คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 55

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6,044 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9191/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้อง, เงินทุนบริษัท, หน้าที่กรรมการ: ศาลฎีกายกฟ้องโจทก์ผู้ถือหุ้นเนื่องจากไม่มีอำนาจฟ้อง และพิพากษาให้จำเลยในฐานะกรรมการปฏิบัติตามหน้าที่
เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าเงินพิพาทเป็นเงินที่ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นตามจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนถือหุ้นของโจทก์ที่ 1 เงินพิพาทจึงถือเป็นเงินทุนของโจทก์ที่ 1 มิใช่เงินส่วนตัวของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 41 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น เมื่อโจทก์ที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด แล้ว การจัดการบริษัท ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับผู้ถือหุ้นและกรรมการ ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 4 ว่าด้วยบริษัทจำกัด
เมื่อโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องร้องจำเลยในฐานะกรรมการที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท โดยให้จำเลยปิดบัญชีหรือร่วมกันกับผู้มีอำนาจอื่นปิดบัญชีเงินฝากธนาคารและส่งมอบแคชเชียร์เช็คพร้อมส่งมอบ
เงินพิพาทหรือชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 41 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น จึงไม่ใช่บุคคลที่ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และมิใช่กรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง อันจะเป็นเหตุให้ผู้ถือหุ้นต้องฟ้องแทน
หรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 41 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8906/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีละเมิด: เจ้าของกรรมสิทธิ์/ครอบครองจริง แม้กรรมสิทธิ์จะเปลี่ยนมือ แต่ยังคงครอบครองและใช้ประโยชน์
โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า ช. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 72398 ตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งบ้านเลขที่ 110/1 ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว ต่อมา ช. รื้อบ้านหลังดังกล่าวและปลูกสร้างเป็นอาคาร 2 หลัง แทนหลังเดิมและขอเลขที่บ้านเป็น 3 หลัง ให้ ส. ภริยาและบุตร 4 คน พักอาศัยอยู่ร่วมกันในที่ดินแปลงเดิม แบ่งเป็นบ้านเลขที่ 110/1 ให้ ส. ป. และ ก. พักอาศัย บ้านเลขที่ 110/4 ให้โจทก์ที่ 2 พักอาศัยและบ้านเลขที่ 110/5 ให้ ณ. พักอาศัย แสดงให้เห็นเจตนาและความประสงค์ให้บุตรและภริยาได้พักอาศัยเป็นสัดส่วน ช. โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ ป. และ ก. โดยเสน่หา แต่โจทก์ที่ 2 ยังคงพักอาศัยในบ้านและที่ดินดังกล่าวมาโดยตลอดไม่ได้ปล่อยให้ ป. และ ก. ครอบครองเพียงฝ่ายเดียว เมื่อโจทก์ที่ 2 แต่งงานกับโจทก์ที่ 1 แล้วย้ายไปพักอาศัยที่อื่น ก็นำบ้านหลังดังกล่าวให้บุคคลภายนอกเช่าโดยไม่มีบุคคลใดโต้แย้งกรรมสิทธิ์ ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของและครอบครองบ้านเลขที่ 110/4 เมื่อโจทก์ทั้งสองอ้างว่า ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งหกและจำเลยร่วมอันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง
ส่วนการยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ต้องแสดงเหตุว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นนั้นฟ้องตนได้เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน โดยต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องหรือคำให้การ ถ้ายื่นภายหลังนั้นต้องแสดงเหตุให้เป็นที่พอใจของศาลว่าไม่สามารถยื่นคำร้องได้ก่อนนั้นได้แต่ต้องยื่นก่อนมีคำพิพากษา การที่จำเลยที่ 6 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีพร้อมกับคำให้การได้โดยจำเลยที่ 6 แสดงเหตุอันสมควรที่จำเลยที่ 6 ไม่สามารถยื่นคำร้องได้เนื่องจากจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันขอตรวจสอบความเสียหายและเจรจากับโจทก์ทั้งสองก่อน จนกระทั่งจำเลยร่วมปฏิเสธไม่รับผิด จำเลยที่ 6 จึงยื่นคำร้องขอหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีภายหลังจากที่จำเลยที่ 6 ยื่นคำให้การแล้ว แต่เป็นระยะเวลาก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และศาลชั้นต้นอนุญาตให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี คำร้องขอหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีของจำเลยที่ 6 จึงชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7275/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน: การมีเอกสิทธิเดิมของเจ้าของที่ดินและการเวนคืน
แม้ที่ดินพิพาทจะอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินในท้องที่อำเภอบ้านแพง แต่หากในเขตปฏิรูปที่ดินมีที่ดินของเจ้าของที่ดินผู้มีสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินอยู่ก่อนแล้ว รัฐจะนำที่ดินนั้นมาจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ และสถาบันเกษตรกรก็ได้ แต่โดยวิธีที่รัฐจัดซื้อหรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดินซึ่งมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือมีที่ดินเกินสิทธิ ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 4, 28, 29, 32, 34, และ 35 ดังนั้นลำพังแต่เพียงที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินหาทำให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาทเป็นการออกโดยชอบด้วยกฎหมาย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมไม่สามารถนำที่ดินที่มีเอกสารสิทธิมาจัดสรรเป็นที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ และไม่ปรากฏว่าได้มีการจัดซื้อหรือเวนคืนที่ดินพิพาทตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5211/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละสิทธิทำกินในที่ดิน ส.ป.ก. และผลกระทบต่ออำนาจฟ้อง
ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและเป็นที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเทียบเท่ากรม ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่ดินของรัฐ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพียงจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดให้เข้าทำกินได้เท่านั้น สิทธิการครอบครองและกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังคงเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์มีเพียงสิทธิทำกินหรือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทนหรืออาศัยสิทธิจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น ส่วนจำเลยซึ่งมิได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมไม่อาจยกอายุความการครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครองแทนและอาศัยสิทธิสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518
หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) มีข้อควรทราบและพึงปฏิบัติระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังบุคคลอื่นมิได้ และเมื่อผู้ได้รับอนุญาตสละสิทธิในที่ดินแล้ว ย่อมสิ้นสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน การที่ ส. มารดาจำเลยและจำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทระหว่างปี 2533 ถึง 2535 และโจทก์มอบ ส.ป.ก. 4-01 ให้แก่ ส. และจำเลยยึดถือไว้ตลอดมา พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ได้สละสิทธิทำกินในที่ดินพิพาทให้แก่ ส. และจำเลยแล้ว ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 39 การที่โจทก์กลับมาอ้างสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ฟ้องขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิจาก ส. ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4261/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนมีความสัมพันธ์กับสามี แม้จดทะเบียนหย่าแล้ว ไม่เป็นการละเมิด แต่ต้องมีการแสดงตนโดยเปิดเผย
โจทก์ในฐานะภริยามีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แม้ขณะฟ้องจะได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว กรณีมิใช่การกระทำละเมิด
ส่วนปัญหาจำเลยต้องใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เนื่องจากคู่ความได้สืบพยานกันเสร็จสิ้นแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4078/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของผู้จัดการมรดกกรณีห้างหุ้นส่วนเสียหาย และการถอดถอนผู้ชำระบัญชีที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่
แม้โจทก์มิได้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด แต่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด หากมีการกระทำไปในทางที่จะทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคลเสียหาย ย่อมถือว่าโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีอำนาจฟ้องขอให้ถอดถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดและตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ชำระบัญชีแทนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3412/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนรายการจดทะเบียนบริษัท: โจทก์ต้องเพิกถอนมติที่ประชุมก่อน จึงจะขอให้จำเลย (นายทะเบียน) เพิกถอนรายการจดทะเบียนได้
เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่า ล. กับพวกร่วมกันยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจำนวนกรรมการ กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท และตราประทับของบริษัทโดยอาศัยมติที่ประชุมอันเป็นเท็จ เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปฟ้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าวก่อน และหากโจทก์ชนะคดีจึงจะมีสิทธินำคำพิพากษาไปยื่นต่อจำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเพื่อรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไข
การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในฐานะนายทะเบียนให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนดังกล่าวเป็นคดีนี้จึงไม่ถูกต้อง จำเลยเป็นนายทะเบียนมิได้เป็นผู้จัดทำรายงานการประชุมที่โจทก์อ้างว่าเป็นเท็จ การที่จำเลยรับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนกรรมการ กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท และตราประทับของบริษัทก็เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฎหมาย และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยรับจดทะเบียนไว้โดยไม่ชอบ การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2567/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม: การคำนวณระยะเวลาและอัตราดอกเบี้ยที่ถูกต้องตามกฎหมาย
การที่โจทก์จะฟ้องคดีภาษีอากรต่อศาลภาษีอากรกลางได้จะต้องเป็นคดีที่ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 สำหรับคดีเกี่ยวกับการขอคืนภาษีอากรนั้น ในกรณีที่กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรบัญญัติให้ขอคืนเงินค่าภาษีอากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ จะดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาเช่นว่านั้น ตามมาตรา 9 ทั้งต้องมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17
คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จำเลยมีหนังสือแจ้งไม่คืน โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาโจทก์ได้ชี้แจงและนำส่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ประกอบการขอคืนเพิ่มเติม จำเลยมีหนังสือยกเลิกคำสั่งแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร และโอนเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ แต่ไม่คืนดอกเบี้ยตาม ป.รัษฎากร มาตรา 4 ทศ เห็นได้ว่าดอกเบี้ยตามมาตรา 4 ทศ เป็นดอกผลโดยนิตินัยของภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์เสียเกินไปกว่าจำนวนที่ต้องเสีย และจำเลยต้องพิจารณาสั่งคืน เมื่อจำเลยสั่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ไม่คืนดอกเบี้ยแก่โจทก์ ย่อมมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายแพ่งแล้ว
การคำนวณดอกเบี้ยต้องเริ่มคิดตั้งแต่วันครบกำหนดระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินคืนภาษีอากรข้อ 1 (2) มิใช่นับแต่วันส่งเอกสารจนครบ เนื่องจากการที่เจ้าพนักงานเรียกให้ส่งมอบเอกสารหลักฐานให้ตรวจสอบ ตามข้อ 2 วรรคสาม มีผลเพียงให้ระงับการคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันสุดท้ายของเวลาที่เจ้าพนักงานสั่ง ตามข้อ 2 วรรคสี่ เท่านั้น เมื่อนับแต่วันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีในเดือนภาษีที่พิพาทแต่ละฉบับจนถึงวันที่ลงนามในคำสั่งคืนเงินเป็นระยะเวลาที่พ้นกำหนดสามเดือน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ย
ตามหนังสือที่แจ้งให้โจทก์ไปพบเจ้าพนักงานเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและนำส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 18 เมษายน 2556 เป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานที่เรียกเอกสารหรือพยานหลักฐานที่กำหนดเวลาไว้น้อยกว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ข้อ 2 วรรคสาม จำเลยไม่อาจระงับการคิดดอกเบี้ยแก่โจทก์ได้ โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน
กฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ข้อ 1 วรรคสอง นั้น ให้คิดดอกเบี้ยจนถึงวันที่จำเลยลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน หลังจากนั้นไม่มีการคิดดอกเบี้ยแก่โจทก์อีก จำเลยชอบที่จะเร่งรัดคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ชำระเกินไปพร้อมดอกเบี้ย เมื่อจำเลยลงนามในหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์แล้ว จำเลยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่โจทก์อีกต่อไป การที่ดอกเบี้ยการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มหยุดลงตั้งแต่วันที่จำเลยลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนภาษีแล้ว หาใช่การคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดไม่ โจทก์ชอบที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหาย เนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของมาตรา 4 ทศ ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ระหว่างการพิจารณา จำเลยจ่ายดอกเบี้ยให้แก่โจทก์แล้วบางส่วนจำนวน 651,143.76 บาท ความเสียหายในส่วนนี้ได้รับการบรรเทาไปแล้ว จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดอกเบี้ยภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยังค้างจ่ายแก่โจทก์ นับแต่วันถัดจากวันลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนภาษีจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1948/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับโอนที่ดินบังคับคดีโดยวิธีพิเศษและอำนาจฟ้องขับไล่ แม้มีการโอนสิทธิระหว่างดำเนินคดี
โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งได้มาโดยการบังคับจำนองขายทอดตลาด แต่ไม่มีผู้ใดสนใจซื้อ โจทก์จึงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาเป็นของโจทก์ ซึ่งการรับโอนดังกล่าวเป็นการจำหน่ายโดยวิธีอื่น ตามมาตรา 76 แห่ง พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ซึ่งตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 218 อันเป็นบทยกเว้นหลักการและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับแก่กรณีปกติทั่วไป การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆะ
ขณะโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาล โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยละเมิดสิทธิของโจทก์ แม้ต่อมาโจทก์จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่บุคคลอื่นระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ไม่ทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ที่บริบูรณ์อยู่แล้วต้องเสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1849/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องในคดีเช่าที่ดิน: สมาชิกภาพสหกรณ์และการดำเนินการตามข้อบังคับ
ตามข้อบังคับของสหกรณ์จำเลยระบุว่า สหกรณ์มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกดำเนินกิจการร่วมกันช่วยเหลือซึ่งกันและกันเกี่ยวกับการจัดให้ได้มาซึ่งที่ดินทำกิน ให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งรวมทั้งวัตถุประสงค์ครอบครองและจัดสรรที่ดินให้แก่สมาชิกใช้เป็นที่อยู่อาศัยประกอบอาชีพเป็นของตนเอง เห็นได้ว่าผู้มีสิทธิเช่าที่ดินจากจำเลยจะต้องเป็นสมาชิกของสหกรณ์จำเลยเท่านั้น ส่วนข้อบังคับที่ระบุว่า การโอนสิทธิและผลประโยชน์สิทธิและผลประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดของสมาชิกอันมีอยู่เกี่ยวกับที่ดินที่ตนครอบครองจะโอนไปยังผู้ใดมิได้ เว้นแต่จะโอนให้ทายาทหรือโอนโดยทางมรดกนั้น หากสมาชิกของจำเลยผู้เช่าที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพจากจำเลยถึงแก่ความตาย สิทธิการเช่าของผู้ตายเป็นมรดกตกทอดให้แก่ทายาทได้ แต่ทั้งนี้ทายาทผู้ตายต้องมีคุณสมบัติเป็นสมาชิกตามข้อบังคับข้อ 46 (1) ถึง (10) ด้วย อีกทั้งต้องผ่านการพิจารณารับสมาชิกจากคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์จำเลยเสียก่อน ตามข้อบังคับ ข้อ 84 (1) เมื่อ ช. ถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นบุตรของ ช. ได้ขอเป็นสมาชิกของจำเลยแล้ว แต่คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์จำเลยไม่รับโจทก์ทั้งสามเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของจำเลย โจทก์ทั้งสามชอบที่จะดำเนินการตามข้อบังคับของสหกรณ์จำเลย ข้อ 47 วรรคท้าย ที่กำหนดว่า ถ้าคณะกรรมการดำเนินการไม่ยอมรับสมัครเข้าเป็นสมาชิกด้วยเหตุใด ๆ ผู้สมัครอาจร้องขอให้คณะกรรมการดำเนินการนำเรื่องเสนอที่ประชุมใหญ่เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด มติแห่งที่ประชุมใหญ่ให้รับเข้าเป็นสมาชิกในกรณีดังว่านี้ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามแห่งจำนวนสมาชิกที่มาประชุม โจทก์ทั้งสามจะต้องร้องขอให้คณะกรรมการดำเนินการนำเรื่องที่ไม่ยอมรับสมัครเข้าเป็นสมาชิกเสนอที่ประชุมใหญ่เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป แต่โจทก์ทั้งสามมิได้ดำเนินการเช่นว่านั้นเสียก่อน การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการข้ามขั้นตอนตามที่ข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวระบุไว้ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
of 605