คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ศิริชัย สวัสดิ์มงคล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 261 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13798/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามในปัญหาข้อเท็จจริง-ความผิดหลายกรรมต่างกันจากยาและวัตถุออกฤทธิ์
ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหาข้อเท็จจริง คงรับเฉพาะฎีกาในข้อกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทราบ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับนั้นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิด และขอให้รอการลงโทษ เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและการลงโทษของศาลอุทธรณ์อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 และเมื่อฎีกาของจำเลยที่ 1 ต้องห้ามดังกล่าว จึงไม่จำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทราบ
ยาแผนปัจจุบันและยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นยาตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ส่วนไดอาซีแพมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 การมียาและวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวไว้เพื่อขายจึงเป็นความผิดตามกฎหมายคนละฉบับ แสดงว่ากฎหมายแต่ละฉบับมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้กระทำความผิดแยกต่างหากจากกัน การที่จำเลยมียาแผนปัจจุบันและยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้เพื่อขายกับมีไดอาซีแพมวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ไว้เพื่อขายในคราวเดียวกันจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13642/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประโยชน์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน หลังพ้นโทษ และการแก้ไขคำพิพากษาเพิ่มโทษ
ขณะศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550 นั้น พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยย่อมได้ประโยชน์จากมาตรา 4 แห่งระราชบัญญัติดังกล่าวที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีมีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ การที่ศาลชั้นต้นเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 จึงเป็นการผิดหลงเล็กน้อย ศาลมีอำนาจแก้ไขได้ โดยไม่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11654/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รับของโจรและความรับผิดทางแพ่ง: จำเลยต้องชดใช้ราคาทรัพย์ที่ถูกลักไป
แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร เนื่องจากหลังเกิดเหตุลักทรัพย์แล้ว เจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึดได้เฉพาะฉนวนไฟฟ้า (เปลือกสายไฟฟ้า) จากจำเลยมิได้ยึดทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปทั้งหมดจากจำเลยก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนความผิดฐานรับของโจรว่าจำเลยรับไว้ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปตามฟ้องไว้จากคนร้าย ต้องถือว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยรับของโจรสายไฟฟ้าของผู้เสียหายตามที่คนร้ายลักไปทั้งหมดด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพข้อหารับของโจร จึงรับฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยรับของโจรสายไฟฟ้าดังกล่าว เมื่อความรับผิดทางแพ่งของจำเลยเกี่ยวเนื่องกับความผิดทางอาญาฐานรับของโจร จำเลยจึงต้องคืนสายไฟฟ้าหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนตามคำขอของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11227/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมและการได้มาโดยมิชอบ ฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย
องค์ประกอบความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบและฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ คือ ใช้หรือมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้บัตรเครดิตอันเป็นบัตรเครดิตปลอมอันเป็นเอกสารสิทธิและบัตรอิเล็กทรอนิกส์อันได้มาโดยมิชอบ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวจึงไม่ใช่บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่น แต่เป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเลยได้มาจากการปลอมและใช้เอกสารปลอมของผู้อื่นในการขอบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวอันเป็นการได้มาโดยมิชอบ ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/5 และ 269/6 ทั้งโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้ เพราะเป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8410/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลอุทธรณ์ต้องพิจารณาอุทธรณ์ทุกประเด็น การลงโทษฐานครอบครองยาเสพติดไม่เข้าข่ายบทหนักตาม พ.ร.บ.มาตรการฯ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดสถานหนักตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษจำคุก ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาโดยชอบแล้ว ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่ามีเหตุที่จะลงโทษจำเลยสถานหนักตามที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ คงวินิจฉัยเฉพาะอุทธรณ์ของจำเลย ถือว่าศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง, 186 (6) (8)
คำว่า ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 บัญญัติไว้ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด... โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนและกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะระวางโทษเป็นสามเท่าตามมาตรา 10 แห่งบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4946/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เสรีภาพชุมนุมต้องไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นและกฎหมาย การใช้พื้นที่สาธารณะต้องเหมาะสมตามปกติวิสัย
แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 44 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดเหตุจะบัญญัติให้บุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่าประชาชนจะสามารถใช้เสรีภาพของตนโดยปราศจากขอบเขตหรือไปละเมิดต่อสิทธิของประชาชนผู้อื่นด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ใช้เสรีภาพดังกล่าวถึงขั้นเป็นการละเมิดหรือกระทำความผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง เพราะกฎหมายที่ตราออกมาใช้บังคับต่อประชาชนทุกคนย่อมมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดระเบียบและรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและประชาชนเป็นสำคัญ ดังนั้น หากมีการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย ก็จะอ้างว่าเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยถือเป็นการชุมนุมโดยสงบหาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกใช้ไหล่ทางของถนนเพชรเกษมอันเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงเป็นที่ตั้งเต็นท์รวมทั้งวางสิ่งของต่าง ๆ จึงเป็นการกีดขวางและอาจเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือยานพาหนะที่สัญจรไปมาในทางหลวงแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จะอ้างว่าไม่มีเจตนาเนื่องจากถูกเจ้าพนักงานตำรวจขัดขวางมิให้เดินต่อไปหาได้ไม่ เพราะจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ย่อมเล็งเห็นผลจากการกระทำของตนว่าการตั้งสิ่งของเหล่านั้นกีดขวางและอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลและยานพาหนะที่สัญจรไปมาบนทางหลวงได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการทางหลวง การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงเป็นความผิดตามฟ้อง
แม้ไหล่ทางถนนเพชรเกษมจะเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ก็ตาม แต่การใช้ประโยชน์ของประชาชนย่อมต้องกระทำไปตามปกติวิสัย เช่นการใช้สัญจรไปมาอย่างบุคคลทั่วไป แต่การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกกางเต็นท์และวางสิ่งของไว้บริเวณไหล่ทางของถนนตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2547 เป็นเวลาเกือบสามเดือน จึงไม่ใช่เป็นการใช้ประโยชน์จากที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2908/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมคบกันกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องเป็นการสมคบกันในความผิดนั้น พยานหลักฐานต้องเชื่อมโยงถึงการกระทำความผิด
ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "ถ้าได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตามวรรคหนึ่ง ผู้สมคบกันนั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น" ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ที่สมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและต้องถูกลงโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ต้องเป็นการสมคบกันกระทำความผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติดในครั้งนั้นด้วย เมื่อจำเลยขับรถมารับยาเสพติดให้โทษไปส่งให้แก่ผู้ค้าคือ อ. 2 ครั้ง แต่ไม่ใช่ครั้งที่ ว. และ ส. กระทำความผิดในครั้งนี้ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหาตามฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องค้ำประกัน-จำนอง: ทายาทรับมรดกมีสิทธิจำกัดเฉพาะทรัพย์มรดก, จำเลยไม่ต้องรับผิด
สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองตามที่ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้องเกิดขึ้นด้วยการแสดงเจตนาโดยใจสมัครของบิดาโจทก์ที่จะประกันการชำระหนี้กู้ยืมเงินของจำเลยที่มีอยู่แก่ธนาคารเจ้าหนี้ โดยข้อสัญญาและโดยใช้ทรัพย์สินของตนเป็นประกันซึ่งบิดาโจทก์มีสิทธิทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ต่อมาบิดาโจทก์ถึงแก่กรรมและโจทก์อ้างว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของบิดา แต่โจทก์ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน โจทก์เพียงแต่บรรยายฟ้องว่า จำเลยไม่ชำระหนี้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ตามมูลหนี้ที่ค้างชำระเป็นเวลามากกว่า 10 ปีแล้วจะเป็นผลเสียหายแก่โจทก์เกินสมควร โจทก์ไม่ประสงค์จะค้ำประกันจำเลยอีกต่อไป จึงฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองนั้น นอกจากจำเลยจะไม่ได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองแล้ว จำเลยมิได้กระทำการใด ๆ ที่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยและคดียังไม่มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า บทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องค้ำประกัน จำนองเฉพาะมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับค้ำประกัน และมาตรา 1600 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะศาลมิได้ใช้บทกฎหมายดังกล่าววินิจฉัยคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 36/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เอกสารกู้ยืมเงินแม้ไม่เจตนาเป็นหลักฐาน แต่ใช้ฟ้องร้องได้หากมีข้อความแสดงเจตนาและลงลายมือชื่อผู้กู้
เอกสารหมาย จ.2 นอกจากจะเป็นหลักฐานว่าจำเลยรับโฉนดที่ดินจาก ส. แล้ว เอกสารดังกล่าวยังมีข้อความที่แสดงว่าเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2536 จำเลยได้กู้ยืมเงินจาก ส. จำนวน 2,000,000 บาท จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ด้วย แม้จำเลยซึ่งเป็นผู้กู้ไม่เจตนาให้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมก็ตาม การที่คู่สัญญาได้ทำสัญญากู้ยืมกันเป็นหนังสือไว้แล้ว หามีผลทำให้เอกสารฉบับนี้ไม่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม โจทก์จึงใช้เอกสารหมาย จ.2 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือฟ้องให้จำเลยรับผิดได้
การกู้ยืมเงินระหว่าง ส. กับจำเลยมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้ยืมตามเอกสารหมาย จ.2 แม้จำเลยอ้างว่าชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืม ไม่มีการเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว จำเลยจึงนำสืบการใช้เงินไม่ได้เพราะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11489/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หลักฐานการกู้ยืมเงิน: ใบสมัครสินเชื่อถือเป็นหลักฐานหนังสือตามกฎหมายได้ แม้ทำก่อน/หลังสัญญา
หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามมาตรา 653 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. ไม่ใช่แบบแห่งนิติกรรม ทั้งกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าหลักฐานดังกล่าวจะต้องมีขึ้นเฉพาะในขณะที่ทำสัญญากู้ยืม ดังนั้น หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือจึงอาจมีขึ้นก่อนหรือหลังทำสัญญากู้ยืมก็ได้ เมื่อได้ความว่าหลังจากจำเลยกรอกข้อความในแบบพิมพ์ใบสมัครสินเชื่อบุคคลขอกู้ยืมเงินโจทก์วงเงิน 35,000 บาท ตามเงื่อนไขและข้อตกลงในแบบพิมพ์ดังกล่าวและยื่นต่อโจทก์อันเป็นการทำคำเสนอขอกู้ยืมเงินโจทก์ และวันต่อมาโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบว่าตกลงให้จำเลยกู้ยืมเงิน 24,700 บาท ซึ่งอยู่ภายในวงเงินที่จำเลยขอกู้ยืม จึงเป็นคำสนองรับตามคำเสนอของจำเลย สัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเกิดขึ้นและบริบูรณ์ เมื่อโจทก์ส่งมอบเงินที่กู้ยืม โดยโอนเงิน 23,630 บาท เข้าบัญชีที่จำเลยระบุไว้ ดังนี้ ใบสมัครสินเชื่อบุคคลที่จำเลยกรอกข้อความและลงลายชื่อในช่องลายมือของผู้กู้ จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมตามมาตรา 653 วรรคแรก ที่โจทก์ใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องให้บังคับจำเลยตามสัญญากู้ยืมได้
of 27