คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 177 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 12 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9266/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีธุรกิจเฉพาะจากอสังหาริมทรัพย์: อำนาจประเมินของเจ้าพนักงานสรรพากรและข้อยกเว้น
การที่จะนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมในศาลภาษีอากรนั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาภาษีอากรฯ มาตรา 17 บัญญัติให้ทำได้ต่อเมื่อเป็นกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่จะนำมาใช้บังคับเท่านั้น เมื่อการย่นหรือขยายระยะเวลาได้มีบทบัญญัติมาตรา 19 บัญญัติไว้เป็นพิเศษแล้ว จึงไม่ต้องนำบทบัญญัติ มาตรา 23 แห่งป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น การที่ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยแล้ว เห็นว่าจำเลยเป็นกรมในรัฐบาล จำเลยต้องเสนอเอกสารตามลำดับชั้นตามระเบียบราชการไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อแก้ต่างคดีให้ ซึ่งจำเลยต้องใช้เวลาในการรวบรวมเอกสารพร้อมสรุปข้อเท็จจริง และพึ่งพยานบุคคลไปชี้แจงข้อเท็จจริงแก่พนักงานเพื่อทำคำให้การแก้คดี เป็นเหตุให้พนักงานอัยการไม่อาจทำคำให้การแก้คดียื่นต่อศาลภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายได้ อันเป็นกรณีที่มีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นคำให้การและจำเลยก็ได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด ย่อมเป็นการยื่นคำให้การโดยชอบ ไม่ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแต่อย่างใด
ตาม มาตรา 91 แห่ง ป.รัษฎากร บัญญัติว่า ภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นภาษีอากรประเมิน ดังนั้น การที่จะเสียภาษีธุรกิจเฉพาะต้องมีการประเมินตนเองของผู้มีเงินได้โดยยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษี หรือเป็นการประเมินโดยเจ้าพนักงานประเมินในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้องหรือไม่บริบูรณ์หรือไม่ยื่นรายการ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษี เจ้าพนักงานจึงมีหนังสือเตือนให้โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ไม่ว่าหนังสือเตือนให้ไปยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ย่อมไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาแผนกภาษีอากร จึงไม่รับวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากร ฯลฯ มาตรา 29
เมื่อหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะฉบับพิพาทมีข้อความ ประเภทการประกอบการ การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นการค้าหรือหากำไร ประเภทรายรับ รายรับหรือพึงได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ รวมรายรับทั้งสิ้น อัตราภาษีร้อยละ 3 ภาษีที่ต้องชำระ เงินเพิ่ม และภาษีส่วนท้องถิ่น รวมภาษีที่ต้องชำระ ระบุสถานที่ให้โจทก์นำภาษีไปชำระ ระบุเหตุผลที่ประเมินและการงดเบี้ยปรับ ดังนี้ ถือเป็นกรณีจัดให้มีเหตุผลในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญและเหตุผลในข้อกฎหมายที่อ้างอิงรวมทั้งเหตุผลในข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนการใช้ดุลพินิจ หนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวจึงชอบด้วยหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 แล้ว
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ให้นิยามคำว่า ขาย หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ ให้เช่าซื้อ หรือจำหน่ายจ่ายโอนไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ ดังนั้น การที่โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารให้แก่บริษัทภูเก็ตโกลเด้นแลนด์ จำกัด ผู้ขายเดิม ไม่ว่าจะเป็นการโอนกรรมสิทธิ์เพราะการเลิกสัญญาและกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 หรือการทำนิติกรรมซื้อขายดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาลวง เพราะโจทก์กับบริษัทภูเก็ตโกลเด้นแลนด์ จำกัด มิได้มีเจตนาให้เกิดผลในทางกฎหมายจากนิติกรรมจดทะเบียนการซื้อขายที่ดินพร้อมอาคารนั้นก็ตาม กรณีก็ต้องด้วยนิยามคำว่า ขาย ดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 26 เมษายน 2526 ข้อ 2 แต่งตั้งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไปสังกัดกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16 แห่ง ป.รัษฎากรสำหรับท้องที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งใช้บังคับขณะโจทก์ขายที่ดิน และประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานที่ดินเป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16 แห่ง ป.รัษฎากร เฉพาะกรณีรับชำระภาษีธุรกิจเฉพาะและแบบแสดงรายการของผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2 (6) นั้นเป็นเพียงการกระทำในฐานะเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับชำระภาษีธุรกิจเฉพาะและแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.40) พร้อมออกใบเสร็จรับเงินให้เท่านั้น มิใช่กระทำในฐานะเจ้าพนักงานประเมินที่ประเมินภาษีโจทก์ ดังนั้น เจ้าพนักงานสรรพากรจึงยังคงเป็นเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีของโจทก์ได้
การที่เทศบาลออกเทศบัญญัติเพื่อเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากรตาม พ.ร.บ.รายได้เทศบาล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2534 มาตรา 12, 14 หรือองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเป็นหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ออกข้อบังคับตำบลเพื่อเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากร ตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 76 เมื่อที่ดินและอาคารที่โจทก์ขายให้แก่บริษัทภูเก็ตโกลเด้นแลนด์ จำกัด ตั้งอยู่ในเขตตามกฎหมายที่เรียกเก็บภาษีส่วนท้องถิ่นดังกล่าวให้ถือเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ป.รัษฎากร ดังนี้ เจ้าพนักงานประเมินซึ่งมีอำนาจตาม ป.รัษฎากรย่อมมีอำนาจประเมินภาษีส่วนท้องถิ่นได้ เมื่อกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเพื่อราชการส่วนท้องถิ่นแล้วก็จะส่งมอบให้แก่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการจัดสรรตาม พ.ร.บ.รายได้ประเภทภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2534 ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4622/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน: ส.ค.1 ไม่สร้างสิทธิเด็ดขาด จำเลยยึดถือครอบครองมีผลทางกฎหมาย
ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) แต่แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นหลักฐานที่รับฟังได้แต่เพียงว่าขณะแจ้งการครอบครองผู้แจ้งอ้างว่าที่ดินเป็นของผู้แจ้ง ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) หาใช่อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดินตามนัยที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1373 อันจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองแต่อย่างใดไม่ จำเลยเป็นฝ่ายยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1369 ว่าจำเลยยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตน จึงตกเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว
การที่จำเลยนำสืบว่าได้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากโจทก์และ ถ. มิใช่เป็นการนำสืบว่าจำเลยแย่งการครอบครอง และแม้ว่าคำให้การของจำเลยจะไม่มีประเด็นนำสืบว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาจากโจทก์และ ถ. เนื่องจากจำเลยมิได้แสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทได้อย่างไรก็ตาม แต่การที่จำเลยให้การว่าจำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทและได้สิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น เท่ากับเป็นการให้การปฏิเสธว่าโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทตามฟ้อง โจทก์จึงต้องนำสืบให้ได้ความตามฟ้อง เมื่อโจทก์นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1369 ให้รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมิได้ยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตน จึงต้องฟังว่าจำเลยยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตน และได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367
ฟ้องแย้งนอกจากจะต้องเป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาว่าโจทก์โต้แย้งสิทธิของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมอย่างไร รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อเช่นว่านั้นแล้ว ยังต้องมีคำขอบังคับ คือจะให้ศาลบังคับโจทก์ให้กระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างไรในเรื่องที่ถูกโต้แย้งสิทธินั้นด้วยตามนัย แห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง และมาตรา 177 วรรคสาม คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งโดยเพียงแต่ขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท มิใช่คำขอให้บังคับโจทก์ทั้งเป็นเรื่องที่ศาลวินิจฉัยได้ตามฟ้องเดิมอยู่แล้ว จึงเป็นฟ้องแย้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12445/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายเรียกทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถือเป็นการส่งโดยชอบแล้ว หากผู้รับเป็นพนักงานของจำเลยที่มีที่อยู่เดียวกัน
คดีนี้หมายเรียกและสำเนาคำฟ้องได้ส่งให้แก่จำเลยโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ จึงมีผลเสมือนว่าเจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 73 ทวิ ดังนั้น เมื่อ อ. พนักงานของจำเลยซึ่งมีอายุ 45 ปี และอยู่บ้านหรือสำนักงานเดียวกันได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2545 ย่อมถือได้ว่ามีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยโดยชอบแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง และจำเลยอาจยื่นคำให้การได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 9 ตุลาคม 2545 การที่จำเลยยื่นคำให้การวันที่ 24 ตุลาคม 2545 จึงเกินกำหนด 15 วัน ตามกฎหมายนั้น ทั้งการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเช่นนี้ หาใช่เป็นการส่งโดยวิธีอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9101/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขาดนัดยื่นคำให้การและการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การยื่นคำให้การเพิ่มเติมตามกฎหมาย
เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การแล้วก็ต้องยื่นคำให้การต่อศาลภายในสิบห้าวัน มิฉะนั้นให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 197 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและหากประสงค์จะยื่นคำให้การกฎหมายก็ได้บัญญัติทางแก้ไว้โดยจำเลยที่ 2 อาจยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การโดยอ้างเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจยื่นคำให้การได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 หรือมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าประสงค์จะต่อสู้คดี กับแสดงให้ศาลเห็นว่า การขาดนัดยื่นคำให้การมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควรตามมาตรา 199 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.วิ.พ. การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การเพียงแต่ยื่นคำให้การเข้ามาลอยๆ โดยมิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงเป็นการยื่นคำให้การต่อศาลโดยไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4986/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลายื่นคำให้การ: เหตุผลความล่าช้าของจำเลยไม่เพียงพอ ศาลไม่จำเป็นต้องไต่สวนก่อนออกคำสั่ง
ทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การในขณะที่เหลือเวลาทำการเพื่อยื่นคำให้การอีกเพียง 2 วัน โดยอ้างว่าเพิ่งได้รับการติดต่อจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นทนายความในวันนี้ ต้องสอบถามรายละเอียดในคดี และตรวจเอกสารต่าง ๆ ตลอดจนต้องไปดูสถานที่ตั้งของที่ดินพิพาท เพื่อทำคำให้การได้ถูกต้อง โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุขัดข้องหรือความจำเป็นอย่างใดจึงติดต่อหาทนายความล่าช้า ความล่าช้าดังกล่าวเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 เอง ที่ปล่อยปละละเลยให้ระยะเวลายื่นคำให้การล่วงเลยไปถึง 13 วัน โดยไม่ขวนขวายติดต่อหาทนายความแต่เนิ่น ๆ และแม้ว่าจะเหลือเวลาทำการอีกเพียง 2 วัน แต่คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องในฐานะเจ้าของรวมให้จำเลยทั้งสองรังวัดแบ่งแยกที่ดินกรรมสิทธิ์รวม ซึ่งได้ครอบครองเป็นส่วนสัดกันแล้ว และมีแผนที่สังเขปท้ายฟ้องอีกด้วย รูปคดีจึงไม่ยุ่งยากซับซ้อนแต่อย่างใด หากทนายจำเลยที่ 1 สอบถามข้อเท็จจริงอย่างจริงจังและรีบไปดูที่ดินโดยเร็ว เวลาที่เหลือ 2 วัน ก็เพียงพอที่จะทำคำให้การยื่นต่อศาลได้ทันกำหนดเวลา ข้ออ้างตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษอันจะพึงขยายระยะเวลายื่นคำให้การให้จำเลยที่ 1 ได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่อ้างมาในคำร้องเพียงพอที่จะวินิจฉัยมีคำสั่งได้แล้ว ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจทำคำสั่งไปได้โดยไม่จำเป็นต้องส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์และไต่สวนคำร้องก่อนแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7948/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขัดแย้งในคำให้การของผู้สลักหลังเช็ค และผลต่อความรับผิดตามเช็ค
โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาท จำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การปฏิเสธในข้อ 1ว่า ไม่เคยลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาท ลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอม แต่ในข้อ 2 กลับปฏิเสธว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทซึ่งเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญโดยไม่มีการแจ้งให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้สลักหลังเช็คก่อน เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ให้ความยินยอมด้วยจำเลยที่ 3 จึงหลุดพ้นความรับผิด ดังนี้เป็นการยอมรับว่าจำเลยที่ 3 เป็นคู่สัญญาในเช็คพิพาทฐานะผู้สลักหลัง และคำให้การของจำเลยที่ 3 ในข้อ 1 และข้อ 2 จึงขัดแย้งกันไม่ทราบว่าจำเลยที่ 3 ปฏิเสธหรือรับตามข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นนำสืบตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 แต่คำให้การของจำเลยที่ 3 เป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยสิ้นเชิง คดีจึงยังมีประเด็นข้อพิพาท ที่โจทก์ยังต้องนำสืบให้ได้ความตามฟ้องจึงจะชนะคดีได้ จำเลยที่ 3 ได้ทราบหรือยินยอมในการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงวันที่สั่งจ่ายในขณะลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทแล้วเช็คพิพาทจึงไม่เสียไปและใช้ได้กับจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้สลักหลัง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1007 วรรคหนึ่งจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้สลักหลังเช็คผู้ถือ ต้องร่วมกับผู้สั่งจ่ายรับผิดต่อโจทก์ผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 921,967 ประกอบมาตรา 989

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5825/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ระยะเวลายื่นคำให้การ – การย่นระยะเวลาโดยเจ้าพนักงานศาล – ศาลฎีกามีอำนาจเพิกถอนคำสั่ง
ศาลมีคำสั่งรับฟ้องและออกหมายเรียกให้จำเลยให้การแก้คดีภายใน 15 วัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคหนึ่ง การที่เจ้าพนักงานศาลทำใบรับในการปิดหมายว่าให้ทำคำให้การแก้คดีภายใน 8 วัน มิใช่เป็นคำสั่งศาลที่ย่นระยะเวลายื่นคำให้การ จำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การภายใน 15 วัน ตามที่ศาลได้สั่งไว้
การที่ศาลมีคำสั่งให้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การในระยะเวลาที่จำเลยจะยื่นคำให้การได้ เป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบและเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจที่จะเพิกถอนและให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาให้ถูกต้องต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2902/2538 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขาดนัดยื่นคำให้การ, ดุลพินิจศาลในการจำหน่ายคดี, และการไต่สวนคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ
พนักงานเดินหมายส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 โดยวิธีปิดหมาย จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีสิทธิยื่นคำให้การภายใน 23 วันแต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 เพิ่งนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปให้ทนายความในวันสุดท้ายที่ต้องยื่นคำให้การ แสดงว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 ไม่สนใจเกี่ยวกับการถูกฟ้องและไม่สนใจที่จะต่อสู้คดีทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 1 ที่ 2จะอ้างเหตุที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นทนายความ ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายละเอียดว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ไม่ได้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ไม่ยื่นคำขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การภายใน 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดยื่นคำให้การ แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 วรรคสอง ใช้คำว่า"ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี" ก็ไม่ใช่เป็นบทบังคับศาล คงให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ก็ได้ การที่จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ศาลต้องไต่สวนคำร้องดังกล่าวก่อน ศาลจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่าจะทำการไต่สวนคำร้องดังกล่าวหรือไม่ สำหรับบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21(4) ไม่ได้เป็นบทบังคับศาลที่จะต้องทำการไต่สวนคำร้องดังกล่าวเสมอไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2902/2538 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขาดนัดยื่นคำให้การและดุลพินิจศาลในการพิจารณาคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ
พนักงานเดินหมายส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 โดยวิธีปิดหมาย จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีสิทธิยื่นคำให้การภายใน 23 วันแต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 เพิ่งนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปให้ทนายความในวันสุดท้ายที่ต้องยื่นคำให้การ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่สนใจเกี่ยวกับการถูกฟ้องและไม่สนใจที่จะต่อสู้คดี ทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 1ที่ 2 จะอ้างเหตุที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นทนายความ ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายละเอียดว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 ไม่ได้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ
โจทก์ไม่ยื่นคำขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การภายใน 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดยื่นคำให้การ แม้ตามประมวล-กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 วรรคสอง ใช้คำว่า "ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี" ก็ไม่ใช่เป็นบทบังคับศาล คงให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ก็ได้
การที่จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ศาลต้องไต่สวนคำร้องดังกล่าวก่อน ศาลจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่าจะทำการไต่สวนคำร้องดังกล่าวหรือไม่ สำหรับบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา-ความแพ่ง มาตรา 21 (4) ไม่ได้เป็นบทบังคับศาลที่จะต้องทำการไต่สวนคำร้องดังกล่าวเสมอไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3906/2536 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำเลยในการยื่นคำให้การในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และค่าขึ้นศาลฎีกาสำหรับคดีที่มีคำขอชดใช้ค่าเสียหาย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานบุกรุกและขอให้ขับไล่จำเลยพร้อมให้ใช้ค่าเสียหาย เป็นคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การในวันนัดสืบพยานโจทก์ได้ โดยไม่ต้องยื่นคำให้การแก้คดีภายใน15 วัน นับแต่ได้รับหมายเรียกและสำเนาฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธในวันนัดสืบพยานโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยได้ยื่นคำให้การในคดีส่วนแพ่งในวันนั้นด้วยแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
คดีที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ห้ามมิให้เข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไป และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์6,000 บาท กับค่าเสียหายปีละ 6,000 บาท ทุกปีไปจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินของโจทก์ เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นเงินได้จำนวน 6,000 บาท และไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้รวมอยู่ด้วย ทั้งยังมีคำขอให้ชำระค่าเสียหายในอนาคตรวมอยู่อีกด้วย เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามมิให้เข้ามาเกี่ยวข้องและให้ใช้ค่าเสียหายจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามข้อ (3) และข้อ 4) ของตารางท้ายประมวล-กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นจำนวนทั้งสิ้น 300 บาท
of 2