คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 183

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,529 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน: คำพิพากษาศาลฎีกายันบุคคลภายนอก & การได้มาซึ่งสิทธิโดยการครอบครอง
ศาลฎีกามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และขับไล่ ท. ระหว่างบังคับคดี จำเลยได้ยึดถือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ไว้ โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) อยู่ในเขตที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินที่จำเลยครอบครองและใช้ประโยชน์ และจำเลยเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินพิพาท โดยรับมอบการครอบครองมาจาก ท. โดยชอบ จนได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท กับมีสิทธิยึดหน่วงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงขัดแย้งกันไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทกับที่ดินที่จำเลยครอบครองเป็นที่ดินคนละแปลงกันหรือไม่ และจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท กรณีจึงรับฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทกับที่ดินที่จำเลยครอบครองเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวแม้จำเลยไม่ใช่คู่ความในคดีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาก็ตาม แต่คำพิพากษาในคดีดังกล่าวก็ใช้ยันจำเลยผู้เป็นบุคคลภายนอกได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) การที่จำเลยให้การรับว่าได้รับที่ดินพิพาทมาจาก ท. ซึ่งไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่จำเลยได้ อันเป็นการรับมอบที่ดินพิพาทโดยเด็ดขาด มิใช่เพื่อประกันการชำระหนี้แล้วได้ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 1 ปี ทำให้ได้สิทธิครอบครอง โดยไม่ได้ให้การว่าจำเลยมีสิทธิดีกว่าโจทก์ด้วยเหตุประการอื่น จำเลยจึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามบทบัญญัติข้างต้น โจทก์ย่อมเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ไว้ แม้ว่า ท. ยังไม่ได้ชำระเงินยืมและดอกเบี้ยให้จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1579/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองและค้ำประกันหนี้: สัญญาบังคับใช้ได้แม้จำนองก่อนรับเงินกู้ การปฏิเสธลายมือชื่อไม่ถือเป็นข้อโต้แย้ง
โจทก์มีหนังสือสัญญากู้ 2 ฉบับ ที่จำเลยทั้งสามเถียงว่า โจทก์ลวงให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อผูกผันเป็นผู้กู้ไว้ก่อน อีกทั้ง อ. พยานโจทก์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการด้านสินเชื่อสาขาหาดใหญ่ของโจทก์มาเบิกความรับรองด้วยว่า หลังจากโจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 1 กู้จำเลยที่ 1 ก็ได้รับเงินกู้ทั้ง 2 จำนวนไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้วโดยจำเลยที่ 1 ลงชื่อรับเงินไว้ เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิเสธว่า ลายมือชื่อผู้กู้มิใช่เป็นของจำเลยที่ 1 จึงถือว่าโจทก์มีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือตามกฎหมายแล้ว
ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันนั้นจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องสัญญาค้ำประกันไว้แต่อย่างใดจึงนอกคำให้การของจำเลยที่ 2 และนอกประเด็น
แม้การจดทะเบียนจำนองและจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองเป็นประกันหนี้จะทำขึ้นก่อนเวลาที่โจทก์จะส่งมอบเงินกู้ทั้ง 2 จำนวนแก่จำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 707 ว่าด้วยจำนอง บัญญัติว่า "บทบัญญัติมาตรา 681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้นท่านให้ใช้ได้ในการจำนอง อนุโลมตามควร" กล่าวโดยเฉพาะ ตามนัยมาตรา 681 ที่ว่าหนี้ที่อาจเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ในอนาคตย่อมทำสัญญาค้ำประกันได้ ดังนั้น เมื่อต่อมาโจทก์มอบเงินกู้ทั้ง 2 จำนวนแก่จำเลยที่ 1 หลังจากทำสัญญาจำนองกันดังกล่าวหนี้เงินกู้ในส่วนนั้นก็สมบูรณ์ การจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวล่วงหน้าจึงบังคับแก่กันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1545/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิรุธการซื้อขายที่ดิน, การครอบครองปรปักษ์, และภาระการพิสูจน์ของโจทก์เมื่ออ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า ข้อ 1. จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ข้อ 2. โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยจดทะเบียนซื้อขาย โดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต และจดทะเบียนโดยสุจริตหรือไม่ และข้อ 3. ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงไร โดยในชั้นพิพากษาศาลชั้นต้นได้รวมประเด็นข้อพิพาทเป็นข้อเดียวกันว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและโจทก์สามารถขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นก็ยังคงสาระสำคัญในประเด็นเรื่องกรรมสิทธิ์ไว้เช่นเดิม คงมีแต่ถ้อยคำที่แตกต่างกันไป เพื่อความสะดวกในการวินิจฉัยเท่านั้น จึงไม่เป็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทขึ้นใหม่หรือแก้ไขในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญจนถึงกับเป็นเรื่องนอกประเด็นข้อพิพาท
เมื่อศาลชั้นต้นคงสาระสำคัญในประเด็นข้อพิพาทในเรื่องกรรมสิทธิ์ไว้เช่นเดิมดังที่ชี้สองสถานไว้ กรณีจึงยังคงมีประเด็นดังที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยจดทะเบียนซื้อขายโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต และจดทะเบียนโดยสุจริตหรือไม่ ซึ่งจำเลยต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต และจดทะเบียนโดยไม่สุจริต แม้ว่าศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดให้จำเลยนำพยานหลักฐานเข้าสืบก่อนเพื่อความสะดวกในการพิจารณา ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะภาระการพิสูจน์นั้นมีกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้แล้วว่าจะตกแก่คู่ความฝ่ายใดไม่อาจเปลี่ยนแปลงความถูกต้องตามกฎหมายไปตามคำสั่งศาล
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จำเลยจะพิสูจน์ว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตและจดทะเบียนโดยไม่สุจริตนั้น ข้อเท็จจริงต้องฟังยุติตามที่โจทก์อ้างในคำฟ้องก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินส่วนเดียวกับที่โจทก์ซื้อหรือมีกรรมสิทธิ์และจำเลยให้การปฏิเสธไว้ ซึ่งปัญหาเรื่องนี้ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้โดยชัดแจ้ง และจำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านไว้ แต่ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้สละประเด็นข้อพิพาทนี้ดังที่โจทก์ฎีกา เพราะประเด็นว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินส่วนเดียวกับที่ดินที่โจทก์อ้างว่ามีกรรมสิทธิ์หรือไม่นั้น เป็นที่มาซึ่งนำไปสู่การวินิจฉัยประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดในชั้นชี้สองสถานหรือในคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือจำเลย จำเลยแย่งการครอบครองที่ดินดังกล่าวดังที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องหรือไม่เพราะถ้าเป็นที่ดินคนละแปลงกัน การแย่งการครอบครองตามคำฟ้องของโจทก์ย่อมไม่เกิดขึ้น ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยเป็นประการแรกชอบแล้ว ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น จึงไม่ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 851/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอม: การก่อภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์จากการวางสิ่งของกีดขวางทางเดิน และการตีความบันทึกข้อตกลง
จำเลยเพียงต่อสู้ไว้ในคำให้การว่า โจทก์เป็นเพียงเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับบุคคลอื่น และฟ้องคดีโดยไม่ได้รับมอบอำนาจหรือได้รับความยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นเท่านั้น ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาว่า ที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 183 ของโจทก์แบ่งแยกมาจากตราจองเลขที่ 22 แล้วตราจองเลขที่ 22 ได้มีการแบ่งแยกในนามเดิมและแบ่งหักเป็นสาธารณประโยชน์อีก จึงมีปัญหาว่าทางภาระจำยอมที่พิพาทกันอยู่ในเขตโฉนดตราจองเลขที่ 183 ของโจทก์หรือไม่ และทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าหลักฐานแน่ชัดว่าทางภาระจำยอมที่พิพาทอยู่ในโฉนดตราจองเลขที่ 183 ของโจทก์ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นเรื่องนอกประเด็น และเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
ตามบันทึกข้อตกลงเรื่องภาระจำยอมระบุไว้ว่า ที่ดินของโจทก์ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยในเรื่องทางเดินซึ่งหมายความว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิใช้ทางภาระจำยอมซึ่งเป็นทางเท้าติดกับตึกแถวของจำเลยเดินผ่านหรือเดินเข้าออกไปยังถนนสาธารณะหรือที่อื่นใดก็ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะไปหวงห้ามมิให้เดินผ่าน เมื่อจำเลยนำวัสดุก่อสร้างมาวางจำหน่ายบนทางภาระจำยอม ก่อสร้างกันสาดหลังคาอะลูมิเนียมเป็นการถาวร นำชั้นมาวางของขายและนำรถยนต์มาจอดบนทางเท้าและทำประตูเปิดปิด ทำให้โจทก์และประชาชนอื่นไม่สามารถเดินผ่านทางภาระจำยอมไปได้โดยสะดวก การกระทำของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์เป็นการก่อภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1388 อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงต้องรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินของจำเลยที่อยู่บนทางภาระจำยอมออกไป
ศาสชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์และต้องรื้อถอนออกไปตามฟ้องหรือไม่ จึงรวมถึงการที่จำเลยนำสิ่งของวัสดุก่อสร้างมาวางไว้บนทางภาระจำยอมและจะต้องขนย้ายออกไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10259/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ และประเด็นค่าขึ้นศาลที่ไม่ถูกต้อง
คดีนี้จำเลยให้การตอนแรกว่า ที่ดินพิพาทมิได้อยู่ในเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 19861 และ 19863 ของโจทก์ เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ น้ำทะเลท่วมถึงบิดามารดาจำเลยเข้าจับจองครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ต่อมาเมื่อประมาณ 15 ปี มาแล้ว บิดามารดาจำเลยได้ยกที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยกลับให้การต่อมาว่า หากฟังว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ โฉนดที่ดินดังกล่าวก็ออกโดยไม่ชอบ และหากฟังว่าออกโฉนดที่ดินโดยชอบ จำเลยก็ได้กรรมสิทธิ์แล้วโดยการครอบครองปรปักษ์ เห็นได้ว่าคำให้การของจำเลยดังกล่าวไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือเป็นที่ดินของโจทก์ อันเป็นการขัดแย้งกันเองเป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่
เมื่อคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เท่ากับจำเลยมิได้ให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นศาลละ 200 บาท ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นต้นเพิ่มอย่างคดีมีทุนทรัพย์เป็นเงิน 37,125 บาท จึงไม่ถูกต้องและโจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาเป็นเงิน 37,500 บาท จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาเป็นเงิน 37,500 บาท และเสียค่าขึ้นศาลในอนาคตมาอีก 100 บาท จึงไม่ถูกต้องเช่นกัน สำหรับค่าขึ้นศาลในอนาคตนั้นจำเลยไม่ต้องเสีย แม้ฎีกาของจำเลยจะมีคำขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในส่วนที่ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปด้วย แต่คำขอในส่วนนี้มิใช่เป็นคำขอให้ชำระค่าเสียหายหรือเงินอื่น ๆ บรรดาที่ให้จ่ายมีกำหนดเป็นระยะเวลาในอนาคตตามตาราง 1 (4) ท้าย ป.วิ.พ. ที่ให้คิดค่าขึ้นศาล 100 บาท เป็นอีกส่วนหนึ่งเพราะเป็นคำขอที่มีผลต่อเนื่องจากคำขอที่ให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทอันเป็นคำขอประธานเท่านั้น กรณีจึงเป็นการที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์เกินมา 36,925 บาท และ 37,300 บาท ตามลำดับ จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเกินมา 37,400 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมาให้แก่โจทก์และจำเลย
จำเลยไม่ได้ให้การว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แม้จำเลยจะนำสืบในประเด็นนี้และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่จำเลยได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงจะฎีกาว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8172/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญากู้เงิน - การสะดุดหยุดของอายุความจากการชำระดอกเบี้ย - การฟ้องข้ามอายุความ
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินรวม 4 ฉบับ จำเลยให้การต่อสู้ว่า สัญญากู้ตามฟ้องไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันทำสัญญากู้แต่ละฉบับ โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ดังนี้ ปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ย่อมเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดี ภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อนี้ตกแก่โจทก์ที่จะต้องนำสืบให้ได้ความว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีสิทธินำสืบถึงเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้หาถือว่าเป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
เมื่อสัญญากู้เงินไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดจากวันทำสัญญากู้เงินแต่ละฉบับ ซึ่งกฎหมายมิได้กำหนดอายุความการกู้ยืมเงินไว้โดยเฉพาะ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8093/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดิน ส.ค.1 สัญญาขายฝากโมฆะ สิทธิครอบครองยังเป็นของจำเลย
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ร่วมมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทก่อนขายให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ และจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์และต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โดยประเด็นทั้งสองข้อนี้เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นฝ่ายกล่าวอ้างภาระการพิสูจน์ย่อมตกแก่โจทก์และโจทก์ร่วม แต่แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นหลักฐานที่รับฟังได้แต่เพียงว่า ขณะแจ้งการครอบครองผู้แจ้งอ้างว่าที่ดินเป็นของผู้แจ้งมิใช่อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 อันจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง จำเลยเป็นฝ่ายยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามมาตรา 1369 ว่าจำเลยยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตน จึงตกเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว
โจทก์ร่วมทั้งสองกับจำเลยทำสัญญาขายฝากที่พิพาทโดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการขายฝากเกิดขึ้นเลย โจทก์ร่วมทั้งสองย่อมจะอ้างสิทธิการได้มาโดยการครอบครองโดยนิติกรรมการขายฝากนั้นไม่ได้ เพราะการขายฝากมิใช่ว่าผู้ขายฝากสละเจตนาครอบครองโดยเด็ดขาดให้แก่ผู้ซื้อฝาก แต่ผู้ขายฝากมอบที่ดินโดยมีเงื่อนไขว่าวันหลังจะเอาคืน การที่โจทก์ร่วมทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากครบกำหนดไถ่เป็นการครอบครองโดยอาศัยอำนาจของจำเลยเพื่อทำการตัดไม้โกงกางไปเป็นประโยชน์เท่านั้น โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7515/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทของศาลอุทธรณ์ และการหักชดใช้ค่าเสียหายจากสัญญาประกันภัย
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสามแถลงสละประเด็นตามคำให้การและตามที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานไว้ ขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายเพียงใด ดังนั้น คดีไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 หลุดพ้นความรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 เนื่องจากมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 3 มาวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 3 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนนี้จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาวินิจฉัยตามประเด็นที่ถูกต้อง โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาใหม่ได้
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาเพียงว่า ขอให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจำนวน 200 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (2) (ก)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4590/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรังวัดที่ดินใหม่เกินแนวเขตเดิม การพิสูจน์แนวเขตที่ถูกต้อง และการยกฟ้องคดีละเมิด
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งต้องจัดการแบ่งมรดกที่ดินซึ่งเดิมมีเนื้อที่ 2 งาน 96 ตารางวา แต่เมื่อรังวัดใหม่พบว่าที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่จริงตามที่รังวัดได้คือ 1 ไร่ 1 งาน 37 ตารางวา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมแก้ไขเนื้อที่และจดทะเบียนโฉนดที่ดินให้โจทก์ และจำเลยที่ 2 คัดค้านการรังวัดที่ดิน เป็นการร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้จำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงเนื้อที่ในโฉนดที่ดินตามที่รังวัดได้จริง และขอให้จำเลยที่ 2 ถอนการคัดค้านการรังวัดที่ดิน ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ จึงรวมถึงปัญหาตามประเด็นที่ว่าที่ดินที่รังวัดใหม่มีเนื้อที่เกินกว่าที่ระบุในโฉนดเป็นเขตคลองบางกระเทียมที่ตื้นเขินหรือเป็นของโจทก์หรือไม่อยู่ในตัว เพราะก่อนที่จะวินิจฉัยได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่จะต้องวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเสียก่อน หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินที่รังวัดใหม่มีเนื้อที่เกินกว่าที่ระบุไว้ในโฉนดเป็นเขตคลองกระเทียมแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองก็ย่อมไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ และไม่จำต้องวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายเพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีแล้วนั่นเอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยถึงปัญหาว่า ที่ดินที่รังวัดใหม่มีเนื้อที่เกินกว่าที่ระบุในโฉนดเป็นเขตคลองบางกระเทียมตื้นเขินหรือของโจทก์ จึงไม่ได้เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8424/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดเดินสายไฟฟ้าพาดผ่านที่ดิน: ศาลพิจารณาความเสียหายและสิทธิเรียกค่าทดแทน/โอนกรรมสิทธิ์
โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยในมูลละเมิดที่จำเลยปักเสาไฟฟ้าพาดผ่านที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นเส้นทแยงมุมโดยจงใจกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสอง เป็นเหตุให้ที่ดินได้รับความเสียหายและเสื่อมประโยชน์ใช้สอยตลอดไป แล้วจำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองไม่ตรงและต่ำกว่าความเสียหายจริงที่โจทก์ทั้งสองได้รับ กับมีคำขอให้บังคับจำเลยรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วใช้ราคาพร้อมดอกเบี้ยหรือใช้ค่าทดแทนความเสียหาย จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยมิได้กระทำละเมิดกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสอง คดีจึงมีประเด็นโต้เถียงกันว่าจำเลยกระทำละเมิดโจทก์ทั้งสองและต้องใช้ค่าทดแทนความเสียหายหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและชำระราคาตามฟ้องได้หรือไม่ ได้รวมถึงประเด็นที่ว่าจำเลยกระทำละเมิดกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองหรือไม่ไว้ด้วยแล้ว เพราะการจะวินิจฉัยตามข้ออ้างในคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจำต้องวินิจฉัยก่อนว่า จำเลยกำหนดแนวเขตเดินสายไฟโดยสุจริตหรือไม่ หากปรากฏว่าจำเลยกำหนดแนวเขตเดินสายไฟโดยไม่สุจริต หรือจงใจกลั่นแกล้งเพื่อให้ที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย เสื่อมราคาไม่สามารถใช้สอยได้สมประโยชน์ดังเดิม อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ก็จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับซื้อที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ทั้งสอง หรือเรียกให้ใช้ค่าทดแทนเพิ่มสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือทั้งหมดได้หรือไม่เพียงใด ดังนั้น ที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยกระทำละเมิดกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองโดยเห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทตามฟ้อง จึงไม่ชอบ
of 253