คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 183

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,529 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4572/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำให้การที่ไม่ชัดเจน, ประเด็นข้อพิพาท, และข้อจำกัดการฎีกาในประเด็นใหม่
จำเลยให้การว่าโจทก์ร่วมทำผิดสัญญาทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงจึงบอกกล่าวเลิกสัญญานั้น คำให้การของจำเลยไม่มีรายละเอียดข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมทำผิดสัญญาอย่างไร เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีไม่มีประเด็นเรื่องนี้ และจำเลยไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบ ที่จำเลยอ้างรายละเอียดคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาของโจทก์คำร้องดังกล่าวของโจทก์ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของคำให้การ ไม่ทำให้การจำเลยชัดแจ้งขึ้นมาได้ทั้งสำเนาเอกสารหมายเลข 3 ท้ายคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาของโจทก์นั้นลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว จำเลยจึงยกขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. 236
ศาลชั้นต้นสั่งในคำคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของโจทก์ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2542 ว่า รับรวม เท่ากับศาลชั้นต้นไม่เพิกถอนประเด็นข้อพิพาท ถือว่าศาลชั้นต้นได้ชี้ขาดคำคัดด้านของโจทก์ก่อนวันสืบพยานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 วรรคท้าย เมื่อศาลชั้นต้นโดยองค์คณะผู้พิพากษาที่ได้รับสำนวนต่อมาเห็นว่า ประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้เดิมไม่ถูกต้องศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนประเด็นข้อพิพาทตามที่ศาลเห็นสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ในคำพิพากษาได้
จำเลยไม่ได้ให้การในเรื่องหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมเกิดขึ้นโดยการสมยอมกัน โจทก์ไม่มีอำนาจฟัอง ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4481/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ: การโอนทรัพย์สินโดยเสน่หาให้บิดา ไม่ถือเป็นการขายเพื่อหากำไร
การวินิจฉัยปัญหาว่าโจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์คัดค้านการประเมินหรือเพียงแต่อุทธรณ์เนื้อหาของหนังสือตอบข้อหารือของโจทก์ทั้งสี่ ศาลจะต้องรับฟังเจตนาและพฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสี่และจำเลยว่า ยอมรับคำอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่เป็นการอุทธรณ์การประเมินที่ถูกต้องแล้วหรือไม่เพื่อประกอบการตีความเนื้อหาของเอกสารดังกล่าว อุทธรณ์ข้อนี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริงนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงถือว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริง แม้จำเลยจะให้การไว้ แต่เมื่อศาลภาษีอากรกลางชี้สองสถาน โดยไม่กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและจำเลยไม่คัดค้านใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลภาษีอากรกลางชี้สองสถาน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 วรรคสาม ถือว่าสละประเด็นดังกล่าว ทั้งศาลภาษีไม่ได้วินิจฉัย ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีฯ มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย
การโอนที่ดินให้บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายโดยไม่มีค่าตอบแทน แม้ทำภายใน 5 ปี นับแต่ได้มาถือเป็นการขายก็ตาม แต่ไม่ใช่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร โจทก์ทั้งสี่จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามการประเมิน และแม้จากการตรวจสอบจะพบว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เคยชำระภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น ก็ไม่เป็นเหตุให้การโอนที่ดินดังกล่าวเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3560/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลอุทธรณ์วินิจฉัยทางภาระจำยอม แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาเป็นทางจำเป็น และโจทก์มิได้อุทธรณ์
โจทก์ทั้งสองฟ้องตั้งรูปคดีว่าทางพิพาทบนที่ดินของจำเลยเป็นทางภาระจำยอมและเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสอง เป็นคำฟ้องที่ให้ศาลเลือกวินิจฉัยจากข้อเท็จจริงว่าเป็นทางประเภทใด เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าทางพิพาทไม่เป็นทางภาระจำยอมแต่เป็นทางจำเป็น แม้จำเลยอุทธรณ์มาฝ่ายเดียวว่าทางพิพาทมิใช่ทางจำเป็น ศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า ทางพิพาทมิใช่ทางจำเป็นแต่เป็นทางภาระจำยอมได้ ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3187/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดิน: การครอบครองเดิมของเจ้าของก่อนการซื้อขาย และการยอมรับสิทธิโดยคู่กรณี
เดิมที่ดินพิพาทเป็นของ ป. ต่อมา ป. ได้ขายให้โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2500 กรณีเช่นนี้จึงไม่ใช่การแย่งการครอบครองที่จะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อที่ดินเป็นของผู้อื่นเท่านั้น แต่คดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 เองจึงไม่มีประเด็นพิพาทเรื่องการแย่งการครอบครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 454/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินโดยมิชอบ สิทธิในการฟ้องแย่งการครอบครอง และอายุความ
ประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดขึ้นใหม่ว่า โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีนี้หรือไม่ ถือเป็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทไปตามข้ออ้างข้อเถียงในคำฟ้องและคำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะประเด็นดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นข้อพิพาทเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 1 ที่กำหนดไว้แต่เดิมนั้นเอง ซึ่งจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้นำสืบไปตามข้อต่อสู้ในคำให้การอยู่แล้วนอกจากนี้การกำหนดประเด็นข้อพิพาทขึ้นใหม่ก็กระทำหลังจากคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานเข้าสืบเกี่ยวกับเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 1 เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว โดยไม่มีผลต่อการนำสืบและการรับฟังข้อเท็จจริงตามนำสืบของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่จำต้องแจ้งให้คู่ความทราบและไม่จำต้องสืบพยานเพิ่มเติม การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้แต่เดิมขึ้นใหม่ก็เพื่อสะดวกในการวินิจฉัยคดีจึงเป็นการกระทำโดยชอบ
โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การต่อสู้คดีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยซื้อมาจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ตามคำให้การดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาแต่ต้น จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเรื่องแย่งการครอบครองที่จะต้องวินิจฉัยเพราะการแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 จะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นมิใช่เป็นที่ดินของตนเอง
โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสี่ในฐานะเจ้าของ ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ไม่ใช่ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกซึ่งหมายถึงคดีที่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดก จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6157/2552 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน: ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้พิจารณาใหม่ตามลำดับชั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ให้สัญญาว่าเมื่อ อ. หรือพวกนำเงิน 127,000 บาท ไปคืนแก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ก็จะโอนที่ดินพิพาทและบ้านคืนให้ จำเลยที่ 1 ให้การรับว่าโจทก์ตกลงซื้อที่ดินพิพาทคืนในราคาเท่าที่จำเลยที่ 1 มีภาระผูกพันอยู่กับจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์วางมัดจำให้แก่จำเลยที่ 1 ไว้ 127,000 บาท ส่วนที่เหลือโจทก์จะไปตกลงกับจำเลยที่ 2 เท่ากับจำเลยที่ 1 รับว่าจะขายที่ดินพิพาทคืนโจทก์ แต่ตกลงไว้ในราคาอื่น การตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เข้าลักษณะสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทพร้อมบ้านคืนโจทก์ เป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายเป็นประเด็นหลัก ส่วนที่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 1 เป็นประเด็นรอง และการที่จำเลยที่ 1 ไม่โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทและบ้านให้โจทก์จึงใช่เรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น
ป.วิ.พ. มาตรา 142 เป็นบทบัญญัติในภาค 1 บททั่วไปสำหรับทุกชั้นศาล ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจยกปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นวินิจฉัยตามมาตรา 142 (5) ได้โดยตรง แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโดยยังมิได้วินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และตามปัญหาของจำเลยที่ 1 ว่าสัญญาที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำกันไว้เป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงพิพาทหรือไม่ แม้คู่ความจะสืบพยานจนเสร็จสิ้นเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงไปเสียเองก็ได้ก็ตาม แต่เพื่อให้คดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล ทั้งผลการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความ จึงเห็นควรย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ในประเด็นที่ยังมิได้วินิจฉัยต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5417/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยมีสิทธิปรับค่าเช่ารายวันได้ โจทก์ไม่รื้อถอนโครงสร้างตามสัญญา จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินประกันคืน
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าคืนเงินประกันค่าเสียหายจากการใช้สถานที่เช่าเนื่องจากภายหลังครบกำหนดเวลาสัญญาเช่า โจทก์ผู้เช่าได้รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็กสำหรับติดตั้งป้ายโฆษณาออกจากที่เช่าเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 1 ให้การว่าเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าโจทก์มิได้รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็กออกจากที่เช่า แต่กลับขอต่อสัญญาเช่าออกไปอีก 3 เดือน โดยให้จำเลยที่ 1 หักเงินประกันดังกล่าวเป็นค่าเช่า ซึ่งเป็นคำให้การที่ปฏิเสธข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องโจทก์โดยชัดแจ้งว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็ก คดีจึงมีประเด็นพิพาทที่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงสร้างเหล็กหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลทำให้เกิดข้อแพ้ชนะในคดี และจะต้องวินิจฉัยก่อนประเด็นข้ออื่น ส่วนคำให้การที่ว่าโจทก์ขอต่อสัญญาเช่าออกไปอีก 3 เดือน เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างนอกเหนือไปจากข้ออ้าง ที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้องของโจทก์ เพราะหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่าแล้ว คดีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ต่อไป เนื่องจากเป็นข้ออ้างที่เกินเลยไปจากข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในประเด็นว่าโจทก์ได้ต่อระยะเวลาการเช่าออกไปอีก 3 เดือน โดยไม่ได้วินิจฉัยประเด็นที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงย่อมไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาเมื่อจำเลยที่ 1 ยกขึ้นฎีกาต่อมา ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไปโดยไม่ย้อนสำนวน ส่วนที่จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิหักเงินประกันเป็นค่าปรับรายวันนั้น จำเลยที่ 1 ได้แสดงมาโดยชัดแจ้งในคำให้การเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัย หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็กแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5370/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาประเด็นพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายในคดีไม่มีข้อพิพาท การคัดค้านต้องชัดแจ้งจึงจะเกิดประเด็นข้อพิพาท
ในคดีไม่มีข้อพิพาทถ้าบุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อมให้ถือว่าบุคคลเช่นว่ามานี้เป็นคู่ความและให้ดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (5) คำคัดค้านของผู้คัดค้านจึงเป็นคำคู่ความที่จะก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทผู้คัดค้านจะคัดค้านคำร้องขอในประเด็นข้อใดจะต้องยื่นคำคัดค้านให้ชัดเจนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงจะเกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทในข้อนั้น การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่าพินัยกรรมทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายกล่าวคือ พระ อ. ไม่ได้มีความประสงค์หรือเจตนาจะทำพินัยกรรมดังกล่าว ผู้ทำพินัยกรรมได้กระทำโดยถูกหลอกลวง สำคัญผิดไม่เป็นไปตามความประสงค์อันแท้จริงของผู้ทำพินัยกรรมและขณะทำพินัยกรรมพระ อ. มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ อันเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันว่าพระ อ. ทำพินัยกรรมจริงแต่ถูกหลอกลวง สำคัญผิดและมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ แต่คำร้องคัดค้านกลับกล่าวอีกว่าลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไม่ใช่ลายมือของพระ อ. เท่ากับยืนยันว่าพระ อ. ไม่ได้ทำพินัยกรรม เช่นนี้คำร้องคัดค้านจึงขัดกันเองและไม่ชัดแจ้งว่าผู้คัดค้านได้คัดค้านว่าเป็นพินัยกรรมปลอมหรือเป็นพินัยกรรมที่ผู้ทำถูกหลอกลวง สำคัญผิดหรือทำพินัยกรรมในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ส่วนที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่าพินัยกรรมทำไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดก็ไม่ได้ระบุว่าไม่ถูกต้องตามแบบอย่างใดจึงไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธ คำร้องคัดค้านจึงไม่ชัดแจ้ง ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านได้โต้แย้งคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่าพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำร้องขอของผู้ร้องว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2345/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องหย่าต้องมีเหตุตามกฎหมาย การแยกกันอยู่ต้องเกิดจากฝ่ายที่ถูกละทิ้งเป็นผู้ต้องการ
ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุเหตุหย่าเพียงการละทิ้งร้างกันเกินกว่าหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) ไม่ได้ระบุถึงการสมัครใจแยกกันอยู่เพราะไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีตามมาตรา 1516 (4/2) และแม้ว่าคำฟ้องโจทก์แนบบันทึกตกลงแยกทางกันด้วยว่า "ศ. (จำเลย) มีความประสงค์ขอแยกทางกันอยู่กับ ว. (โจทก์) และ ว. ก็ยินยอม" ไว้ท้ายคำฟ้องก็ตาม แต่เหตุหย่าตาม 1516 (4/2) นั้น ไม่ได้มีเพียงระยะเวลาที่แยกกันอยู่เกินสามปีเท่านั้น ยังต้องมีองค์ประกอบอื่นอีกคือ ต้องเป็นเพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาด้วย ซึ่งโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงองค์ประกอบดังกล่าวไว้ ฟ้องของโจทก์ในประเด็นนี้จึงไม่ชอบ ไม่ถือว่าคำฟ้องโจทก์มีเหตุหย่าตามบทบัญญัติในมาตรา 1516 (4/2) กรณีสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีด้วย
ตามบันทึกตกลงแยกทางกันนั้นได้บันทึกถึงเหตุที่โจทก์และจำเลยต้องทำบันทึกดังกล่าว และภายหลังทำบันทึกตกลง จำเลยไม่เคยพูดเรื่องขอจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ แต่จำเลยเคยพูดกับโจทก์ให้กลับมาอยู่กับจำเลยและบุตรอีก การบันทึกข้อความเรื่องแยกกันอยู่ดังกล่าวจึงเป็นความประสงค์อันเป็นเจตนาของโจทก์แต่ฝ่ายเดียว การที่จำเลยยอมลงลายมือชื่อในบันทึกตกลงเชื่อว่าเพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์ ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับความจริงในข้อนี้ ก็ยิ่งย้ำให้เห็นชัดแจ้งว่ามีสาระเพื่อได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง กรณีจึงไม่ใช่กล่าวอ้างขึ้นมาลอยๆ การพิจารณาข้อความในบันทึกตกลงในเรื่องแยกกันอยู่จึงพิจารณาเฉพาะข้อความในเอกสารโดยไม่พิจารณาถึงเจตนาของจำเลยย่อมไม่ชอบ ทั้งโจทก์ก็รับว่าโจทก์เป็นผู้ออกจากบ้านพักของจำเลยไปเอง กรณีจึงถือว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่กับจำเลยฝ่ายเดียว จำเลยหาได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น จำเลยจึงไม่ได้ละทิ้งร้างโจทก์เกินกว่าหนึ่งปี อันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้ตามมาตรา 1516 (4) ซึ่งการไม่ให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยนี้ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับข้อยุติเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู กรณีจึงไม่มีเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4)
สิทธิในการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นสิทธิเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลที่จะได้รับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1974/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประเด็นข้อพิพาทต้องพิจารณาจากคำฟ้องและคำให้การ การเสนอค่าทดแทนนอกฟ้องถือเป็นเรื่องนอกประเด็น
ประเด็นข้อพิพาทในคดีจะต้องพิจารณาจากคำฟ้อง คำให้การ เป็นข้อสำคัญมิใช่พิจารณาจากข้อเท็จจริงและการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณา แม้พยานโจทก์จะได้เบิกความถึงว่าเสนอว่าจะให้ค่าทดแทนแก่จำเลยแล้วก็ตาม แต่ในคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้เสนอค่าทดแทนให้แก่จำเลยแต่อย่างใด คดีจึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1352 หรือไม่ เมื่อคดีไม่มีประเด็นดังกล่าวเสียแล้ว ศาลจึงไม่อาจพิจารณาพิพากษาให้จำเลยปฏิบัติตามฟ้องโจทก์ และกำหนดค่าทดแทนเพื่อให้โจทก์ชำระแก่จำเลยได้ เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น
of 253