมทั้งหมด แต่ในกรณีที่เป็นความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์ส่วนบุคคลซึ่งเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่น ย่อมเป็นสิทธิของบุคคลผู้ได้รับความเสียหายที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเอง คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดครอบครองทรัพย์ส่วนกลาง โดยอ้างว่าทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นเหตุให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมคนอื่น ๆ ในอาคารชุดไม่สามารถค้าขายได้ดีเช่นเดิม ทำให้ยอดขายของเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมลดลง เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการเรียกค่าเสียหายซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมแต่ละรายได้รับจากการกระทำของโจทก์ซึ่งมิใช่บุคคลภายนอก จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15306/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและค่าปรับของเจ้าของร่วมที่ซื้อห้องชุดจากการประมูล
หนี้ที่เกิดจากเจ้าของร่วมมีหน้าที่ชำระตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มิได้ห้ามมิให้บุคคลอื่นชำระหนี้แทนเจ้าของห้องชุดที่เป็นเจ้าของร่วม เมื่อโจทก์ฟ้องคดีโดยมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ จึงจำเป็นอยู่เองที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ต้องชำระหนี้ค่าใช้จ่ายและค่าปรับให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เพียงใด ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวโดยไม่จำต้องให้จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งเข้ามาในคดีก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13937/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างทางพฤติการณ์ และสิทธิการรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อมีการเลิกจ้าง
การวินิจฉัยว่ามีการเลิกจ้างแล้วหรือไม่ต้องพิจารณาถึงการกระทำของนายจ้างประกอบด้วย จะพิจารณาเพียงว่ามีการบอกกล่าวเลิกจ้างด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือแล้วหรือไม่ย่อมไม่ได้ แม้ในการประชุม ธ. ประธานกรรมการบริหารบริษัทในกลุ่มแพนจะขอให้โจทก์ลาออกโดยจะให้เวลาโจทก์ปรึกษากับครอบครัวก่อน 3 วัน แต่ในวันดังกล่าว ธ. ขอรถยนต์ประจำตำแหน่งที่โจทก์ใช้อยู่คืน และในช่วงระยะเวลา 3 วันนี้โจทก์ไม่ต้องไปทำงาน การกระทำของ ธ. มีลักษณะไม่ยอมให้โจทก์ทำงานให้จำเลยที่ 1 อีกต่อไป ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2545 อันเป็นวันที่เรียกเอารถยนต์ประจำตำแหน่งคืนจากโจทก์ ไม่ใช่เลิกจ้างในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ซึ่งเป็นวันที่คัดชื่อโจทก์ออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1
เมื่อพิจารณารายงานการสิ้นสุดสมาชิกภาพของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบรวม 164,101.10 บาท แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสามจ่ายเงินดังกล่าวเพียง 162,851.24 บาท แต่เพื่อให้โจทก์ได้รับเงินตามสิทธิของโจทก์และเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความเห็นสมควรพิพากษาเกินคำขอให้โจทก์
พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 บัญญัติว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล และมาตรา 23 บัญญัติว่าเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้ลูกจ้าง กองทุนที่ดำเนินการให้แก่จำเลยที่ 1 คือ จำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่บริหารจัดการจ่ายเงินจากจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่จำต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้าง ไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการกองทุน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินสมทบของนายจ้างแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13381/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักชำระหนี้ดอกเบี้ยและต้นเงิน ความสุจริตในการใช้สิทธิฟ้อง และการนำสืบพยาน
จำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระในแต่ละครั้งตามที่โจทก์อ้างนั้นนำไปหักชำระดอกเบี้ยที่ค้างได้เพียงบางส่วนเท่านั้น แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเวลาหลายปี จึงทำให้มีดอกเบี้ยค้างชำระจำนวนมาก โจทก์จึงนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระมาทั้งหมดไปหักออกจากดอกเบี้ยที่ค้างชำระในคราวเดียวกันได้ การหักชำระหนี้ของโจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง แต่ประการใด และการที่โจทก์มิได้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระอีก 3 ครั้ง ไปหักชำระหนี้เกิดจากความผิดพลาดในการบันทึกข้อมูลทางบัญชีหรือในการตรวจสอบข้อมูลทางบัญชีอันเป็นความผิดพลาดเล็กน้อยมากกว่าที่จะมีเจตนาเอาเปรียบจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ พฤติการณ์ของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
การที่โจทก์แนบตารางสรุปการผ่อนชำระหนี้มาท้ายอุทธรณ์เพื่อแจกแจงรายละเอียดการคิดคำนวณ เพื่อให้เห็นว่าได้มีการหักชำระหนี้กันอย่างไรอันเป็นการอธิบายให้เห็นถึงรายละเอียดการคำนวณมิใช่เป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13209/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสิ้นสุดอำนาจร้องขอเมื่อผู้ร้องพ้นสถานะและมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่เกี่ยวข้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอในนามของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการของนิติบุคคลอาคารชุด ท. อาคาร 1, 2, 3 มิใช่ฟ้องในฐานะทำการแทนนิติบุคคล ขณะยื่นคำร้องขอนั้นผู้ร้องยังอยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งมีกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2544 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2547 เพื่อขอให้เพิกถอนการประชุม มติที่ประชุมและรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2546 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่ยกเลิกสัญญาจ้างผู้ร้อง ทั้งขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดในวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครด้วย อันถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง จึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอได้ แต่เมื่อขณะนี้ปรากฏว่า ผู้ร้องได้พ้นจากการเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดตามวาระการดำรงตำแหน่ง และมิได้เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลอาคารชุดอีกต่อไปแล้ว ทั้งปรากฏว่ามีการแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดคนใหม่แทนผู้ร้องแล้ว ทั้งคดีแพ่งอีกคดีหนึ่งที่ผู้ร้องยื่นฟ้องผู้คัดค้านทั้งสองกับพวกในฐานะคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมที่ให้ยกเลิกสัญญาจ้างผู้ร้องและให้ผู้ร้องพ้นจากการเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดนั้น ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างผู้ร้องเป็นการกระทำโดยชอบแล้วซึ่งผู้ร้องมิได้อุทธรณ์ คำพิพากษาดังกล่าวจึงถึงที่สุดและผูกพันผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 จึงถือว่าปัจจุบันผู้ร้องไม่มีส่วนได้เสียโดยตรงในคดีนี้อีกต่อไป อำนาจร้องขอของผู้ร้องจึงหมดลง ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขออีกต่อไป ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามมาตรา 142 (5) ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9554-9555/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องเจ้าหนี้ต่อผู้ครอบครองทรัพย์มรดก: จำเลยต้องเป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดกเท่านั้น
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายชำระเงินตามเช็คที่ผู้ตายลงลายมือชื่อสั่งจ่ายชำระหนี้ค่าแชร์ให้แก่โจทก์ โดยมิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ทั้งทางนำสืบโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นมารดาของผู้ตาย ขณะที่ผู้ตายมีชีวิตอยู่ไม่มีภรรยาและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย มีเพียงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาเป็นทายาทคนเดียว จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายเท่านั้น จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นทายาทผู้รับมรดกของผู้ตาย การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องหนี้สินจากผู้ตายนั้น ต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1734 บัญญัติว่า เจ้าหนี้กองมรดกชอบแต่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น และมาตรา 1737 บัญญัติว่า เจ้าหนี้กองมรดกจะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทคนใดก็ได้ แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดก ให้เจ้าหนี้เรียกเข้ามาในคดีด้วย บทกฎหมายดังกล่าวให้สิทธิเจ้าหนี้ที่จะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทหรือผู้จัดการมรดกเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงินตามเช็คที่ผู้สั่งจ่ายชำระหนี้ค่าแชร์ให้แก่โจทก์ได้
of 605