คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 157 ทวิ วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3025/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษตามกฎหมายจราจรที่แก้ไขใหม่ การพักใช้ใบอนุญาต และความผิดตามกฎหมายหลายบท
คำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157 ทวิ แต่ขณะจำเลยกระทำความผิดบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้วโดย พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 มาตรา 9 และให้ใช้ความใหม่ตามมาตรา 157/1 แทน การที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157 ทวิ เป็นการอ้างบทบัญญัติกฎหมายผิดพลาดไปเท่านั้น แม้โจทก์ไม่อ้างบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า
คดีนี้แม้โจทก์จะอ้าง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ และมีคำขอให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้มีใบอนุญาตขับขี่ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีใบอนุญาตขับขี่ที่จะต้องพักใช้ ที่ศาลล่างทั้งสองสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยเป็นการมิชอบ และพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 127 ทวิ โดยไม่ระบุวรรคนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4976/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ต้องมีใบอนุญาตก่อน และศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขคำสั่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายได้
โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีใบอนุญาตขับขี่ และไม่ได้ขอให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีใบอนุญาตขับขี่ที่จะต้องพักใช้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนด 6 เดือน และศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน จึงไม่ถูกต้อง เพราะการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 157 ทวิ วรรคสองนั้น ต้องปรากฏว่าจำเลยมีใบอนุญาตขับขี่ด้วย แม้ปัญหาดังกล่าวจะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์หรือฎีกาขึ้นมา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2977/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขับรถขณะเสพยาเสพติด: เจตนาของกฎหมายอยู่ที่สารเสพติดตกค้างในร่างกาย
ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนขณะขับรถตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง และ 157 ทวิ วรรคสอง นั้น กฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ เนื่องจากฤทธิ์ของยาเสพติดให้โทษทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อสมองซึ่งควบคุมระบบประสาทของผู้ขับขี่ ซึ่งจะทำให้สมรรถภาพในการควบคุมยานพาหนะด้อยประสิทธิภาพลง อันอาจก่อให้เกิดภยันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาถึงสารเสพติดที่ยังคงตกค้างอยู่ในร่างกายของผู้ขับขี่เป็นสำคัญ หากมีการตรวจพบว่าในขณะที่ขับขี่มีสารเสพติดของยาเสพติดให้โทษตกค้างอยู่ในร่างกายแล้ว ไม่ว่าผู้ขับขี่จะเสพยาเสพติดให้โทษก่อนหน้านี้เมื่อใด ผู้นั้นก็ได้กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4900/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดและการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่จากการเสพยาขณะขับรถ
แม้ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดฯ จะมีผลใช้บังคับแล้วในวันที่จำเลยกระทำความผิด แต่มาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้กำหนดต่อไปว่า บทบัญญัติในหมวด 3 จะให้ใช้บังคับเมื่อใด ในท้องที่ใด ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ออกประกาศให้ใช้บังคับบทบัญญัติหมวด 3 แก่ท้องที่อำเภอเมืองนครราชสีมาซึ่งเป็นท้องที่ที่จำเลยกระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2546 เป็นต้นไป แต่เมื่อในวันดังกล่าวจำเลยถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแล้วมิใช่เป็นเพียงผู้ต้องหากรณีของจำเลยจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 19 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในหมวด 3 ดังกล่าวได้ ดังนั้น จึงไม่อาจจะนำบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวมาใช้กับกรณีของจำเลย
ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา... ด้วยเหตุนี้เองเมื่อจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ขณะปฏิบัติหน้าที่ผู้ขับขี่ จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนดหกเดือนนับแต่วันพิพากษา จึงเป็นไปโดยชอบตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 157 ทวิ วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10600/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดใช้ไม่ได้กับผู้ต้องหาคดีอื่นที่มีโทษจำคุก
ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 มาตรา 19 เป็นกรณีที่กำหนดให้มีการดำเนินการก่อนฟ้องผู้ต้องหาและต้องไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหานั้นต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยตกเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถ อันเป็นการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นความผิดฐานอื่นที่มีโทษจำคุก ทั้งจำเลยถูกฟ้องต่อศาลแล้ว ดังนั้น ไม่ว่ากระบวนการตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 จะเป็นคุณแก่จำเลยเพียงใด บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวก็ไม่เปิดช่องให้นำมาใช้บังคับแก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8460/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เกินกำหนด: จำเลยต้องดำเนินการตามลำดับชั้นศาลก่อนฎีกา
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน นับแต่วันพิพากษา เมื่อนับถึงวันยื่นฎีกาเป็นเวลาเกินกว่า 6 เดือน หากศาลฎีกามีคำพิพากษายืนก็อาจมีผลทำให้จำเลยต้องถูกลงโทษด้วยการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เกินกว่า 6 เดือน ฎีกาของจำเลยเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี มิใช่เป็นการฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองว่าไม่ถูกต้อง จึงเป็นเรื่องที่จำเลยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 และมาตรา 216 หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นบังคับคดีตามคำพิพากษาให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157 ทวิ วรรคสอง ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นโดยขอให้แก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นประการใดแล้วจำเลยจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อมาได้เป็นลำดับ การที่จำเลยยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้