คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 625

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 75 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9855/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง: ต้องมีเจตนาตกลงชัดเจนจึงจะมีผลผูกพัน
แม้ใบรับขนสินค้าของจำเลยที่ 1 มีข้อความท้ายสุดว่า "สินค้าที่ไม่ได้ประเมินราคา เมื่อเกิดความชำรุดหรือเสียหายจะชดใช้ไม่เกิน 500 บาท" ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ตกลงยินยอมด้วย ข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 625 จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดเต็มจำนวนที่สินค้าเสียหายจริงคือ 34,527.50 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2991/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ การจำกัดความรับผิด และการพิสูจน์ข้อตกลง
เมื่อปรากฏว่าอุณหภูมิของตู้สินค้าเปลี่ยนแปลงผิดปกติ พนักงานบริษัทจำเลยที่ 1 ต้องเป็นผู้มีหน้าที่แก้ไขปัญหาดังกล่าว และในที่สุดแม้สินค้าเวชภัณฑ์ยาตามคำฟ้องไม่ได้รับการขนส่งไปยังปลายทาง จำเลยที่ 1 ก็ยังได้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการให้บริการจากบริษัท ม. ผู้ส่งสินค้าดังกล่าว โดยหลังจากรับขนส่งและรับสินค้าเวชภัณฑ์ยาตามคำฟ้องมาแล้วจำเลยที่ 1 จึงออกใบรับขนของทางอากาศ (Air Waybill) เพื่อเป็นหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 ได้รับสินค้านั้นไว้เพื่อขนส่งต่อไปแล้ว และใบเรียกเก็บเงิน ยังเป็นการเรียกเก็บค่าระวางอีกด้วย นอกจากนี้แม้จำเลยที่ 1 จะปฏิเสธว่าไม่ใช่ผู้ขนส่ง แต่ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 กลับอ้างเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิดตามสัญญาขนส่งว่าเป็นสัญญาที่บริษัท ม. ผู้เอาประกันภัยตกลงในเรื่องการจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเนื้อความที่ใช้กับเฟรตฟอร์เวิร์ดเดอร์เช่นจำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สัญญาผู้รับขนส่งทางอากาศได้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขนส่งสินค้าเวชภัณฑ์ยา ที่บริษัท ม. ผู้ส่ง เอาประกันภัยไว้แก่โจทก์
ใบรับขนของทางอากาศในช่องรายการแสดงราคาสินค้า (Shipper's Declared Values) แบ่งเป็น 2 ช่อง ช่องทางซ้ายเป็นช่องแสดงราคาสินค้าเพื่อเสียภาษีศุลกากร (for Customs) ระบุว่า "NVD" ส่วนช่องทางขวาเป็นช่องแสดงราคาสินค้าสำหรับการขนส่ง (for carriage) ระบุว่า "M/F" แสดงว่าเฉพาะในช่องรายการแสดงราคาสินค้าสำหรับการขนส่ง (Declared Value For Carraige) เท่านั้นที่เกี่ยวข้องกันและมีผลต่อการจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 แต่ในช่องดังกล่าวของใบรับขนของทางอากาศกลับระบุว่า "M/F" ไม่ใช่ "NVD" โดยไม่ปรากฏในทางนำสืบของจำเลยที่ 1 หรือฝ่ายใดว่า "M/F" กับ "NVD" มีความหมายเช่นเดียวกันหรือไม่ อย่างไร เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายอ้างเอาประโยชน์จากข้อสัญญาจำกัดความรับผิดในความเสียหายจำนวน 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ตามเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิด ซึ่งอยู่ด้านหลังใบรับขนของทางอากาศ จำเลยที่ 1 ต้องนำสืบให้เห็นด้วยว่าบริษัท ม. ผู้ส่ง ได้ตกลงไว้โดยแจ้งชัดในเรื่องข้อจำกัดความรับผิดสำหรับสินค้าที่ขนส่งซึ่งกำหนดไว้ในเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิด เมื่อไม่ปรากฏลายมือชื่อของกรรมการบริษัท ม. ผู้ส่ง ซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนบริษัท บริษัท ม. ผู้ส่ง ได้ตกลงไว้โดยแจ้งชัดในเรื่องข้อจำกัดความรับผิดที่จำเลยที่ 1 อ้างดังกล่าว ข้อตกลงจำกัดความรับผิดที่จำเลยที่ 1 อ้างย่อมไม่ผูกพันบริษัท ม. ผู้ส่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13102/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าทางอากาศ, การจำกัดความรับผิด, การรับช่วงสิทธิจากสัญญาประกันภัย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่างใช้ชื่อ ยูพีเอส (UPS) และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ใช้ชื่อยูพีเอส เอสซีเอส (UPS SCS) เช่นเดียวกัน ทั้งพยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานบริษัทผู้สำรวจเหตุความเสียหายเบิกความว่าจำเลยที่ 3 ได้ส่งเอกสารการเรียกร้องของผู้เอาประกันภัยไปยังจำเลยที่ 1 ตามแบบพิมพ์การเรียกร้องของลูกค้ายูพีเอส เอสซีเอส ซึ่งแบบพิมพ์นี้นอกจากจะใช้เครื่องหมาย UPS เหมือนกับเครื่องหมายในใบรับขนทางอากาศของจำเลยที่ 1 แล้ว ในรายละเอียดก็ยังมีข้อความในลักษณะเกี่ยวกับเครือข่ายการทำธุรกิจของกลุ่มบริษัทยูพีเอส เอสซีเอส โดยมีข้อความตอนล่างสุดระบุถึงการให้บริการรวมทั้งความรับผิดของจำเลยที่ 1 เป็นไปตามข้อความและเงื่อนไขการให้บริการของยูพีเอส เอสซีเอส ที่สามารถตรวจดูได้ทางเวปไซต์ www.ups-scs.com แสดงว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นกลุ่มบริษัทในเครือข่ายเดียวกันที่ให้บริการเป็นระบบเครือข่ายในประเทศต่างๆ เชื่อว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นบริษัทในเครือข่ายเดียวกันกับที่ร่วมกันประกอบกิจการรับขนของเป็นเครือข่ายร่วมกัน จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ร่วมกันรับขนส่งสินค้าตามฟ้อง
แม้ผู้รับประกันภัยจะไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ถ้าทรัพย์สินอันได้เอาประกันภัยไว้นั้นได้คืนมา แต่เมื่อสินค้าดังกล่าวเป็นอะไหล่ที่ใช้ประกอบกับเครื่องจักรในโรงงานของผู้เอาประกันภัยซึ่งต้องมีสำรองไว้ใช้ในโรงงานประกอบกับในการซื้อสินค้า ผู้เอาประกันภัยตกลงซื้อในเทอม เอฟซีเอ ท่าอากาศยานซูริค ซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องเสียค่าขนส่งจากท่าอากาศยานดังกล่าวมายังท่าอากาศยานกรุงเทพเอง การที่ผู้เอาประกันภัยยอมเสียค่าขนส่งทางอากาศซึ่งย่อมมีค่าขนส่งสูงแต่ขนส่งได้รวดเร็ว ก็เป็นเหตุผลแสดงถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องได้รับสินค้าไว้ใช้โดยเร็ว ในการขนส่งครั้งนี้ควรขนส่งสินค้าถึงในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2550 แต่สินค้านี้ไม่ได้ขนส่งถึงตามกำหนดดังกล่าว จนต้องมีการเรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายของสินค้า ทั้งยังมีการเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ด้วย และในที่สุดผู้เอาประกันภัยก็ต้องซื้อสินค้าดังกล่าวใหม่ ดังนี้แม้จะมีการพบสินค้าที่ขนส่งตามฟ้องนั้นในภายหลังก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัยอีกต่อไป และการหาสินค้าดังกล่าวพบก็เป็นเวลาหลังจากที่สินค้าควรขนส่งถึง 6 เดือนเศษ พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมก่อความเสียหายในลักษณะอันถือได้ว่ามีผลทำนองเดียวกันหรือเสมือนกับสินค้าสูญหายนั่นเอง แม้จะค้นหาพบในภายหลังก็ถือได้ว่าเป็นกรณีผู้รับตราส่งเสียหายจากความสูญหายของสินค้าแล้ว จึงชอบที่จะปฏิเสธการรับสินค้าที่หาพบ การที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยจึงชอบแล้ว
ใบรับขนของทางอากาศที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ออกให้ ด้านหลังต่างก็มีข้อความจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เป็นเงินไม่เกิน 20 ดอลลาร์ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม โดยด้านหน้าของใบรับขนของทางอากาศมีช่องว่างสำหรับเติมข้อความเพื่อการแสดงราคาสินค้าเพื่อการขนส่ง และมีข้อความอธิบายให้ผู้ส่งตรวจดูข้อจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ โดยหากประสงค์จะให้เพิ่มจำนวนจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามที่ระบุไว้ ก็ให้แสดงราคาและชำระเงินเพิ่มได้ แต่ปรากฏว่าในช่องแสดงราคาเพื่อการขนส่งระบุข้อความว่า เอ็นวีดี หรือการไม่แสดงราคา อันแสดงว่าผู้ส่งยอมรับข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าว จำเลยทั้งสี่จึงจำกัดความรับผิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22319/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางอากาศ สินค้าเสียหาย และข้อจำกัดความรับผิดตามกฎหมาย
ในการขนส่งสินค้ารายนี้ สินค้าถูกส่งมากับเที่ยวบินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งลงจอดที่สนามบินอู่ตะเภาเนื่องจากสนามบินสุวรรณภูมิถูกปิดเพราะเหตุประท้วง แล้วส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 4 จากนั้นจำเลยที่ 4 บรรทุกสินค้าที่ได้รับมอบจากสนามบินอู่ตะเภามาที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อเก็บไว้ในโกดังของจำเลยที่ 4 และดำเนินพิธีการทางศุลกากรที่สนามบินสุวรรณภูมิ กับแจ้งให้บริษัท ฮ. มารับสินค้า โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 เข้าไปมีส่วนร่วมขนส่งสินค้ากับผู้ขนส่งรายอื่นในส่วนใดส่วนหนึ่ง ทั้งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกใบตราส่งทางอากาศ การบรรทุกสินค้าจากสนามบินอู่ตะเภามายังสนามบินสุวรรณภูมิเป็นเพียงการขนย้ายสินค้าเพื่อดำเนินพิธีการทางศุลกากรที่สนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น แสดงว่าจำเลยที่ 4 มีหน้าที่เพียงแจ้งการมาถึงของสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งมารับสินค้า ถือไม่ได้ว่าเป็นการเข้ามีส่วนร่วมในการขนส่งทอดใดทอดหนึ่ง
จำเลยที่ 4 ได้รับสินค้าและตรวจพบความเสียหายของกล่องบรรจุสินค้าจึงได้ทำรายงานสินค้าเสียหายเอาไว้ แสดงว่าสินค้าต้องถูกกระแทกได้รับความเสียหายในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งระหว่างการขนส่ง แม้จะไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ชัดเจนว่าสินค้าดังกล่าวได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่งของบุคคลใด แต่ได้ความจากพนักงานสำรวจและประเมินความเสียหายว่าเมื่อไปตรวจสอบความเสียหายของสินค้าที่สถานที่รับมอบสินค้าตามคำสั่งให้ส่งสินค้า (Delivery Order) พบสินค้าที่ขนส่งมาโดยเที่ยวบินของจำเลยที่ 3 ได้รับความเสียหาย อันเป็นสินค้าที่จำเลยที่ 3 ได้รับมอบหมายให้ดูแลทำการขนส่ง เมื่อผู้รับสินค้ายังไม่ยินยอมรับมอบสินค้า ถือได้ว่าสินค้าดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการดูแลของจำเลยที่ 3 ผู้ขนส่ง เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่สินค้าดังกล่าว จำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 แต่เมื่อมีข้อความระบุข้อจำกัดความรับผิดในการขนส่งทางอากาศของจำเลยที่ 3 ไว้ ซึ่งผู้ส่งหรือผู้แทนได้ลงนามตกลงไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ส่งหรือผู้แทนไม่ได้แจ้งต่อจำเลยที่ 3 ว่าประสงค์จะให้รับผิดตามราคาของที่อ้างว่าเสียหาย ข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 625 ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏในใบตราส่งทางอากาศว่าได้ระบุข้อจำกัดความรับผิดไว้ด้วย จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเต็มจำนวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10852/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามสัญญาขนส่ง และการรับผิดในฐานะนายจ้าง กรณีสินค้าเสียหาย
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งและมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถบรรทุกของตนนำสินค้าไปส่งตามสัญญารับขน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกพลิกคว่ำระหว่างทาง ทำให้สินค้าได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ 2 อ้างเหตุสุดวิสัยเพื่อไม่ให้ตนต้องรับผิดจากความเสียหายดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าการเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 616
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นอกจากจำเลยที่ 3 จะดำเนินการพิธีการศุลกากรแล้ว ยังได้จองรถและออกค่าเช่ารถให้แก่จำเลยที่ 2 แทนบริษัท อ. ผู้เอาประกันภัยไปก่อน รวมทั้งเป็นผู้ออกใบตราส่งด้วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อประสานงานอำนวยความสะดวกให้ทั้งบริษัท อ. และจำเลยที่ 2 ด้วยเพื่อให้การขนส่งสินค้าลุล่วงไป ดังนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นผู้ขนส่งตามสัญญาขนส่งตามฟ้อง แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นผู้ออกใบตราส่ง แต่ก็ได้ความว่าจำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ติดต่อจัดหาผู้ขนส่งให้แก่บริษัท อ. โดยทำธุรกิจเช่นนี้มานานแล้ว แสดงว่าการจองรถของจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 2 เป็นการติดต่อว่าจ้างผู้ขนส่ง แทนบริษัท อ. ผู้ส่งนั่นเอง จำเลยที่ 3 จึงไม่ใช่ผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 เมื่อพนักงานของจำเลยที่ 3 ได้ทำใบจองรถบรรทุกโดยขีดเครื่องหมายในช่องเลือกแบบการขนส่งที่คุ้มครองความเสียหายในวงเงิน 20,000 บาท ต่อครั้ง ย่อมถือได้ว่าบริษัท อ. ในฐานะตัวการเลือกแบบการขนส่งโดยตัวแทนแล้ว จึงถือได้ว่าบริษัท อ. ได้แสดงความตกลงชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งไว้ไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งมีผลบังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 625 และเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 และ 617 บัญญัติให้ผู้ขนส่งต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า รวมถึงความเสียหายอันเกิดแต่ความผิดของบุคคลอื่นที่ตนได้มอบหมายของไปอีกทอดหนึ่งด้วย การที่ของสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้าอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่งหรือลูกจ้างของผู้ขนส่ง ย่อมเป็นการผิดสัญญารับขนและเป็นการละเมิดด้วย แต่เมื่อมีการทำสัญญาตกลงจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ก็เท่ากับว่าผู้ส่งและผู้ขนส่งมีเจตนาที่จะถือเอาความรับผิดต่อกันให้เป็นไปตามสัญญารับขนแล้ว ย่อมต้องบังคับกันไปตามเจตนาของคู่สัญญาตามที่ได้ตกลงกันจำกัดความรับผิดกันไว้ ผู้ส่งย่อมไม่อาจขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในมูลละเมิดในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดให้ผิดไปจากข้อตกลงได้ สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ได้ความว่าเหตุใดจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่คู่สัญญาจึงได้รับประโยชน์จากสัญญาขนส่งด้วยแต่อย่างใด ย่อมเป็นอุทธรณ์ไม่ชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8195/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าและข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ศาลฎีกาตัดสินว่าข้อจำกัดความรับผิดที่ตกลงกันได้ไม่ถือเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
ผู้ส่งเป็นลูกค้าประจำของจำเลยที่ทำธุรกรรมร่วมกันมาโดยตลอดแม้กระทั่งหลังเกิดเหตุคดีนี้จึงมีเหตุให้น่าเชื่อว่าผู้ส่งทราบถึงเงื่อนไขการรับขนสินค้าของจำเลย ทั้งเมื่อพิจารณาใบรับขนทางอากาศด้านหน้า มีผู้ลงลายมือชื่อใต้ตัวพิมพ์ที่มีข้อความชัดเจนว่า ผู้ส่งตกลงตามเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในใบรับขนทางอากาศด้านหลัง ช่องให้สำแดงสินค้าเพื่อการศุลกากร (TOTAL VALUE FOR CUSTOMS) ซึ่งใช้ในการคำนวณภาษีศุลกากรระบุว่า 7,168.17 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนช่องสำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง (TOTAL DECLARED VALUE FOR CARRIAGE) ไม่ระบุจำนวนเงิน ซึ่งหากระบุจำนวนในช่องนี้ก็จะต้องเสียค่าขนส่งเพิ่ม แสดงว่าผู้ส่งเจตนาที่จะไม่แจ้งมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งเพื่อจะไม่ต้องเสียค่าระวางเพิ่ม จึงฟังได้ว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยตามที่ระบุไว้ในใบรับขนทางอากาศตาม ป.พ.พ. มาตรา 625
สัญญารับขนระหว่างจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าให้บริการรับขนสินค้าทางอากาศกับผู้ส่งซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าขายสินค้าเครื่องประดับให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศเป็นสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจการค้าด้วยกัน แม้ข้อสัญญาในใบรับขนทางอากาศที่จำเลยทำในลักษณะแบบพิมพ์ข้อตกลงสำเร็จรูปโดยให้จำกัดความรับผิดกรณีสินค้าที่รับขนส่งสูญหายหรือเสียหายไว้เพียง 100 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อการขนส่ง หรือ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน ซึ่งต่ำกว่าราคาสินค้าของผู้ส่งมากอันทำให้ผู้ส่งต้องรับภาระมากหากสินค้าที่ขนส่งสูญหายหรือเสียหายก็ตาม แต่ตามข้อสัญญานี้ก็ให้โอกาสผู้ส่งตกลงให้จำเลยรับผิดสูงขึ้นได้โดยต้องระบุแจ้งราคาสินค้าเพื่อการขนส่งให้จำเลยทราบและเสียค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ไม่ได้บังคับให้ผู้ส่งต้องยอมรับจำนวนจำกัดความรับผิดตามที่ระบุไว้นั้นโดยเด็ดขาด ขณะที่ผู้ส่งสินค้าก็สามารถเอาประกันภัยได้ กรณีย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นการเอาเปรียบหรือทำให้คู่สัญญาอีกฝ่ายต้องรับภาระเกินกว่าที่คาดหมายตามปกติได้ ข้อสัญญาจำกัดความรับผิดของจำเลยจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ทำให้จำเลยได้เปรียบผู้ส่งซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรอันจะถือเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11572/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการขนส่งสินค้าชำรุด และการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องค่าเสียหายโดยศาล
ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น การที่จำเลยให้การในตอนต้นว่า จำเลยไม่เคยรับขนส่งสินค้าที่พิพาท และชื่อผู้ขนส่งตามที่ระบุไว้ในใบรับขนของทางอากาศก็ไม่ใช่ชื่อของจำเลย ส่วนตอนท้ายจำเลยให้การว่า หากศาลฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าแล้ว จำเลยสามารถจำกัดความรับผิดได้ไม่เกิน 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม คำให้การดังกล่าวเมื่ออ่านโดยรวมแล้วสามารถเข้าใจได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์ และยังให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่จำต้องรับผิดตามจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมา คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงหลายทางไม่ชัดแจ้งว่าข้อเท็จจริงที่ให้การนั้นเป็นไปในทางหนึ่งทางใด อันจะถือเป็นคำให้การที่ขัดกันดังที่โจทก์อุทธรณ์ คำให้การของจำเลยชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสองแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5746/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง: ข้อความในเอกสารต้องชัดเจนและผู้ส่งต้องตกลงด้วย มิฉะนั้นเป็นโมฆะตามกฎหมาย
ใบกำกับการส่งสินค้าหรือใบเสร็จรับเงินซึ่งองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์จำเลยที่ 2 ออกให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ที่นำสินค้ามาส่ง มีข้อความจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 และลูกจ้างของโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ส่งสินค้าไว้ด้วย แต่เอกสารดังกล่าวด้านหน้าตอนท้าย ของเอกสารดังกล่าวเพียงแต่มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า การส่งสินค้าควรประเมินราคาเพื่อประโยชน์ของท่านเอง และอีกตอนหนึ่งว่า โปรดสังเกตเงื่อนไขในการว่าจ้าง ร.ส.พ. ขนส่งสินค้าอยู่ด้านหลังนี้ ซึ่งด้านหลังของเอกสารดังกล่าวเป็นเงื่อนไขการว่าจ้างร.ส.พ.ขนส่งสินค้าและมีเงื่อนไขตอนหนึ่งระบุว่าการขนส่งพัสดุภัณฑ์อื่นๆ นอกจากที่ระบุไว้ในข้อ ก.และ ข. ผู้ส่งหรือผู้ว่าจ้างยินยอมให้ ร.ส.พ. ชดใช้ค่าเสียหายตามราคาที่เสียหายจริงแต่ไม่เกินวงเงิน 5,000 บาท ต่อเอกสารการขนส่ง 1 ฉบับ ข้อความด้านหน้าตอนท้ายของเอกสารดังกล่าวเป็นแต่เพียงคำเตือนหรือคำแนะนำให้ผู้ส่งสินค้าปฏิบัติ ไม่มีลักษณะเป็นข้อตกลงที่ชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดระหว่างผู้ขนส่งและผู้ส่งจึงเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 625 สินค้าประเภทกระดาษอัดรูปและฟิลม์สีที่โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ขนส่งมีราคาสูง แต่ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นของมีค่าอย่างอื่นตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 620 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่จำต้องบอกราคาหรือสภาพแห่งของไว้ในขณะที่ส่งมอบแก่จำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในราคาสินค้าที่แท้จริงซึ่งเสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 61

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5746/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง: โมฆะหากไม่ชัดเจน และไม่ต้องบอกราคาสินค้าหากไม่เป็นของมีค่า
ใบกำกับการส่งสินค้าหรือใบเสร็จรับเงินซึ่งจำเลยที่ 2 ออกให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ที่นำสินค้ามาส่ง มีข้อความจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 และลูกจ้างของโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ส่งสินค้า แต่ด้านหน้าตอนท้ายของเอกสารดังกล่าวเพียงแต่มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า การส่งสินค้าควรประเมินราคาเพื่อประโยชน์ของท่านเอง และอีกตอนหนึ่งว่า โปรดสังเกตเงื่อนไขในการว่าจ้าง ร.ส.พ. ขนส่งสินค้าอยู่ด้านหลังนี้ ซึ่งด้านหลังของเอกสารดังกล่าวเป็นเงื่อนไขการว่าจ้าง มีเงื่อนไขตอนหนึ่งระบุว่า ข้อ 7 ค. การขนส่งพัสดุภัณฑ์อื่นๆ นอกจากที่ระบุไว้ในข้อ ก.และ ข. ผู้ส่งหรือผู้ว่าจ้างยินยอมให้ ร.ส.พ. ชดใช้ค่าเสียหายตามราคาที่เสียหายจริงแต่ไม่เกินวงเงิน 5,000 บาท ต่อเอกสารการขนส่ง 1 ฉบับ ข้อความด้านหน้าตอนท้ายของเอกสารดังกล่าวเป็นแต่เพียงคำเตือนหรือคำแนะนำให้ผู้ส่งสินค้าปฏิบัติ ไม่มีลักษณะเป็นข้อตกลงที่ชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดระหว่างผู้ขนส่งและผู้ส่ง ข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 จึงเป็นโมฆะ ตามมาตรา 625 แห่ง ป.พ.พ.
สินค้ากระดาษอัดรูปและฟิลม์สีที่โจทก์ว่าจ้างให้ขนส่งมีราคาสูง ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นของมีค่าอย่างอื่นตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 620 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่จำต้องบอกราคาหรือสภาพแห่งของไว้ในขณะที่ส่งมอบแก่จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในราคาสินค้าที่แท้จริงซึ่งเสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 616

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 863/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดความรับผิดในการขนส่งทางอากาศ: เจตนาผู้ส่งสินค้าสำคัญกว่าค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
ด้านหลังของใบตราส่งทางอากาศมีข้อจำกัดความรับผิดไว้ไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อการขนส่ง 1 เที่ยว หรือ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อสินค้าน้ำหนัก 1 กิโลกรัมแล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า การที่ผู้เอาประกันภัยจงใจกรอกข้อความด้านหน้าใบตราส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ข้อ 3 ว่าขอแจ้งมูลค่าสินค้าเป็นเงิน 5,430 ดอลลาร์สหรัฐไว้เฉพาะในช่อง "Value for Customs" หรือมูลค่าเพื่อการศุลกากร ส่วนในช่อง "Total Declared Value for Carriage" หรือมูลค่าที่แจ้งทั้งหมดเพื่อการขนส่งไม่ขอแจ้งโดยขีดฆ่าออก เพราะทราบดีกว่า "Value for Customs" มีความหมายแตกต่างกับ "Total Declared Value for Carriage" แต่ผู้เอาประกันภัยก็ยังคงเลือกแสดงเจตนาที่จะไม่ระบุแจ้งมูลค่าเพื่อการขนส่งเพื่อที่จะได้เสียค่าระวางต่ำโดยยอมตกลงให้ผู้ขนส่งจำกัดความรับผิดตามเนื้อความด้านหลังใบตราส่งทางอากาศระหว่างประเทศได้ ประกอบกับในขณะเดียวกันผู้เอาประกันภัยก็ได้ทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์ก่อนส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ขนส่งในวงเงินประกันที่คุ้มมูลค่าของสินค้าไว้ก่อนจึงไม่มีความจำเป็นต้องเสียค่าระวางเพิ่มเพื่อให้ผู้ขนส่งต้องรับผิดเพิ่มขึ้นอีกอันเป็นการลดต้นทุนของผู้เอาประกันภัย จึงเชื่อได้ว่าผู้เอาประกันภัยในฐานะผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดเช่นว่านั้น อันเป็นเหตุให้ข้อตกลงจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งด้านหลังใบตราส่งทางอากาศระหว่างประเทศมีผลใช้บังคับได้ เมื่อสินค้าพิพาทมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขนส่งจึงรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยที่เป็นผู้ส่ง 100 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าการคำนวณน้ำหนักของสินค้า
of 8