คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 55

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6,044 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13925/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระงับข้อพิพาทแรงงานต้องเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายก่อนฟ้องคดี การฟ้องก่อนถึงขั้นตอนมีผลต่ออำนาจฟ้อง
การที่โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2551 ตกไปนับแต่วันที่ยื่นและคณะกรรมการลูกจ้างที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่งตั้งตามหนังสือฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2551 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น หากโจทก์เห็นว่าการแจ้งข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่เข้าร่วมการเจรจากับจำเลยที่ 1 และหากมีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น โจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็จะต้องดำเนินการระงับข้อพิพาทแรงงานนั้นเป็นลำดับขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดก่อน จะด่วนนำคดีมาสู่ศาลแรงงานไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อมิให้ขั้นตอนในการแจ้งข้อเรียกร้องเจรจาและไกล่เกลี่ยตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ต้องหยุดชะงักหรือถูกประวิงเวลาเพื่อไม่เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย และหากโจทก์เห็นว่าคณะกรรมการลูกจ้างที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่งตั้งไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ยอมรับการแต่งตั้งดังกล่าวแล้วปฏิบัติต่อลูกจ้างที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างนั้นไปอย่างเช่นลูกจ้างธรรมดา ในชั้นนี้โจทก์จึงยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสิบสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13923/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแรงงาน: สิทธิยังไม่ถูกโต้แย้ง การเปลี่ยนแปลงระเบียบอาจเกิดขึ้นได้
โจทก์ฟ้องอ้างว่าการที่จำเลยยกเลิกข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.2529 แล้วนำระเบียบบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ.2546 ระเบียบดังกล่าวฉบับที่ 2 พ.ศ.2548 และฉบับที่ 3 พ.ศ.2548 มาใช้บังคับแก่โจทก์ เป็นผลให้โจทก์ได้รับบำเหน็จเป็นจำนวนเงินที่ลดลงกว่าข้อบังคับเดิมเมื่อโจทก์ต้องออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุในปี 2567 ขอให้ยกเลิก เพิกถอนระเบียบทั้งสามฉบับนั้นไม่ให้มีผลใช้บังคับแก่โจทก์และให้จำเลยใช้ข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.2529 แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานจะมีสิทธิได้รับบำเหน็จจากกองทุนดังกล่าวเมื่อออกจากกองทุนหรือออกจากงานตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับหรือระเบียบของกองทุน ขณะฟ้องคดีโจทก์ยังไม่ได้ออกจากกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานและไม่ได้ครบอายุเกษียณหรือออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยด้วยเหตุอื่นที่จะทำให้เกิดสิทธิในการได้รับบำเหน็จจากกองทุนดังกล่าว และก่อนที่จะถึงวันที่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จจากกองทุนนั้นไม่ว่าเพราะเหตุเกษียณอายุในปี 2567 หรือเพราะเหตุอื่น จำเลยก็อาจมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบอีกก็ได้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิใดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13810/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีของผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทเรียกร้องค่าใช้จ่ายจากบริษัท กรณีจัดสรรที่ดิน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ ธ. พ. จำเลยที่ 1 ก. จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตกลงร่วมลงทุนซื้อที่ดินเพื่อนำมาจัดสรรขาย โดยมีหลักการและข้อตกลงว่า ที่ดินที่ร่วมจัดสรรทั้งหมดมีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ การค้าที่ดินต้องขออนุญาตจัดสรรจากราชการให้ถูกต้อง โดยต้องจัดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินการ... หลังจากนั้นได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัท อ. และบริษัท ม. ขึ้น และโจทก์เบิกความเป็นพยานว่า โจทก์ จำเลยที่ 1 ก. จำเลยที่ 3 และที่ 4 ธ. กับ พ. ร่วมลงทุนจัดสรรที่ดินจำหน่าย โดยโจทก์ ธ. และ พ. ลงทุนด้วยเงิน ส่วนจำเลยที่ 1 และ ก. ลงทุนด้วยที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ ก. เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ ที่ดินที่ ก. ทำสัญญาจะซื้อจะขายจาก ป. และ ท. เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ กับที่ดินซึ่งจำเลยที่ 1 ให้ อ. กับ ว. บุตรชายถือกรรมสิทธิ์แทน สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ลงหุ้นด้วยที่ดิน ในการนี้ผู้ถือหุ้นทุกคนเห็นว่าการดำเนินการต้องทำในรูปนิติบุคคลตามระเบียบราชการ จึงจะจัดตั้งบริษัทขึ้น 2 บริษัท เพื่อดำเนินกิจการจัดสรรที่ดิน แบ่งเป็นบริษัทละไม่เกิน 500 แปลง จากคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่า การตกลงกันระหว่างโจทก์กับผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ ในการจัดสรรที่ดินจำหน่ายตามฟ้องนี้ มีลักษณะเป็นการตกลงกันของผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัท หาใช่มีเจตนาร่วมกันประกอบกิจการเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนไม่ เพราะผู้ถือหุ้นทุกคนมีเจตนามาแต่แรกที่จะจัดตั้งบริษัทขึ้นเพื่อดำเนินกิจการจัดสรรที่ดิน การทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่จะนำมาจัดสรรแปลงต่างๆ จึงเป็นไปเพื่อกิจการของบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นมา ดังนั้นเมื่อมีการจดทะเบียนตั้งบริษัทในเวลาต่อมาตามที่ผู้เริ่มก่อการตกลงกันแล้ว บรรดานิติกรรมสัญญาต่างๆ ที่ผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้ และค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งผู้เริ่มก่อการได้ออกไปในการเริ่มก่อตั้งบริษัท เมื่อได้ให้สัตยาบันในการประชุมตั้งบริษัทแล้วย่อมผูกพันบริษัท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1108 (2) ผู้เริ่มก่อการคนใดออกค่าใช้จ่ายไปย่อมต้องไปว่ากล่าวเอาจากบริษัทที่จดทะเบียนตั้งขึ้นตามที่ตกลงกัน
ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนตั้งบริษัท อ. และบริษัท ม. โจทก์ในฐานะผู้เริ่มก่อการบริษัทได้จ่ายเงินเป็นค่าที่ดิน ทั้งปรากฏต่อมาว่า บริษัท ม. ขออนุญาตค้าที่ดินแปลงที่ปรากฏในหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย จึงน่าเชื่อว่ามีการให้สัตยาบันในเรื่องนี้ในที่ประชุมตั้งบริษัทแล้ว ดังนี้ บรรดาค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่ผู้เริ่มก่อการทำไว้ เมื่อบริษัทถูกจัดตั้งขึ้นแล้ว ผู้ที่ออกเงินค่าใช้จ่ายย่อมต้องไปว่ากล่าวเอาแก่บริษัททั้งสองเอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เริ่มก่อการด้วยคนหนึ่งให้คืนเงินแก่โจทก์ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13572/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการขนย้ายแร่ที่ประมูลได้จากการขายทอดตลาดของกลาง แม้เจ้าของที่ดินมิได้ยินยอม
การที่โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อแร่ของกลางที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้บนที่ดินของจำเลย จากการขายหรือจำหน่ายของอธิบดีโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหารตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 มาตรา 15 จัตวา (1) แต่จำเลยไม่ยินยอมให้โจทก์เข้าไปขนแร่ของกลางออกจากที่ดินของจำเลย การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยมิให้ขัดขวางการขนย้ายแร่ของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13552/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความต้องระงับข้อพิพาททั้งหมด การตกลงเฉพาะส่วนไม่ถือเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
บุคคลที่มีข้อพิพาทซึ่งอาจใช้สิทธิทางศาลต่อกัน อาจตกลงระงับข้อพิพาทดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ อันมีผลทำให้หนี้เดิมระงับตามมาตรา 852 แล้วผูกพันกันตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แต่บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในข้อที่ 1 ระบุว่า "ส่วนเรื่องหย่าและสินสมรสนั้นจะได้ตกลงกันในภายหลัง" แล้วตกลงกันเพียงว่า จำเลยที่ 1 จะส่งค่าเลี้ยงดูให้โจทก์เดือนละ 20,000 บาท ทั้งๆ ที่ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเกิดจากจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 จนมีบุตร ทั้งจำเลยทั้งสองอยู่กินด้วยกัน อันเป็นการยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาซึ่งมีผลให้โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 และการหย่ายังทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 นอกจากนี้การที่จำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาว ทำให้โจทก์เรียกค่าทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 ข้อพิพาทที่ทำให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ทั้งสามประการมิได้มีการตกลงเพื่อระงับกันให้เสร็จไปแต่อย่างใด บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และตามพฤติการณ์ที่มีการระบุไว้ว่าจะมีการตกลงเรื่องหย่าและสินสมรสกันในภายหลังนั้นแสดงว่าโจทก์ไม่ได้ให้อภัยแก่จำเลยที่ 1 อันจะเป็นเหตุให้สิทธิฟ้องหย่า ระงับสิ้นไป การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกร้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มาเป็นข้อต่อสู้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13287/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมติดไปกับสามยทรัพย์ แม้มีการโอนสิทธิ ผู้รับโอนใช้สิทธิได้โดยไม่ต้องขอศาลรับรอง
ป.พ.พ. มาตรา 1393 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่ายหรือตกไปในบังคับแห่งสิทธิอื่น ซึ่งหมายความว่า ภาระจำยอมย่อมตกติดไปกับสามยทรัพย์เสมอ ไม่ว่าจะโอนสามยทรัพย์ให้ผู้ใด เว้นแต่กรณีภาระจำยอมได้มาโดยนิติกรรมและนิติกรรมที่ก่อตั้งภาระจำยอมได้จำกัดไว้ว่าให้ภาระจำยอมระงับไปเมื่อมีการโอนสามยทรัพย์ไปยังบุคคลอื่น ก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลงนั้น
ผู้ร้องได้รับโอนที่ดินสามยทรัพย์โฉนดเลขที่ 22177 และ 20634 มาจากโจทก์ที่ 1 โดยมิใช่เป็นนิติกรรมอำพราง ภาระจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยย่อมติดไปกับที่ดินสามยทรัพย์ที่โอนด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิใช้ประโยชน์ในทางภาระจำยอมได้ ในกรณีเช่นนี้กฎหมายไม่เปิดช่องให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนสามยทรัพย์ สามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลให้รับรองสิทธิในภาระจำยอมได้ เพราะการเสนอคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 นั้น ต้องมีกฎหมายสนับสนุนด้วย ปัญหาเรื่องอำนาจในการเสนอคำร้องขอเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13287/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิภาระจำยอมติดไปกับที่ดินแม้มีการโอนสิทธิ เจ้าของที่ดินสามยทรัพย์ใช้สิทธิได้ แต่ไม่สามารถฟ้องขอรับรองสิทธิเองได้
ผู้ร้องได้รับโอนที่ดินสามยทรัพย์มาจากโจทก์ที่ 1 ภาระจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ที่โอนด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิใช้ประโยชน์ในทางภาระจำยอมได้ ดังนั้น ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าได้ซื้อที่ดินจากโจทก์ที่ 1 ขอให้มีคำสั่งให้ที่ดินของจำเลยตกเป็นภาระจำยอมของผู้ร้องแทนโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีกฎหมายเปิดช่องให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนสามยทรัพย์สามารถยื่นคำร้องต่อศาลขอให้รับรองสิทธิในภาระจำยอมได้ เพราะการเสนอคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ต้องมีกฎหมายสนับสนุน
ปัญหาเรื่องอำนาจในการเสนอคำร้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13071/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องประกันภัยกรณีรถหายจากการประมาทของผู้ครอบครอง และการโอนสิทธิการเช่าซื้อที่ไม่สมบูรณ์
โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์มาจากบริษัท ง. โจทก์จึงมีเพียงสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อ การที่โจทก์ทำสัญญาขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่ บ. โดยมีข้อตกลงให้ บ. ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลืออันเป็นการโอนสิทธิการเช่าซื้อโดยบริษัท ง. ไม่ได้ตกลงด้วย จึงเป็นการโอนสิทธิการเช่าซื้อโดยไม่ชอบและไม่มีผลผูกพันบริษัท ง. ผู้ให้เช่าซื้อ ทำให้โจทก์ยังคงต้องรับผิดต่อบริษัท ง. ตามสัญญาเช่าซื้อเช่นเดิม และหากมีการชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว รถยนต์ที่เช่าซื้อก็ตกเป็นสิทธิของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 ทำให้โจทก์สามารถโอนรถยนต์ทางทะเบียนให้แก่ บ. ต่อไปได้ การที่ บ. ครอบครองรถยนต์ตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นเพียงการครอบครองแทนโจทก์ โจทก์จึงยังเป็นผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เช่าซื้อในขณะทำสัญญาประกันภัย สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลผูกพันตามกฎหมาย เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้สูญหายไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย
ขณะเกิดเหตุ บ. จอดรถแล้วเดินไปสูบบุหรี่ห่างจากรถประมาณ 40 เมตร และไม่สามารถมองเห็นรถยนต์ได้เพราะมีป่าละเมาะบังสายตาโดยติดเครื่องยนต์และไม่ได้ล็อกประตูรถ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการจอดรถยนต์ทิ้งไว้ในลักษณะที่ไม่ใส่ใจ และไม่สนใจว่าจะเกิดเหตุร้ายกับรถยนต์หรือไม่ นับเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เมื่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้สูญหายไปเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ บ. ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถยนต์แทนโจทก์ จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ที่รับประกันภัยไว้ต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 879 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11115/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความเสียหายเพิ่มเติมจากรถยนต์ชำรุดหลังคืนทรัพย์: ฟ้องบังคับได้แม้มีคำพิพากษาแล้ว
ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีก่อนให้จำเลยทั้งสามส่งมอบรถยนต์ตามสัญญาซื้อขายแบบมีเงื่อนไขคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน พร้อมทั้งให้ชำระค่าเสียหายและชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ จำเลยทั้งสามได้ส่งมอบรถยนต์คืนพร้อมชำระค่าเสียหายกับค่าฤชาธรรมเนียมในการดำเนินคดีแก่โจทก์ไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อรถยนต์มีสภาพชำรุดและโจทก์นำออกขายทอดตลาดได้ราคาไม่ครบถ้วนตามราคารถยนต์ที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมชอบที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสามรับผิดชดใช้ราคารถยนต์ส่วนที่ยังขาดจำนวนอยู่ได้ เนื่องจากเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาในคดีก่อนไปแล้ว ทั้งมิใช่กรณีที่จะไปว่ากล่าวในชั้นบังคับคดีในคดีก่อนได้ เนื่องจากการบังคับคดีจำต้องอาศัยคำพิพากษาที่วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ใดบ้าง กรณีจึงไม่อาจนำมูลหนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังศาลมีคำพิพากษาไปบังคับคดีเอากับจำเลยทั้งสามในคดีดังกล่าว ดังนั้นคำพิพากษาในคดีนี้จึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนและเกิดขึ้นภายหลังศาลในคดีก่อนพิพากษาไปแล้ว หาใช่ค่าเสียหายที่กำหนดซ้ำซ้อนกันแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10865/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินปฏิรูปเกษตรกรรม, การเพิกถอนสิทธิ, ฟ้องขับไล่, เขตปฏิรูปที่ดิน, สาธารณสมบัติ
คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้พิพากษาว่า การออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01 ก.) ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้จำเลยที่ 5 เพิกถอน ส.ป.ก. 4 - 01 สำหรับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนั้น เมื่อหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินที่จำเลยที่ 5 ออกให้แก่โจทก์ถูกเพิกถอนแล้วทั้งสองฉบับ ไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์เกิดขึ้นตามกฎหมายแพ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
โจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยที่ 4 กล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ควนหินตั้งอันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ทั้ง ๆ ที่ที่ดินดังกล่าวโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องมาเป็นเวลาช้านานถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในการที่โจทก์พึงมีสิทธิที่จะได้รับเอกสารสิทธิ น.ส. 3 ก. ตามประมวลกฎหมายที่ดิน หากไม่มีการโต้แย้งสิทธิโดยกล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกที่สาธารณประโยชน์ โจทก์คงได้รับเอกสาร น.ส. 3 ก. ตามที่ได้ยื่นคำขอและคงไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องไปยื่นขอ ส.ป.ก. 4 - 01 นั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำขอยกเลิกเรื่องออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เองเนื่องจากได้นำที่ดินพิพาทไปขอออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01) แล้ว การที่จำเลยที่ 4 ดำเนินคดีต่อโจทก์จึงหาได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใดไม่
การที่โจทก์ถูกเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01 ก.) ข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์คือโจทก์ขาดคุณสมบัติเนื่องจากโจทก์ไม่ได้เป็นเกษตรกร แต่ตามคำฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างยืนยันว่าโจทก์เป็นเกษตรกรแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์อ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์นั้น การที่โจทก์สมัครใจยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินนั้นถือว่า โจทก์ยอมรับว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ เพราะหากที่ดินพิพาทยังเป็นของโจทก์อยู่จำเลยที่ 5 ไม่อาจนำมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินได้ จนกว่าจะได้จัดซื้อหรือเวนคืนมาเป็นของจำเลยที่ 5 เสียก่อน ที่จำเลยที่ 5 อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 5 จึงมิได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใดเช่นกัน
กรณีที่จะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ ประการแรกคู่ความคดีหลังเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีแรก ประการที่สอง คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแรกต้องถึงที่สุดก่อนฟ้องคดีหลัง ประการที่สาม ประเด็นข้อพิพาทในคดีแรกและคดีหลังเป็นอย่างเดียวกันทั้งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแรกแล้ว จะขาดหลักเกณฑ์ประการใดประการหนึ่งไม่ได้ หลังจากจำเลยที่ 5 มีหนังสือแจ้งการสิ้นสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทให้โจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาท โจทก์จึงนำคดีไปฟ้องจำเลยที่ 5 ต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช และศาลดังกล่าวมีคำสั่งรับฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 5 ที่ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งหรือมติของจำเลยที่ 5 ที่สั่งให้โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ดังนี้ประเด็นข้อพิพาทของศาลดังกล่าวมีเพียงว่า คำสั่งของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวชอบหรือไม่ ส่วนคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ จึงเป็นคนละประเด็นและคนละเขตอำนาจศาลกัน จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อกฎหมายดังที่กล่าวมา ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 5 จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
เดิมที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จำเลยที่ 5 เคยออกหนังสืออนุญาตให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01 ก.) ต่อมาคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพิจารณาคุณสมบัติของโจทก์แล้วเห็นว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติเนื่องจากโจทก์ไม่ได้เป็นเกษตรกร จำเลยที่ 5 จึงมีอำนาจเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01 ก.) ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีผลทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าว ที่โจทก์อ้างว่า หากเห็นว่าโจทก์ไม่มีคุณสมบัติการเป็นเกษตรกร จำเลยที่ 5 ก็ชอบที่จะเพิกถอนและเรียกคืนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01 ก.) เท่านั้น ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่โจทก์นั้นหาได้ไม่ เพราะที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 5 แต่ข้อเท็จจริงได้ความจาก ว. และ ส. อดีตเจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต พยานจำเลยเบิกความยืนยันว่า ที่ดินพิพาทแปลงแรกอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินทั้งแปลง ส่วนที่ดินพิพาทแปลงที่ 2 ตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพียงบางส่วนเนื้อที่ 4 ไร่ 33 ตารางวา และอยู่นอกเขตปฏิรูปที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่ 14 ตารางวา เป็นทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์มีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 4 ดังนั้น จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงมีสิทธิฟ้องแย้งขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทดังกล่าว
of 605