คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 24

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 132 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6067/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้จากการค้ำประกันหลังล้มละลาย: โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามขั้นตอน หากไม่ทำ สิทธิขาดอายุ และจำเลยหลุดพ้นจากหนี้
จำเลยที่ 2 ถูกศาลจังหวัดแพร่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2535 อำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ย่อมตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว ห้ามมิให้จำเลยที่ 2 กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ดังที่บัญญัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และ มาตรา 24 แต่เมื่อศาลจังหวัดแพร่มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2536 จำเลยที่ 2 ย่อมกลับมามีอำนาจในการประกอบกิจการและทรัพย์สินของตนเองได้อีกต่อไปจวบจนกระทั่งศาลจังหวัดแพร่ได้มีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้ และพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ได้ความตามสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3657/2542 ของศาลจังหวัดเชียงราย ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2540 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และตามสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3741/2542 ส. และ ว. จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีดังกล่าวกู้ยืมเงินโจทก์เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2540 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน อันเป็นช่วงเวลาที่จำเลยที่ 2 กลับมามีอำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของตนเองเนื่องจากศาลจังหวัดแพร่มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของจำเลยที่ 2 ดังนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจทำสัญญาค้ำประกันหนี้แก่โจทก์ได้โดยชอบ มูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยที่ 2 ทั้งสองคดีดังกล่าวจึงสมบูรณ์ ไม่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 24
ศาลจังหวัดแพร่มีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 60 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำพิพากษาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ในคำโฆษณาให้ระบุชื่อ ตำบลที่อยู่ อาชีพของลูกหนี้ และวันที่ได้มีคำพิพากษาทั้งให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ที่ลูกหนี้ได้กระทำขึ้นในระหว่างวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ถึงวันที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย มูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำไปฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีแพ่งทั้งสองคดีเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ศาลจังหวัดแพร่มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของจำเลยที่ 2 ถึงวันที่ศาลจังหวัดแพร่พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย ซึ่งโจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 60 วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับการปลดจากล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2547 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 81/1 วรรคท้าย และมาตรา 77 ซึ่งมีผลให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ เมื่อหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองคดีมีมูลแห่งหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 กระทำขึ้นในระหว่างวันที่ศาลจังหวัดแพร่มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ถึงวันที่ศาลจังหวัดแพร่พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย อันเป็นหนี้ที่โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.3/2535 ของศาลจังหวัดแพร่ ตามมาตรา 60 วรรคสอง ทั้งเป็นหนี้ที่ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 77 (1) และ (2) จำเลยที่ 2 ย่อมหลุดพ้นจากหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำไปฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีแพ่งแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจนำหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีล้มละลายได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 637/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลูกหนี้ที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเพิกถอนการขายทอดตลาด ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการ
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 24 ได้กล่าวไว้ชัดแจ้งว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน ไม่ว่าในชั้นพิจารณาหรือชั้นบังคับคดี การร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเป็นการต่อสู้คดีใด ๆ หรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้อย่างหนึ่งอันเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยที่ 2 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18851/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คที่ออกภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นโมฆะ แม้มีหนี้จริงก็ไม่อาจฟ้องร้องได้
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 24 บัญญัติห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนเว้นแต่จะกระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ การที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ ในขณะที่จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายแล้ว จึงเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยซึ่งจำเลยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เช็คพิพาททั้งสองฉบับดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่อาจนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18850/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คหลังล้มละลาย: การออกเช็คชำระหนี้หลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ถือเป็นการผูกนิติสัมพันธ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด หลังจากนั้นจำเลยออกเช็คพิพาทตามฟ้องเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อหลักทรัพย์ (หุ้น) แก่โจทก์ การออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์เป็นการมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นกับโจทก์ตามกฎหมายลักษณะตั๋วเงินประเภทเช็คซึ่งเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย โดยมิใช่กรณีกระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หนี้ตามเช็คพิพาทไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15663-15664/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกเช็คหลังถูกพิทักษ์ทรัพย์ และข้อยกเว้น พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา
พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ใช้บังคับแก่การเรียกดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินเท่านั้นไม่อาจจะนำมาใช้บังคับแก่หนี้เงินที่เกิดจากมูลหนี้ประเภทอื่นได้ การคิดดอกเบี้ยในมูลหนี้การซื้อขายเช่นคดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 24 บัญญัติว่า "เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการของตน ..." หมายความว่าบุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินคดีในทางแพ่งด้วยตนเองหรือก่อหนี้สินขึ้นอีกในระหว่างพิทักษ์ทรัพย์อยู่ไม่ได้เท่านั้น หามีผลทำให้หนี้ที่เกิดขึ้นก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์ต้องสิ้นสุดหรือระงับไปด้วยไม่ และมิได้คุ้มครองให้ผู้กระทำผิดอาญาพ้นผิดไปด้วย คดีนี้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2546 จำเลยออกเช็คลงวันที่ 15 ธันวาคม 2546 เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 หนี้ที่จำเลยออกเช็คจึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะถูกพิทักษ์ทรัพย์ แม้เช็คพิพาทดังกล่าวธนาคารตามเช็คจะปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2546 หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยก็ตาม การกระทำความผิดทางอาญาของจำเลยยังดำเนินต่อไปได้และไม่ทำให้จำเลยพ้นผิด จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6540/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้อง, อายุความ, การจัดการทรัพย์สินของเจ้าหนี้ที่ล้มละลาย, การทวงหนี้โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยในประเด็นที่ว่า หนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องและขอให้ชำระหนี้ของโจทก์ ไม่มีการลงลายมือชื่อกรรมการและประทับตราสำคัญบริษัทโจทก์ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและจำเลยไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว ถือไม่ได้ว่ามีการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานอันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ในประเด็นนี้ ข้อฎีกาดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
เมื่อเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าซื้อถูกพิทักษ์ทรัพย์ อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของเจ้าหนี้ย่อมตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพียงผู้เดียวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6, 22 และ 24 การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทวงหนี้ไปยังจำเลยผู้ค้ำประกันในการเช่าซื้อ เป็นการบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันเป็นการจัดการทรัพย์สินของเจ้าหนี้ การทวงหนี้จึงเป็นการกระทำอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี ซึ่งเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) เมื่อนับจากวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือให้ชำระหนี้จนถึงวันฟ้องยังไม่เกินสิบปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8268/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยล้มละลายไม่มีอำนาจอุทธรณ์หรือฎีกาคดีเกี่ยวกับทรัพย์สิน เพราะอำนาจเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ในวันที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ จำเลยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยย่อมไม่มีอำนาจกระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย โดยอำนาจดังกล่าวตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในทันทีที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 22 และมาตรา 24 จำเลยจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้วินิจฉัยเป็นการไม่ชอบ ทั้งจำเลยก็ไม่มีสิทธิยื่นฎีกาต่อมาด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 112/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ต่อสัญญาทางแพ่ง: สัญญาไม่ระงับ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าปรับได้จนถึงวันบอกเลิกสัญญา
คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดมีผลเพียงทำให้ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ป. ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตนเองต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการแทน หามีผลทำให้สัญญาระหว่างโจทก์กับห้างดังกล่าวต้องสิ้นสุดหรือระงับไปด้วย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าปรับได้จนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5523/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง สิทธิค่าชดเชยจึงไม่เกิดขึ้น
การที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด มีผลเพียงทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้จัดการหรือกระทำการแทน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 22 และ 24 หามีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้ผู้เป็นนายจ้างกับเจ้าหนี้ซึ่งเป็นลูกจ้างสิ้นสุดไปด้วยไม่ ทั้งไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่า เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้วลูกจ้างของลูกหนี้หมดสิทธิที่จะทำงานให้ลูกหนี้ต่อไป แม้ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้ก็ยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของลูกหนี้อยู่นั่นเอง กรณียังไม่ถือว่ามีการเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 118 สิทธิในการรับเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงไม่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดและต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 94

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5523/2552 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ไม่ทำให้ความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้างสิ้นสุด สิทธิค่าชดเชยเกิดขึ้นหลังคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดมีผลเพียงทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้จัดการหรือกระทำการแทนตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 22, 24 หามีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้ผู้เป็นนายจ้างกับเจ้าหนี้ซึ่งเป็นลูกจ้างสิ้นสุดหรือระงับไปด้วยไม่ ทั้งในระหว่างที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเจ้าหนี้ได้รับอนุญาตให้ลางานเพื่อไปรับราชการทหาร โดยไม่ปรากฏว่ามีการเลิกจ้างเจ้าหนี้ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ดังนั้น กรณียังไม่ถือว่ามีการเลิกจ้างเจ้าหนี้ในวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 หนี้ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้จึงมิได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด จึงต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 94
of 14