คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 312 ตรี วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4147/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี และการพรากเด็กเพื่อการอนาจาร: การพิพากษาและการยกฟ้อง
ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติให้ผู้กระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนนั้น มีความผิดโดยไม่คำนึงว่าเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม แต่หากเด็กหญิงนั้นยินยอม ก็มิได้หมายความว่าเด็กหญิงนั้นมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย เมื่อเด็กหญิงทั้งสามถูกกระทำชำเรา แม้เด็กหญิงทั้งสามจะยินยอมก็เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดข้อหานี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีอำนาจจัดการแทนเด็กหญิงทั้งสามตามป.วิ.อ. มาตรา 5 (1) และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดข้อหานี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2)
แม้โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จะมิได้ระบุพยานอ้าง ส.เป็นพยานในคดีนี้ด้วยก็ตาม แต่โจทก์ในสำนวนคดีแรกได้ระบุพยานอ้าง ส. เป็นพยาน ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน จึงรับฟังคำเบิกความของ ส. เป็นพยานในสำนวนคดีนี้ได้
ความเข้าใจผิดของจำเลยเกี่ยวกับอายุของเด็กหญิงทั้งสามจะเป็นความเข้าใจผิดจริงดังที่จำเลยยกขึ้นฎีกาหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง และจำเลยไม่เคยยกปัญหานี้ขึ้นกล่าวอ้างและนำสืบพยานในศาลชั้นต้น จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยให้ ก็เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นได้สั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้มาศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการรับไว้หรือล่อไปซึ่งเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยทุจริต เพราะจำเลยหาได้รับเด็กหญิงทั้งสามไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นไม่ เนื่องจากจำเลยมีเจตนาประสงค์จะกระทำชำเราเด็กหญิงทั้งสามเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 312 ตรี วรรคสอง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4147/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิโจทก์ร่วมในคดีกระทำชำเราเด็ก และการพิจารณาความผิดฐานพรากผู้เยาว์
ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติให้ผู้กระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนนั้น มีความผิดโดยไม่คำนึงถึงว่าเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม แต่หากเด็กหญิงนั้นยินยอมก็มิได้หมายความว่า เด็กหญิงนั้นมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย เมื่อเด็กหญิง ด. เด็กหญิง ส. และเด็กหญิง อ. ถูกกระทำชำเรา แม้เด็กหญิงทั้งสามจะยินยอมก็เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดข้อหานี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีอำนาจจัดการแทนเด็กหญิง ด. เด็กหญิง ส. และเด็กหญิง อ. ตามลำดับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (1) และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดข้อหานี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2)
จำเลยโทรศัพท์นัดหมายให้ ย. พาเพื่อนไปขายบริการทางเพศแก่จำเลย ย. จึงชักชวนเด็กหญิง ด. เด็กหญิง อ. และเด็กหญิง ส. ไปกระทำการดังกล่าว แล้วจำเลยรับตัวเด็กหญิงทั้งสามไว้กระทำชำเราโดยเด็กหญิงทั้งสามยินยอมที่โรงแรม ผ. เป็นการล่วงอำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ 5 และที่ 3 ตามลำดับ โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำชำเราเด็กหญิง ด. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน และพรากเด็กหญิง ด. โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร กระทำชำเราเด็กหญิง อ. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน และพรากเด็กหญิง อ. โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร และกระทำชำเราเด็กหญิง อ. โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร และกระทำชำเราเด็กหญิง ส. อายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน และพรากเด็กหญิง ส. โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวมิใช่เป็นการรับไว้หรือล่อไปซึ่งเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยทุจริตเพราะจำเลยหาได้รับเด็กหญิงทั้งสามไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นไม่ เนื่องจากจำเลยมีเจตนาประสงค์จะกระทำชำเราเด็กหญิงทั้งสามเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 312 ตรี วรรคสอง