คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ศิริชัย สวัสดิ์มงคล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 261 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7294/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงคำให้การของจำเลยในคดีอาญา ศาลต้องเปิดโอกาสให้คู่ความสืบพยานใหม่ หากจำเลยกลับคำให้การ
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกให้ที่พักอาศัยและซ่อนเร้นคนต่างด้าวรวม 43 คน เพื่อให้พ้นจากการจับกุม และรับคนต่างด้าวดังกล่าวเข้าทำงานโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยยื่นคำให้การว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับคนต่างด้าวเพียง 6 คน ศาลชั้นต้นสอบจำเลยแล้วยืนยันให้การตามนี้ แต่ในวันเวลาเดียวกัน ศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาและบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยขอถอนคำให้การเดิมปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งอยู่ด้วยในขณะที่ศาลชั้นต้นพิจารณาเข้าใจได้ว่าศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยอีกครั้งหลังจากจำเลยยื่นคำให้การและจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ การที่โจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยานจึงมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ทราบแล้วว่าจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์บางส่วน แต่โจทก์ไม่สืบพยานดังที่จำเลยฎีกา แม้ต่อมาจำเลยจะยื่นคำแถลงประกอบคำรับสารภาพก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ระบุว่าจำเลยรับว่ามีคนงานเพียง 6 คน แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งให้ส่งสำเนาแก่โจทก์ จึงไม่ถือว่าโจทก์ทราบว่าจำเลยให้การปฏิเสธตามคำแถลงประกอบคำรับสารภาพของจำเลยดังกล่าว กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีไปโดยเห็นว่าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโดยผิดหลง จึงมิได้เปิดโอกาสให้โจทก์สืบพยาน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีเฉพาะที่เกี่ยวกับคนต่างด้าวเพียง 6 คน จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่ชั้นสอบคำให้การจำเลยเป็นต้นไป แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6844/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายกระทบสิทธิโจทก์ในการฟ้องคดีอาญา ความผิดอันยอมความได้
จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยมีคำร้องของผู้เสียหายแนบท้ายมีความว่า จำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายเป็นที่พอใจแล้ว จึงไม่ติดใจเอาความแก่จำเลย โจทก์รับสำเนาแล้วมิได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์คัดค้านว่าคำร้องของผู้เสียหายไม่เป็นความจริงหรือไม่ถูกต้องประการใด เมื่อคำร้องดังกล่าวมีข้อความสรุปได้ว่า ผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป จึงมีลักษณะเช่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์
แม้การกระทำของจำเลยตามฟ้องจะเป็นความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงซึ่งยอมความไม่ได้ แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก, 80, 83 โจทก์ไม่อุทธรณ์ ข้อหาที่ว่าจำเลยกระทำในลักษณะเป็นการโทรมหญิงจึงยุติไป ในชั้นนี้หากฟังว่าจำเลยกระทำความผิดก็ลงโทษจำเลยได้ตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก เท่านั้น ซึ่งความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 281 เมื่อผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์แล้ว ย่อมมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองยอมระงับไปในตัว ไม่มีผลบังคับอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6638/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์คณะผู้พิพากษาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่งผลให้การพิจารณาคดีทั้งหมดเป็นโมฆะ
คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 297 มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัด และตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 บัญญัติให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจังหวัดต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกินหนึ่งคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ แต่ปรากฏว่าการพิจารณาของศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม 2544 วันที่ 4 กันยายน 2544 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 และวันที่ 13 มีนาคม 2545 มีผู้พิพากษานั่งพิจารณาเพียงผู้เดียว จึงเป็นการพิจารณาที่ไม่ชอบตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีผลให้การพิจารณาและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นภายหลังย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีผลให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเช่นกัน แม้คู่ความจะมิได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวเป็นข้อโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6096/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความยินยอมในการกระทำความผิดทางเพศ: พยานหลักฐาน ความสัมพันธ์ และแรงจูงใจ
แม้อุทธรณ์ของจำเลยไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จำเลยประสงค์ยกขึ้นอ้างอิงคัดค้าน หรือกล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นพิพากษาคดีไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายในข้อใด แต่คดีนี้โจทก์มีผู้เสียหายซึ่งเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียว และศาลชั้นต้นวินิจฉัยถึงความสัมพันธ์ของผู้เสียหายกับจำเลย หน้าที่การงานของผู้เสียหาย และการที่จำเลยผิดนัดไม่ไปสู่ขอผู้เสียหายจนเป็นสาเหตุให้เกิดคดีนี้ แล้วเห็นว่าคำเบิกความของผู้เสียหายมีเหตุผลและมีน้ำหนักรับฟังได้ ดังนั้น การที่จำเลยอุทธรณ์ถึงความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาระหว่างจำเลยกับผู้เสียหาย สาเหตุที่ผู้เสียหายโกรธเคืองจำเลยเพราะจำเลยไม่ไปสู่ขอผู้เสียหายตามนัดหมาย และญาติของผู้เสียหายยุให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเพื่อเรียกทรัพย์สิน วันเกิดเหตุผู้เสียหายยินยอมสมัครใจไปกับจำเลยเพื่อเจรจาต่อรองเกี่ยวกับคดีอาญาที่ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ไว้ แต่เมื่อผู้เสียหายเรียกร้องเงินจากจำเลยและจำเลยไม่ยินยอมให้ จึงทำให้ผู้เสียหายไม่พอใจ และศาลชั้นต้นมีแนวโน้มจะเชื่อคำเบิกความของผู้เสียหายอันเป็นการขัดต่อหลักการพิจารณาคดี เท่ากับอุทธรณ์ว่าคำเบิกความของผู้เสียหายไม่น่าเชื่อถือและไม่มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยได้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5802/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีที่ยังไม่สิ้นสุด และอำนาจการพิจารณาพิพากษาขององค์คณะที่ได้รับมอบหมาย
ศาลชั้นต้นให้โอกาสแก่จำเลยทั้งสองในการผ่อนชำระหนี้และเลื่อนการฟังคำพิพากษาไป จึงมีผลเท่ากับมีคำสั่งให้เลื่อนการนั่งพิจารณาไป เพราะเมื่อถึงกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษา ศาลชั้นต้นต้องสอบถามโจทก์และจำเลยทั้งสองก่อนว่าจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่ เพื่อประกอบดุลพินิจว่าจะให้โอกาสจำเลยทั้งสองผ่อนชำระหนี้ต่อไปหรือมีคำพิพากษาในวันดังกล่าว จึงหาใช่การพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นได้เสร็จสิ้นแล้วไม่ ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาในวันนัดฟังคำพิพากษาที่เลื่อนมาว่า ศาลชั้นต้นได้สอบถามจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการชำระหนี้ตามข้อตกลง จำเลยทั้งสองแถลงว่าได้นำเงินบางส่วนมาวางต่อศาลเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ และขอให้โอกาสจำเลยทั้งสองผ่อนชำระหนี้ต่อไป แต่โจทก์แถลงคัดค้านไม่ยอมรับเงินที่จำเลยทั้งสองวางศาลเพราะจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไว้ ศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟัง ดังนี้ คดีจึงยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น มิใช่อยู่ระหว่างการทำคำพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 ผู้พิพากษาอีกคนในศาลชั้นต้นที่ได้รับมอบหมายจากผู้พิพากษาหัวหน้าศาลให้นั่งพิจารณาคดีแทนองค์คณะพิจารณาคดีเดิมในวันนัดฟังคำพิพากษาดังกล่าว จึงเป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 28 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4135/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าของที่ดินจากการซื้อขายทอดตลาด & อำนาจศาลในการออกคำสั่งระหว่างพิจารณา
โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากการขายทอดตลาดและได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาททางทะเบียนโดยชอบแล้ว แต่โจทก์ไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากจำเลยทั้งสองและบริวารขัดขวางโต้แย้ง โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. และครอบครองที่ดินและบ้านพิพาท ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าบ้านพิพาทจากทายาทของ ส. ซึ่งเป็นการอาศัยสิทธิของ ส. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเดิมนั่นเอง ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาทโดยชอบย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองซึ่งอยู่ในฐานะบริวารของ ส. ได้
ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) บัญญัติว่า ให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจดังต่อไปนี้... (2) ออกคำสั่งใด ๆ ซึ่งมิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี ซึ่งหมายความว่า ในการพิจารณาคดีของศาลทุกชั้นศาล หากผู้พิพากษาคนเดียวจะมีคำสั่งใดซึ่งมิใช่เป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีแล้ว ก็ย่อมมีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบ แม้คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นจะต้องมีองค์คณะผู้พิพากษาสองคน แต่ในการพิจารณาของศาลในวันที่ 20 มกราคม 2548 เป็นการสั่งเลื่อนการสืบพยานและระบุรายละเอียดการส่งเอกสารไปสืบพยานประเด็นจำเลยที่ 1 ยังศาลชั้นต้นอื่น ซึ่งล้วนเป็นการที่ศาลชั้นต้นได้ออกคำสั่งที่มิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี คำสั่งและการพิจารณาของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 20 มกราคม 2548 จึงชอบตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2568/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากผู้คัดค้านมิได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีการับฎีกาตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
คดีคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30, 31 เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง เมื่อผู้คัดค้านฎีกาโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีการับคดีไว้พิจารณาพร้อมกับฎีกาภายในกำหนด ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุด ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาผู้คัดค้านมาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10347/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนเป็นกรรมเดียว ศาลฎีกายกประเด็นความผิดซ้ำซ้อนแม้ไม่มีการฎีกา
โจทก์บรรยายฟ้องว่าอาวุธปืนลูกซองเดี่ยวเป็นอาวุธปืนที่ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนซึ่งใช้ในราชการของกระทรวงมหาดไทยอันเป็นหน่วยราชการและจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
ความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนอาจออกใบอนุญาตให้ได้ เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้เป็นความผิดในลักษณะเดียวกัน บทมาตราที่บัญญัติให้เป็นความผิดก็เป็นบทมาตราเดียวกัน วัตถุที่ต้องห้ามไม่ว่าจะเป็นอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืน กฎหมายถือว่าเป็นวัตถุประเภทเดียวกัน การที่จำเลยมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนอาจออกใบอนุญาตให้ได้ในขณะเดียวกันจึงเป็นกรรมเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนอีกกรรมหนึ่งตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคสอง ไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติที่แก้ไขเพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5749/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอายัดทรัพย์ซ้ำ: การอายัดเงินเดือนจำนวนที่แตกต่างกัน ไม่ถือเป็นการอายัดซ้ำ
การห้ามยึดหรืออายัดทรัพย์สินซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นทรัพย์รายเดียวกันของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยมีเงินเดือน 27,000 บาท ถูกอายัดเงินเดือนครั้งแรกในคดีที่ 1 เป็นเงิน 3,000 บาท ครั้งที่ 2 ในคดีที่ 2 เป็นเงิน 3,000 บาท ครั้งที่ 3 คือคดีนี้โจทก์อายัดไว้ 5,000 บาท ดังนั้น การอายัดของโจทก์จึงเป็นการอายัดเงินเดือนของจำเลยในจำนวนที่แยกต่างหากจากที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายอื่นได้อายัดไว้ จึงไม่ใช่การอายัดซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1864/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาล: คดีขับไล่ที่ดินงอกริมตลิ่งเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ หากจำเลยไม่ได้อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์และออกไปจากที่ดินซึ่งเป็นที่งอกริมตลิ่งของโจทก์ จำเลยให้การเพียงว่าที่งอกริมตลิ่งตามฟ้องเป็นที่สาธารณประโยชน์ไม่ได้กล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จึงเท่ากับมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ กรณีจึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ โดยเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ ศาลแขวงจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)
of 27