คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 100/2

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 91 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2366/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดโทษผู้กระทำผิดยาเสพติดตามมาตรา 100/2 พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ศาลมีดุลพินิจไม่จำเป็นต้องลดโทษเสมอไป
แม้จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บังคับว่าเมื่อมีการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษแล้ว ศาลต้องลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเสมอไป แต่เป็นดุลพินิจของศาลที่จะไม่ลงโทษผู้กระทำความผิดนั้นให้น้อยกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ได้ ปัญหาว่าจำเลยให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือไม่ ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2189/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อมูลจากจำเลยที่นำไปสู่การตรวจค้นและยึดของกลาง ไม่ถือเป็นข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด
หลังจากจับกุมจำเลยที่ 1 ได้แล้ว จำเลยที่ 1 ยอมรับว่ารับเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามี และจำเลยทั้งสองพักอาศัยอยู่ที่ห้องพักในอพาร์ตเมนต์ ทั้งได้ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่ที่ห้องพักดังกล่าวพร้อมกับพาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 2 ที่อพาร์ตเมนต์และตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนมาเป็นของกลางอีก 4,000 เม็ด แต่ของกลางดังกล่าวถูกซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋ากางเกงที่แขวนอยู่และที่ตู้เสื้อผ้าภายในห้องนอนของจำเลยทั้งสองเอง ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจต้องติดตามไปจับกุมจำเลยที่ 2 กับตรวจค้นที่ห้องพักของจำเลยทั้งสองและตรวจพบของกลางได้โดยไม่ยาก ดังนี้ กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4143/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อมูลสำคัญและประโยชน์อย่างยิ่งในการลดโทษคดียาเสพติด ต้องเป็นข้อมูลที่ช่วยปราบปรามการกระทำความผิดได้จริง
การที่ผู้กระทำความผิดจะได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 จะต้องประกอบด้วยเหตุสองประการ กล่าวคือ ผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญ และข้อมูลนั้นจะต้องเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ลำพังเพียงให้ข้อมูลแต่ไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นประโยชน์ธรรมดาที่มิได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หรือเป็นประโยชน์แต่มิใช่ข้อมูลที่สำคัญ ผู้ให้ข้อมูลหาได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวไม่ คดีนี้แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากจับกุมจำเลยได้แล้ว จำเลยได้ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่ที่บ้านของจำเลยพร้อมกับพาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนมาเป็นของกลางอีก 700 เม็ด กับจำเลยให้การต่อผู้จับกุมจำเลยและพนักงานสอบสวนถึงเส้นทางในการขยายผลเพื่อจับกุมผู้ร่วมกระทำผิดคนอื่นต่อไปด้วยนั้นก็ตาม แต่ของกลางดังกล่าวถูกซุกซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้าในห้องนอนของจำเลยเอง ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจต้องติดตามไปตรวจค้นที่บ้านพักของจำเลยและตรวจพบของกลางได้โดยไม่ยาก ส่วนที่จำเลยให้การต่อผู้จับกุมจำเลยและพนักงานสอบสวนนั้น ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนมีการสืบสวนสอบสวนขยายผลในการจับกุมผู้กระทำความผิดอื่นมาดำเนินคดีโดยอาศัยข้อมูลของจำเลยแต่ประการใด ดังนี้ กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2554)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2886/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย: คำรับสารภาพ, พยานหลักฐาน, และการลดโทษ
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยเชื่อว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนโดยสมัครใจ และเพียงแต่นำคำรับสารภาพดังกล่าวมารับฟังประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีนี้เกิดเหตุก่อนที่จะมีการแก้ไข ป.วิ.อ. มาตรา 84 จึงไม่ต้องห้ามที่จะรับฟังถ้อยคำรับสารภาพในชั้นจับกุม
จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยและ อ. ซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจาก น. ที่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า ค. พร้อมกับแจ้งตำหนิรูปพรรณ ของ น. ต่อพนักงานสอบสวนด้วย เมื่อยังไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวนได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวในการจับกุม น. ผู้ที่จำเลยอ้างว่าจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยให้ข้อมูลที่สำคัญอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษซึ่งจะมีเหตุบรรเทาโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 742/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอ้างข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปราบปรามยาเสพติดเพื่อขอโทษน้อยกว่าขั้นต่ำตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด
แม้จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นและแถลงไม่ติดใจสืบพยานก็ตาม แต่เมื่อจำเลยเห็นว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานสอบสวน จำเลยย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์เพื่อให้ได้รับประโยชน์โดยรับโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้ แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้ยกข้อกฎหมายนี้ขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นมาก่อนก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9481/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพในชั้นฎีกาและการลดโทษกรณีให้ข้อมูลสำคัญช่วยปราบปรามยาเสพติด
จำเลยฎีกาว่ามิได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ประการหนึ่ง ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกอีกประการหนึ่ง การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา แม้จะถือว่าเป็นการขอแก้ไขคำให้การจากที่ให้การปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพ ซึ่งจำเลยไม่อาจกระทำได้ เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องการกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง และไม่อาจถือว่าการที่จำเลยยื่นคำร้องนี้เป็นการยื่นคำร้องขอถอนฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 202 ประกอบมาตรา 225 เพราะจำเลยยังติดใจฎีกาในประเด็นการลดโทษและรอการลงโทษจำคุก ทั้งไม่อาจถือว่าเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาด้วยการสละประเด็นบางข้อเพราะพ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 แล้ว แต่การที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกาเช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริง โดยไม่ได้โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
นอกจากจำเลยจะให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนแล้ว จำเลยยังให้ข้อมูลแก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยว่า จำเลยรับเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจาก อ. และจำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุม อ. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนประมาณ 20,000 เม็ด นับเป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 สมควรกำหนดโทษจำเลยให้น้อยลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6637/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดโทษคดียาเสพติด: การรับสารภาพและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต้องมีผลต่อการจับกุมผู้กระทำผิดรายอื่นจึงจะลดโทษต่ำกว่าขั้นต่ำได้
แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ก็เป็นเพียงเหตุบรรเทาโทษที่ศาลสามารลดโทษให้ได้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 78 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยซัดทอดว่าได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 ได้นั้น ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ให้การในรายละเอียดของคดีเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ก็เป็นคดีเดียวกันกับที่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิด ซึ่งโจทก์มีพยานรู้เห็นการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 อยู่แล้ว การที่จะถือว่าจำเลยที่ 1 ให้ข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้ศาลลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำได้นั้น จะต้องเป็นเรื่องที่นำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่น หรือนำไปสู่การยึดได้ยาเสพติดให้โทษอีกจำนวนหนึ่ง โดยไม่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของกลางคดีนี้ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากที่เกิดเหตุ กรณีของจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2
การใช้ดุลพินิจลดโทษกึ่งหนึ่ง เป็นจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษจำคุกตั้งแต่ 25 ปี ถึง 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 52 (2) นั้น ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในแต่ละคดีเป็นการเฉพาะ เนื่องจากข้อเท็จจริงในแต่ละคดีไม่เหมือนกัน แม้เป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษเช่นเดียวกันก็ตาม ข้อเท็จจริงในคดีอื่นไม่อาจนำมาใช้แก่คดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6637/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดโทษคดียาเสพติด: การให้การรับสารภาพต้องนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดอื่นหรือยึดยาเสพติดเพิ่ม
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน โดยซัดทอดว่าได้ร่วมกระทำความผิดกับ อ. หรือจำเลยที่ 2 และต่อมาภายหลังเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ให้การในรายละเอียดของคดีเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ เป็นการจับกุมในคดีเดียวกันกับที่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิด ซึ่งโจทก์มีพยานรู้เห็นการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 อยู่แล้ว การที่จะถือว่าจำเลยที่ 1 ให้ข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน อันจะเป็นเหตุให้ศาลลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำได้นั้น จะต้องเป็นเรื่องที่นำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่น หรือนำไปสู่การยึดได้ยาเสพติดให้โทษอีกจำนวนหนึ่งโดยไม่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของกลางคดีนี้ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากที่เกิดเหตุ จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6287/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อมูลจากผู้ต้องหาต้องเป็นประโยชน์นอกเหนือวิสัยตำรวจ จึงจะลดโทษได้ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ม.100/2 บัญญัติว่า "ถ้าศาลเห็นว่า ผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้" ซึ่งข้อมูลที่ผู้กระทำความผิดให้ต่อเจ้าพนักงานตามที่บัญญัติไว้นั้น จะต้องมีลักษณะเป็นการนอกเหนือจากวิสัยที่เจ้าพนักงานจะสามารถค้นพบได้จากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และในการปราบปรามยาเสพติดให้โทษของเจ้าพนักงานต่อจากนั้นเป็นผลโดยตรงจากการให้ข้อมูลหรือเบาะแสที่สำคัญของผู้กระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความเพียงว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกจับกุม จำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำว่า จำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะไปลำเลียงเมทแอมเฟตามีน จากสหภาพพม่าเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้คุ้มกัน ส่วนบันทึกคำรับสารภาพที่เขียนด้วยลายมือของตนเองก็กล่าวแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 3 และที่ 4 เดินเข้าไปในสหภาพพม่าเพื่อลำเลียงเมทแอมเฟตามีน ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้เจ้าพนักงานตำรวจที่มาเบิกความต่างก็ยืนยันว่ามีการสืบสวนหาข่าวและทราบมาก่อนทั้งสิ้น อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ จากนั้นได้มีการวางแผนจับกุมและแกะรอยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จนกระทั่งจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ คำให้การของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดผู้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้สมควรใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามบทบัญญัติดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3072/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดุลพินิจศาลในการลดโทษคดียาเสพติด: การให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน
แม้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 จะให้ศาลมีอำนาจลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ก็ตาม แต่ก็เป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาตามที่เห็นสมควร มิใช่บทบังคับ ซึ่งข้อเท็จจริงที่จำเลยแจ้งตำหนิรูปพรรณ ก. และ ป. ให้พนักงานสอบสวนทราบ จนมีการออกหมายจับบุคคลทั้งสอง แต่ทางนำสืบของโจทก์และจำเลยไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนสามารถจับกุม ก. และ ป. มาดำเนินคดีได้หรือไม่ อย่างไร คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยจึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะฟังว่าจำเลยให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานสอบสวน จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะกำหนดโทษจำเลยให้น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้
of 10