คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 55

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6,044 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2958/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เป็นโมฆะ ผู้ร้องไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ พ. เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย ภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่กระทำไปโดยฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และ 24 และเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้ศาลจังหวัดมีนบุรีมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว คำพิพากษาก็ไม่มีผลผูกพัน เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยกับ พ. เป็นโมฆะ ถือเสมือนไม่มีการทำนิติกรรม อันเป็นการเสียเปล่าไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ย่อมถือว่าคู่กรณียังคงอยู่ในฐานะเดิมเหมือนมิได้กระทำนิติกรรมต่อกัน และไม่มีผลให้ พ. มีสิทธิในที่ดินทั้ง 9 แปลงของจำเลย โดยไม่จำต้องให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่าสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะอีก ส่วนการที่ผู้ร้องในฐานะผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมของสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นกล่าวอ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องก็ได้ใช้สิทธิดังกล่าวแล้ว เมื่อครั้งที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ผู้ร้องงดการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลย และผู้ร้องมีคำสั่งว่าไม่มีเหตุให้งดการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทของจำเลยเนื่องจากสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยกับ พ. เป็นโมฆะ เมื่อผู้ร้องได้ยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้าง ทั้งไม่มีการเพิกถอนรายการจดทะเบียน ผู้ร้องจึงไม่มีเหตุที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลและไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 585-586/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องสิ้นสุดเมื่อผู้ถือหุ้นถูกริบหุ้นและบริษัทแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน
ขณะยื่นคําฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นโจทก์มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลย โดยอ้างว่าจำเลยจัดประชุมเพื่อเพิ่มทุนจดทะเบียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แย่งสิทธิการถือหุ้นและอำนาจบริหารของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ แต่เมื่อระหว่างพิจารณาได้ความว่า จำเลยริบหุ้นของโจทก์ทั้งหมดออกขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 เนื่องจากโจทก์ค้างชําระค่าหุ้น ต่อมาโจทก์ได้ขอรับเงินค่าหุ้นส่วนที่เหลือจากการขาดทอดตลาดแล้ว และคดีอาญาซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยและกรรมการจำเลยว่าร่วมกันลักทรัพย์โดยการริบหุ้นของโจทก์ทั้งหมดและนําหุ้นดังกล่าวออกขายทอดตลาดและรับของโจร ศาลฎีกามีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยและกรรมการจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์และรับของโจร โจทก์จึงไม่มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยอีกต่อไป ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยแล้วก่อนที่จะมีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นตามฟ้อง จึงถือว่าโจทก์ไม่มีส่วนได้เสียโดยตรงที่จะยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นในคดีนี้อีกต่อไป อำนาจฟ้องของโจทก์จึงหมดลง
นอกจากนี้ การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2554 ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 โดยขอให้ใช้จำนวนและอำนาจกรรมการชุดเดิมก่อนวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 มีผลบังคับและมีอำนาจต่อไป ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยจดทะเบียนแปรสภาพเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด กรรมการชุดเดิมซึ่งถูกแต่งตั้งตามมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 จึงหมดสภาพไปแล้วเนื่องจากจำเลยได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และได้มีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่แล้ว คําขอท้ายฟ้องของโจทก์จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะบังคับคดีให้เป็นไปได้อีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคําขอท้ายฟ้องได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4767/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องผู้จัดการมรดกในฐานะตัวแทน – หนี้ค่านายหน้าจากการขายทรัพย์มรดก
ป.พ.พ. บรรพ 6 มรดก ลักษณะ 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป หมวด 1 การตกทอดแห่งทรัพย์มรดก มาตรา 1600 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้" และมาตรา 1601 บัญญัติว่า "ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน" ส่วนลักษณะ 4 วิธีจัดการและปันทรัพย์มรดก หมวด 1 ผู้จัดการมรดก มาตรา 1711 บัญญัติว่า "ผู้จัดการมรดกนั้นรวมตลอดทั้งบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาล" มาตรา 1719 บัญญัติว่า "ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก" มาตรา 1721 บัญญัติว่า "ผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จจากกองมรดก เว้นแต่พินัยกรรม หรือทายาทโดยจำนวนข้างมากจะได้กำหนดให้ไว้" มาตรา 1722 บัญญัติว่า "ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตไว้ หรือได้รับอนุญาตจากศาล" มาตรา 1723 บัญญัติว่า "ผู้จัดการมรดกต้องจัดการโดยตนเอง เว้นแต่จะทำการโดยตัวแทนได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้ง หรือโดยปริยายในพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล หรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดก" และมาตรา 1724 บัญญัติว่า "ทายาทย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก ถ้าผู้จัดการมรดกเข้าทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอก โดยเห็นแก่ทรัพย์สินอย่างใด ๆ หรือประโยชน์อย่างอื่นใด อันบุคคลภายนอกได้ให้ หรือได้ให้คำมั่นว่าจะให้เป็นลาภส่วนตัว ทายาทหาต้องผูกพันไม่ เว้นแต่ทายาทจะได้ยินยอมด้วย" ย่อมเห็นได้ว่าในเรื่องเกี่ยวกับหนี้สินของผู้ตาย กฎหมายถือว่าเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายด้วย เพียงแต่ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับวิธีจัดการมรดก กฎหมายกำหนดให้มีบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้จัดการมรดกเป็นผู้รวบรวมทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ตายเพื่อสะสางหนี้สินและแบ่งปันทรัพย์สินของผู้ตายให้แก่ทายาทต่อไปจนเสร็จเรียบร้อย โดยระบุว่าผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ ตลอดทั้งความรับผิดอย่างใดบ้าง ดังนั้น หนี้ที่เกิดจากการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกจึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นได้โดยชอบตามกฎหมาย ซึ่งหากผู้จัดการมรดกกระทำภายในขอบอำนาจ หรือทายาทยินยอม หนี้นั้นย่อมผูกพันทายาทหรือกองมรดก มิใช่ว่าหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้วจะเกิดขึ้นไม่ได้และไม่ผูกพันกองมรดกแต่อย่างใดไม่ แต่หากผู้จัดการมรดกกระทำเกินขอบอำนาจและทายาทไม่ยินยอมแล้ว หนี้นั้นย่อมไม่ผูกพันทายาทหรือกองมรดกแต่อย่างใด โดยผู้จัดการมรดกต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวต่อไป เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยทั้งสอง ส. และ ว. ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมของ พ. และ น. ตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินทรัพย์มรดก และกองมรดกตกลงจ่ายค่านายหน้าให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่านายหน้าจากจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 845 ประกอบมาตรา 1724 กรณีจึงมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3857/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการขายฝากที่ดินเนื่องจากผู้ซื้อรู้ถึงข้อพิพาทและกระทำการโดยไม่สุจริต
โจทก์ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 2 เป็นผู้ซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาท โดยให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน แม้โจทก์เป็นคนต่างด้าว แต่ ป.ที่ดิน มิได้ห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยเด็ดขาด เป็นแต่เพียงต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวงและต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตาม ป.ที่ดิน มาตรา 86 วรรคสอง เท่านั้น และในกรณีที่คนต่างด้าวได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้คนต่างด้าวนั้นจัดการจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นตามมาตรา 94 ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวสามารถมีสิทธิในที่ดินได้ การที่จำเลยที่ 2 นำที่ดินและอาคารพาณิชย์ของโจทก์ไปขายฝากให้แก่จำเลยที่ 1 โดยพลการ ถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และแม้ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์มิได้ขอให้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาทกับเรียกให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาทคืนแก่โจทก์ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายอันจะมีสิทธิเรียกร้องให้กระทำได้ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์แปลความได้ว่า โจทก์ฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินคืน ซึ่งศาลมีอำนาจพิพากษาว่าที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาทเป็นของโจทก์ และบังคับให้โจทก์จำหน่ายที่ดินพิพาทให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ไปจดทะเบียนโอนจำหน่ายให้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3125/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนหุ้น, บันทึกข้อตกลง, และการระงับข้อพิพาท: สิทธิในการเรียกร้องหุ้นคืนหลังทำข้อตกลงประนีประนอม
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วยเหตุว่าการบังคับตามคำพิพากษาไม่อาจบังคับจำเลยที่ 2 ได้เพราะจำเลยที่ 2 พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจจำเลยที่ 1 ไปแล้ว จึงไม่มีอำนาจแก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1139 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์ฟ้องว่าอ้าง จำเลยที่ 2 จัดทำสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยลดสัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์แล้วนำหุ้นของโจทก์ที่ลดลงไปเพิ่มในสัดส่วนการถือหุ้นของจำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบ แล้วศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 โอนหุ้นของโจทก์ซึ่งเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อโดยไม่ชอบขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง และข้อบังคับของจำเลยที่ 1 การโอนหุ้นตกเป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ 1 แก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้โจทก์กลับมาถือหุ้นของโจทก์ตามเดิม ซึ่งเลขหมายใบหุ้นบางส่วนเป็นหุ้นที่จำเลยที่ 2 ถือครองอยู่ และบางส่วนเป็นหุ้นที่จำเลยที่ 2 โอนไปให้บุคคลอื่นแล้ว คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นจึงเป็นการกระทบสิทธิของจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวโดยตรง จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้
เมื่อเริ่มจัดตั้งจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องไว้ตรงกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1141 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้อง ทั้งโจทก์มีใบสำคัญรับชำระเงินลงหุ้นซึ่งจำเลยที่ 2 ลงชื่อรับเงินไว้มาแสดง และจำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ที่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ในการปรับลดหุ้นของโจทก์ทุกครั้ง แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 เคารพสิทธิของโจทก็ในการเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักเชื่อได้ว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองแก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นซึ่งอ้างว่ากระทำโดยไม่ชอบ
แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยจัดทำใบหุ้นมอบให้ผู้ถือหุ้นคนใดรวมถึงโจทก์แต่เมื่อหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 มีการออกเลขหมายใบหุ้นแล้ว จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการจำเลยที่ 1 แก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์หลายครั้งและสุดท้ายไม่ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์โอนหุ้นของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และปฏิบัติตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแก้ไขสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นและสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้ถูกต้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่เดิม
หลังจากเกิดข้อพาทเกี่ยวกับการโอนหุ้นโดยมิชอบ โจทก์และจำเลยที่ 2 ได้เจรจาและทำบันทึกข้อตกลงกันว่าจำเลยที่ 2 ตกลงยกหุ้นของตนในบริษัทจำเลยที่ 1 บางส่วนให้แก่โจทก์และพี่สาวโจทก์ โดยโจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงปฏิบัติตามที่ได้ตกลงกัน ข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ทำสัญญานี้ ทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจฟ้องร้องดำเนินคดีหรือเรียกร้องสิ่งอื่นใดต่อกันอีก ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ตกลงประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 อันมีผลให้ข้อเรียกร้องของโจทก์ที่มีอยู่เดิมนั้นได้ระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องเอาหุ้นที่จำเลยที่ 2 โอนให้แก่ตนเองโดยมิชอบได้ คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 โอนหุ้นตามบันทึกข้อตกลงเท่านั้น แม้โจทก์ไม่ได้ฟ้องบังคับตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว แต่ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 และทางพิจารณามีการนำสืบต่อสู้เกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงมาแล้ว ศาลย่อมวินิจฉัยไปตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ เมื่อปรากฏตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นว่า จำเลยที่ 2 ยังถือหุ้นจำเลยที่ 1 ซึ่งสามารถโอนให้แก่โจทก์ได้ จึงชอบที่จะพิพากษาให้โจทก์ได้รับโอนหุ้นของจำเลยที่ 2 ตามบันทึกข้อตกลง
เมื่อโจทก์ทำบันทึกข้อตกลงกับจำเลยที่ 2 แล้ว ย่อมมีผลผูกพันให้ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตาม การจะเลิกบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาจะกระทำได้ต่อเมื่อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเท่านั้น คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อาจบอกเลิกโดยอำเภอใจ เมื่อบันทึกข้อตกลงไม่ได้ให้สิทธิคู่สัญญาที่จะบอกเลิกข้อตกลงและไม่ปรากฏว่าเป็นกรณีที่โจทก์มีสิทธิตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะบอกเลิกข้อตกลงแล้ว การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแต่ฝ่ายเดียวจึงไม่ชอบ โจทก์และจำเลยที่ 2 จึงคงต้องผูกพันและปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1753/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องในคดีเพิกถอนมติคณะกรรมการอาคารชุด ต้องแสดงให้เห็นถึงความเสียหายหรือกระทบสิทธิของผู้ฟ้อง
โจทก์เป็นเจ้าของร่วมคนหนึ่งในอาคารชุด ศ. แต่ไม่ได้เป็นกรรมการและไม่ได้เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจําเลยที่ 1 ทั้งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการงานของนิติบุคคลอาคารชุดจําเลยที่ 1 ฟ้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2560 ซึ่งมีมติให้จําเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ จําเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ และจําเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และเพิกถอนการประชุมคณะกรรมการในวาระพิเศษเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ซึ่งมีมติอนุมัติว่าจ้างบริษัท ว. เข้าบริหารจัดการอาคารชุดรายใหม่ โดยกล่าวอ้างในฟ้องเพียงว่า ในการประชุมคณะกรรมการทั้งสองครั้ง ไม่มีการเชิญหรือแจ้งนัดประชุมให้แก่ อ. และ ณ. ซึ่งเป็นกรรมการทราบ ทำให้ อ. และ ณ. ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ซึ่ง อ. และ ณ. ผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิโดยตรงไม่ได้เป็นผู้ฟ้อง เมื่อคําฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า มติที่ประชุมทั้งสองครั้งก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ หรือนิติบุคคลอาคารชุดจําเลยที่ 1 หรือบรรดาเจ้าของร่วมอย่างไร หรือมติที่ประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลทั้งสองครั้งกระทบต่อสิทธิของโจทก์อย่างไร จําเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งที่คณะกรรมการมีมติแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2560 ตามที่ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมให้อำนาจไว้ และบริษัท ว. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่คณะกรรมการมีมติอนุมัติว่าจ้างให้เข้าบริหารจัดการอาคารชุดรายใหม่เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ฟ้องโจทก์ก็มิได้ระบุว่าจําเลยที่ 2 และบริษัท ว. ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือทำงานผิดพลาดบกพร่องหรือทุจริตแต่อย่างใด ทั้งมติที่ประชุมที่โจทก์ขอเพิกถอนนั้นมีการลงมติตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2560 และวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ตามลำดับ แต่โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ล่วงเลยเวลานานหลายเดือน และยังขอให้จําเลยที่ 2 คืนเงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่ได้รับจากจําเลยที่ 1 ทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2560 โดยอ้างเรื่องไม่ได้มีการเชิญหรือแจ้งนัดประชุมให้ อ. และ ณ. กรรมการทราบเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดบกพร่องหรือทุจริตแต่ประการใด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่า จําเลยทั้งห้าได้กระทำสิ่งใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1534/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ การโต้แย้งสิทธิใช้ทางของเจ้าของที่ดินติดกัน ถือเป็นการละเมิด
เจ้าของเดิมแบ่งแยกที่ดินมีโฉนด 1 แปลง ออกเป็น 8 แปลง แล้ว ทำให้ที่ดินแปลงย่อยบางแปลงไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ต้องใช้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นแปลงที่เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ ภายหลังแบ่งแยกที่ดินเจ้าของเดิมขายที่ดินที่แบ่งแยกไปจนหมด คงเหลือแต่ที่ดินพิพาทที่ไม่ได้จำหน่ายจ่ายโอน โดยไม่ปรากฏว่าเจ้าของเดิมหรือทายาทอื่นได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ถือได้ว่าเจ้าของเดิมไม่มีเจตนากันที่ดินพิพาทไว้ใช้ทำนาหรือทำประโยชน์ใด ๆ แต่มีเจตนาจะให้ที่ดินพิพาทเป็นทางเชื่อมต่อระหว่างที่ดินที่ถูกแบ่งแยกกับทางสาธารณประโยชน์ทั้งสามด้าน เพื่อให้ขายได้ง่ายและในราคาสูง การที่เจ้าของเดิมยินยอมให้ขุดคลองเชื่อมต่อจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินแปลงที่มายังที่ดินแปลงอื่น และมีการทำถนนกับปรับปรุงถนนที่มีลักษณะมั่นคงเป็นถนนคอนกรีต กับการดูแลรักษาคลองโดยใช้งบประมาณของหน่วยงานราชการเรื่อยมา โดยประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์จากคลองและถนนในที่ดินพิพาทเป็นเวลากว่า 30 ปี อีกทั้งมีการปักเสาไฟฟ้าและวางท่อประปาในที่ดินพิพาท โดยไม่มีพฤติการณ์โต้แย้งหวงกันจากเจ้าของเดิมและจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้าของเดิม ถือได้ว่าเจ้าของเดิมอุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว แม้ไม่ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนของราชการก็ตาม ที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2)
ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 122 และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. 2553 กำหนดให้อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ ก็เป็นกฎหมายที่กำหนดหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในการดูแลสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนรวม แต่มิได้ตัดสิทธิเอกชนใดที่จะใช้สิทธิของตนในสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินที่อยู่ติดกับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โจทก์จึงชอบที่จะใช้สอยที่ดินพิพาทได้ การที่จำเลยที่ 1 เข้ายึดถือครอบครองโดยนำท่อคอนกรีตวางขวางทางเข้าออกที่ดินของโจทก์ในเส้นทางดังกล่าว ทั้งดำเนินคดีโจทก์ทางอาญาในข้อหาบุกรุกและทางแพ่งฐานละเมิดต่อศาลชั้นต้น แม้ภายหลังต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำท่อคอนกรีตที่ขวางทางโจทก์ออกไปแล้ว ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในการใช้ทางสาธารณประโยชน์เยี่ยงประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แล้ว อันถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 และ 1337 โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์จะได้รับประโยชน์จากการจัดสรรที่ดินของโจทก์หรือต้องรับผิดต่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรรของโจทก์หากไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตามที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินแก่โจทก์หรือไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 และเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1048/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือบอกกล่าวผู้ค้ำประกันต้องทำหลังลูกหนี้ผิดนัดตามกฎหมายใหม่ หากทำก่อน ศาลขาดอำนาจฟ้อง
แม้สัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับ แต่มาตรา 19 บัญญัติว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 แต่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 10 เมษายน 2560 ขอให้จำเลยที่ 6 ชำระเงินตามภาระหนี้ค้ำประกัน ซึ่งเป็นหนังสือบอกกล่าวก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 6 ทราบภายในหกสิบวันนับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4864/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาเช่าพื้นที่ - จำเลย 1 ไม่ผิดสัญญาเปิดศูนย์การค้า - โจทก์ไม่ยอมรับมอบพื้นที่
จำเลยที่ 2 เป็นบริษัทร้างซึ่งนายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนแล้วตามความในมาตรา 1273/3 แห่ง ป.พ.พ. เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2560 เช่นนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อจำเลยที่ 2 ออกเสียจากทะเบียน ซึ่งเป็นกรณีการถอนทะเบียนบริษัทจำกัดร้าง มิใช่เป็นกรณีที่บริษัทเลิกกันอันให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1249 โจทก์ยื่นฟ้องในวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 2 สิ้นสภาพนิติบุคคลแล้ว ดังนั้น ขณะฟ้องจำเลยที่ 2 จึงไม่มีสภาพความเป็นนิติบุคคลที่จะให้โจทก์ฟ้องได้ ประกอบกับข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งจดชื่อจำเลยที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนเสียก่อนที่จะฟ้องตามมาตรา 1273/4 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) และมาตรา 55

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4138/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแย่งการครอบครองที่ดิน, สิทธิการครอบครอง, การเช่าที่ดิน, และอายุความฟ้องขับไล่
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ตนเองมีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงพิพาทดีกว่าโจทก์ แต่จำเลยกลับให้การต่อมาว่า โจทก์ทราบข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ยอมชำระค่าเช่าตั้งแต่ปี 2553 ต่อมาปี 2555 โจทก์รับโอนที่ดินมาจากมารดา การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขับไล่จำเลยเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ จึงเห็นได้ว่าคำให้การในตอนต้นของจำเลยต่อสู้ว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่พิพาท ส่วนคำให้การในตอนหลังกลับยอมรับสิทธิของโจทก์เรื่องจำเลยไม่ชำระค่าเช่าให้โจทก์ คำให้การของจำเลยจึงขัดแย้งกันเอง เป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง
จำเลยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ แม้ที่ดินส่วนนี้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตาม แต่ก็เพียงทำให้โจทก์ไม่สามารถอ้างสิทธิใด ๆ ขึ้นโต้แย้งรัฐได้เท่านั้น แต่ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นราษฎรด้วยกัน การที่จำเลยเช่าที่ดินส่วนที่ไม่มีเอกสารสิทธิเนื้อที่ 23 ไร่ 96 ตารางวาจากโจทก์ โดยจำเลยยอมเสียค่าเช่าหรือค่าตอบแทนแก่โจทก์ ถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลย การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทเป็นการอาศัยสิทธิของโจทก์ จึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทส่วนนี้ดีกว่าจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย
of 605