คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 55

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6,044 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9523/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องและอำนาจฟ้องของบริษัทบริหารสินทรัพย์ การรับผิดในเบี้ยปรับจากการประมูลทอดตลาด
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี ทำสัญญาซื้อขายทรัพย์จำนองกับจำเลยที่ 1 ถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี กระทำในฐานะเป็นผู้แทนธนาคาร ท. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิม เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เข้าสู้ราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดชั้นเดิมละเลยไม่นำเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือมาชำระตามสำเนาสัญญาซื้อขาย จนเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องขายทอดตลาดทรัพย์จำนองซ้ำอีกครั้งหนึ่งและได้เงินสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ย่อมทำให้ธนาคาร ท. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิมได้รับความเสียหายเนื่องจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดครั้งหลังน้อยกว่าครั้งก่อน ทำให้ธนาคาร ท. ไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจนครบถ้วน จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตามที่ระบุในสัญญาและตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของธนาคาร ท. โจทก์ในคดีเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์รับโอนหนี้จากธนาคาร ท. หลังจากคดีเดิมสิ้นสุดแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ในปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบมาตรา 247 พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 บัญญัติว่า "ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว ... และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น" ดังนั้น แม้คดีเดิมธนาคาร ท. อยู่ระหว่างบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ธนาคาร ท. สามารถโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องแล้วให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ได้ โจทก์มีสิทธิที่จะขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว และการเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยผลของกฎหมายในกรณีนี้ หาได้ขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ในเรื่องการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และหาได้ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ประการใดไม่ โจทก์ในฐานะตัวการย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ได้โดยไม่จำต้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิมก่อน
หนังสือสัญญาซื้อขายระบุให้ผู้ซื้อทรัพย์ต้องรับผิดในกรณีที่ผู้ซื้อทรัพย์ผิดสัญญา และเจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดครั้งใหม่หากได้ราคาสุทธิต่ำกว่าครั้งก่อนเท่าใด ผู้ซื้อทรัพย์เดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาดนั้น ซึ่งเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า ในกรณีที่ผู้ซื้อผิดสัญญา ถือว่าเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่งซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9346/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้สู้ราคาในการขายทอดตลาด และอำนาจฟ้องของเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม
แม้ตามสัญญาซื้อขายระบุว่า จำเลยทำสัญญากับเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่เมื่อการขายทอดตลาดครั้งแรกจำเลยเป็นผู้สู้ราคาสูงสุด แล้วละเลยไม่ใช้ราคา ผู้ทอดตลาดเอาทรัพย์สินนั้นออกขายอีกซ้ำหนึ่ง ถ้าและได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม จำเลยผู้สู้ราคาคนเดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงดังกล่าวกับ ส. เมื่อศาลชั้นต้นกันส่วนเงินครึ่งหนึ่งที่ได้จากการขายทอดตลาดแก่โจทก์ ตามสำเนาคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีแพ่ง โดยโจทก์รับเงินจำนวนน้อยลงจากการกระทำของจำเลย ย่อมกระทบต่อส่วนได้เสียของโจทก์ เป็นการถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9136/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีสมรสซ้อน และการรับฟังเอกสารหลักฐานการสมรสก่อน
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านจะมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในคำคัดค้าน แต่เมื่อปัญหานี้ปรากฏตามคำร้องขอในสำนวน ผู้คัดค้านชอบจะหยิบยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องวินิจฉัยปัญหานี้ให้ตามมาตรา 240 วรรคหนึ่ง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องจึงถือว่าได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ผู้คัดค้านจึงชอบจะฎีกาปัญหานี้ได้ ตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าการสมรสระหว่าง ก. กับผู้คัดค้านเป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการสมรสซ้อนกับการสมรสระหว่าง ก. กับผู้ร้อง ซึ่งมาตรา 1497 กำหนดให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาก็ได้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่กฎหมายให้สิทธิบุคคลใช้สิทธิทางศาลได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ซึ่งตามมาตรา 171 กำหนดให้เสนอคดีได้ทั้งรูปคำฟ้องหรือคำร้องขอก็ได้แล้วแต่รูปเรื่องแห่งคดี และไม่ว่าจะเป็นการฟ้องคดีหรือการร้องขอก็ถือเป็นคำฟ้องเช่นกัน ผู้ร้องจึงมีอำนาจฟ้องด้วยการยื่นคำร้องขอตามมาตรา 171 ได้
ผู้ร้องนำสืบว่า ใบทะเบียนสมรสหาย ผู้ร้องขอคัดสำเนาโดยเจ้าพนักงานรับรองตามสำเนาทะเบียนสมรส เอกสารหมาย ร. 1 ตามที่ผู้ร้องได้ยื่นขอคัดข้อมูลทะเบียนครอบครัว เอกสารหมาย ร. 2 สำเนาทะเบียนสมรสดังกล่าวระบุว่า ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับ ก. เป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง หรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่เป็นจริงหรือไม่มีอยู่ การที่ผู้คัดค้านคาดคะเนว่าจะไม่เป็นจริง เพราะเหตุการณ์เกิดมานานแล้วเพิ่งจะคัดเอกสารนั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ กรณีต้องฟังว่า ก. สมรสกับผู้ร้องอยู่แล้ว ผู้คัดค้านกับ ก. มาสมรสกันภายหลัง จึงเป็นสมรสซ้อนซึ่งเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9120/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของทายาทในการฟ้องเรียกหนี้สินของกองมรดกเมื่อผู้จัดการมรดกละเลยหน้าที่
ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง คือจำเลยกู้ยืมเงินของ ท. มารดาบุญธรรมของโจทก์ แล้วผิดนัดไม่ชำระ ทั้งผู้จัดการมรดกของ ท. ก็เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยและโจทก์ผู้เป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกจาก ท. ผู้ตาย โจทก์ย่อมเสียหายเพราะถูกโต้แย้งสิทธิ เมื่อประกอบกับไม่มีกฎหมายห้ามโดยตรงไม่ให้โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องในกรณีดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเป็นคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7772/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือ ตำรวจพบของกลางน้อย ไม่พบรายได้จากละเมิด สั่งชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนหนังสือ
ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ร่วม 40,000 บาท สูงเกินไป ค่าเสียหายหากมีจริงก็ไม่เกิน 1,000 บาท นั้น เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ในคดีส่วนแพ่งไม่เกินสองแสนบาท และไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีนี้ได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 41
การที่โจทก์ร่วมนำตัวเลข รูปภาพและเครื่องหมายต่าง ๆ มาปรับใช้เป็นโจทย์ปัญหาในวิชาคณิตศาสตร์เพื่อให้นักเรียนสามารถคิดวิธีทำและหาคำตอบได้ในเวลาอันรวดเร็วในหนังสือ "Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 1" และ "Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 2" นั้นมิได้มีเพียงทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ หนังสือของโจทก์ร่วมทั้งสองเล่มดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ร่วมได้สร้างสรรค์ขึ้นเป็นเรื่องราวในรูปของหนังสือด้วยความวิริยะอุตสาหะโดยใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้วยการแสดงออกซึ่งการริเริ่มของโจทก์ร่วมเองโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอันเป็นงานวรรณกรรมตามความหมายในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หาใช่เป็นเพียงความคิด หรือขั้นตอนกรรมวิธี หรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางคณิตศาสตร์อันไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 วรรคสอง และโจทก์ร่วมมีสำเนาหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกให้เพื่อแสดงว่าโจทก์ร่วมได้แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ผลงานหนังสือของโจทก์ร่วมทั้งสองเล่มดังกล่าวต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมหนังสือทั้งสองเล่มดังกล่าว จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเป็นผู้เสียหายย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือทั้งสองเล่มนั้น
ตามคำฟ้องในคดีก่อนโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นคดีแพ่งว่า ระหว่างวันที่ 8 มีนาคม 2549 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2550 จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมให้เปิดโรงเรียนเลิศคณิต สมาร์ท เซ็นเตอร์ สาขาพัทลุง กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์และผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเรียกค่าเสียหาย แต่คดีนี้โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน 2553 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2553 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมของโจทก์ร่วมที่ตำบลป่าพะยอม อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง และเรียกค่าสินไหมทดแทน การฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ในคดีนี้เป็นการฟ้องโดยอ้างการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์คนละครั้งกับในคดีก่อน การฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 ในเรื่องเดียวกันกับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องในคดีก่อนอันจะเป็นฟ้องซ้อน ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
โจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมของผู้เสียหายด้วยการคัดลอกนำเอาข้อความบางส่วนที่เป็นสาระสำคัญในหนังสือ "Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 1" และ "Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 2" ไปทำซ้ำ ดัดแปลง และผสมรวมกับข้อความอื่นในหนังสือของฝ่ายจำเลยแล้วจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มใหม่เป็นหนังสือใช้ชื่อว่า "MAGIC ABACUS" เท่านั้น โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกระทำการดังกล่าวเพื่อการค้า และจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าหนังสือชื่อ "MAGIC ABACUS" นั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสามกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่หนังสือนั้นเพื่อการค้าและหากำไรอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะระบุบทบัญญัติมาตราดังกล่าวในคำขอท้ายฟ้อง ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินกว่าที่กล่าวในฟ้องซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7362/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้รับประกันภัยกรณีรถสูญหายจากการประมาทของบุคคลภายนอก และการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่แท้จริง
เหตุที่รถยนต์คันที่จำเลยรับประกันภัยไว้สูญหายเกิดจากการกระทำของ ส. ที่ขับรถเข้าไปจอดเพื่อเข้าห้องน้ำโดยไม่ดับเครื่องยนต์จนมีคนลักเอารถไปได้ ซึ่งไม่ว่าการกระทำของ ส. จะเป็นเพียงการประมาทเลินเล่อหรือถึงขนาดเป็นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ก็ตาม แต่ก็มิใช่การกระทำของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยโดยตรง จึงไม่เป็นเหตุให้จำเลยผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 879 วรรคหนึ่ง และเมื่อธนาคาร ธ. ผู้รับประโยชน์ใช้สิทธิฟ้องบังคับโจทก์กับพวกให้คืนหรือใช้ราคารถยนต์กับชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อไปแล้วโดยไม่ใช้สิทธิเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย อันมีผลทำให้โจทก์ยังคงเสียหายโดยไม่ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลย ดังนี้ โจทก์ในฐานะคู่สัญญากับจำเลยตามสัญญาประกันภัยย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้โดยตรงตามสิทธิเรียกร้องในสัญญาประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6492/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแรงงาน: การเพิกถอนคำสั่งจ่ายค่าชดเชย และความรับผิดของหน่วยงานราชการ
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคสาม โดยอ้างว่าคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายที่สั่งว่า ส. ไม่ได้กระทำผิดกรณีร้ายแรงตามมาตรา 119 และให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่ ส. ทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม ดังนี้ ฟ้องของโจทก์จึงมิใช่เป็นการฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ทำละเมิดต่อโจทก์ และการออกคำสั่งที่ 60/2553 ของจำเลยที่ 3 ได้กระทำไปโดยอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคสาม หากโจทก์ไม่พอใจคำสั่งก็ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงโจทก์เพื่อส่งคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้แก่โจทก์ ก็เป็นการปฏิบัติราชการในส่วนงานสารบรรณของทางราชการเท่านั้น จำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกคำสั่งดังกล่าวแต่ประการใด เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ก็มิได้มีส่วนต้องร่วมรับผิด ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5167/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนเงินประจำตำแหน่ง ส.ส. หลังถูกวินิจฉัยว่าได้รับเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงแล้ว
จำเลยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุทัยธานีได้โดยอาศัยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 เมื่อจำเลยออกจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 97 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เนื่องจากกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่จำเลย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 44 (1) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มีผลให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุทัยธานี เขตเลือกตั้งที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 145 (3) และ (4) มาตรา 147 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และมาตรา 10 (6) และ (7) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มีมติโดยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ มีคำวินิจฉัยสั่งการและมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุทัยธานี เขตเลือกตั้งที่ 1 ใหม่ มีผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยในเขตเลือกตั้งดังกล่าวสิ้นสุดลงนับแต่วันที่มีคำสั่งในวันที่ 20 กันยายน 2548 ตามมาตรา 96 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 และตามนัยมาตรา 97 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น จำเลยย่อมตกอยู่ในบังคับตามมาตรา 97 ตอนท้ายที่บัญญัติว่า กรณีที่การออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ให้คืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ผู้นั้นได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว แม้ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จะถูกยกเลิกหรือเป็นอันสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 โดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ก็ตาม แต่มูลหนี้ที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายเกิดขึ้นในขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีผลใช้บังคับ โดยไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายยกเว้นไว้ และไม่ปรากฏมีบทบัญญัติกฎหมายให้ยกเลิกมูลหนี้ที่เกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจนเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จะสิ้นสุดลง สิทธิของโจทก์ในการเรียกเงินคืนและหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามมาตรา 97 ตอนท้ายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จะสิ้นสุดลง จึงยังคงมีอยู่โดยหาได้ถูกยกเลิกไปด้วยไม่ เมื่อจำเลยไม่คืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์จึงถูกโต้แย้งสิทธิตามกฎหมาย และมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 97 ตามฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4764/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีไม่มีข้อพิพาทเพิกถอนมติคณะกรรมการสมาคม ต้องมีกฎหมายรองรับเฉพาะเจาะจง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมของคณะกรรมการสมาคมผู้คัดค้าน เป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยเสนอคดีเป็นคำร้องขอ อันเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ซึ่งการร้องขอในลักษณะเช่นนี้ ต้องมีกฎหมายสารบัญญัติรับรองให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลได้ แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยสมาคม คงมีแต่บัญญัติให้สมาชิกหรือพนักงานอัยการร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติในที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกสมาคมตามที่บัญญัติในมาตรา 100 ได้เท่านั้น แต่คดีนี้เป็นการร้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมของคณะกรรมการสมาคม มิใช่ขอเพิกถอนมติในที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกสมาคม กรณีจึงไม่มีบทบัญญัติใดรับรองให้สมาชิกสมาคมหรือผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมของคณะกรรมการสมาคมเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท เมื่อผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิโดยคณะกรรมการสมาคมผู้คัดค้าน ก็ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีเป็นคดีมีข้อพิพาท แม้ภายหลังมีผู้คัดค้านเข้ามาก็ไม่ทำให้อำนาจการยื่นคำร้องขอที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ต้นเป็นคำร้องขอที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1401/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารต้องรับผิดต่อการถอนเงินปลอมแปลงจากบัญชีเงินฝาก แม้โจทก์มอบหมายพนักงานดูแลบัญชี
การที่โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายบัญชีและการเงินของโจทก์ดูแลสมุดบัญชีนับว่าเป็นเรื่องปกติ มิได้หมายความว่าบุคคลที่ได้รับมอบหมายจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยชอบเสมอไป จะไม่มีการทุจริตแต่อย่างใด การที่โจทก์มอบหมายสมุดเงินฝากไว้แก่จำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาท
จำเลยที่ 5 จะมีลายมือชื่อของลูกค้าไว้เปรียบเทียบเพื่อตรวจสอบได้และเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 5 จะต้องตรวจสอบความถูกต้องเนื่องจากจำเลยที่ 5 เป็นผู้รับฝากเงินเป็นอาชีพและได้รับผลประโยชน์จากการประกอบธุรกิจดังกล่าว เพราะต้องเกี่ยวข้องกับประชาชนที่เข้าใช้บริการกับจำเลยที่ 5 ด้วยเหตุที่เป็นอาชีพและปริมาณลูกค้าจำนวนมาก จำเลยที่ 5 ย่อมต้องมีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้ารวมทั้งโจทก์ และเมื่อพิจารณาลายมือชื่อของ ม. กับ ร. ตามใบถอนเงินแล้วจะเห็นได้ว่าไม่เหมือนกับลายมือชื่อของ ม. และ ร. ที่ให้ไว้เป็นตัวอย่างแก่จำเลยที่ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำที่ไม่เคยมีการถอนเงินมาก่อน และในการถอนเงินครั้งแรกเป็นการมอบอำนาจให้รับเงิน แต่ไม่ปรากฏว่ามีสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของ ม. และ ร. และการจ่ายเงินทุกครั้งก็จ่ายเป็นเงินสด เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า หากจำเลยที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวังเหตุทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเพียงพนักงานของจำเลยที่ 5 ถือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 5 มิได้เป็นผู้กระทำละเมิดโดยตรงต่อโจทก์ หากแต่เป็นการกระทำโดยตรงต่อจำเลยที่ 5 เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 5 จะดำเนินการกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะต้องรับผิดทั้งต่อโจทก์และจำเลยที่ 5 ในการกระทำความผิดครั้งเดียว ย่อมทำให้ต้องรับผิดเกินกว่าความเสียหายจริง แต่จำเลยที่ 5 มิได้นำเงินของโจทก์ไป หากแต่จำเลยที่ 1 เอาเงินของจำเลยที่ 5 ไป จำเลยที่ 5 เพียงแต่ต้องปรับแก้บัญชีของโจทก์ที่ระบุว่ามีการถอนเงินออกไปให้กลับคืนเหมือนเดิม และเงินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 5 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้
of 605