คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุรชัย เอื้ออารีตระกูล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 10 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8961/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลิตเมทแอมเฟตามีน - การใช้กฎหมายใหม่ (65 วรรคสาม) - การเพิ่มโทษ - ล้างมลทิน
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนจำนวน 50 เม็ด น้ำหนักไม่ปรากฏชัด โดยมิได้บรรยายว่าจำนวนเม็ดของเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นหน่วยการใช้ด้วย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า เมทแอมเฟตามีนจำนวน 50 เม็ด ดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 ผลิต และจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานผลิตมีปริมาณ 50 หน่วยการใช้หรือมีปริมาณสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป กรณีจึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองว่า เมทแอมเฟตามีนจำนวน 50 เม็ด ดังกล่าวมีจำนวนหน่วยการใช้ไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (ใหม่) ซึ่งการผลิตเมทแอมเฟตามีนโดยการแบ่งบรรจุมีจำนวนหน่วยการใช้ไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตาม พ.ร.บ.บัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (ใหม่) เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.บัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมใหม่และมีเงื่อนไขอันเป็นองค์ประกอบความผิดกับมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่เป็นคุณมากกว่ามาตรา 65 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต ดังนั้น จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 3 จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 65 วรรคสาม (ใหม่), 66 วรรคหนึ่ง (ใหม่) ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 65 วรรคสาม (ใหม่) ประกอบ ป.อ. มาตรา 86 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งแก้ไขโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3025/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษตามกฎหมายจราจรที่แก้ไขใหม่ การพักใช้ใบอนุญาต และความผิดตามกฎหมายหลายบท
คำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157 ทวิ แต่ขณะจำเลยกระทำความผิดบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้วโดย พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 มาตรา 9 และให้ใช้ความใหม่ตามมาตรา 157/1 แทน การที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157 ทวิ เป็นการอ้างบทบัญญัติกฎหมายผิดพลาดไปเท่านั้น แม้โจทก์ไม่อ้างบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า
คดีนี้แม้โจทก์จะอ้าง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ และมีคำขอให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้มีใบอนุญาตขับขี่ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีใบอนุญาตขับขี่ที่จะต้องพักใช้ ที่ศาลล่างทั้งสองสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยเป็นการมิชอบ และพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 127 ทวิ โดยไม่ระบุวรรคนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5715/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้ที่มิได้ปิดอากรแสตมป์ถูกต้อง ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ แม้จะขอแก้ไขภายหลัง
สัญญากู้ที่โจทก์อ้างส่งมีลักษณะเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องครบถ้วนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 เมื่อโจทก์มิได้ปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนตามบัญชีอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร จึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวแม้โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องขออนุญาตปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนในภายหลังได้ แต่ต้องกระทำเสียก่อนหรือในขณะที่ได้นำสัญญากู้มาอ้างเป็นพยานหลักฐาน หรือก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษา การที่โจทก์เพิ่งมาร้องขอต่อศาลฎีกาหลังจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไปแล้ว ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะอนุญาตให้ทำการแก้ไขได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5070/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในคดีไม่มีทุนทรัพย์: การขอส่งมอบโฉนดที่ดินโดยมิได้พิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนด จำเลยยึดถือและครอบครองโฉนดที่ดินของโจทก์และปิดประกาศขายทอดตลาดโดยเจตนาทุจริต ฉ้อฉล ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ส่งมอบโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์ โดยโจทก์มิได้ขอให้แสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือมีข้อพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ศาลแขวงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบด้วย มาตรา 25 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3009/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อของผู้มอบอำนาจและการจดจำนองโดยสุจริตของผู้รับจำนอง
จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่กรอกข้อความให้ อ. และ ว. ไปยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาท แต่บุคคลทั้งสองกลับสมคบกับโจทก์ไปกรอกข้อความจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้กับโจทก์ จำเลยจะต้องรับผลในความเสียงภัยที่ตนก่อขึ้นดังกล่าว และถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน การที่ อ. และ ว. ปลอมหนังสือมอบอำนาจเป็นผลสืบเนื่องจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยโดยตรง เมื่อโจทก์มิได้ล่วงรู้ถึงข้อตกลงระหว่างจำเลยกับ อ. และ ว. ผู้รับมอบอำนาจ ทั้งไม่อาจทราบว่า อ. และ ว. สมคบกันปลอมหนังสือมอบอำนาจ จึงยอมรับจดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน หากให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อย่างมาก การที่โจทก์จดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทไว้จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุหย่าทางแพ่ง: การแยกกันอยู่, การละทิ้งร้าง, และการพิจารณาค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร
โจทก์ฟ้องโดยอาศัยเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) โดยอ้างว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินหนึ่งปีไม่ได้ระบุถึงการสมัครใจแยกกันอยู่เพราะไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมา แม้โจทก์จะอ้างข้อตกลงแยกทางตามเอกสารท้ายคำฟ้องก็ตาม แต่เหตุหย่าตาม มาตรา 1516 (4/2) นั้น ไม่ได้มีเพียงระยะเวลาที่แยกกันอยู่เกินสามปีเท่านั้น ยังต้องมีองค์ประกอบอื่นอีก คือต้องเป็นเพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมา ซึ่งโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงองค์ประกอบดังกล่าวไว้ ฟ้องของโจทก์ในประเด็นนี้จึงไม่ชอบ ถือว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่มีเหตุหย่าตามบทบัญญัติในมาตรา 1516 (4/2)
โจทก์ยอมรับว่าโจทก์เป็นผู้ออกจากบ้านพักของจำเลยไปเอง กรณีจึงถือว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่กับจำเลยฝ่ายเดียว จำเลยหาได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์แต่อย่างใดไม่ จำเลยจึงไม่ได้ละทิ้งร้างโจทก์เกินกว่าหนึ่งปี อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4)
??
??
??
??
1/1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องหย่าต้องมีเหตุตามกฎหมาย การแยกกันอยู่ต้องเกิดจากฝ่ายที่ถูกละทิ้งเป็นผู้ต้องการ
ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุเหตุหย่าเพียงการละทิ้งร้างกันเกินกว่าหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) ไม่ได้ระบุถึงการสมัครใจแยกกันอยู่เพราะไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีตามมาตรา 1516 (4/2) และแม้ว่าคำฟ้องโจทก์แนบบันทึกตกลงแยกทางกันด้วยว่า "ศ. (จำเลย) มีความประสงค์ขอแยกทางกันอยู่กับ ว. (โจทก์) และ ว. ก็ยินยอม" ไว้ท้ายคำฟ้องก็ตาม แต่เหตุหย่าตาม 1516 (4/2) นั้น ไม่ได้มีเพียงระยะเวลาที่แยกกันอยู่เกินสามปีเท่านั้น ยังต้องมีองค์ประกอบอื่นอีกคือ ต้องเป็นเพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาด้วย ซึ่งโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงองค์ประกอบดังกล่าวไว้ ฟ้องของโจทก์ในประเด็นนี้จึงไม่ชอบ ไม่ถือว่าคำฟ้องโจทก์มีเหตุหย่าตามบทบัญญัติในมาตรา 1516 (4/2) กรณีสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีด้วย
ตามบันทึกตกลงแยกทางกันนั้นได้บันทึกถึงเหตุที่โจทก์และจำเลยต้องทำบันทึกดังกล่าว และภายหลังทำบันทึกตกลง จำเลยไม่เคยพูดเรื่องขอจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ แต่จำเลยเคยพูดกับโจทก์ให้กลับมาอยู่กับจำเลยและบุตรอีก การบันทึกข้อความเรื่องแยกกันอยู่ดังกล่าวจึงเป็นความประสงค์อันเป็นเจตนาของโจทก์แต่ฝ่ายเดียว การที่จำเลยยอมลงลายมือชื่อในบันทึกตกลงเชื่อว่าเพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์ ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับความจริงในข้อนี้ ก็ยิ่งย้ำให้เห็นชัดแจ้งว่ามีสาระเพื่อได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง กรณีจึงไม่ใช่กล่าวอ้างขึ้นมาลอยๆ การพิจารณาข้อความในบันทึกตกลงในเรื่องแยกกันอยู่จึงพิจารณาเฉพาะข้อความในเอกสารโดยไม่พิจารณาถึงเจตนาของจำเลยย่อมไม่ชอบ ทั้งโจทก์ก็รับว่าโจทก์เป็นผู้ออกจากบ้านพักของจำเลยไปเอง กรณีจึงถือว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่กับจำเลยฝ่ายเดียว จำเลยหาได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น จำเลยจึงไม่ได้ละทิ้งร้างโจทก์เกินกว่าหนึ่งปี อันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้ตามมาตรา 1516 (4) ซึ่งการไม่ให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยนี้ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับข้อยุติเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู กรณีจึงไม่มีเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4)
สิทธิในการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นสิทธิเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลที่จะได้รับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1989/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในบัตรเครดิต: ผู้ถือบัตรไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรโดยมิชอบ
ข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่กำหนดให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่บัตรเครดิตสูญหาย ถูกลักขโมย หรือถูกใช้โดยบุคลอื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ถือบัตร (จำเลย) ที่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ศูนย์บัตรเครดิตของธนาคาร (โจทก์) ทราบแล้วโดยพลันเพื่อให้ระงับการใช้บัตรเครดิต ในภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นก่อนมีการแจ้งดังกล่าวในจำนวนเงินที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตของผู้ถือบัตร ซึ่งถูกนำไปใช้โดยมิชอบ รวมถึงภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นหลังจากแจ้งให้ธนาคารทราบแล้วไม่เกิน 5 นาที นอกจากจะขัดแย้งกับข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 6 วรรคสอง แล้ว ยังถือเป็นข้อสัญญาที่ทำให้จำเลยต้องรับภาระในหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยไม่ได้ก่อขึ้นและไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ทั้งโจทก์ยังมีทางแก้ไขความเสียหายของโจทก์ได้โดยหากโจทก์ตรวจสอบแล้วปรากฎว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลยผู้ถือบัตร โจทก์สามารถเรียกเงินที่ได้จ่ายไปคืนจากร้านค้าได้ ฉะนั้น เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งจากจำเลยว่าบัตรเครดิตได้สูญหายไปเพื่อขอให้โจทก์ระงับการใช้บัตรเครดิต โจทก์จะต้องรีบดำเนินการให้จำเลยโดยเร็ว ก็จะทราบได้ทันทีว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลย แสดงว่าร้านเจมาร์ทไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อในเซลสลิป ย่อมทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากร้านเจมาร์ทแทนการมาเรียกเก็บจากจำเลยได้ ซึ่งเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่โจทก์มิได้ทำเช่นนั้น โดยเห็นว่ามีข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่ให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว ถือเป็นการเอาเปรียบจำเลยเกินสมควรและเป็นการผลักภาระให้จำเลยต้องรับผิดเกินกว่าวิญญูชนทั่วไปจะคาดหมายได้ตามปกติ อันเข้าลักษณะข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 จึงไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 919/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย: การช่วยเหลือป้องกันผู้อื่นจากภยันตรายและการใช้กำลังพอสมควรแก่เหตุ
จำเลยที่ 2 เข้าไปกอดรัด ป. หลังจากที่ถูก ป. ใช้ขวดตีที่บริเวณศีรษะ แต่ ป. ยังไม่หยุดทำร้ายโดยใช้ปากกัดที่บริเวณแขนของจำเลยที่ 2 และยังใช้มือบีบคอจำเลยที่ 2 ด้วย ย่อมเป็นการกระทำอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิเข้าช่วยเหลือป้องกันจำเลยที่ 2 ให้พ้นจากภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายนั้นได้ การที่จำเลยที่ 1 ใช้ค้อนตีศรีษะ ป. 3 ถึง 4 ครั้ง เป็นเพียงแผลแตกแสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ตีเต็มกำลังให้ถึงตาย แต่จำเลยที่ 1 กระทำเพื่อให้ ป. หยุดทำร้ายและปล่อยตัวจำเลยที่ 2 เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการป้องกันจำเลยที่ 2 พอสมควรแก่เหตุ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทลงโทษความผิดหลายกรรมต่างกันในคดีลักทรัพย์ ปลอมแปลงเอกสาร และฉ้อโกง
การลักบัตรเครดิตของนายจ้างกับการปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมและฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น เป็นคนละวาระกัน ทั้งทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดก็แตกต่างกัน กล่าวคือทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดฐานลักบัตรเครดิตของนายจ้างเป็นบัตรเครดิต ส่วนทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารใช้เอกสารปลอมและฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นเป็นสินค่าที่จำเลยได้จากร้านค้าคือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ รองเท้า และสร้อยข้อมือทองคำ ฉะนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่กรรมเดียวไม่ แม้ว่าโจทก์จะไม่ได้อุทธรณ์หรือฎีกาในปัญหานี้ แต่ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทลงโทษเสียให้ถูกต้องโดยไม่แก้โทษได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง 212 ประกอบมาตรา 225