คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 84 (เดิม)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9688/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ จำเลยต้องพิสูจน์ความประมาทเลินเล่อของผู้ขับขี่ก่อนจึงจะรับผิดชอบได้
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2543 จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกสิบล้อ เฉี่ยวชนกับรถแท็กซี่ ซึ่งมีนาย ส. เป็นผู้ขับและถึงแก่ความตายหลังเกิดเหตุ จำเลยที่ 5 เป็นผู้รับประกันภัยรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับ อุบัติเหตุดังกล่าวทำให้รถบรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 1 ขับชนท่อประปาของโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์เสียค่าใช้จ่ายซ่อมแซมเป็นเงิน 92,347 บาท การที่จำเลยทั้งห้าจะรับผิดต่อโจทก์ ข้อเท็จจริงต้องรับฟังได้ว่า เหตุที่รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 หรือนาย ส. แม้โจทก์จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์ยังคงต้องนำสืบให้ได้ความดังกล่าว เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าเหตุที่รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกัน เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์และเป็นเหตุในลักษณะคดีจึงให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8172/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญากู้เงิน - การสะดุดหยุดของอายุความจากการชำระดอกเบี้ย - การฟ้องข้ามอายุความ
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินรวม 4 ฉบับ จำเลยให้การต่อสู้ว่า สัญญากู้ตามฟ้องไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันทำสัญญากู้แต่ละฉบับ โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ดังนี้ ปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ย่อมเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดี ภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อนี้ตกแก่โจทก์ที่จะต้องนำสืบให้ได้ความว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีสิทธินำสืบถึงเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้หาถือว่าเป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
เมื่อสัญญากู้เงินไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดจากวันทำสัญญากู้เงินแต่ละฉบับ ซึ่งกฎหมายมิได้กำหนดอายุความการกู้ยืมเงินไว้โดยเฉพาะ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8093/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาขายฝากโมฆะ สิทธิครอบครองยังเป็นของจำเลย โจทก์ผู้รับโอนไม่มีสิทธิ
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ร่วมทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่ดินพาทก่อนขายให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ และจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์และต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่เพียงใด โดยประเด็นทั้งสองข้อนี้เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นฝ่ายกล่าวอ้างภาระการพิสูจน์ย่อมตกแก่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสอง และที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) แต่แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นหลักฐานที่รับฟังได้แต่เพียงว่า ขณะแจ้งการครอบครองผู้แจ้งอ้างว่าที่ดินเป็นของผู้แจ้งที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) หาใช่อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดินตามนัยที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1373 อันจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองแต่อย่างใดไม่ จำเลยเป็นฝ่ายยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1369 ว่า จำเลยยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตน จึงตกเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว ประกอบทั้งได้พิจารณาพยานหลักฐานในประเด็นทั้งสองนี้แล้ว เห็นว่า เป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของโจทก์ โจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยร่วมกัน แม้โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองนำสืบก่อน จำเลยก็ถามค้านให้พยานโจทก์มีโอกาสอธิบายและนำสืบถึงข้อความเหล่านั้นโดยบริบูรณ์แล้ว โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองหาเสียเปรียบไม่ ศาลล่างทั้งสองหาได้ดำเนินกระบวนพิจารณาขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 84 ไม่ และไม่เป็นการพิจารณาผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 แต่อย่างใด
สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ร่วมทั้งสองกับจำเลยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาขายฝากดังกล่าวจึกตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการขายฝากเกิดขึ้นเลย เมื่อสัญญาขายฝากนี้เป็นโมฆะแล้ว โจทก์ร่วมทั้งสองย่อมจะอ้างสิทธิการได้มาโดยการครอบครองโดยนิติกรรมการขายฝากนั้นไม่ได้ เพราะการขายฝากมิใช่ว่าผู้ขายฝากสละเจตนาครอบครองโดยเด็ดขาดให้แก่ผู้ซื้อฝาก แต่ผู้ขายฝากมอบที่ดินโดยมีเงื่อนไขว่าวันหลังจะเอาคืน ฉะนั้น แม้จะฟังว่าโจทก์ร่วมทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากครบกำหนดไถ่ก็ตาม แต่ก็เป็นการครอบครองโดยอาศัยอำนาจของจำเลยเพื่อทำการตัดไม้โกงกางไปเป็นประโยชน์เท่านั้น โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่พิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์ร่วมทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าโจทก์ร่วมทั้งสองผู้โอน ไม่ว่าโจทก์จะรับโอนโดยสุจริตหรือไม่ก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5957/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฎีกาในข้อเท็จจริง, ภาระการพิสูจน์สัญญาเช่า, สิทธิการครอบครองที่ดิน
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทอ้างว่าให้เช่าได้เดือนละ 20,000 บาท ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้เดือนละ 10,000 บาท โจทก์ไม่ฎีกา ถือว่าที่พิพาทอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท คดีต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง
โจทก์ฟ้องว่าให้จำเลยอาศัยทำประโยชน์ในที่พิพาท จำเลยให้การยอมรับว่าเข้าทำประโยชน์ไม่ใช่ในฐานะผู้อาศัย แต่ในฐานะผู้เช่าตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาที่ตกลงให้จำเลยเป็นผู้ปลูกสร้างที่พักอาศัยและอาคารเก็บสินค้าด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยแล้วให้จำเลยทำสัญญาเช่าครั้งละ 3 ปี จนครบกำหนด 15 ปี เป็นการที่จำเลยยกข้อเท็จจริงขึ้นต่อสู้ใหม่ ภาระการพิสูจน์ที่จะนำสืบให้เห็นว่าโจทก์ทำสัญญาเช่าที่พิพาทกับจำเลยจริง จึงตกแก่จำเลย เมื่อจำเลยนำสืบไม่ได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5740/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้ไม่มีผลผูกพันเมื่อโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์การจ่ายเงินกู้ให้แก่ผู้รับประโยชน์ได้จริง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มอบอำนาจให้ ช. เป็นผู้ดำเนินคดีแทน เท่ากับวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 จะฎีกาโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโดยอ้างเหตุใหม่ว่าสัญญากู้ตามที่ระบุในหนังสือมอบอำนาจไม่ตรงกับสัญญากู้ที่โจทก์นำสืบโดยไม่ได้ให้การในข้อนี้ไว้หาได้ไม่ เนื่องจากเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาโดยชอบในชั้นอุทธรณ์และไม่ใช่ข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ขณะทำสัญญากู้จำเลยที่ 1 ถูกจับกุมในข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ และถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจ ตามที่ ส. ร้องทุกข์ไว้ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว ย่อมเป็นการควบคุมตัวของเจ้าพนักงานโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่ทนายโจทก์กับ ส. แจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่า หากไม่ทำสัญญากู้กับโจทก์ก็จะดำเนินคดีอาญาในข้อหาออกเช็คโดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คต่อไปนั้น เป็นการขู่ว่าจะดำเนินคดีตามกฎหมายแก่จำเลยที่ 1 อันเป็นสิทธิที่ ส. ผู้ทรงเช็คสามารถกระทำได้ ทั้งหากจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดก็มีสิทธิที่จะต่อสู้คดีไม่จำต้องกลัว และยังได้ความจากข้อนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโจทก์เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่ ส. ตามเช็ค จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถูกข่มขู่ให้ทำสัญญากู้ อันจะทำให้สัญญากู้เป็นโมฆียะ
โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่า โจทก์ได้ชำระเงินตามสัญญากู้ให้แก่ ส. แทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ แต่โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าโจทก์ได้ชำระเงินตามสัญญากู้ให้แก่ ส. เป็นการชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงินตามสัญญากู้แล้ว สัญญากู้ดังกล่าวจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5252/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ในที่ดิน: ข้อสันนิษฐานทางกฎหมายและการหักล้าง, การครอบครองปรปักษ์
โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่ได้จดทะเบียนแล้ว ย่อมสันนิษฐานไว้ก่อนว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและให้จำเลยเข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัย โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยและบริวารอยู่อาศัยอีกต่อไป ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไป จำเลยให้การและฟ้องแย้งในตอนแรกว่า ที่ดินพิพาทเป็นของบิดามารดาจำเลย ต่อมาบิดามารดายกที่ดินพิพาทให้จำเลย เท่ากับจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของของจำเลย แต่จำเลยกลับให้การและฟ้องแย้งในตอนหลังว่า จำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเกิน 10 ปีแล้ว กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยเช่นกัน จึงขัดแย้งกับคำให้การและฟ้องแย้งในตอนแรก รูปคดีตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยให้การและฟ้องแย้งดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382 เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะรับวินิจฉัยให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4527/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระการพิสูจน์การชำระหนี้: โจทก์ต้องมีหลักฐานแสดงการชำระหนี้โดยจำเลย มิเช่นนั้นข้ออ้างไม่มีน้ำหนัก
โจทก์นำสืบว่าจำเลยได้ชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 จำนวน 2,000 บาท จำเลยนำสืบว่าไม่ได้ชำระ ภาระการพิสูจน์ว่าจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์หรือไม่ ย่อมตกแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้กล่าวอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดที่แสดงว่าจำเลยเป็นผู้โอนเงินดังกล่าวชำระหนี้แก่โจทก์ ข้ออ้างของโจทก์จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้ายในวันดังกล่าว