คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 84/1

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 50 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2208-2209/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยต้องพิสูจน์การชำระหนี้เพื่อหลุดพ้นจากความรับผิดตามเช็ค แม้มีการอ้างชำระหนี้เกิน แต่ต้องระบุรายละเอียดชัดเจน
คดีนี้จำเลยทั้งสามให้การโดยชัดแจ้งยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 กู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้งและร่วมกันสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับ โดยมีจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับส่งมอบแก่โจทก์ แต่ปฏิเสธว่า มีการชำระหนี้การกู้ยืมเงินครั้งก่อน ๆ ไว้เกิน ซึ่งจะต้องนำมาหักกลบลบหนี้ตามเช็คพิพาทในคดีนี้ จำเลยทั้งสามย่อมมีภาระการพิสูจน์ให้รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติเพื่อให้จำเลยทั้งสามหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตามฟ้อง แต่พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามไม่มีน้ำหนักรับฟังให้เป็นยุติสมแก่ภาระการพิสูจน์ตามคำให้การอันจะทำให้จำเลยทั้งสามหลุดพ้นจากความรับผิด ส่วนประเด็นเรื่องดอกเบี้ยเกินอัตรานั้น ในประเด็นนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คสองฉบับรวมยอดต้นเงิน 9,000,000 บาท จำเลยทั้งสามอ้างว่าชำระหนี้แล้วโดยการหักกลบ ภาระการพิสูจน์ในปัญหาข้อนี้จึงตกแก่จำเลยทั้งสาม แต่จำเลยทั้งสามนำสืบเพียงรวม ๆ ว่ามีการชำระหนี้โจทก์ไว้เกินจำนวนหนี้ แต่ไม่ชัดว่าเป็นการชำระหนี้ตามเช็คฉบับใด จำนวนเท่าใด จึงยังฟังไม่ได้ตามที่จำเลยทั้งสามอ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2065/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระหน้าที่ผู้ประกอบการจัดสรรที่ดินต่อผู้บริโภค กรณีสร้างบ้านไม่ได้มาตรฐานและระดับที่ดินต่ำกว่าเกณฑ์
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เมื่อเดือนตุลาคม 2554 น้ำท่วมในโครงการและท่วมเข้ามาในบ้านโจทก์เนื่องจากจำเลยทั้งสองปรับปรุงระดับพื้นดินต่ำเป็นแอ่งกระทะไม่เรียบเสมอกัน ระดับพื้นบ้านชั้นล่างของโจทก์ไม่ได้มีระดับสูงกว่าถนนหน้าโครงการ 0.60 เมตร ตามที่ได้ยื่นขออนุญาตจัดสรร เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การว่า บ้านโจทก์ไม่ได้เกิดความเสียหายจากการก่อสร้าง โครงสร้างโดยรวมของบ้านยังมั่นคงแข็งแรงและย่อมมีการเสื่อมสภาพไปตามสิ่งแวดล้อม กาลเวลาและการใช้งานตามสมควร ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านเกิดจากช่วงเดือนตุลาคม 2554 เกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรง ความเสียหายไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง จากคำฟ้องและคำให้การของจำเลยทั้งสองในเบื้องต้นย่อมเข้าใจว่า หากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการถมที่ดินให้มีความสูงไม่ต่ำกว่าถนนสาธารณะหน้าโครงการจัดสรรที่ดินตามที่ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินแล้ว เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมโจทก์จะไม่ได้รับความเสียหาย หรือหากได้รับความเสียหายก็จะเกิดความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อจำเลยทั้งสองอ้างว่า จำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการถมที่ดินตามที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินแล้ว ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่า สภาพทางธรณีวิทยาของที่ดินของพื้นที่ก่อสร้างในขณะทำการก่อสร้างจะมีอยู่อย่างไร จะก่อให้เกิดการทรุดตัวในปริมาณสูงหรือไม่ จำเลยที่ 2 ทำการปรับถมดินไม่ต่ำกว่าถนนสาธารณะหน้าโครงการแล้วหรือไม่ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างและอยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งสองที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจตามความในมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวจึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสอง
ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษนั้น จำเลยทั้งสองเป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าที่ดิน ทำการจัดสรรที่ดินและบ้านเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยที่ดินและบ้านในโครงการของจำเลยทั้งสองมีราคาสูง แต่จำเลยทั้งสองถมดินปรับระดับถนนในโครงการ และพื้นดินในโครงการ รวมถึงพื้นดินบริเวณบ้านโจทก์ มีระดับต่ำกว่าถนนสาธารณะหน้าโครงการ ไม่เป็นไปตามสัญญาจะซื้อจะขายที่จำเลยที่ 2 ทำกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้บริโภค พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า จำเลยทั้งสองจงใจไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายและคำขออนุญาตจัดสรรที่ดินและบ้านมาตั้งแต่แรก มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายเพื่อประโยชน์ในทางการค้าโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น จึงสมควรบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเพื่อการลงโทษแก่โจทก์ครึ่งหนึ่งของความเสียหายที่โจทก์ได้รับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1020/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5925/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินถูกกัดเซาะ - การหวงกันสิทธิ - สาธารณสมบัติของแผ่นดิน - หลักเขตสำคัญ
โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 13288 โจทก์รังวัดสอบเขตที่ดินตามโฉนดที่ดิน ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกบางส่วนที่ติดกับคลองสาธารณประโยชน์ถูกน้ำกัดเซาะ ทำให้ที่ดินเนื้อที่ 281.9 ตารางวา อยู่ในคลอง จำเลยทั้งห้ามอบหมายให้เจ้าหน้าที่คัดค้านการรังวัดสอบเขต และนำชี้คัดค้านแนวเขตที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกรวมสามตำแหน่ง ดังนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องอ้างสิทธิในที่คัดค้านว่าอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งห้าให้การว่า โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่คัดค้าน เพราะถูกน้ำกัดเซาะจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของคลองสาธารณประโยชน์ (คลองกะเฉด) เป็นเวลาหลายสิบปี โดยไม่ปรากฏหลักฐานการหวงกันสิทธิ เท่ากับยอมรับว่าที่คัดค้านทั้งสามตำแหน่งอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยทั้งห้าข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ยังคงหวงกันที่ดินส่วนที่จำเลยทั้งห้าคัดค้าน โดยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไปดูแลทุกปี เมื่อต้นปี 2556 เสาหลักเขตยังอยู่ครบ จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2557 จึงพบว่าถูกน้ำป่าพัดหายไป 5 ต้น และได้ปักใหม่แล้ว ที่ดินดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หากแต่ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3825/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์ (ไม่ขีดฆ่าอากรแสตมป์) ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดี
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องจำเลย และไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องคดีในศาลชั้นต้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ถือว่าจำเลยปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ ส. ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ จึงต้องอาศัยหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องคดีแทนหรือไม่ เมื่อหนังสือมอบอำนาจโจทก์ปิดอากรแสตมป์แล้ว แต่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ ย่อมถือว่ายังไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามที่ ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติไว้ จึงไม่อาจใช้หนังสือมอบอำนาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้ ส. ดำเนินคดีแทน และการที่โจทก์ดำเนินการเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินในหนังสือมอบอำนาจก็เป็นเวลาภายหลังจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาแล้ว ย่อมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1167/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คพิพาท: การพิสูจน์ผู้ทรงเช็คโดยชอบ & ข้อตกลงไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน
เช็คพิพาททั้งสามฉบับจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมีชื่อโจทก์หรือผู้ถือเป็นผู้รับเงิน ดังนี้ จำเลยต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาททั้งสามฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง และมาตรา 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นผู้มีเช็คพิพาททั้งสามฉบับไว้ในครอบครองจึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสามฉบับตามมาตรา 904 จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสามฉบับโดยชอบย่อมมีภาระการพิสูจน์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1
จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสามฉบับมอบให้ ว. โดยมีข้อตกลงว่าจะไม่มีการนำไปเรียกเก็บเงินโดยโจทก์ทราบและโจทก์เอาเช็คพิพาททั้งสามฉบับไปจากตู้นิรภัยของ ว. แล้ว ลงวันที่และเรียกเก็บเงินจากธนาคารโดยจำเลยไม่ยินยอมและธนาคารก็ปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากจำเลยมีคำสั่งห้ามธนาคารจ่ายเงิน โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสามฉบับโดยชอบอันมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็ค

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1518/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พินัยกรรมสมบูรณ์ ผู้ถูกตัดสิทธิมรดก ไม่มีสิทธิคัดค้านการจัดการมรดก
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ผู้คัดค้านยอมรับว่าผู้ตายทำพินัยกรรมดังกล่าว แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงใหม่ว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมโดยถูกหลอก และมีการสมคบกัน ขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ผู้ตายไม่ได้แจ้งข้อความที่ตนประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพญาไท พยานในพินัยกรรมมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับ ก. ผู้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม และพินัยกรรมมีพิรุธ ผู้คัดค้านจึงมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นตามข้อกล่าวอ้างของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 ผู้ร้องหามีหน้าที่ต้องนำเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำพินัยกรรมและแพทย์ผู้ออกใบรับรองแพทย์มาเป็นพยาน เมื่อได้ความว่าผู้ตายแจ้งข้อความที่ตนประสงค์ให้เจ้าหน้าที่จดต่อหน้าพยานสองคน เชื่อว่าเจ้าหน้าที่เห็นแล้วว่าผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์จึงทำพินัยกรรมให้ ฟังได้ว่าขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ประกอบกับผู้คัดค้านไม่นำพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นตามข้ออ้าง พยานหลักฐานผู้คัดค้านไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานผู้ร้อง เมื่อพินัยกรรมมีรายการถูกต้องครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1658 จึงสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมาย ตามพินัยกรรมข้อ 1 ระบุว่า ผู้ตายยกทรัพย์สินให้แก่ ก. และข้อ 3 ระบุว่า ได้ตัดทายาทโดยธรรมคนอื่น ๆ มิให้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านย่อมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย จึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องคัดค้านและขอตั้งผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 722/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พินัยกรรมถูกต้องตามกฎหมาย: การพิสูจน์สิทธิในทรัพย์สินหลังเสียชีวิต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ ส่วนโจทก์ที่ 2 ไม่ได้อุทธรณ์ คดีสำหรับโจทก์ที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 2 ไม่อาจฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 มา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
โจทก์ที่ 1 กล่าวอ้างว่าพินัยกรรมเกิดขึ้นโดยกลฉ้อฉล อาศัยความชราและสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ของผู้ตาย ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายเป็นโมฆะ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ที่ 1 ผู้กล่าวอ้าง
ผู้ตายได้ลงลายพิมพ์นิ้วมือต่อหน้าพยาน ผู้พิมพ์ ผู้เขียน ครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติ พินัยกรรมจึงมีผลบังคับตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9813-9817/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสันนิษฐานทรัพย์สินจากความผิดฟอกเงิน และภาระการพิสูจน์ของจำเลย
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 กระทำการฉ้อโกงประชาชนอันเป็นความผิดมูลฐานมาตั้งแต่ปี 2525 จนกระทั่งถูกจับกุมในปี 2548 ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 เป็นมารดา ผู้คัดค้านที่ 6 เป็นภริยา และผู้คัดค้านอื่นเป็นญาติพี่น้องจึงเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้กระทำกระทำความผิดมูลฐาน กรณีต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 51 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่ฝ่ายผู้คัดค้านที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยสุจริต
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน มีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับความผิดมูลฐาน โดยมิต้องคำนึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินจะได้มาก่อนพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีผลใช้บังคับหรือไม่ก็ตาม เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5416/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พินัยกรรมปลอม ทายาทโดยธรรมมีสิทธิในทรัพย์มรดกก่อนผู้รับประโยชน์จากพินัยกรรม
โจทก์เป็นบุตรที่ผู้ตายรับรองจึงเป็นทายาทโดยธรรม ส่วนจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ที่จำเลยอ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยนั้น ตามสภาพปกติธรรมดาของสังคมไทยย่อมต้องการให้ทรัพย์มรดกตกได้แก่บุตรหลาน และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 ประกอบมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้สืบสันดานซึ่งหมายถึงบุตรหลานเป็นทายาทลำดับที่ 1 โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมจะมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะผู้สืบสันดาน ส่วนจำเลยจะไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย และจำเลยยังให้การว่า ขณะผู้ตายทำพินัยกรรมผู้ตายยังอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่โรงพยาบาล พ. การทำพินัยกรรมจึงอยู่ในความรู้เห็นของจำเลย โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่โจทก์ โจทก์ต้องพิสูจน์เพียงว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่โจทก์จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 คือโจทก์เป็นทายาทโดยธรรมในฐานะผู้สืบสันดานมีสิทธิได้รับมรดกก่อนผู้ได้รับประโยชน์จากพินัยกรรม และพินัยกรรมที่อ้างว่าผู้ตายทำขึ้นที่โรงพยาบาลภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่เรือนจำ แต่ไม่ปรากฏว่ามีลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่เรือนจำรวมทั้งแพทย์และพยาบาลเข้ามาเกี่ยวข้องอันเป็นกรณีผิดปกติวิสัย ดังนี้ จำเลยจึงมีภาระพิสูจน์ว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทไม่ใช่เอกสารปลอม
of 5