คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 563

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 68 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 368/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกเบี้ยปรับจากสัญญาเช่า: ต้องฟ้องภายใน 6 เดือนนับจากวันส่งคืนทรัพย์สิน
สัญญาเช่าที่ราชพัสดุเพื่อใช้เป็นทางเดินและเป็นที่ตั้งตลาดและสัญญาเช่าอาคารหรือสิ่งก่อสร้างที่กำนหดว่าการชำระค่าเช่า ค่าภาษี ค่าธรรมเนียม หรือเงินอื่นใดที่ผู้เช่าต้องชำระให้แก่ผู้ให้เช่าตามกำหนด หาชำระเกินกำหนดเวลา ผู้เช่าจะต้องชำระเงินเพิ่มขึ้นจากเงินดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับให้ผู้เช่าอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินที่ค้างชำระ เมื่อครกำหนดสัญญาเช่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้เช่าที่ดินและอาคารตลาดจากโจทก์ และโจทก์ได้รับมอบที่ดินพร้อมอาคารคืนจากจำเลยแล้ว การฟ้องคดีเรียกเบี้ยปรับตามสัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยปฏิบัติเกี่ยวแก่สัญญาเช่าเช่าต้องฟ้องภายใน 6 เดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่ให้เช่าตามมาตรา 563 กรณีมิใช่เป็นเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระหรือค่าเช่าทรัพย์สินค้างชำระอันมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 368/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกเบี้ยปรับจากสัญญาเช่า: ต้องฟ้องภายใน 6 เดือนนับจากคืนทรัพย์
จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อใช้เป็นทางเดินและที่ตั้งตลาดและทำสัญญาเช่าอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างกับโจทก์ โดยมีข้อตกลงว่าหากชำระค่าเช่า ค่าภาษี ค่าธรรมเนียมหรือเงินอื่นใดที่ผู้เช่าต้องชำระให้แก่ผู้เช่าเกินกำหนดเวลา ผู้เช่าต้องชำระเงินเพิ่มจากเงินดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินที่ค้างชำระ สัญญาเช่าดังกล่าวเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 ข้อตกลงเรื่องเบี้ยปรับดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงตามสัญญาเช่าทรัพย์สิน การฟ้องเรียกเบี้ยปรับต้องดำเนินการฟ้องเสียภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่จำเลยส่งคืนทรัพย์สินที่ให้เช่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7025/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เหตุวินิจฉัยนอกประเด็นเรื่องอายุความค่าเช่า ชี้จำกัดสิทธิฎีกา
คดีนี้จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ในเรื่องอายุความเฉพาะค่าเสียหายอันเกี่ยวกับสัญญาเช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 จึงมีประเด็นวินิจฉัยเฉพาะอายุความ 6 เดือน ตามมาตรา 563 เท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าค่าเช่าที่ค้างชำระไม่ขาดอายุความตามมาตรา 193/34 (6) จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น เมื่อจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อมาว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเช่าขาดอายุความ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ต้องไม่วินิจฉัยให้ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 193/34 (6) และไม่วินิจฉัยปัญหาข้ออื่นตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นแห่งคดี ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความจะไม่ได้ยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
เมื่อศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามที่ว่า จำเลยทั้งสามต้องชำระค่าเช่าค้างชำระตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้หรือไม่ เพียงใด แม้ปัญหาดังกล่าวคู่ความจะได้นำสืบข้อเท็จจริงกันมาเสร็จสิ้นแล้วก็ตาม แต่ผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัยในปัญหาข้อนี้เสียก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8879/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าเสียหายจากสัญญาเช่าซื้อ: แยกพิจารณาตามลักษณะการเรียกร้อง – ค่าเสียหายระหว่างสัญญา vs. หลังบอกเลิกสัญญา
กำหนดอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งคืนทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 นั้นจะต้องเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการใช้รถบุบสลายที่เกิดขึ้นในระหว่างสัญญาเช่าซื้อยังมีผลใช้บังคับอยู่ แต่คดีนี้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อจนโจทก์บอกเลิกสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการนำรถยนต์ออกให้เช่าการฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 สำหรับกรณีที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแล้วนำรถยนต์ไปขายทอดตลาดได้เงินน้อยกว่าค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เงินที่ยังขาดอยู่นี้เกิดขึ้นหลังจากสัญญาเช่าซื้อได้เลิกกันแล้ว กรณีไม่ต้องด้วยอายุความ 6 เดือนตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5032/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าเสียหายสัญญาเช่าซื้อ: ค่าเสียหายหลังส่งคืนทรัพย์สินไม่ขาดอายุความ 6 เดือน แต่มีอายุความ 10 ปี
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 563 มิได้บัญญัติไว้โดยตรงว่า การใช้สิทธิเรียกร้องซึ่งมีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า จะต้องเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างสัญญาเช่าซื้อมีผลใช้อยู่ แต่การที่ ป.พ.พ. มาตรา 563 บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า แสดงว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าวต้องเกิดขึ้นแล้วในวันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า โดยอาจเกิดขึ้นในระหว่างสัญญาเช่าซื้อยังมีผลใช้อยู่ หรือระหว่างที่ผู้เช่าซื้อยังครอบครองทรัพย์สินอยู่ แต่ค่าเสียหายที่โจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ในราคาน้อยกว่าค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เป็นค่าเสียหายที่โจทก์จะทราบได้ต่อเมื่อโจทก์ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและขายไปแล้ว จึงเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากวันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อ กรณีไม่ต้องด้วยอายุความ 6 เดือน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 แต่เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6121/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อผิดนัดชำระ: สิทธิของเจ้าหนี้ในการเรียกร้องค่าเสียหายและค่าขาดราคา
สัญญาเช่าซื้อระบุให้ผู้เช่าซื้อนำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไปชำระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของเจ้าของ จึงเป็นภาระหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อที่ต้องนำเงินค่างวดไปชำระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อ การที่จำเลยที่ 1 นำสืบถึงข้อตกลงว่าพนักงานของโจทก์จะเป็นผู้ไปเก็บค่างวดแก่จำเลยที่ 1 เอง จึงเป็นการแตกต่างไปจากที่ระบุไว้ในสัญญา เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมเอกสารสัญญาเช่าซื้อ ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ จึงเป็นการผิดสัญญา สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันทันทีโดยเจ้าของผู้ให้เช่าซื้อไม่ต้องบอกกล่าวก่อน
ฟ้องโจทก์ที่ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์และค่าขาดราคาไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เพราะมิใช่กรณีที่ผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่านั้น อันจะต้องใช้สิทธิฟ้องภายใน 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3564/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความ 6 เดือน ตาม ม.563 พ.ร.บ.แพ่งและพาณิชย์ เริ่มนับเมื่อส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า แม้สัญญายังไม่สิ้นสุด
คำว่า ส่งทรัพย์สินที่เช่าตามถ้อยคำในมาตรา 563 ป.พ.พ. มิได้ให้คำจำกัดความไว้ และการส่งคืนทรัพย์สิน ที่เช่าตามมาตราดังกล่าว กฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้ให้เกี่ยวเนื่องหรือเกี่ยวข้องกับสัญญาเช่าสิ้นสุดหรือการบอกเลิกสัญญาเช่าและตามความในมาตรา 564 ถึงมาตรา 571 (ความระงับแห่งสัญญาเช่า) ก็ไม่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า ถ้าได้มีการส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าแล้วให้ถือว่าสัญญาเช่าสิ้นสุด ฉะนั้นอายุความ 6 เดือน ตามมาตรา 563 จึงต้องเป็นเรื่องการส่งคืนทรัพย์ที่เช่าเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องคำนึงถึงสัญญาเช่าสิ้นสุดหรือการบอกเลิกสัญญาเช่า
จำเลยได้ติดต่อขอเช่าและทำสัญญาเช่าอุปกรณ์ป้องกันสายไฟฟ้าแรงสูง (ไลน์การ์ด) จากโจทก์จำนวน 43 ชุด โจทก์ได้ให้พนักงานนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปติดตั้งให้จำเลยเป็นที่เรียบร้อย หลังจากนั้นจำเลยก็ได้รับประโยชน์หรือ ถือว่าได้ใช้อุปกรณ์ที่เช่าดังกล่าวตลอดมา ในระหว่างอายุสัญญาเช่าได้เกิดฝนตกหนักทำให้ไฟฟ้าลัดวงจรเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ในบริเวณที่อุปกรณ์ป้องกันสายไฟฟ้าแรงสูง (ไลน์การ์ด) ติดตั้งอยู่ ทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวได้รับความเสียหาย 23 ชุด คิดเป็นเงิน 197,780 บาท การที่พนักงานของโจทก์ไปทำการรื้อถอนและเก็บอุปกรณ์ดังกล่าวคืนมานั้นหากไม่มีความชำนาญจะติดตั้งอุปกรณ์ไลน์การ์ดไม่ได้ เพราะไม่มีการดับไฟฟ้าแรงสูง ดังนั้นการที่พนักงานของโจทก์ไป รื้อถอนอุปกรณ์ดังกล่าวและเก็บเอามาทั้งหมดด้วยความยินยอมของจำเลยตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2535 และต่อมาโจทก์เรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายอุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหายบางส่วนจำนวน 23 ชุด พฤติการณ์จึงพอถือได้ว่าได้มีการ ส่งคืนหรือทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมตามความหมายทั่ว ๆ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2535 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน คดีโจทก์จึงขาดอายุความซึ่งไม่พักต้องคำนึงถึงว่าผู้ว่าการของโจทก์จะได้รับรู้หรือไม่อย่างไร เพราะมาตรา 563 มิได้บัญญัติถึงการรับรู้ของผู้เสียหายไว้ด้วยดังเช่น มาตรา 448 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9335/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องค่าเช่าสังหาริมทรัพย์และค่าเสียหายจากการผิดสัญญาเช่า การกำหนดอายุความที่แตกต่างกัน
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากการผิดสัญญาเช่าโดยเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่ากับค่าเช่าที่จำเลยค้างชำระอยู่ก่อนเลิกสัญญาจำนวน 24 เดือน แม้โจทก์จะฟ้องเรียกเงินจำนวนนี้โดยเรียกว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหาย แต่ต้องถือว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเช่าที่จำเลยค้างชำระอยู่ก่อนเลิกสัญญาจำนวน 24 เดือน เพราะมิฉะนั้นแล้วจะเป็นการยอมให้โจทก์หลีกเลี่ยงการที่จะฟ้องเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระมาเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหาย เมื่อถือว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระและโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์สิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมมีกำหนดอายุความสองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(6) จำเลยค้างชำระค่าเช่า 24 เดือน เดือนสุดท้ายที่ค้างชำระคือวันที่ 1 พฤษภาคม 2538แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2540 จึงพ้นกำหนดเวลาสองปีแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9335/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าเช่าและค่าเสียหายจากการผิดสัญญาเช่า สิทธิเรียกร้องมีอายุความ 2 ปีสำหรับธุรกิจให้เช่า
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากการผิดสัญญาเช่า โดยเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จำนวน 24 เดือน ซึ่งเป็นจำนวนเงินเท่ากับค่าเช่าที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระอยู่ก่อนเลิกสัญญาจำนวน 24 เดือน พอดี แม้โจทก์จะฟ้องเรียกเงินจำนวนนี้โดยเรียกว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหาย แต่ต้องถือว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเช่าที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระเพราะมิฉะนั้นแล้วจะเป็นการยอมให้โจทก์หลีกเลี่ยงการที่จะฟ้องเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระมาเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหาย เมื่อถือว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระ และปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะฟ้องเรียกร้องเอาค่าเช่าที่ค้างชำระย่อมมีกำหนดอายุความสองปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (6) เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่า 24 เดือน เดือนสุดท้ายที่ค้างชำระคือวันที่ 1 พฤษภาคม 2538 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2540 จึงพ้นกำหนดเวลาสองปีแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3642/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภูมิลำเนาหลายแห่ง และอายุความสัญญาเช่าซื้อ
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 38 นั้น แสดงให้เห็นว่า บุคคลธรรมดาอาจมีภูมิลำเนาได้หลายแห่ง นอกจากสถานที่อยู่จะเป็นภูมิลำเนาแล้ว ที่ทำการงานเป็นปกติก็เป็นภูมิลำเนาอีกแห่งหนึ่งด้วย ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 เป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล จำเลยที่ 2 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ มีที่ทำการสาขาพรรคอยู่ที่ สองจังหวัด จึงเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปได้ว่าสถานที่ทั้งสองแห่งเป็นที่ทำการสำหรับติดต่อกับจำเลยทั้งสองในการปฏิบัติหน้าที่ทางการเมือง และรับทราบปัญหาต่าง ๆ จากราษฎรในฐานะที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้แทนของประชาชน อีกทั้งสำนักงานสาขาดังกล่าวยังเป็นสถานที่ใช้ติดต่อประสานงานทางการเมืองระหว่างพรรคกับจำเลยและสมาชิกของพรรคด้วย ดังนั้นที่ทำการสาขาพรรค จังหวัดสตูล และจังหวัดกระบี่จึงเป็นภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสอง อีกแห่งหนึ่ง
ตามคำฟ้องโจทก์เป็นกรณีขอให้จำเลยทั้งสองใช้ราคารถยนต์เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่กรณีหนึ่ง และเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์ขาดประโยชน์ที่เอารถยนต์ไปให้ผู้อื่นเช่าอีกกรณีหนึ่งนั้น มิใช่เป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดใน ค่าเสียหายเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เช่าซื้อชำรุดเสียหายอันเป็นกรณีที่จะนำ ป.พ.พ. มาตรา 563 ซึ่งกำหนดอายุความ 6 เดือนมาใช้บังคับ แต่เป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความเรื่องนี้ไว้โดยตรง จึงอยู่ในอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ฉะนั้นฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
of 7