คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 91 (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4214/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรมต่างกัน พ.ร.บ.ปุ๋ย: การผลิตและจำหน่ายปุ๋ยเคมีปลอม
โจทก์บรรยายฟ้องแยกเป็นข้อ ๆ ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีปลอมเพื่อการค้า ร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีซึ่งแสดงชื่อการค้าไม่ถูกต้อง ร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียน และร่วมกันจำหน่ายโดยการขายปุ๋ยเคมีดังกล่าวให้แก่ร้าน จ. แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองแยกเป็นรายกระทงความผิดตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง ทั้งความผิดฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีปลอมเพื่อการค้า ฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีซึ่งแสดงชื่อการค้าไม่ถูกต้อง และฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียน กับความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายปุ๋ยเคมีดังกล่าวเป็นความผิดที่ต้องอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแยกต่างหากจากกันได้ แม้ปุ๋ยเคมีปลอม ปุ๋ยเคมีซึ่งแสดงชื่อการค้าไม่ถูกต้อง ปุ๋ยเคมีที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียน และปุ๋ยเคมีที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเป็นจำนวนเดียวกัน และจำเลยทั้งสองร่วมกันขายปุ๋ยเคมีดังกล่าวในช่วงเวลาเดียวกันก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาแยกการร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีปลอมเพื่อการค้า ร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีซึ่งแสดงชื่อการค้าไม่ถูกต้อง และร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนต่างหากจากการร่วมกันขายปุ๋ยเคมีดังกล่าวตั้งแต่จำเลยทั้งสองร่วมกันขายปุ๋ยเคมีให้แก่ร้าน จ. แล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 394/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานฉ้อโกง vs ลักทรัพย์ การกระทำที่หลอกลวงผู้อื่นให้มอบทรัพย์สินย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง เมื่อจำเลยจัดทำใบเบิกเงินทดรองจ่ายซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่ตรงตามความเป็นจริง จึงเป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ การอนุมัติให้จำเลยเบิกเงินไปเกิดจากการที่พนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมหลงเชื่อข้อความในเอกสาร จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลก็มีอำนาจลงโทษในความผิดฐานฉ้อโกงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
แม้คำขอบังคับในคดีนี้กับคดีของศาลแรงงานกลางจะมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน คือขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีนี้เนื่องมาจากการกระทำผิดอาญา ส่วนคดีของศาลแรงงานกลางมีที่มาจากมูลกรณีของการผิดสัญญาจ้างแรงงาน พนักงานอัยการไม่อาจจะอาศัยสิทธิในเรื่องของสัญญาจ้างแรงงานมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ จึงมิใช่เป็นกรณีที่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ.มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม ฉ้อโกงเงินของโจทก์ร่วมไปและถูกฟ้องหลายคดี แต่คดีนี้และคดีอื่นมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 91 (1) กล่าวคือ เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงทุกคดีแล้วจะเกิน 10 ปี ไม่ได้ คดีนี้จำเลยถูกลงโทษเต็มตามกำหนดโทษดังกล่าวแล้วย่อมไม่อาจนำโทษคดีนี้ไปนับต่อจากโทษคดีอื่นได้เพราะจะทำให้จำเลยได้รับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ ป.อ. มาตรา 91 (1) บัญญัติไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4458/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฎีกาในคดีอาญา: โทษจำคุกต่อกระทงไม่เกิน 5 ปี
คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยกระทำความผิดรวม 90 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุกกระทงละ 3 เดือน แม้รวมโทษทุกกระทงแล้วลงโทษจำคุกจำเลยถึง 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91 (1) ก็ตาม แต่เมื่อโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2941/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดโทษประมวลกฎหมายอาญา ม.91(1) เฉพาะคดีความผิดหลายกรรมที่ฟ้องรวมกัน หรือเกี่ยวพันกัน
คดีที่จะอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(1)ซึ่งมีการจำกัดในการลงโทษในความผิดหลายกรรมต่างกัน เมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกิน 10 ปี นั้น หมายถึงคดีที่จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมแล้วโจทก์ฟ้องเป็นคดีเดียวกันหรือคดีที่เกี่ยวพันกัน สามารถรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันได้ เนื่องจากลักษณะของความผิดที่กระทำนั้นเกี่ยวพันกัน แต่โจทก์แยกฟ้องมาหลายคดี
จำเลยที่ 1 ออกเช็คชำระหนี้ค่าซื้อพลอยให้แก่โจทก์ร่วมหลายครั้งและยักยอกทรัพย์โจทก์ร่วมเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดี จึงอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(1) ในเรื่องการจำกัดระยะเวลาในการลงโทษจำคุก