คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 183

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,529 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 670/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประเด็นการกู้ยืมเงิน จำนองประกัน และการชำระหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์โดยจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันการกู้ยืม จำเลยให้การว่าไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์ แต่จำนองที่ดินพิพาทประกันหนี้ของ ส. บุตรชายจำเลย ดังนี้เป็นการต่อสู้ว่าไม่มีหนี้ตามสัญญากู้ยืมอันเป็นหนี้ประธานตามฟ้อง มีแต่หนี้เงินกู้ยืมของ ส. บุตรชายที่จำเลยเพียงแต่จำนองประกันหนี้เท่านั้น ซึ่งหากคดีฟังได้ตามข้อต่อสู้ ก็เท่ากับว่าไม่มีหนี้เงินกู้ยืมระหว่างโจทก์กับจำเลยตามที่โจทก์อ้าง โจทก์ก็ไม่อาจบังคับจำนองที่ดินพิพาทอันเป็นหนี้อุปกรณ์ได้ คดีจึงมีประเด็นด้วยว่าจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์หรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้และพิพากษาคดีมา จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบ 183 และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวเสียก่อน แต่กลับฟังข้อเท็จจริงยุติไปเลยว่า จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเพื่อประกันการกู้ยืมเงินของ ส. ย่อมเป็นการไม่ชอบเช่นกัน ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดประเด็นเพิ่มและวินิจฉัยให้เสร็จไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวน
คดีนี้จำเลยให้การเพียงว่า ส. นำที่ดิน 2 แปลง ไปจดทะเบียนขายฝากจำนวน 715,000 บาท เพื่อชำระหนี้ดอกเบี้ยค้างชำระแก่โจทก์ มิได้ให้การถึงการขายฝากที่ดินแปลงอื่นอีก การที่จำเลยนำสืบว่า ส. นำที่ดินแปลงอื่นจำนวน 3 แปลง ไปขายฝากแก่บุคคลภายนอกแล้วนำเงินที่ได้จากการขายฝากจำนวน 200,000 บาท ไปชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การเป็นการไม่ชอบ ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 แต่ที่จำเลยนำสืบว่า ส. นำที่ดิน 2 แปลง ไปขายฝากแก่ ก. บุตรชายโจทก์และโจทก์หักเงินที่ได้ชำระหนี้เงินกู้ยืม เป็นการนำสืบถึงการชำระดอกเบี้ยค้างชำระ มิใช่เป็นการนำสืบถึงการใช้ต้นเงินจึงไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเป็นโมฆะเพราะเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด การชำระดอกเบี้ยจึงเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจและฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 และมาตรา 411 ซึ่งจะนำมาหักชำระหนี้ต้นเงินไม่ได้
คำแถลงรับของโจทก์ที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้คืนบางส่วนจากจำเลย ย่อมผูกพันโจทก์ จึงนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักยอดหนี้ค้างชำระได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6735/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อสันนิษฐานทางกฎหมายเรื่องการถือหุ้นในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น สามารถนำสืบหักล้างได้ หากมีข้อพิพาทและยังไม่มีข้อเท็จจริงยุติ
แม้บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นจะระบุว่าจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นพิพาท ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1141 แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่ไม่เด็ดขาด คู่ความมีสิทธินำสืบหักล้างได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การยังไม่อาจรับฟังเป็นยุติได้ การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องคำให้การแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้และมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยจึงไม่ชอบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่สืบพยานโจทก์ต่อไปและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานและอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นขอให้โจทก์ชนะคดี โดยอุทธรณ์มาในฉบับเดียวกัน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เฉพาะในปัญหาอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งงดสืบพยานโดยเห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่ยุติ เห็นสมควรให้ฟังพยานหลักฐานโจทก์จำเลยเสียก่อนโดยไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ขอให้โจทก์ชนะคดี และพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่การสืบพยานโจทก์ต่อไปและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี แม้โจทก์อุทธรณ์ขอให้โจทก์ชนะคดีมาด้วยก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์ก็ไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาตามคำฟ้องและคำให้การ เพราะยังไม่มีข้อเท็จจริงเนื่องจากศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย ต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยจนสิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่ จึงเป็นกรณีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งตามตาราง 1 ข้อ (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ. กำหนดให้เสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5597/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: ประเด็นอายุความหนี้ค่าไฟฟ้าที่ไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นและอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ค่าไฟฟ้าที่โจทก์ชำระแทนให้แก่จำเลยไป จำเลยให้การต่อสู้ในเรื่องอายุความว่า โจทก์ผู้ให้เช่าฟ้องจำเลยผู้เช่าเกี่ยวกับสัญญาเช่าเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่จำเลยได้ส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าหรือนับแต่โจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่าเมื่อปี 2535 หรือพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือนับแต่วันที่จำเลยส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า หรือนับแต่โจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่าเมื่อปี 2535 หรือเกินกำหนด 5 ปี ในการใช้สิทธิเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระ คำให้การของจำเลยดังกล่าวมิได้ให้การต่อสู้ถึงเรื่องอายุความหนี้ค่าไฟฟ้า จึงไม่มีประเด็นในเรื่องอายุความหนี้ค่าไฟฟ้า การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยประเด็นในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยฎีกาต่อมาอีกก็ถือว่าเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5473/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องเคลือบคลุม-ครอบครองปรปักษ์: ศาลฎีกาวินิจฉัยฟ้องชัดเจน-จำเลยให้การขัดแย้งเอง ประเด็นครอบครองปรปักษ์จึงไม่ชอบ
คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า เมื่อปี 2538 จำเลยได้บุกรุกที่ดินของโจทก์ด้านที่ติดกับที่ดินของจำเลย และเมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดที่ดินของโจทก์ จำเลยได้ขัดขวางการรังวัด โดยอ้างว่าที่ดินบางส่วนเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ที่โจทก์นำชี้อยู่ในเขตที่ดินของจำเลย ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจรังวัดที่ดินให้โจทก์ได้อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินดังกล่าวและเรียกค่าเสียหาย คำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงแสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น
จำเลยให้การและฟ้องแย้งตอนแรกว่าจำเลยไม่เคยบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ จำเลยได้ทำประโยชน์ในช่วงที่ดินของจำเลย ซึ่งมีคันนาและต้นไม้แสดงอาณาเขตที่ดินของจำเลยไว้ชัดเจน จำเลยไม่เคยทำละเมิดต่อโจทก์ และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เท่ากับจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย แต่จำเลยกลับให้การและฟ้องแย้งในตอนหลังว่า จำเลยได้ทำนาและทำกินในที่ดินพิพาทซึ่งมีแนวคันนาและต้นไม้แสดงอาณาเขตด้วยความสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในส่วนที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ คำให้การและฟ้องแย้งตอนหลังของจำเลยจึงขัดแย้งกับคำให้การและฟ้องแย้งตอนแรกซึ่งอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จึงไม่มีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4155/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของคำท้าในคดีแพ่ง: คำเบิกความเจ้าพนักงานที่ดินไม่ถือเป็นผลสำเร็จตามคำท้า หากไม่สามารถระบุผลการรังวัดที่ชัดเจน
คู่ความตกลงท้ากันโดยถือเอาผลของการรังวัดที่ดินแปลงพิพาทของเจ้าพนักงานที่ดินว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ตั้งอยู่ในเขตหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งทางราชการได้ออกให้แก่จำเลยหรือไม่ เป็นข้อแพ้ชนะในคดี เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินออกไปรังวัดทำแผนที่ที่ดินพิพาท แล้วมาเบิกความว่า ที่ดินแปลงพิพาทไม่สามารถรังวัดหรือตรวจสอบได้ว่าอยู่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งทางราชการได้ออกให้แก่จำเลยหรือไม่ และไม่ทราบว่าที่ดินแปลงพิพาทมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วหรือไม่ โดยไม่ปรากฏเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่สามารถรังวัดหรือตรวจสอบได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าได้มีการตรวจสอบแนวเขตที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลย เช่นนี้กรณีจึงไม่อาจถือว่าคำเบิกความของเจ้าพนักงานที่ดินทำให้เกิดผลสำเร็จตามคำท้าที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาตามคำท้าได้
เมื่อคำท้าไม่บรรลุผลสำเร็จตามคำท้า กรณีย่อมถือเสมือนหนึ่งว่าไม่มีคำท้าอยู่เลย ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อไป แม้เจ้าพนักงานที่ดินเบิกความเสร็จ และทนายโจทก์แถลงหมดพยานโดยจำเลยมิได้แถลงอะไร ซึ่งมีผลเท่ากับว่าคู่ความไม่ติดใจสืบพยานหลักฐานต่อไป ศาลก็จำต้องวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามรูปคดีก็ตาม แต่ศาลฎีกาเห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาที่คู่ความได้ดำเนินการไปดังกล่าวอาจเกิดจากการสำคัญผิดในผลแห่งคำท้าโดยเข้าใจว่าคำเบิกความของเจ้าพนักงานที่ดินทำให้เกิดผลสำเร็จตามคำท้าก็ได้ ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาจึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาฎีกาให้คู่ความฟัง เพื่อให้คู่ความได้ทราบและเข้าใจถึงผลแห่งคำท้าเสียก่อนว่าคำท้ายังไม่บรรลุผลสำเร็จ แล้วให้คู่ความแถลงถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3680/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การภายหลังชี้สองสถานต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 เมื่อประเด็นยุติแล้ว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและเจ้าของรถยนต์ตู้คันที่จำเลยขับรถยนต์กระบะชนได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การและฟ้องแย้งยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองและเจ้าของรถยนต์ตู้ ศาลชั้นต้นได้ชี้สองสถานโดยมิได้กำหนดข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นประเด็นข้อพิพาท ข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองและเจ้าของรถยนต์ตู้หรือไม่เป็นอันยุติตามนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 การที่จำเลยยื่นคำร้องในเวลาต่อมาว่า เพิ่งทราบว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ตู้ จึงขอแก้ไขคำให้การใหม่ว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ แต่คำร้องก็มิได้ปฏิเสธในข้อที่ว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ตู้ การขอแก้ไขคำให้การภายหลังวันชี้สองสถานในประเด็นที่จำเลยยอมรับและยุติไปแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 ศาลจึงไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การและไม่อนุญาตให้จำเลยยืนบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3680/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การหลังชี้สองสถานต้องห้ามตามกฎหมาย หากจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงแล้ว
คำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ครอบครองและเป็นเจ้าของรถยนต์คันที่เฉี่ยวชนกับรถยนต์ของจำเลยหรือไม่ ซึ่งจำเลยได้ยอมรับข้อเท็จจริงในคำให้การและฟ้องแย้งแล้ว และเมื่อศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานโดยมิได้กำหนดข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นประเด็นข้อพิพาท ทนายจำเลยซึ่งไปศาลในวันชี้สองสถานก็มิได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงยุติตามนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 แม้จำเลยไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนวันชี้สองสถานเพราะเพิ่งทราบว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของรถคู่กรณี แต่คำร้องขอแก้ไขก็มิได้ปฏิเสธฟ้องโจทก์ที่ว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ตู้นั่ง 4 ตอน ดังนั้น การขอแก้ไขในประเด็นที่จำเลยยอมรับและยุติไปแล้วไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การหลังจากวันชี้สองสถาน จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้แก้ไขคำให้การชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3039/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการเป็นผู้จัดการมรดก: ผู้มีส่วนได้เสียจากการถือกรรมสิทธิ์รวม แม้ไม่เป็นทายาทโดยธรรม
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่าผู้ร้องไม่เหมาะสม ขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและมีเหตุสมควรที่จะตั้งเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ปัญหาที่ว่าผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมที่แท้จริงในที่ดินอันเป็นมูลจัดการมรดกจึงเป็นเรื่องนอกประเด็น
ทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่ใช่บุตรของผู้ตาย ผู้ตายมิได้จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม ผู้ร้องและผู้คัดค้านจึงมิใช่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย แต่เนื่องจากผู้ร้องมีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกับผู้ตายในที่ดินถือว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกได้ส่วนผู้คัดค้านมิได้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงไม่มีสิทธิคัดค้านการจัดตั้งผู้จัดการมรดก ทั้งไม่มีสิทธิขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1718 ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1713 ให้มีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการมรดกเฉพาะในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องในที่ดินดังกล่าวจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2687/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภายใน 60 วัน: ศาลวินิจฉัยได้แม้ฟ้องเกินกำหนด หากโจทก์ยังมีอำนาจฟ้อง
คำสั่งศาลชั้นต้นที่กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ฟ้องคดีภายใน 60 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินหรือไม่ เป็นการกำหนดประเด็นในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ให้การปฏิเสธว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะฟ้องคดีเกินกำหนดเวลา เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่า แม้จะฟ้องคดีเกินกำหนดเวลา 60 วัน โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องโดยไม่มีผลให้ฟ้องโจทก์เสียไป ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยซึ่งข้อกฎหมายดังกล่าวเพื่อปรับแก่ข้อเท็จจริงในคดีได้ หาได้เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1692/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละมรดกต้องแสดงเจตนาชัดเจนเป็นหนังสือหรือสัญญาประนีประนอม การวินิจฉัยศาลชั้นต้นคลาดเคลื่อน
โจทก์กล่างอ้างในคำฟ้องว่า ล. สละมรดกส่วนของตนให้แก่โจทก์ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องการแบ่งปันมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกบันทึกคำให้การของ ล. ขึ้นวินิจฉัยว่ามีผลผูกพัน ล. เนื่องจากเป็นการประนีประนอมยอมความระหว่างทายาทผู้มีสิทธิตามมาตรา 850, 852 และมาตรา 1750 ทำให้ที่ดินมรดกส่วนของ ล. ตกแก่โจทก์ เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบ
บันทึกคำให้การของ ล. ในชั้นศาลที่ตอบทนายโจทก์ซักถามว่า "ที่ดินส่วนที่เหลือที่เป็นสิทธิของข้าฯ ที่จะได้ 5 ไร่นั้น ข้าฯ ได้ยกให้เป็นของโจทก์แล้ว ข้าฯไม่ติดใจที่จะเรียกร้องอีก" ข้อความดังกล่าวไม่ใช่การสละมรดก เพราะการสละมรดกต้องเป็นการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใด ทั้งบันทึกคำให้การฉบับดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาของ ล. ฝ่ายเดียว ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 1612 โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินมรดกส่วนของ ล.
of 253