คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 311

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 71 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9535/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าและการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ผลกระทบต่อการอายัด
ผู้ร้องเป็นผู้ถูกอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดิน ซึ่งผู้ร้องจะต้องส่งมอบเงินค่าเช่าที่ดินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ณ เวลา หรือภายในเวลาตามที่กำหนดไว้ในคำสั่ง และเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องที่มีการอายัด จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280, 311 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้อง
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินของจำเลยที่ 2 มิได้อายัดที่ดินดังกล่าว จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยที่ 2 จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องให้แก่บุคคลภายนอก เมื่อจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว สิทธิในเงินค่าเช่าที่ดินย่อมโอนไปยังบุคคลภายนอกนับแต่วันที่จดทะเบียนการโอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิรับเงินค่าเช่าอีกต่อไป จึงมีเหตุที่จะต้องเพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4848/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน – การอายัดสิทธิเรียกร้อง – เจ้าหนี้มีสิทธิบังคับชำระหนี้
คำฟ้องของโจทก์จะเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 ได้นั้น ในเบื้องต้นโจทก์ในคดีแรกและโจทก์ในคดีหลังต้องเป็นโจทก์คนเดียวกัน ซึ่งคำว่าโจทก์รวมถึงบุคคลที่ไม่เคยยื่นฟ้องแต่อยู่ในฐานะเดียวกับโจทก์ด้วย ดังเช่นคดีก่อน โจทก์คือห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. แต่คดีนี้ได้มีการยกเลิกห้างดังกล่าวแล้ว โดยมี ศ. หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ชำระบัญชีและเป็นผู้ฟ้องคดีแทน ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1259 ที่ว่า ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจแก้ต่างว่าต่างในนามห้างหุ้นส่วนในอรรถคดีทั้งหลายทั้งปวงของห้าง ดังนั้น จึงถือว่าเป็นโจทก์คนเดียวกัน
ตามหลักกฎหมายหุ้นส่วน มีบทบัญญัติให้หุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัด ต้องรับผิดอย่างไม่จำกัดจำนวนหรือรับผิดเป็นส่วนตัวต่อบุคคลภายนอกที่มีนิติสัมพันธ์กับห้าง ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะด้านความรับผิดเท่านั้น มิใช่การไปตั้งสิทธิเรียกร้องใด ๆ ได้เป็นส่วนตัวต่างหากจากห้าง จึงถือไม่ได้ว่า ศ. มีอำนาจฟ้องเป็นส่วนตัวอีกฐานะหนึ่ง ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังได้ว่าโจทก์ในคดีนี้เป็นคนเดียวกับโจทก์ในคดีก่อน
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติว่า "นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้ (1) ห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น" โดยมีความมุ่งหมายว่า คดีเรื่องเดียวกันโจทก์ควรฟ้องร้องว่ากล่าวเสียให้เสร็จสิ้นในคราวเดียว คดีก่อนโจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลละเมิดให้คืนรถแทรกเตอร์พิพาททั้งสองคันหรือชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถดังกล่าวรวมทั้งค่าเสื่อมราคา ส่วนคดีนี้โจทก์ก็เรียกร้องในเรื่องเดียวกันโดยข้ออ้างต่างกันเพียงว่า จำเลยที่ 1 คำนวณค่าเสียหายจากการใช้ประโยชน์ในรถแทรกเตอร์พิพาททั้งสองคันไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม โดยมีรายละเอียดว่าเนื่องจากจำเลยที่ 1 นำรถแทรกเตอร์ของโจทก์ไปใช้ประโยชน์นานถึง 5 ปี 10 เดือน จึงต้องใช้ค่าขาดประโยชน์ขั้นต่ำประมาณ 21,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ขอชดใช้เพียงแค่ 3,617,280 บาท จึงต่ำเกินไป ซึ่งค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถดังกล่าว โจทก์สามารถกำหนดเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ได้ในคราวเดียวกันกับที่ฟ้องคดีแรกอยู่แล้ว เพราะสภาพแห่งข้อกล่าวหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อกล่าวหาเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนี้เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงเป็นการยื่นคำฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของห้างโจทก์ โดยมูลหนี้ที่ฟ้องร้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าภาษีอากร และภายหลังที่ศาลออกคำบังคับ โจทก์กับพวกไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา จำเลยที่ 2 จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์กับพวกมาชำระหนี้ อันเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายโดยชอบ และเมื่อจำเลยที่ 2 ตรวจสอบพบว่า โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ของตนมีสิทธิเรียกร้องเงินจำนวนหนึ่งจากบุคคลภายนอกคือจำเลยที่ 1 จึงดำเนินการขอให้มีการอายัดเงินดังกล่าวเพื่อนำมาชำระหนี้ของตน อันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่กฎหมายให้สิทธิไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ ประกอบมาตรา 311 ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ควรอายัดสิทธิในจำนวนเงินค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 กำหนดแก่โจทก์ เพราะเป็นจำนวนเงินที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรม ทำให้จำเลยที่ 2 ต้องเสียประโยชน์ได้เงินมาชำระหนี้ไม่ครบจำนวนนั้น เป็นเรื่องของความคาดหวังของโจทก์เอง เนื่องจากตนยังสู้คดีอยู่กับจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่เป็นที่แน่นอนว่าโจทก์จะได้เงินค่าเสียหายตามจำนวนที่ต้องการ ดังนี้จึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 2 จะต้องรอและงดการอายัดสิทธิที่ตนควรได้ไว้ก่อนแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 กระทำการโดยสุจริตชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นละเมิดจึงไม่มีเหตุที่จะให้เพิกถอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6083/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินฝากถูกอายัดเป็นหลักประกันการปล่อยชั่วคราว ห้ามนำไปหักกลบลบหนี้อื่น แม้คดีอาญาจะยกฟ้อง
ในขณะที่จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนางหรือนางสาว ว. จำเลยในคดีอาญาของศาลแขวงธนบุรี จำเลยนำหนังสือรับรองยอดเงินฝากประจำของธนาคารผู้คัดค้าน ซึ่งระบุยืนยันว่าจะไม่ให้มีการถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวจนกว่าจะได้รับคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากศาลมาประกอบในการขอปล่อยชั่วคราว และศาลแขวงธนบุรีมีหนังสือแจ้งอายัดเงินฝาก ไปยังธนาคารผู้คัดค้าน ธนาคารผู้คัดค้านได้รับแจ้งอายัดสมุดเงินฝากของจำเลยไว้แล้ว และธนาคารผู้คัดค้านจะระงับการจำหน่ายจ่ายโอนและการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในสมุดเงินฝากของจำเลยดังกล่าวไว้ตามคำสั่งศาลจนกว่าจะได้รับแจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือจากศาลเป็นอย่างอื่น ย่อมเป็นการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง ว่าเงินในบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยดังกล่าวได้นำไปใช้เป็นหลักประกันการขอปล่อยชั่วคราวนางหรือนางสาว ว. และธนาคารผู้คัดค้านยังมีภาระผูกพันที่จะต้องระงับการจำหน่ายจ่ายโอนและการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในสมุดเงินฝากประจำของจำเลยดังกล่าวไว้ตามคำสั่งศาลแขวงธนบุรีจนกว่าจะได้รับแจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือจากศาล เมื่อธนาคารผู้คัดค้านยังไม่ได้รับแจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือจากศาลแขวงธนบุรีหนังสืออายัดของศาลจึงยังมีผลผูกพันธนาคารผู้คัดค้านอยู่ ธนาคารผู้คัดค้านไม่มีสิทธินำเงินในสมุดเงินฝากประจำของจำเลยดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้กับบัญชีเครดิตของจำเลยที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารผู้คัดค้านได้ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งอายัดเงินฝากและขอให้ส่งเงินมาให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมาย ธนาคารผู้คัดค้านจึงต้องปฏิบัติและส่งเงินมาตามคำสั่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6083/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสืออายัดมีผลผูกพันธนาคาร แม้คดีอาญาจะยกฟ้อง ธนาคารต้องส่งเงินให้เจ้าพนักงานบังคับคดี
จำเลยนำหนังสือรับรองยอดเงินฝากธนาคารผู้คัดค้าน สาขาถนนสาธรประเภทเงินฝากประจำของจำเลยมาประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราว ว. ต่อศาลแขวงธนบุรี เมื่อศาลแขวงธนบุรีมีหนังสืออายัดเงินฝากไปยังธนาคารผู้คัดค้าน สาขาถนนสาธรแล้ว ธนาคารผู้คัดค้านแจ้งว่าได้รับการแจ้งอายัดสมุดเงินฝากของจำเลยแล้ว ธนาคารผู้คัดค้านจะระงับการจำหน่ายจ่ายโอนและเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในสมุดเงินฝากประจำของจำเลยไว้ตามคำสั่งศาลจนกว่าจะได้รับการแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือจากศาลเป็นอย่างอื่น ย่อมเป็นการแสดงโดยชัดแจ้งอยู่แล้วว่าธนาคารผู้คัดค้านทราบดีว่าจำเลยได้นำเงินในบัญชีเงินฝากไปใช้เป็นหลักประกันการขอปล่อยตัวชั่วคราว ว. และธนาคารผู้คัดค้านยังมีภาระผูกพันที่จะต้องระงับการจำหน่ายจ่ายโอนและเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในสมุดเงินฝากประจำของจำเลยดังกล่าวไว้ตามคำสั่งศาลแขวงธนบุรีจนกว่าจะได้รับการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือจากศาลแขวงธนบุรีเป็นอย่างอื่น ดังนั้น ตราบใดที่ธนาคารผู้คัดค้านยังไม่ได้รับแจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือจากศาลแขวงธนบุรีเป็นอย่างอื่น หนังสืออายัดของศาลแขวงธนบุรี จึงยังมีผลพันธนาคารผู้คัดค้านอยู่ ธนาคารผู้คัดค้านจึงไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนและเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ รวมถึงไม่มีสิทธินำเงินในสมุดเงินฝากประจำของจำเลยดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้กับบัญชีบัตรเครดิตของจำเลยที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารผู้คัดค้านได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3729/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้หลังมีคำสั่งอายัด - ผู้ร้องแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้หลังรับทราบคำสั่งอายัด จึงไม่มีสิทธิ
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสืออายัดเงินค่าปรับและเงินชดเชยงานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ โดยห้ามมิให้ผู้ร้องจำหน่ายจ่ายโอนเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 หรือบุคคลอื่นใด แต่ให้จัดส่งเงินดังกล่าวไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ร้องได้รับหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ได้มีหนังสือหารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตอบข้อหารือว่า ผู้ร้องมีสิทธินำเงินค่าปรับที่จะต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 1,347,666 บาท ไปชำระหนี้จำนวน 6,244,185.80 บาท ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่ผู้ร้องได้ โดยผู้ร้องต้องแจ้งขอใช้สิทธิหักลบลบหนี้ไปยังจำเลยที่ 1 หากผู้ร้องไม่แจ้งการใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ก็จะต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าวไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ได้แจ้งอายัด ผู้ร้องจึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าปรับส่วนที่เหลือจำนวน 4,896,519.80 บาท ซึ่งถือได้ว่าผู้ร้องได้แสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 และ 342 แล้ว แต่ผู้ร้องเพิ่งจะแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 หลังจากวันที่ผู้ร้องได้รับทราบคำสั่งอายัดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะหักกลบลบหนี้ได้ เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามในคำสั่งอายัดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6392/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินสมรสจากค่าชดเชยแรงงาน: เจ้าหนี้มีสิทธิอายัดเงินส่วนของคู่สมรส
เงินที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีของศาลแรงงานกลางนำไปวางศาลเพื่อชำระหนี้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนนั้นเป็นเงินค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชยและค่าเสียหายตามสิทธิที่ผู้ร้องพึงได้ตามกฎหมาย ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายแก่ผู้ร้องผู้เป็นลูกจ้าง แม้ผู้ร้องใช้สิทธิเรียกร้องของตนมาฟ้องนายจ้าง แต่เมื่อผู้ร้องชนะคดีจนได้เงินดังกล่าวมาก็เป็นการได้มาระหว่างสมรส เงินดังกล่าวย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) จำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สมรสของผู้ร้องจึงมีสิทธิในเงินดังกล่าวกึ่งหนึ่ง แม้ว่าในคดีของศาลแรงงานกลางนั้นผู้ร้องมิได้แถลงเพื่อยินยอมให้เงินดังกล่าวเป็นสินสมรส ก็หามีผลแต่อย่างใดไม่ เนื่องจากทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสระหว่างสามีภริยาหรือไม่นั้นเป็นไปโดยผลของกฎหมาย หาใช่เป็นเพราะความยินยอมของผู้ร้องไม่ เมื่อเงินดังกล่าวเป็นสินสมรสและตกเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิขออายัดเงินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ถอนการอายัด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8796/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดเงินปันผล/เฉลี่ยคืนของสมาชิกสหกรณ์ได้ แม้ยังไม่มีมติที่ประชุมใหญ่ หากเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขและไม่กำหนดจำนวนแน่นอน
จำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ผู้ร้องมีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนนับแต่วันที่เข้าเป็นสมาชิกของผู้ร้อง เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นมติที่ประชุมใหญ่ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีตามข้อบังคับของผู้ร้อง สิทธิเรียกร้องดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 มีต่อผู้ร้องจึงเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขและไม่ได้กำหนดจำนวนไว้แน่นอนซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคสาม คำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้ผู้ร้องส่งเงินดังกล่าวภายใน 1 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องอนุมัติให้จ่ายเงินจึงมิได้เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขข้อบังคับของผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7027/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องตามหมายบังคับคดีที่ศาลกำหนด
ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคหนึ่ง บัญญัติถึงการอายัดสิทธิเรียกร้องซึ่งระบุไว้ในมาตรา 310 ทวิ ว่าให้อายัดได้โดยคำสั่งอายัดซึ่งศาลได้ออกให้ตามที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นคำขอ แต่ในวรรคสองก็บัญญัติให้อำนาจแก่ศาลไว้ด้วยว่า เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจกำหนดไว้ในหมายบังคับคดีให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องนั้นก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่าคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นคำสั่งอายัดของศาล การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีระบุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ทรัพย์สินที่ให้จัดการอายัดตามหมายบังคับคดีย่อมหมายรวมถึงสิทธิเรียกร้องที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษามีต่อบุคคลภายนอก จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้ในหมายบังคับคดีแล้วว่าให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องได้คำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเท่ากับเป็นคำสั่งอายัดของศาลโดยผลของมาตรา 311 วรรคสอง การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยเป็นไปถึงผู้คัดค้านจึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6204/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องตามหมายบังคับคดีที่ศาลอนุญาตตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311
แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติถึงการอายัดสิทธิเรียกร้องซึ่งระบุไว้ในมาตรา 310 ทวิ ว่า ให้อายัดได้โดยคำสั่งอายัดซึ่งศาลได้ออกให้ตามที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องฝ่ายเดียว แต่ในวรรคสองของมาตรานี้ก็บัญญัติให้อำนาจแก่ศาลไว้ด้วยว่า เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจกำหนดไว้ในหมายบังคับคดีให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องนั้นก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ถือว่าคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นคำสั่งอายัดของศาล ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีระบุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ทรัพย์สินที่ให้จัดการอายัดตามหมายบังคับคดีฉบับดังกล่าว ย่อมหมายรวมถึงสิทธิเรียกร้องที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษามีต่อบุคคลภายนอก จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้ในหมายบังคับคดีแล้วว่าให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีต่อบุคคลภายนอกได้ คำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในกรณีเช่นนี้ย่อมเท่ากับเป็นคำสั่งอายัดของศาลโดยผลของมาตรา 311 วรรคสองดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ไปถึงผู้คัดค้านจึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5725/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งอายัดทรัพย์สินอย่างครบถ้วน แม้เป็นบัญชีร่วม ต้องส่งเงินให้เจ้าพนักงานบังคับคดี
เมื่อศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดเงินที่จำเลยทั้งสองมีสิทธิจะได้รับจากบุคคลภายนอกได้ ดังนั้น เมื่อธนาคาร ท. ได้รับหนังสืออายัดเงินฝากบัญชีของจำเลยทั้งสองจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วไม่คัดค้าน ถือว่าการอายัดมีผลเป็นการอายัดเงินฝากของจำเลยทั้งสองที่ฝากอยู่ที่ธนาคาร ท. ทุกสาขาและทุกบัญชี ธนาคาร ท. จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งอายัดโดยการอายัดและส่งเงินที่มีอยู่ในบัญชีเงินฝากของจำเลยทั้งสองทุกบัญชีที่จำเลยทั้งสองมีสิทธิเบิกจากธนาคารซึ่งรวมทั้งที่มีชื่อในบัญชีร่วมกับบุคคลอื่นด้วยให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาที่กำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคท้าย การที่ธนาคาร ท. ไม่อายัดและส่งเงินฝากที่จำเลยที่ 2 มีชื่อร่วมกับบุคคลอื่นจนได้รับหนังสือยืนยันการอายัดและส่งเงินที่เหลือในบัญชีหลังจากได้รับหนังสืออายัดครั้งแรกเป็นเวลาถึง 4 เดือน นั้น เป็นการไม่ปฏิบัติตามหนังสือแจ้งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนโดยอ้างว่าผู้แทนโจทก์แถลงว่า ขณะที่ธนาคาร ท. ได้รับหนังสืออายัด จำเลยที่ 2 มีเงินอยู่ในบัญชีประมาณ 2,000,000 บาท ซี่งหากเป็นความจริงธนาคาร ท. จะต้องส่งเงินตามหนังสืออายัดจนครบจำนวนที่อายัดไว้จำนวน 1,038,609 บาท แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี หรือถ้าได้ข้อเท็จจริงเป็นประการอื่นก็ให้มีคำสั่งไปตามรูปคดี เช่นนี้ การที่ศาลชั้นต้นไม่ไต่สวนข้อเท็จจริงให้ปรากฏชัดว่า ขณะธนาคาร ท. ได้รับหนังสือแจ้งอายัด จำเลยทั้งสองมีเงินฝากอยู่ในบัญชีเงินฝากที่ธนาคารจำนวนเท่าใดและเป็นความจริงดังที่โจทก์แถลงหรือไม่ก่อน กลับด่วนวินิจฉัยว่า ธนาคาร ท. ปฏิบัติตามคำสั่งอายัดแล้ว ให้ยกคำขอของเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นไม่ชอบ จึงเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นไต่สวนว่าเป็นความจริงดังที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอ้างหรือไม่
of 8