คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ไสว จันทะศรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 187 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15066/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร: สัญญาต่างประเทศ, การเปลี่ยนแปลงรายได้, และการปฏิบัติตามสัญญา
โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลครอบครัวแห่งรัฐนิวยอร์ก เขตปกครองเรนเซลาเออร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีคำพิพากษาว่าจำเลยเป็นบิดาของเด็กชาย อ. บุตรผู้เยาว์ และให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กชาย อ. เป็นรายเดือนแก่โจทก์ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้เป็นไปตามสัญญา การที่จำเลยกลับมาประเทศไทยโดยไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วโจทก์มายื่นฟ้องจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางให้จำเลยชำระเงินตามที่กำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เมื่อข้อ 6 แห่งสัญญาระบุว่า สัญญานี้จะผูกพัน โจทก์จำเลยและบุตรผู้เยาว์ให้เป็นไปตามมาตรา 516 ของกฎหมายศาลครอบครัว ย่อมเห็นเจตนาของโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีว่าประสงค์จะให้กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาบังคับ ซึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใด บังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ หรือผลแห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี..." เมื่อข้อสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนชาวไทยตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ศาลไทยจึงรับพิจารณาคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา และคำสั่งศาลครอบครัวแห่งรัฐนิวยอร์กได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14629/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองเมทแอมเฟตามีนร่วมกัน และขอบเขตการลงโทษในความผิดฐานเสพยาเสพติด
จำเลยที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 ต่างมารวมกันเพื่อเสพยาเสพติดให้โทษ โดยเมทแอมเฟตามีนที่ตรวจพบอยู่ในสภาพกระจัดกระจายทั้งบนโต๊ะและบนพื้น มิได้อยู่ในสภาพนำมากองรวมกัน แสดงว่ามีการแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยที่ตรวจพบสารเสพติดในร่างกายแต่ละคนเข้าครอบครองก่อนแล้ว แต่เมทแอมเฟตามีนที่อยู่ในสภาพกระจัดกระจายดังกล่าวไม่อาจรับฟังให้เป็นผลร้ายว่าจำเลยทั้งหมดมีเจตนาร่วมกันครอบครองทั้งจำนวนตามที่โจทก์ฟ้อง คงฟังได้แต่เพียงว่าเฉพาะจำเลยที่ตรวจพบสารเสพติดในร่างกายมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเฉพาะในส่วนของแต่ละคนที่มีไว้เพื่อเสพเท่านั้น
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้โทษของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนจากรอการลงโทษเป็นไม่รอการลงโทษและไม่ปรับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยดังกล่าว ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 จะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และปัญหาดังกล่าวเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 9 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7253/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการร่วมพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน: การแบ่งหน้าที่ชัดเจนบ่งชี้เจตนา
ตั้งแต่ออกจากรีสอร์ทจนมาถึงที่เกิดเหตุที่พี่ชาย น. ยิงผู้เสียหาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยและพี่ชาย น. ได้พูดกันแต่อย่างใด แต่เมื่อจำเลยจอดรถพี่ชาย น. ก็กระโดดลงจากรถและชักอาวุธปืนออกมายิงผู้เสียหาย แสดงว่าจำเลยและพี่ชาย น. ได้ตกลงกันไว้ก่อนแล้วให้จำเลยเป็นคนพาผู้เสียหายมา ส่วนพี่ชาย น. จะเป็นคนยิง อันเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับพี่ชาย น. ด้วย การที่คนร้ายใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงยิงผู้เสียหาย 5 นัด ถูกที่ไหล่ซ้าย 1 นัด จนทะลุแสดงว่าคนร้ายมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย แต่เนื่องจากกระสุนปืนไม่ถูกอวัยวะสำคัญผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและเป็นการกระทำความผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพราะได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะนำตัวผู้เสียหายมายิงในที่เกิดเหตุ
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เนื่องจากความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว การพยายามกระทำความผิดต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษประหารชีวิต ดังนั้นเมื่อลดโทษประหารชีวิตลงหนึ่งในสามจึงเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิตตาม ป.อ. มาตรา 52 (1) ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยให้ต่ำกว่านี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12000/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กฎกระทรวงใหม่ยกเลิกกฎกระทรวงเดิม การชักจูงเด็กประพฤติไม่สมควรต้องตีความตามกฎหมาย
แม้ขณะเกิดเหตุมีกฎกระทรวง (พ.ศ.2515) ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 294 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 กำหนดว่า การประพฤติตนไม่สมควรแก่วัยคือ การประพฤติตนดังต่อไปนี้ (9) เที่ยวเตร่ในเวลากลางคืนระหว่างเวลา 22 นาฬิกา ถึงเวลา 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้นเว้นแต่ไปกับบิดามารดาหรือผู้ปกครอง ยังมีผลบังคับใช้จึงทำให้การเที่ยวเตร่ในเวลากลางคืนหลัง 22 นาฬิกาของ ท. ป. ธ. และ ส. เป็นการประพฤติตนไม่สมควร อันมีผลสืบเนื่องทำให้จำเลยซึ่งเป็นผู้เฝ้าร้านเกมในขณะเกิดเหตุเป็นผู้กระทำความผิดฐานชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 (3) มีผลใช้บังคับอยู่ก็ตาม แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด พ.ศ.2549 โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 4 และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ใช้บังคับแทนแล้ว ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวไม่ได้กำหนดว่า กรณีเด็กเที่ยวเตร่ในเวลากลางคืนระหว่างเวลา 22 นาฬิกา ถึงเวลา 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น เป็นการประพฤติตนไม่สมควร จึงเป็นกรณีที่กฎกระทรวงฉบับใหม่ยกเลิกกฎกระทรวงฉบับเดิมทั้งฉบับ ถือได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำดังกล่าวนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11840/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจากความโกรธแค้นส่วนตัว ศาลยืนตามอุทธรณ์ให้จำคุกตลอดชีวิต
ว. เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย อยู่กินด้วยกันที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพรต่อมาเลิกกันโดยมิได้จดทะเบียนหย่า ว. ย้ายไปอยู่จังหวัดภูเก็ต ได้รู้จักกับผู้เสียหายและได้อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้เสียหาย จำเลยตามไปจังหวัดภูเก็ตและขู่ว่าหากแต่งงานใหม่จะฆ่า ว. กับผู้เสียหาย ต่อมาปี 2547 ว. กับผู้เสียหายได้มางานศพบิดา ว. ที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จำเลยขู่จะฆ่า ว. และผู้เสียหายอีก จน ว. ได้แจ้งความไว้กับเจ้าพนักงานตำรวจ แสดงว่าจำเลยมีความโกรธแค้น ว. และผู้เสียหายและก็คงหาโอกาสที่จะฆ่าบุคคลทั้งสองมาตลอด จนวันเกิดเหตุเมื่อจำเลยทราบว่า ว. และผู้เสียหายมาที่อำเภอหลังสวน จำเลยก็ได้เดินทางจากบ้านจำเลยไปที่บ้านพักของ ว. และผู้เสียหาย เมื่อไปถึงจำเลยก็ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายแล้วหลบหนีไป การที่จำเลยนำอาวุธติดตัวไปด้วยแสดงว่าจำเลยเตรียมอาวุธปืนเพื่อที่จะฆ่าผู้เสียหายไว้แล้ว ทั้งบ้านจำเลยและบ้านที่เกิดเหตุซึ่งอยู่คนละหมู่บ้านกันย่อมมีระยะทางห่างกันพอสมควร ระหว่างที่จำเลยเดินทางไปจำเลยย่อมคิดทบทวนหลายครั้งแล้วว่าจะฆ่าผู้เสียหาย เมื่อไปถึงจำเลยก็ได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายไปเลยโดยไม่ได้พูดคุยอะไรกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9502/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้สนับสนุนนำเข้ายาเสพติด ศาลลดโทษและเปลี่ยนโทษเป็นฝึกอบรมเยาวชน
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 137 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาเดิมได้เฉพาะกรณีที่คำพิพากษาคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว และระหว่างการฝึกอบรมตามคำพิพากษานั้นจำเลยมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป แต่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แม้จำเลยจะมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไประหว่างการฝึกอบรม ศาลชั้นต้นก็ไม่มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาโดยให้ปล่อยตัวจำเลยไป จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6712/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินเวนคืน: สิทธิได้รับค่าทดแทนตกเป็นของผู้รับโอนเดิมก่อนการเวนคืน
ในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เมื่อคณะรัฐมนตรีประกาศให้การเวนคืนเป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน หากเจ้าหน้าที่เวนคืนจัดให้มีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนในกรณีที่ตกลงกันได้หรือ วางเงินค่าทดแทนในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ ให้ถือว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นับแต่วันชำระเงินหรือวางเงินทดแทนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 13 วรรคท้ายประกอบมาตรา 11 วรรคสอง
ที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงถูกเวนคืนเป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงส่วนที่ถูกเวนคืนย่อมตกเป็นของฝ่ายจำเลยตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2541 อันเป็นวันที่ฝ่ายจำเลยได้วางเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงโดยนำไปฝากไว้กับธนาคารออมสิน สาขาชัยภูมิ ในนามของโจทก์ซึ่งเป็นวันก่อนที่พระราชกฤษฎีกาฯ สิ้นผลใช้บังคับโดยไม่ต้องมีการตราพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินทั้งสองแปลงตามมาตรา 15 ในภายหลังอีก กรณีถือได้ว่าที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ส่วนที่ถูกเวนคืนรวมเนื้อที่ 111 ตารางวา ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) นับแต่วันที่ 7 กันยายน 2541 เป็นต้นไป
เมื่อผู้ร้องรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงภายหลังจากพระราชกฤษฎีกาฯ สิ้นผลใช้บังคับ ผู้ร้องย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเท่านั้น แต่ผู้ร้องไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืน ดังนั้นผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งที่ดินที่ต้องเวนคืนตามมาตรา 18 (1) และไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นตามคำพิพากษาศาลฎีกา ส่วนโจทก์เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งที่ดินที่ต้องเวนคืนย่อมมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นตามคำพิพากษาศาลฎีกา
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ภายหลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นการขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนที่โจทก์เดิมเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสามต่อไป มิได้เรียกร้องเกินไปกว่าสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีอยู่ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงไม่ถูกต้อง และเมื่อผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 มาแล้ว จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6401/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาเดียวกันในการทำร้าย – การฆ่าและพยายามฆ่าถือเป็นกรรมเดียว
จำเลยกับพวกไล่ตีและใช้มีดแทงผู้ตายก่อนที่จะมาตีและใช้มีดแทงทำร้ายผู้เสียหาย เป็นการทำร้ายใครก่อนหลังตามธรรมดา โดยจำเลยกับพวกมิได้มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายเพิ่มขึ้นจากเจตนาทำร้ายผู้ตายอีกคนหนึ่งในภายหลัง การกระทำของจำเลยกับพวกจึงมีเจตนาในการกระทำความผิดเป็นอันเดียวกันเพียงแต่มีการกระทำหลายหนต่อบุคคลหลายคน การฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายจึงถือว่าเป็นความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5135/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับขั้นตอนพิจารณาคดีอาญา: ศาลต้องพิจารณาแก้ฟ้องก่อนตัดสินว่าฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องโดยอาศัย ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคแรก ศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์ก่อนว่ามีเหตุอันควรอนุญาตหรือไม่ แล้วจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แต่ศาลชั้นต้นกลับวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิด จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) โดยมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์เสียก่อน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนของกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยในคดีนี้ได้โดยไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
(วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาครั้งที่ 2/2554)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4737/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตอำนาจหน้าที่เจ้าพนักงานในการตรวจสอบโรงงานและปิดโรงงาน รวมถึงค่าเสียหายจากการกระทำละเมิด
พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือแก้ไข หรือปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ในการนี้หากเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรพนักงานเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้ผู้นั้นส่งออกไปซึ่งวัตถุอันตรายนั้น เพื่อคืนให้แก่ผู้ผลิตหรือผู้จัดส่งวัตถุอันตรายนั้นมาให้ หรือเพื่อการอื่นตามความเหมาะสมก็ได้ โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด..." เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือแก้ไข หรือปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย แม้จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการอย่างอื่นตามความเหมาะสมได้ แต่ก็ต้องเป็นการกระทำเพียงเพื่อประโยชน์ในการเข้าตรวจสอบสถานที่ประกอบการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย การตรวจ ค้น กัก ยึดหรือตรวจสอบวัตถุอันตรายตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 54 (1) (2) (3) มิได้ให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองใส่กุญแจปิดโรงงานของโจทก์ได้ แม้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองจะได้กระทำการดังกล่าวโดยมีเจตนาเพื่อปกป้องคุ้มครองประโยชน์สาธารณะแต่บทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของเจ้าของทรัพย์สิน จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด กรณีจึงไม่อาจนำคำว่า "ระงับ" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ซึ่งมีความหมายว่า "ยับยั้งไว้, ทำให้สงบ" มาขยายความให้หมายความรวมถึงการใส่กุญแจปิดโรงงานดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาโต้แย้งได้ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองใส่กุญแจปิดโรงงานของโจทก์จึงเป็นการกระทำเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
of 19