คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 317 วรรคสาม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 65 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2996/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ กระทำชู้สาว และการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาและแพ่ง
แม้ได้ความจาก ส. เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เมื่อจำเลยมาชวนผู้เสียหายที่ 1 ไปดูโทรทัศน์ ผู้เสียหายที่ 1 ถามพยานว่าให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปหรือไม่ ตอนแรกพยานไม่ยอมให้ไป เมื่อผู้เสียหายที่ 1 รบเร้าพยานจึงอนุญาต แต่การอนุญาตดังกล่าวก็เป็นการอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปดูโทรทัศน์ที่บ้านของจำเลยเท่านั้น มิใช่อนุญาตให้ไปกระทำการที่ไม่สมควรทางเพศ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้านของจำเลยและกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 พฤติการณ์ของจำเลยจึงบ่งชี้แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาพาผู้เสียหายที่ 1 จากบริเวณหนึ่งไปอีกบริเวณหนึ่งเพื่อการอนาจาร ถือได้ว่าเป็นการพาไปหรือแยกผู้เสียหายที่ 1 ออกจากการปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ทำให้การปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 และเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจารตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4798/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากเด็กเพื่ออนาจาร: ความผิดแม้เด็กออกจากบ้านเอง และการพิจารณาอำนาจปกครองของบิดามารดา
โจทก์ฟ้องจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำรับสารภาพเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร และศาลต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดจริง จึงจะลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบและพิพากษาลงโทษจำเลย และจำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง เพราะจำเลยไม่ได้เป็นผู้ติดต่อผู้เสียหายที่ 1 หรือแยกผู้เสียหายที่ 1 จากผู้เสียหายที่ 2 แต่ น. เป็นผู้ติดต่อมาหาจำเลยเพื่อเสนอให้ผู้เสียหายที่ 1 ขายบริการทางเพศให้แก่จำเลย และพาผู้เสียหายที่ 1 มาส่งที่บ้านของจำเลย ในทำนองว่าโจทก์สืบไม่สมฟ้อง จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด และอุทธรณ์ของจำเลยมิใช่เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย จึงมิใช่เป็นการอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2220/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพรากเด็กเพื่อการอนาจาร แม้จำเลยไม่ได้ชักชวน แต่ร่วมเดินทางและกระทำอนาจาร ย่อมเป็นความผิดตามกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโดยลำพังพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ผู้ปกครอง เพื่อการอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิด ก็มิใช่ข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 492/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานพรากเด็กเพื่ออนาจาร, ชำเรา, และอัตราดอกเบี้ยค่าสินไหมทดแทนตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ภายในบ้านพักที่ผู้เสียหายที่ 2 พักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 แม้หลังจากจำเลยกระทำชำเราและออกจากบ้านพักดังกล่าวแล้ว จำเลยเรียกให้ผู้เสียหายที่ 2 ออกจากบ้านเพื่อให้เงินและมีการโอบกอดผู้เสียหายที่ 2 แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำต่อเนื่องกันในบริเวณบ้านที่เกิดเหตุนั้นเอง จำเลยมิได้พาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่อื่นอันเป็นการพาไปหรือแยกออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ที่ทำให้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน ยังไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 167/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็กและพรากผู้เยาว์: การพิจารณาความต่อเนื่องของการกระทำความผิด
จำเลยรับผู้เสียหายที่ 1 มาที่บ้านของจำเลยเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 19 นาฬิกา แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 แม้เวลา 24 นาฬิกา ผู้เสียหายที่ 1 ออกไปค้างคืนที่บ้านของ น. แต่ก็กลับมาที่บ้านของจำเลยอีกในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 6 นาฬิกา แล้วจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อีก อันเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อการอนาจารเช่นเดิม จนเวลา 13 นาฬิกา จำเลยจึงพาผู้เสียหายที่ 1 ไปส่งที่บ้านของ ส. โดยตั้งแต่จำเลยรับผู้เสียหายที่ 1 มาจนพากลับไปส่งดังกล่าว ผู้เสียหายที่ 1 ยังไม่ได้กลับบ้านไปหาผู้เสียหายที่ 2 การที่จำเลยชักชวนผู้เสียหายที่ 1 กลับมาที่บ้านของจำเลยในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 จึงไม่เป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากการดูแลของผู้เสียหายที่ 2 อีกเป็นครั้งที่สอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 156/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็กและพรากเด็กจากผู้ปกครอง ถือเป็นความผิดฐานพรากเด็กเพื่ออนาจาร แม้ไม่ได้พาเด็กออกนอกบ้าน
แม้จำเลยไม่ได้พาผู้เสียหายที่ 1 ออกไปจากบ้านที่อยู่อาศัยด้วยกันก็ตาม แต่การที่จำเลยปิดล็อกประตูขัดขวางไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 ออกจากห้องนอนแล้วกระทำชำเราพร้อมข่มขู่ผู้เสียหายที่ 1 ทั้งที่รู้อยู่ว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นเด็กอายุ 10 ปีเศษ ถึง 11 ปีเศษ ยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เป็นมารดา ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาแยกผู้เสียหายที่ 1 ออกจากอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 โดยให้ผู้เสียหายที่ 1 ตกอยู่ในอำนาจควบคุมของจำเลย และจำยอมให้จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เป็นมารดา เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2425/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานพรากเด็กและผู้เยาว์เพื่อหากำไรและการค้าประเวณี วินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ชักชวนและแนะนำ
จำเลยที่ 1 ชักชวนและแนะนำผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งยังเป็นเด็กและผู้เยาว์ไปขายบริการทางเพศโดยผู้เสียหายที่ 1 สมัครใจและเดินทางไปขายบริการทางเพศด้วยตนเองให้แก่บุคคลที่จำเลยที่ 1 แนะนำ จากนั้นก็แบ่งเงินให้จำเลยที่ 1 บ้าง พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อการใช้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ที่มีต่อผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ไม่ว่าผู้เสียหายที่ 1 จะอยู่ที่ใดและจะยินยอมหรือไม่ เมื่อเป็นการเสื่อมเสียต่อสวัสดิภาพหรือประโยชน์สุขของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดฐานพรากเด็กและพรากผู้เยาว์ไปเพื่อหากำไรและเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม และมาตรา 319 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1288/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการร่วมกระทำความผิด ต้องมีเจตนาและรู้เห็นการกระทำของผู้อื่น การยอมความในคดีอาญา
การร่วมกระทำความผิดในลักษณะตัวการตาม ป.อ. มาตรา 83 ต้องพิจารณาทั้งการกระทำและเจตนาของผู้ที่ร่วมกระทำ ซึ่งต้องร่วมกระทำผิดด้วยกันและกระทำโดยเจตนาร่วมกัน ทั้งทุกคนที่กระทำจะต้องรู้ถึงการกระทำของกันและกันและต่างประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย
จำเลยที่ 2 ให้ผู้เสียหายที่ 1 ชวนจำเลยที่ 1 ไปเที่ยวตลาดคลองถมเชียงม่วน จำเลยทั้งสองและผู้เสียหายที่ 1 ร่วมเดินทางมาด้วยกันโดยตลอด ระหว่างทางจำเลยทั้งสองซื้อเบียร์มาดื่มด้วยกัน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ให้ผู้เสียหายที่ 1 ดื่มเบียร์จนรู้สึกมึนเมา จำเลยที่ 2 ซื้อถุงยางอนามัยที่ร้านสะดวกซื้อและไม่ได้พาผู้เสียหายที่ 1 ไปตลาดคลองถมเชียงม่วนแต่กลับร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 1 เข้าพักในโรงแรมที่เกิดเหตุโดยพักอยู่ห้องเดียวกันและนอนเตียงเดียวกัน ต่อมาขณะผู้เสียหายที่ 1 หลับแล้วตื่นขึ้นมา จำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในห้องพัก จำเลยที่ 1 กระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 แต่ผู้เสียหายที่ 1 หลบหนีเข้าไปในห้องน้ำ จนกระทั่งจำเลยที่ 2 เรียก จึงยอมออกมา การกระทำของจำเลยที่ 2 บ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 คบคิดกับจำเลยที่ 1 มาก่อนโดยมีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 มาโดยตลอด แม้จำเลยที่ 2 จะไม่อยู่ในห้องพักในขณะเกิดเหตุก็ตาม แต่เป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 กระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำระหว่างจำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานกระทำอนาจาร หาใช่เพียงผู้สนับสนุนไม่
จำเลยทั้งสองตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 2 และปฏิบัติตามข้อตกลงแล้ว ถือเป็นกรณีที่ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาของผู้เสียหายที่ 1 ยอมความแทนผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (5) และมาตรา 5 (1) สิทธินำคดีมาฟ้องในความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1194/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานไม่เพียงพอ ชี้ว่าจำเลยกระทำความผิดจริง ศาลฎีกายกฟ้องและยกคำขอชดใช้ค่าเสียหาย
ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยในความผิดฐานนี้จึงเป็นการขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตามเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์แล้วเห็นว่ายังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ และยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย ศาลฎีกาก็ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยในข้อหาความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ดูแลเพื่อการอนาจารด้วยเพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8572/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พรากเด็กเพื่ออนาจาร – การกระทำความผิดหลายกรรม – เจตนาต่างกัน – การรับคำให้การในชั้นสอบสวน
จำเลยชักชวนผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาออกจากห้องเช่าของผู้เสียหายที่ 1 ไปเล่นโทรศัพท์ในห้องเช่าของจำเลยซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน ไม่ว่าจะขออนุญาตผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ถูกจำเลยพาไปพยายามกระทำชำเรา ถือได้ว่าเป็นการพาและแยกเด็กไปจากความปกครองดูแล และล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นความหมายของคำว่า "พราก" แล้ว จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
จำเลยมีเจตนาพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 เพื่อการอนาจาร เป็นเจตนาที่กระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 มารดาของผู้เสียหายที่ 2 ส่วนที่จำเลยเจตนากระทำอนาจารและพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 เป็นเจตนาต่างหากจากเจตนาพรากผู้เสียหายที่ 2 ไป มิใช่กระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน จึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน
of 7